ข่าวและสกู๊ปเดือน ก.ค. 59

PAW เยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้สูญเสีย

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้(PAW) ให้กำลังใจภรรยาผู้สูญเสียเสาหลักของครอบครัวจากเหตุระเบิดในปัตตานีและยะลา

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่ม PAW เยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่ภรรยาจ.ส.ต.อนุรักษ์ รักบุตร ตำรวจจราจรสภ.อ.เมืองปัตตานีที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดข้างมัสยิดกลางปัตตานีเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2559 ณ บ้านพักตำรวจใน อ.เมืองปัตตานี เธอมีลูกสองคนและกำลังจะคลอดในเดือนสิงหาคมนี้อีก 1 คน และเยี่ยมภรรยานายอับดุลเราะแม โต๊ะตาหยง ที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิด M79 หน้ามัสยิดบันนังสตาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2559 ณ อ.บันนังสตา จ.ยะลา พร้อมมอบเงินช่วยเหลือทั้งสองราย

PAW ยื่นจดหมายเปิดผนึก ผอ.รมน.ยุติการดำเนินคดี 3 นักสิทธิฯ
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้(PAW) ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ ผอ.รมน.เพื่อยุติการดำเนินคดี 3 นักสิทธิมนุษยชน จากองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วย อัญชนา หีมมิหน๊ะ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และสมชาย หอมลออ ในข้อหาหมิ่นประมาทและมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมแสวงหาทางออกในกลไกสมานฉันท์เพื่อร่วมค้นหาความจริงและแก้ไขปัญหาต่อประเด็นการซ้อมทรมาน โดยมี พลตรีชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 รับจดหมาย และร่วมพูดคุย ณ ห้องประชุมค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2559
กลุ่ม PAW วอนกองทัพยุติดำเนินคดี 3 นักสิทธิ์
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (Women’s Agenda for Peace – PAW) ยื่นจดหมายยุติดำเนินคดี 3 นักสิทธิ์ แก่ ผอ.รมน.ภาค 4 ตัดออก พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายพื้นที่สาธารณะปลอดภัย และเดินหน้าหารือต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ด้าน รองผอ.ลั่นหากมีทางออกที่ดีที่สุดพร้อมถอนฟ้องทันที เพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่
เมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี กลุ่ม PAW เข้าพบ พลตรีชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. เพื่อรักษาบรรยากาศที่ดีต่อกระบวนการสันติภาพที่กำลังขับเคลื่อน โดยยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กองทัพพิจารณายุติการดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนคือ อัญชนา หีมมิหน๊ะ พรเพ็ญ
คงขจรเกียรติ และสมชาย หอมลออ ในข้อหาหมิ่นประมาทและมีความผิดทาง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการจัดทำ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในพื้นที่จชต. ปี 2557-2558”
นางสาวลม้าย มานะการ กลุ่ม PAW กล่าวถึงที่มาและเหตุผลของการเข้าพบในครั้งนี้ว่า การเปิดพื้นที่กลางเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ กอ.รมน.ปรับนโยบายไว้วางใจมากขึ้น เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เกิดช่องว่างบางประการ ไม่เป็นผลดีกับการร่วมกันสร้างสันติสุขและสันติภาพในพื้นที่ และทาง PAW ห่วงใยบรรยากาศที่ดี จึงอยากรับฟังเหตุผลทางกองทัพที่ดำเนินการ และยื่นจดหมายเปิดผนึก เพื่อให้มีการยุติการดำเนินคดีข้างต้น รวมทั้งขอนำเสนอข้อเสนอนโยบายสาธารณะ พื้นที่สาธารณะปลอดภัย ที่ทาง PAW ได้ใช้เวลากว่า 7 เดือนไปรับฟังพี่น้องประชาชนและประชาสังคม ในพื้นที่ กว่า 500 คน และนำมารวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย
พลตรีชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า นโยบายของรัฐมุ่งสู่การยุติปัญหาความรุนแรง ขับเคลื่อนสู่สันติสุขตามวิถีที่พี่น้องต้องการ ถ้าให้รัฐแก้ปัญหาฝ่ายเดียวแก้ไม่ได้ ต้องอาศัยภาคประชาชนมาหารือร่วมกันถึงทางออกที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างสมดุลระหว่างการคิดและตัดสินใจ ซึ่งทาง กอ.รมน.ภาค 4 พร้อมเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทั้งปวง เพื่อสร้างสรรค์และเข้าใจกันสู่พื้นที่แก่พี่น้องที่ประสบปัญหา มีศูนย์สันติวิธีเพื่อรับเรื่องนี้โดยตรง เมื่อมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ หลายสำนักข่าวโทรมา ผมบอกว่าสิ่งที่เขาแถลงไปรัฐไม่รู้เลย สิ่งที่เราต้องการคือการทำงานร่วม เป็นสิ่งถูกต้องที่นักสิทธิ์ไปตรวจสอบ 54 รายตามในรายงาน หาที่มาที่ไปได้แน่นอนว่าใครรับผิดชอบ เมื่อรู้ก็สามารถลงโทษลูกน้องได้ เป็นความโง่ของคนฉลาดที่รู้ว่าทำแล้วโดน แต่เราไม่ได้รับความร่วมมือมาโดยต่อเนื่อง เมื่อเขาทำรายงานเสร็จก็แถลงเลย สิ่งรับไม่ได้คือการละเมิดสิทธิสตรี ใครจะแสวงหาความจริงแทนเขา หรือจะปล่อยให้เขาเสียหาย สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือทำงานร่วมกัน อย่าเพิ่งอคติกับเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องสร้างสมดุลย์ในการทำงาน ไม่อยู่ในซีกใด แม่ทัพตระหนักในเรื่องนี้ รวมทั้ง ผบ.ทบ.ให้เอาโทษทั้งทางวินัยและอาญาหากเกินกรอบกฎหมาย
การที่ฟ้องเราไม่ต้องการเอาผิด แต่ต้องการปกป้องศักด์ศรีผู้หญิงที่มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ(ทหารพรานหญิง) ความเป็นรัฐมีขอบเขต คนในรัฐมีความรู้สึกและมีชีวิตจิตใจเช่นกัน
ขอความร่วมมือไปยังสองท่านเพื่อให้ได้รู้ความจริง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ได้รับคำตอบว่าเกรงรัฐจะไปคุกคามคนเหล่านี้ จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งคณะกรรมการมาร่วมตรวจสอบ แต่เขาไม่ได้รับความร่วมมือเช่นกันจึงไม่ได้ดำเนินการต่อและหยุดไป
พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวด แต่วันนี้เล่มนี้ไปเผยแพร่ที่ไหน เกิดความเกลียดชังแห่งประชาชาติขึ้นมาอีก วงรอบแห่งความรุนแรง คำบอกเล่าเชิงประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล อันตรายมากต่อพื้นที่ที่จะเดินไปสู่สันติสุข จนตัดสินใจแสวงหาความจริงจากกระบวนการยุติธรรม”
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวถึงบทเรียนที่ผ่านมาของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องคำนึงเรื่องนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่กำหนดหน้าที่ชัดเจนเรื่องนโยบายการติดตามจับกุมคนร้าย งานข่าวแม่นยำ จับถูกตัว การจับกุมต้องโปร่งใส ให้เห็นในทุกขั้นตอนของการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ต้องแจ้งกับญาติว่าไปควบคุมตัวที่ไหน และสามารถเข้าไปเยี่ยมในศูนย์ซักถามได้
“ได้จัดตั้งศูนย์สันติวิธีเพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของเอ็นจีโอในพื้นที่โดยเฉพาะ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเกื้อหนุนการพูดคุย ปัญหานี้ค่อนข้างอ่อนไหว สร้างความรู้สึกเหมือนรัฐไปรังแกนักสิทธิ์ ในปี 2555 ที่มีรายงานการซ้อมทรมานในชายแดนใต้ครั้งแรกโดยคนทำรายงานฉบับนี้เช่นกัน บอกว่าสัมภาษณ์จากเรือนจำสงขลา 70 ราย ค้นพบการทรมาน 33 รายเช่น การใช้ค้อนทุบ ใช้แมงป่องกัด และรายงานถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมของยูเอ็นปลายปีนั้น
ล่าสุด บีบีซีสัมภาษณ์ผมว่า มีรายงานซ้อมทรมาน 54 เคส เมื่อ 3 ม.ค. 2559 ผมบอกว่าเป็นรายงานเก่าปี 2555 จนเมื่อ 8 ม.ค. 2559 เขายื่นหนังสือถึง พล.อ.อักษรา และแม่ทัพภาคที่ 4 เรื่องรายงานการซ้อมทรมาน แม่ทัพบอกขอเวลา 3 เดือนในการตรวจสอบความจริง ขณะที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ เมื่อ 10 ก.พ. 2559 มีการแถลงข่าวรายงานนี้ที่ม.อ.ปัตตานี คืนวันนั้นมีการรายงานข่าวชี้ให้เห็นความโหดร้ายในการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐ หลังรับทราบเราได้แถลงข่าวเมื่อ 12 ก.พ. 2559 แม่ทัพให้ตรวจสอบความจริงอย่างเปิดเผย ให้ผู้ทำรายงานร่วมตรวจสอบความจริง เพื่อจะไปลงโทษเจ้าหน้าที่ หาวิธีการเยียวยาและปรับปรุงการทำงาน ทำหนังสือถึงคณะกรรมสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ ทางศอ.บต.จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบความจริงด้วย
จนเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2559 ได้เชิญคุณอัญชนามาคุยกัน แต่เขาไม่เปิดเผยรายชื่อที่มี เราต้องค้นหาความจริงกันเอง เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน มีการเขียนโค้ดลับ แม่ทัพให้ตรวจสอบตามรายการนั้น เช็คยากมาก ใน 54 รายพบว่าซ้ำกัน สามารถระบุได้ 18 ราย ให้หน่วยควบคุมตัวนำหลักฐานมาให้ตรวจสอบ เช่น ใช้ปืนกระแทกจนฟันกรามหัก ต้องมีร่องรอย ในการควบคุมตัวก็มีญาติและทนายอยู่ เมื่อมีการปล่อยตัวจะมีการตรวจจากแพทย์อีกครั้ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับทหารพรานหญิงก็ตรวจสอบ เขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ พยายามขอความร่วมมือเขาตลอดในการตรวจสอบความจริง กังวลคือกลับมีการเผยแพร่มากขึ้น พยายามนำเข้าสู่สถานการณ์การประชุมที่เจนีวา แต่ไม่ได้รับการเข้าสู่การประชุม”
โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวต่อว่าจากการเผยแพร่เอกสารที่ไม่ได้มีการตรวจสอบถือเป็นการละเมิดสิทธิสตรีคือทหารพรานหญิง คนที่ไม่รู้ความจริงก็เชื่อ จึงไม่สามารถเพิกเฉยเรื่องนี้ได้ แนวทางการแก้ปัญหามีมากมาย เลือกใช้กฎหมายปกติในการพิสูจน์ความจริงว่ารายงานฉบับนี้เป็นจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ ไม่เคยคิดว่าเอ็นจีโอคือศัตรูกับรัฐ สิ่งที่เกิดครั้งนี้รัฐไม่มีทางเลือก อาศัยกระบวนการยุติธรรมมาพิสูจน์ ถ้าไม่เป็นเรื่องจริงแล้วเขียนมาเพื่ออะไร ได้แจ้งความกับบุคคลฐานะเผยแพร่ดังกล่าว อีก 50 ปี หากไม่มีการเปิดเผยความจริงคือ บาดแผลของชายแดนใต้ที่ลูกหลานได้รับรู้ จึงต้องทำความจริงให้ปรากฏ หากรัฐผิดพลาดพร้อมตรวจสอบและแก้ไข จึงต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นความจริงหรือไม่ เพราะเสียหายไปทั้งประเทศ
สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย นายกิตติ สุระกำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า หวังว่าเมื่อได้รับการชี้แจงแล้วจะเห็นด้วยกับการดำเนินการคือการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้เป็นครั้งแรกกับนักสิทธิมนุษยชนที่มีผอ.เป็นพลเรือน เป็นเรื่องของการรักษาความมั่นคง การเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุย แสวงหาข้อมูลเพื่อไปแก้ไข ในรายงานนี้ของปี 2557-2558 บอกเพียงรายละเอียดที่เป็นคำพูดแล้วจบ หลักฐานหาย ไร้ร่องรอย ผู้บริหารใหม่พยายามแก้และเยียวยาเรื่องเก่า เพื่อดำเนินการกับคนทำผิด และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน
“สิ่งที่ดำเนินการครั้งนี้เป็นการฟ้องหมิ่นประมาท ไม่ใช่การปกป้องแม่ทัพ หรือใครๆ รายงานนี้ส่งความเสียหายต่อคน 4 กลุ่มคือ 1.เจ้าหน้าที่รัฐที่มุ่งแก้ปัญหาอย่างจริงใจ รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้พยายามแก้ การบิดเบือนข้อเท็จจริง ถ้ามีจริงเราแก้ได้ รายงานลักษณะนี้ทำให้ข้าราชการดีๆ ที่ตั้งใจทำงาน ถูกกล่าวหา เสียกำลังใจ ถูกดูหมิ่นในการทำงานซักถาม 2.กอ.รมน. ถูกกล่าวหาว่าซ้อมทรมาน เราพยามแก้ แต่มีคนพยามขัดขวาง 3.รัฐบาลพยายามสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี เมื่อรายงานถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก รัฐบาลถูกเกลียดชังจากทั่วโลก ไม่มีความเป็นธรรม 4.เป็นอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์ คนที่จะเป็นอาร์เคเค ไปซุมเปาะ มีคนมาพูดเรื่องเลวร้ายของรัฐให้มากที่สุดเพื่อสร้างความเกลียดชัง ให้รู้สึกต่อสู้รัฐ เหมือนสร้างเครื่องจักรมนุษย์
ความเสียหายคือการเผยแพร่ที่ไม่มีการตรวจสอบ ได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้สำนักข่าวกรองหาข้อมูลเพื่อจะได้ไปพูดคุยกับทุกรายที่มีในรายงานที่คนทำรายงานบอกว่ามีอยู่จริง คณะกรรมการฯ ต้องมาคุยกันถึงกระบวนการเข้าไปหาเคส ซึ่งทาง ศอ.บต.ได้มีคำสั่งคณะกรรรมการฯ มีจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 พร้อมคุ้มครองพยานทั้งหมดหากมีการตรวจสอบ และมีการเพิ่มบุคคลและองค์กรตรวจสอบได้ แล้วใช้กระบวนการยุติธรรมควบคู่กันไป คณะกรรมการทำงานไปพร้อมกัน ถ้าเล่มแดงนี้ไปอยู่ในปอเนาะหรืออุตตาซที่ไม่หวังดี ไปสร้างอาร์เคเคสักสิบคน ไม่มีความยุติธรรมกับคนบริสุทธิ์ พยายามติดต่อคนทำรายงาน เราพร้อมช่วยกันแก้ไขที่ต้องการแก้ไข ปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า กระบวนการยุติธรรมคือการร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริง หากมีอยู่จริงให้นำเสนอออกมา จะได้นำไปสู่การตรวจสอบ คณะกรรมการสิทธ์ฯ บอกว่าหากได้รับข้อมูลจะลงมาตรวจสอบทันที ศูนย์ซักถามฯ ก็ติดวงจรปิดทั้งหมดแล้ว ทางเดียวคือ กระบวนการยุติธรรมเป็นหนทางเดียวในการอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี”
ด้าน พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ รองเลขาธิการกอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า พร้อมรับฟังรายงานวิจัยและความเป็นจริงทั้งหมด พร้อมทำตามในกรอบของการมีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งควรคุยกันด้วยการปรองดองก่อน เมื่อมีการรายงานการซ้อมทรมาน รัฐที่ดีจะต้องนำมาตรวจสอบ เมื่อมีครั้งที่ 2 ก็ต้องไปตรวจสอบ แต่ลงท้ายรายงานนี้ยังบอกว่า ประเทศไทยยังมีการซ้อมทรมาน ประเด็นของการสร้างความเข้าใจผิดนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง เราจะเดินไปสู่สังคมพหุวัฒนธรรม สามัคคี เมื่อความจริงมาเราจะนำคนผิดมาลงโทษ คนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยา ให้เดินไปสู่สิ่งที่ทุกคนหวังและต้องการ
ตัวแทนของศูนย์ซักถามฯ กล่าวว่า มีเพียง 18 รายที่พอหาตัวตนได้ ศูนย์ซักถามฯ รับประกันว่า ไม่มีการทรมานเพื่อให้ยอมรับ เพราะนำข้อมูลนั้นไปใช้ไม่ได้ พร้อมยินดีให้ทุกคนไปดู การจะได้ข้อมูลต้องให้มีความสนิทใจก่อน บางรายบอกว่าไม่ทราบว่าผู้ทำรายงานจะเอามาเปิดเผย คิดว่าเป็นการพูดคุยกัน รวมทั้งข้อมูลที่เลื่อนลอย ส่วนการที่บอกว่าปัจจุบันยังมีการซ้อมทรมาน ต้องไปดูว่าผู้ต้องสงสัยถูกซ้อมทรมานในชั้นไหน ขั้นจับกุม หรือในขั้นถูกควบคุม เพราะในการจับกุมบุคคลอันตราย บางครั้งเจ้าหน้าที่ถูกยิงมาหลายครั้ง
ในการหารือแลกเปลี่ยน นางรอซีดะห์ ปูซู สมาชิกกลุ่ม PAW กล่าวว่า เห็นเจตนารมณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลยุคนี้ได้ทำในสิ่งที่รัฐบาลชุดอื่นทำไม่ได้ เช่น การปราบปรามผู้มีอิทธิพล เรามาเพื่อบอกว่าเห็นอีกหลายปัญหาเพื่อเดินไปด้วยกัน ประชาชนคือตัวจริงเสียงจริง เชื่อว่าการซ้อมทรมานยังมีอยู่ เมื่อมีเสียงเหล่านี้ต้องยอมรับ คนที่ทำผิดต้องรับผิดชอบในการทำงานของเขา จะแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้น อยากเห็นการพูดคุย ไม่อยากเห็นการขยายความขัดแย้ง อยากมีการร่วมกันทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน เมื่อได้รับข้อมูลแล้วจะร่วมมืออย่างไรไม่ให้สถานการณ์เหล่านี้ขยายวงออกไป เช่นเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ที่บอกความรู้สึกเชิงลบกับคนทำงานในชายแดนใต้ว่าเป็นแนวร่วม ประชาชนรู้ว่าใครทำงานเพื่อใคร และชื่นชมรัฐการใช้ในการชี้แจงข่าวสารความเป็นจริง รวมทั้งคนที่พูดความจริงต้องไม่ตาย
นางสาวลม้าย กล่าวเพิ่มเติมว่า การไม่ให้ข้อมูลบางรายของคนทำรายงานเพื่อปกป้องผู้ให้ข้อมูลหรือไม่ มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่ทำโดย CSO เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง ให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐและคนคิดต่างจากรัฐเห็นและยอมรับ เราจึงเสนอพิจารณาว่า มาพูดคุยกัน เพื่อให้มีโอกาสรับฟังข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย
จากนั้น นางปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ อ่านจดหมายเปิดผนึก
พลตรีชินวัฒน์รับจดหมายเปิดผนึกและหารือร่วมกันว่า รัฐควรหาทางออกอย่างไรในการแสวงหาความจริงต่อสังคมและระหว่างประเทศ และจะร่วมกันปกป้องศักดิ์ศรีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาในเรื่องนี้อย่างไร
“สันติภาพโดยสาระคืออะไร หากสันติภาพคือข้อบ่งชี้ของการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขของสังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ความเกลียดชังคือความไม่ปกติสุข คือการทำลายสันติสุข พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวด ทำอย่างไรให้หนังสือเล่มแดงเล่มนี้ถูกเผาทิ้ง แต่วันนี้เล่มนี้ไปเผยแพร่ที่ไหน เกิดความเกลียดชังแห่งประชาชาติขึ้นมาอีก วงรอบแห่งความรุนแรง คำบอกเล่าเชิงประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล อันตรายมากต่อพื้นที่ที่จะเดินไปสู่สันติสุข จนตัดสินใจแสวงหาความจริงจากกระบวนการยุติธรรมนำไปสู่วงจรความรุนแรงอีกหลายรอบ หากมีทางออกที่ดีที่สุดพร้อมถอนฟ้องทันที เพื่อให้เกิดสันติสุข”
ขอ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” ในงาน กป.อพช.ใต้
ภายในงาน 30 ปี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ชุมคน ชุมชน คนใต้ จัดขึ้น ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มีเวทีการนำเสนอทางออกภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเชิงประเด็นและพื้นที่อย่างหลากหลาย รวมทั้ง “สันติภาพชายแดนใต้” ขอพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นพื้นที่สาธารณะพร้อมเรียกร้องให้กลุ่มผู้เห็นต่างลดการใช้ความรุนแรงและความขัดแย้งในพื้นที่
ลม้าย มานะการ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ Woman’s Peace Building Platform หรือ PAW เกิดจากการรวมตัวและถอดบทเรียนการทำงาน “ขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ซึ่งมีองค์กรรวมทั้งพุทธและมุสลิม 23 องค์กร โดยเริ่มต้นมีการผลักดันและรณรงค์ประเด็นด้านสันติภาพร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2558 ที่เป็นวันเริ่มก่อตั้งคณะทำงานฯ ทั้งนี้คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ถือเป็นเครือข่ายผู้หญิงนักกิจกรรม นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง รวมถึงผู้ที่ทำงานในประเด็นผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีสมาชิกในเครือข่ายมากกว่า 5,000 คน
“งานที่เราทำนั้นคือการออกไปฟังเสียงผู้หญิง เราออกแบบงานเพื่อที่จะไปฟังเสียงผู้หญิงออกจากชุมชน ผู้หญิง NGOs ผู้หญิงประชาสังคม ผู้หญิงภาครัฐที่ทำงานสังคม ซึ่งอาสาเข้ามาทำงานในพื้นที่สามจังหวัด รวมทั้งหมด 5,000 คน โดยช้เวลาทั้งหมด 7 เดือน เราไปคุยทั้งหมดในพื้นที่ 3 จังหวัด เราพบว่าสิ่งที่ผู้หญิงเห็นพ้องต้องกันคือ ต้องการเห็นสันติสุขในพื้นที่ตรงนี้ แต่สิ่งที่ต้องการที่สุดคือ ต้องการความปลอดภัย การมีชีวิตและปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งพื้นที่ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยมีอยู่ประมาณ 5-6 ที่ เช่น ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด ป้อมชรบ. เป็นต้น บางคนอาจจะมีประสบการณ์ที่เลวร้าย เมื่อที่บ้านไม่ปลอดภัย ซึ่งผู้หญิงบางคนบอกว่าที่บ้านต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่แล้วต้องมีความสุข และผู้หญิงก็ไม่คิดว่าบ้านเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และพื้นที่สาธารณะที่ผู้หญิงไปใช้ประโยชน์มีคุณค่าต่อผู้หญิงจะต้องปลอดภัยด้วย
ถามว่าเรียกร้องจากใคร ใครก็ได้ที่ทำให้เราไม่ปลอดภัย ซึ่งในพื้นที่เราจะใช้ความว่า ปาร์ตี้ a ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งปาร์ตี้ a คือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ใช้กำลังอาวุธด้วย ส่วนปาร์ตี้ b คือ ผู้ที่คิดต่างจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็น บีอาร์เอ็น หรือ พูโล ซึ่งที่เราเชื่อนั้นคือมีทั้งฝ่ายที่ใช้กำลังความรุนแรง และใช้สมองในการขับเคลื่อนงานเพื่อชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเราเรียกร้องต่อทั้งฝ่าย a และ ฝ่าย bเพื่อให้ยุติความรุนแรงและไม่ใช้อาวุธในการแก้ปัญหา เรามีความชอบธรรมเนื่องจากพี่น้องเราเสียชีวิต และไม่ใช่เพียงผู้หญิงเท่านั้นที่เราอยากให้ปลอดภัย แต่เราอยากให้ทุกคนในพื้นที่นั้นปลอดภัยในเรื่องของการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในเรื่องศาสนา หรือการเมืองหรือสิ่งที่เขาจะบอกว่าการต่อสู้เพื่อศาสนาเป็นการฆ่าคนซึ่งเป็นการฆ่าคนเพื่อปกป้องศาสนา และเราไม่เชื่อ ซึ่งเราคิดว่าเป็นข้ออ้างที่ขาดความชอบธรรมเป็นอย่างมาก ถ้าคุณคิดจะฆ่าใครเพื่อปกป้องศาสนา ยุคสมัยในการปกป้องศาสนานั้นมันเปลี่ยนไปและไม่ใช่การฆ่าอีกแล้ว ซึ่งผู้หญิงคิดว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ”
ลม้ายบอกต่อว่า หลังจากที่ได้ไปคุยกับผู้หญิงเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กำลังสร้างเครือข่ายที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งระดับของการทำงานทุกรูปแบบ ทุกประเด็น และพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในพื้นที่ที่ถูกมองว่ามีความขัดแย้งระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิม เพราะฉะนั้นเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้จำเป็นต้องมีการรวมตัวด้านยุทธศาสตร์ โดยการรวมตัวผู้หญิงทั้งพุทธและมุสลิม และถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผู้หญิงพุทธและมุสลิมออกมาบอกว่า ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและต้องร่วมกันทำงาน
“เพราะฉะนั้นเรามีข้อเสนอไปถึงฝ่ายที่ใช้กำลังความรุนแรงว่า ต้องยุติความรุนแรงและปฏิบัติการทางด้านทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะที่กล่าวไปข้างต้น โดยให้ประกาศพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปราศจากอาวุธ และขอให้มีการแสวงหาทางออกของความขัดแย้งด้วยวิธีทางการเมืองและให้เอาพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญในการพูดคุย แม้วันนี้การพูดคุยดูเหมือนจะชะงักลง แต่จริงๆ การพูดคุยก็ยังดำเนินต่อไป ล่าสุดนี้ยังมีการประชุมพูดคุยกับกองเลขาฝ่ายที่มีการพูดคุย ในการที่จะผลักดันการแก้ปัญหาสามจังหวัดต่อไป เราจะต้องลด ละ เลิก การใช้ความรุนแรงและการใช้อาวุธและรวมการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย และยังต้องมีพื้นที่กลางให้ทุกคน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงผู้หญิง ได้มีส่วนร่วมกันอย่างมีอิสระ มาแสดงความเห็น มาแสดงออก และมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพทุกมิติในทางสันติวิธี ปราศจากการคุกคาม กดดัน จากทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกคนได้มีความปลอดภัยในชีวิตเป็นปกติอย่างมีสันติและสันติภาพในชายแดนภาคใต้”
นอกจากนี้ทาง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้มีการแถลงปฏิญญา 30 ปี กป.อพช.ใต้ ภาคใต้การพัฒนาสู่ภูมิภาคสีเขียว ว่า 30 ปีแห่งการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชุมชนภาคใต้ ได้ก่อเกิดรูปธรรมการพึ่งตนเองในหลากหลายประเด็น เช่น การจัดการประมง และทรัพยากรทะเลชายฝั่ง การจัดการที่ดิน การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การสร้างรูปธรรมระบบเกษตรทางเลือกที่ยั่งยืน เป็นต้น และ 30 ปี ที่ผ่านมาได้ก่อเกิดนวัตกรรมการจัดการมากมายจนสามารถสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นิเวศวัฒนธรรม ท่ามกลางภัยคุกคามนานัปการที่รุกเร้าภาคใต้อย่างรุนแรงตลอดมา หาก 30 ที่ผ่านมาไม่มีปฏิบัติการของชุมชนในการยับยั้งภัยคุกคามและสร้างรูปธรรมการจัดการตนเอง ภาพของภาคใต้วันนี้อาจจะไม่เป็นเช่นที่เราเห็นทุกวันนี้
เรายืนยันว่า 30 ปีที่ผ่านมาเป็นการเดินทางบนความยากลำบาก ด้วยกระแสแห่งทุนและกลไกของรัฐเองที่ถาโถมเข้ามาเพื่อการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรสนองประโยชน์บนฐานการไม่เคารพกันและกัน แต่เรายืนยันว่าเส้นทางสายนี้คือทางเดินที่ถูกต้อง มีแต่การลุกขึ้นมาจัดการตนเองบนความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะสามารถเข้าใจบริบทและก่อเกิดการจัดการที่ไม่ทำลายล้าง เราจึงยืนยันว่า
1.เราจะสร้างปฏิบัติการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สายน้ำ ทะเล ที่ดินและระบบเกษตรทางเลือก รวมถึงการปกป้องสิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ ผู้บริโภคและความสงบสุขสันติภาพของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อเนื่องจากเดิมเพื่อสร้างความสุขและความสมดุลแก่ชีวิตของคนภาคใต้แม้ว่าอำนาจรัฐและทุนจะคุกคามเรามากขึ้นทุกวัน
2.เราจะสร้างรูปธรรมการจัดการด้านพลังงานของภาคใต้ให้สามารถพึ่งตนเองได้โดยจะขับเคลื่อนต่อเนื่องกันไปนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปและคาดว่าภายในอีก ๕ ปีข้างหน้าโซล่าเซลล์จะเกิดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้
3.เราจะสร้างความร่วมมือของประชาชน วิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ในการขับเคลื่อนภาคใต้ไปสู่การจัดการตนเองอย่างเข้มแข็งยั่งยืน บนฐานทรัพยากรที่เรามีอยู่จริง
เราเชื่อว่าภาคใต้มีศักยภาพในการจัดการตนเองได้ เพราะพื้นฐานของสภาพทางภูมิศาสตร์ และทุนแห่งรูปธรรมการจัดการที่สรรสร้างมาอย่างยาวนาน จะสามารถนำเราไปสู่วันข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับการเกษตร ประมง ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งสามารถจ้างงานได้อย่างมหาศาล และยิ่งเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีรายได้ลำดับต้นของประเทศและเป็นภูมิภาคที่มีความสุขและความพึงพอใจสูงสุดของประเทศ เราจึงขอยืนยันว่าเราสามารดำรงชีวิตในวันนี้ และจะไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่ หากภาครัฐและกลุ่มทุนจะต้องเคารพการตัดสินใจ และออกแบบการดำเนินชีวิตของเราเอง ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องเราดังนี้
1.ต้องยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในทุกพื้นที่ของภาคใต้ เพราะทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่ามลพิษจากถ่านหินคือฆาตรกรเงียบที่ฆาตรกรรมมนุษย์มาแล้วไม่น้อย ทั้งยังทำลายสิ่งแวดล้อมจนย่อยยับมาแล้วทั่วโลก การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเท่ากับเป็นการทำลายศักยภาพของภาคใต้โดยตรงอย่างเลือดเย็น
2.ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และการสร้างอุตสาหกรรมหนัก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เส้นทางขนส่งแลนบริดส์ซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายฐานทรัพยากรที่สำคัญตลอดชายฝั่งทะเลภาคใต้ อันเป็นความไม่สอดคล้องกับศักยภาพของภาคใต้ที่มีอยู่ และจะนำไปสู่การทำลายความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจของคนใต้ในระยะยาว
3.หยุดการใช้อำนาจพิเศษ โดยเฉพาะ ม.44 เพื่อออกคำสั่ง สร้างกฎหมายที่จะสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการ หรือกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อฐานทรัพยากรโดยรวมของภาคใต้
4.รัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ ประเด็นสิทธิชุมชนอ่อนด้อยลงกว่ารับธรรมนูญฉบับปี 2550 เนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งหายไปคือ “สิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปรกติและต่อเนื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้อันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับการคุ้มครอง…” รวมถึงการจำกัดเสรีภาพการชุมชน การได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน หลายมาตราด้วยการเพิ่มข้อความ “ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ” และ “อำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ…” โครงสร้างอำนาจอธิปไตยในการบริหารประเทศทั้งบริหาร นิติบัญญัติและองค์การอิสระ ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยโดยประชาชน
เรากำหนดอนาคตการพัฒนาของเราได้ หากรัฐไม่คิดทำลายเราด้วยการสร้างรูปแบบการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เราจึงขอยืนยันในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว และจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจภาคใต้ได้พิสูจน์มาแล้วว่าการทำเกษตร ประมง ท่องเที่ยว สามารถสร้างสมดุลชีวิตได้มากกว่าการพัฒนาให้เป็นแผ่นดินมลพิษจากการอุตสาหกรรมหนัก เราจึงขอประกาศว่าภาคใต้จะเป็นภูมิภาคที่จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาสีเขียว
เราขอประกาศที่จะยืนยันในท่าทีดังกล่าวนี้อย่างมุ่งมั่นร่วมกัน ผ่านกระบวนการเชื่อมร้อยเครือข่ายคนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่เราไม่ต้องการ และจะประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้างรูปธรรมการพัฒนาที่จะนำพาภาคใต้ไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนต่อไป ภายใต้แนวคิดการพัฒนาภาคใต้สู่สีเขียว และเราขอประกาศว่าเราจะร่วมมือกันที่จะต่อสู้กับทุกอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบที่จะเข้ามาทำลายความเป็นภาคใต้ของเราอย่างถึงที่สุด
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้
ประธานบุหงารายาโต้ข่าว “เสื้อแยกดินแดน” ชี้แค่โปรโมทโรงเรียนตาดีกา
ฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา เปิดใจภายหลังมีการเผยแพร่ภาพเสื้อยืดสีขาว สกรีนแผนที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนมีการแชร์ต่อๆ กันในโซเชียลมีเดีย อ้างว่าเป็นเสื้อแบ่งแยกดินแดน
ฮาซัน เล่าถึงที่มาของเสื้อยืดที่กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ว่า เมื่อ 2 เดือนก่อนได้ไปสำรวจโรงเรียนตาดีกา หรือศูนย์การศึกษาประจำมัสยิด ในจังหวัดสตูล พบว่าจากโรงเรียนตาดีกา 200 แห่งที่มีอยู่ มีเพียง 6 แห่งเท่านั้นที่ยังรักษาอัตลักษณ์และใช้ภาษามลายูอยู่
“คนที่นั่นเขาบอกว่าปัตตานีทอดทิ้งพวกเขา ทั้งที่เขาอยากรักษาภาษามลายู รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาด้วยที่ต้องการรักษาภาษามลายูไว้ ผมจึงใส่ไปทั้ง 5 จังหวัดในแผนที่ที่สกรีนบนเสื้อ”
แนวคิดของการจัดทำเสื้อ คือการสื่อถึงการอนุรักษ์อัตลักษณ์มลายู โดย ฮาซัน บอกว่า ก่อนจะจัดทำเสื้อ ได้ปรึกษาประธานตาดีกาของแต่ละจังหวัด ได้รับคำแนะนำว่าอย่าใช้คำที่ล่อแหลม ส่วนสีแดงคือสีของตาดีกา จะใช้สีเขียวด้วย แต่ไม่มีงบประมาณ ข้อความที่อยู่ข้างบน คือ TANAH PERKASA MELAYU UTARA (แปลว่า ดินแดนอาณาจักรมลายูตอนเหนืออันยิ่งใหญ่) หมายถึง “พื้นที่เขตปกครองที่มีตาดีกา” ส่วนชื่อที่อยู่ในแผนที่ คือชื่อย่อของตาดีกาแต่ละจังหวัด ซึ่งปีนี้ได้ขยายไปยังสตูลและสงขลาด้วย
“ผมทำเพื่อโปรโมทการศึกษาตาดีกาให้เข้มแข็ง” ฮาซัน ย้ำ

เขายังบอกว่า คนที่โพสต์เรื่องนี้แล้วอ้างว่าเป็นเสื้อของการแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐอิสลาม เป็นเพราะอ่านภาษายาวีไม่ออก แล้วไปตีความว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็เคยทำเสื้อแบบนี้ แต่ไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนเพื่อนๆ ที่ใส่เสื้อในรูป เกิดจากหลังละหมาดยุมอะฮ์ (ละหมาดวันศุกร์) ครั้งหนึ่ง ผมได้ชวนพวกเขามาถ่ายรูปเพื่อจะโพสต์ลงหน้าเฟซบุ๊คของตนเพื่อจะได้ขายเสื้อ
“หากมีอะไรให้มาถามผม เพราะผมเป็นต้นเรื่อง” ฮาซัน กล่าว
วางแผนงานกลุ่ม PAWเลขา เกลี้ยงเกลา
ตัวแทน 23 กลุ่มของ PAW(คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้) ร่วมประชุมรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงาน และวางแผนงานในอนาคตเพื่อการก้าวต่อของกลุ่ม โดยมีการแจ้งกิจกรรมที่ดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ถึงปัจจุบัน การเข้าพบกอ.รมน. ภาค 4 สน. เพื่อยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายพื้นที่สาธารณะปลอดภัย โครงการขบวนผู้หญิง ระยะ C โครงการ p2p(People to People) และแผนงานในอนาคต ณ ห้องประชุมศรีตานี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้