กำหนดอนาคต…ท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาฐานคิด สร้างชีวิตสาธารณะเมืองแม่สอดที่เข้มแข็ง

ถึงแม้จะยังไม่เข้าใจดีนักในช่วงแรกๆ กับความหมายของคำว่า “ชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่” แต่คณะทำงานประชาคมแม่สอด จังหวัดตาก ก็ได้ลองตีความอย่างตรงไปตรงมาว่า คือ โครงการที่จะทำอะไรหรือทำอย่างไรให้จังหวัดตากน่าอยู่ รวมทั้งการจะดำเนินการอย่างไรให้มีคนเข้ามาทำงานด้านสังคมเพิ่มขึ้น…

FACT SHEET เอกสารข้อมูล
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ–ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ตาก
ถึงแม้จะยังไม่เข้าใจดีนักในช่วงแรกๆ กับความหมายของคำว่า “ชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่” แต่คณะทำงานประชาคมแม่สอด จังหวัดตาก ก็ได้ลองตีความอย่างตรงไปตรงมาว่า คือ โครงการที่จะทำอะไรหรือทำอย่างไรให้จังหวัดตากน่าอยู่ รวมทั้งการจะดำเนินการอย่างไรให้มีคนเข้ามาทำงานด้านสังคมเพิ่มขึ้น สองปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นเสมือนธงนำของการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ตาก โดยมีเป้าหมายในการทำงานซึ่งเกิดจากการได้ร่วมกันคิด ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ระหว่างประชาคมแม่สอดและตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกอำเภอในจังหวัด สรุปเป็นความมุ่งหวังในการทำงานครั้งนี้เพื่อ “สร้างคนดีมีวินัย ใส่ใจการพัฒนา รักษาทุนชีวิต เสริมเศรษฐกิจชายแดน แผ่นดินคุณธรรม น้อมนำประเพณี สุขภาวะเป็นหลักชัย”

 

แต่การจะไปให้ถึงเป้าตามที่ตั้งไว้ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในภาวะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่การจัดระเบียบใหม่ พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยมีเศรษฐกิจเป็นเครื่องชี้นำ ระบบเงินตราจึงเข้ามาแทนที่ระบบอำนาจทางการทหารและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เคยมีมาแต่ก่อน โดยเฉพาะกับเมืองติดชายแดนเช่นอำเภอแม่สอดที่กำลังกลายเป็นขนมหวานจานโปรดสำหรับนักลงทุนจำนวนไม่น้อย แม่สอด จึงอยู่บนจังหวะก้าวของการเปลี่ยนแปลง จนทีมประชาคมแม่สอดในฐานะแกนประสานโครงการชีวิตสาธารณะฯ จ.ตาก ได้ชักชวนให้คนในพื้นที่เลิกคร่ำครวญ เลิกบ่น เลิกโทษคนอื่น แต่หันมาร่วมคิด ใคร่ครวญ กับความเป็นไปของอนาคตท้องถิ่นตนเองก่อนที่แม่สอด…จะเปลี๋ยนไป๋ มากกว่าทุกวันนี้

 

N ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย…แล้วค้นหาชะตาร่วมเดียวกัน

บนฐานคิดง่ายๆ เพื่อต้องการเห็นสันติสุขเกิดขึ้นในท้องถิ่นที่ตนเองผูกพันมาตั้งแต่เกิด คณะทำงานประชาคมแม่สอดจึงแสวงหาการมีส่วนร่วมและให้การยอมรับจากทุกภาคฝ่าย โดยไม่จำกัดเฉพาะสมาชิกที่มีอยู่เดิมในภาคประชาสังคม เพราะเชื่อมั่นว่าศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคนจะทำให้การรับรู้ที่มีต่อสถานการณ์ร่วมเดียวกันนำไปสู่หนทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยกันได้

สิ่งสำคัญของการทำงานแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนและไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ในทันที ยังหมายถึงการไม่ชิงตัดสินว่าใครคือคนผิดคนถูก เพราะเท่ากับเป็นการสร้างช่องว่างระหว่างผู้คนให้เกิดขึ้น แทนที่จะได้มิตรในการทำงานเพิ่มขึ้นอาจไม่ได้เลย การไม่ตั้งเป้าหาคนผิดตั้งแต่เริ่มต้นจะทำให้เรามีเวลาครุ่นคิดกับการจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สังเกตและรับรู้ได้ถึงทุนและพลังที่แต่ละคนมี เมื่อนำมารวมกันจะกลายเป็นทุนความคิด ทุนปัญญา ที่ช่วยหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้

บันไดขั้นแรกของการทำงานดังกล่าว จึงถูกนำมาใช้กับการขับเคลื่อนงานเพื่อเข้าใกล้สิ่งที่คณะทำงานอยากเห็นเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ นั่นคือ กระบวนการขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายมิติที่คนท้องถิ่นมีส่วนในการกำหนดด้วยตนเอง กระบวนการพัฒนาคนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ และการใช้ความรู้ทั้งทางวิชาการและความรู้ที่ฝังลึกในตัวคนมาใช้ในการทำงาน ผ่านประเด็นที่คนท้องถิ่นให้ความตระหนักและรู้สึกร่วมชะตาจนต้องพึ่งพาอาศัยกันทั้งหมด 3 เรื่อง คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยพลัดถิ่น โครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดตาก ภาคประชาชน และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาวอันเนื่องมาจากผลกระทบการปนเปื้อนสารแคดเมียมในสิ่งแวดล้อม

 

N ปรับทิศทางการตั้งรับได้…ใช้ความรู้เข้ารุกให้เป็น

สิ่งที่เหมือนกันในการขับเคลื่อนงานผ่าน 3 โครงการ คือ การให้ความสำคัญกับความรู้และการจัดการความรู้ นับตั้งแต่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยพลัดถิ่น เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนซึ่งเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่ได้ระบุสัญชาติไทย จึงไม่สามารถศึกษาต่อได้เพราะไม่มีบัตรประชาชนไทย การจัดเวทีเรียนรู้สืบค้นที่มาของปัญหา ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนคนไทยพลัดถิ่นว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน สัมพันธ์อย่างไรกับคนไทยและเมืองไทย จึงค่อยๆ เกิดขึ้นพร้อมกับการเชื่อมเครือข่าย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความเพื่อเข้ามาช่วยเหลือและให้คำปรึกษาจึงเกิดขึ้น ต่อมาได้รวมตัวกันเป็นองค์กรกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเข้าเป็นหนึ่งในเครือข่ายคนทำงานเรื่องสิทธิ์ นำไปสู่การรับเรื่องและพิจารณาให้สัญชาติ ตลอดจนการนำความรู้มาใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลคนไทยพลัดถิ่นทั้งหมดในพื้นที่อำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด

การใช้ความรู้และกระบวนการจัดการความรู้ โดยทำหน้าที่เป็นคลังความรู้และเปิดเวทีเรียนรู้อย่างหลากหลายร่วมกัน ยังปรากฏให้เห็นใน งานพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดตาก ภาคประชาชน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม 2547 อนุมัติแผนปฏิบัติการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดตาก ให้จังหวัดตากเป็นฐานผลิตหลักตามแนวเศรษฐกิจเชื่อมโยงตะวันออก-ตะวันตก และเป็นพื้นที่พัฒนานำร่องในลักษณะเมืองคู่แฝดระหว่างไทย-พม่า คือ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับ จังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า โดยประกาศให้แม่สอดพัฒนาเขตการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการค้าและท่องเที่ยว อำเภอพบพระและแม่ระมาดพัฒนาการผลิตด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกับแม่สอด รวมทั้งการกำหนดมาตรการการส่งเสริมการเข้ามาลงทุนด้านอุตสาหกรรมและการบริการ

สภาวะที่ต้องกลายเป็นฝ่ายตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาเยือนท้องถิ่นของตนเองโดยที่คนพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการคิด แสดงความเห็น หรือตัดสินใจด้วยเลย ทำให้ประชาคมแม่สอดและเครือข่ายในท้องถิ่นเปิดเวทีเรียนรู้จำนวนนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ องค์กรท้องถิ่น นักธุรกิจ นักวิชาการ และประชาชน มีโอกาสมาชี้แจง รับฟัง แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกันอย่างอิสระ รวมทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องราวที่ “แม่สอด…จะเปลี๋ยนไป๋” สู่สาธารณะโดยเชื่อมประสานกับสื่อมวลชนทุกแขนงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพื้นที่ของการเรียนรู้อย่างเท่าทันกับเหตุการณ์ความเป็นไป และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงกระตุ้นให้คนแม่สอดตื่นตัวแล้วหันมาครุ่นคิดกับสิ่งที่จะเกิดกับบ้านเมืองในอนาคตมากขึ้น หากสร้างความมั่นใจในการขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นให้คณะทำงานเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการจัดการความรู้ ซึ่งทำได้เด่นชัดขึ้น ตลอดจนบทบาทการเป็นผู้ประสานเชื่อมโยงองค์กรเครือข่ายต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ การทำหน้าที่กระตุ้นการเรียนรู้ รวมทั้งการเฝ้าระวังทางสังคมด้วยอีกบทบาทหนึ่ง

 

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาวอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารแคดเมียม ซึ่งส่งผลให้ผืนนากว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันไร่ถูกปนเปื้อนสารแคดเมียมจนชาวบ้านในตำบลพระธาตุผาแดง แม่ตาว และแม่กุ อำเภอแม่สอด ไม่สามารถปลูกข้าวได้อีกต่อไป ซ้ำยังต้องถูกเปลี่ยนวิถีชีวิตและอาชีพจากที่เคยทำนามาก่อนสู่การทำอาชีพใหม่ที่ไม่คุ้นเคย แม้จะแลกกับเงินค่าชดเชยที่รัฐจัดให้แต่ก็ไม่ใช่หลักประกันของการมีคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวในอนาคต ซ้ำร้ายกว่านั้นคือความไม่เข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่การทะเลาะและแตกแยกกันภายในชุมชน ชนิดปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าที่ชาวบ้านจะพยุงรับไหว ทำให้ประชาคมแม่สอดอาสาเป็นคนกลาง เข้ารับฟังปัญหาและความคิดเห็นที่แตกต่างร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง แก้ไขบนฐานของความรู้ ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง แม้วันนี้ชนิดปัญหาต่างๆ จะยังไม่สามารถแก้ไขได้โดยลุล่วงทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นโอกาสของการสื่อสารความจริงให้รัฐได้รับรู้ว่าการมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยไม่คิดให้รอบด้านมักจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเสมอ

ปัญหาสารแคดเมียมปนเปื้อนในนาข้าว

การเรียนรู้เพื่อเข้าใจปัญหาและทำการศึกษาข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดและรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้จนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และวิทยาศาสตร์ ทำให้คณะทำงานกลายเป็นฝ่ายเข้ารุกในบางโอกาส แทนที่จะตั้งรับอยู่ฝ่ายเดียว โดยอาศัยยุทธวิธีในการทำงานที่มียุทธศาสตร์ ทั้งระบบวิธีคิด การจัดวางบทบาทหน้าที่การทำงานอย่างเหมาะสม การให้เกียรติและยอมรับคนจากทุกสถานะที่ร่วมเวที ตลอดจนการประเมินสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การกำหนดอนาคตตนเองของท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องยาก จนเป็นไปไม่ได้สำหรับคนแม่สอด

 

N ปัญหา อุปสรรค และการฝ่าฟัน

ภายใต้ภาวะคุกคามชีวิตผู้คนเมืองแม่สอดและอำเภอคใกล้เคียงซึ่งผ่านการขับเคลื่อนงานทั้ง 3 ประเด็น สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคมากที่สุดคงไม่พ้นเรื่องของนโยบายจากภาครัฐที่กระทบกับความเป็นท้องถิ่น โดยคนพื้นที่ไม่มีสิทธิรับรู้และร่วมกำหนดอนาคตท้องถิ่นด้วยตนเอง ประกอบกับวิถีชีวิตพื้นฐานที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น คือ การรอคอยให้ “เจ้านาย” มาช่วย แต่ก็พบว่าวัฒนธรรมการทำงานของราชการที่มองข้ามประเด็นสำคัญของท้องถิ่น โดยทำการโยกย้าย เปลี่ยนแปลง หรือไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ได้ทำให้การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมากลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างโจทย์และจำเลยมาโดยตลอด ซึ่งไม่นำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ คลี่คลายปัญหาที่รุมเร้า มีทางออกหรือสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับท้องถิ่นได้เลย

อย่างไรก็ดี คณะทำงานประชาคมแม่สอดได้ใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นแนวร่วมช่วยเหลือจนสามารถคลี่คลายไปได้บ้าง แต่ก็คงไม่สำคัญไปกว่าการแสดงให้ภาครัฐเห็น หรือจับต้องความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหว และกระบวนการทำงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคฝ่ายได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะภาครัฐไม่มีความถนัด ภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาท และพิสูจน์ให้เห็นว่าหากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความปรารถนาของคนในสังคมร่วมกัน จำเป็นต้องมาจากการร่วมมือกันของคนทุกภาคส่วนด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ องค์ประกอบของคณะทำงานที่มีความแตกต่างกันในเรื่องวัยและวุฒิภาวะการตัดสินใจได้ส่งผลต่อการทำงานโดยรวม โดยเฉพาะเรื่องความอาวุโสระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องในหมู่คนทำงาน ซึ่งมีผลต่อการกำหนดบทบาทหน้าที่ และการให้ความไว้วางใจต่อกัน แต่ปัญหาดังกล่าวก็คลี่คลายไปได้ด้วยการพูดคุยและหันหน้าเข้าหากันระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม ต่างฝ่ายจึงต่างเข้าใจกันดีขึ้น และสามารถร่วมกันทำงานภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกันต่อไปได้

เวที “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” อ.แม่สอด จ.จาก

N ปัจจัยเงื่อนไขสู่ความสำเร็จ

1. การให้การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น พร้อมกับเรียนรู้ที่จะเป็นทั้งฝ่ายรุก ฝ่ายรับ หรือรู้จักถอยให้เป็น รวมถึงการไม่ยึดติดกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง แต่มีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทตนเองตามวาระโอกาสและสถานการณ์ที่เหมาะสม

2. การใช้เวทีเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจร่วม โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลและองค์ความรู้ทั้งจากภายในและภายนอกเพื่อสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. การให้ความสำคัญกับการออกแบบกระบวนการทำงานโดยเฉพาะวิธีคิดกระบวนระบบ การกำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน การพัฒนาศักยภาพคนทำงาน การสื่อสารอย่างมีพลัง รวมทั้งปัจจัยสนับสนุน เช่น การมีศูนย์ประสานงานที่ชัดเจน และแหล่งงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง จะทำให้การขับเคลื่อนงานบรรลุเป้าหมายที่มุ่งหวังไว้ได้

 

N ข้อค้นพบและบทเรียน

1. การแก้ปัญหาของสาธารณะเพื่อสร้างวิถีชีวิตสาธารณะที่เข้มแข็งจำเป็นต้องทำให้เป็นประเด็นของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อสร้างสำนึกร่วมในการพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคไปสู่ความสันติสุขของท้องถิ่นด้วยคนในท้องถิ่นเอง

2. การจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ได้ ต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาคนเป็นประเด็นสำคัญ ผสมผสานกับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญภายนอกท้องถิ่น และความพร้อมของทีมหลักในพื้นที่ ซึ่งต้องคอยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มกำลังในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่กระบวนการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ การเชื่อมประสานกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ และพร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

3. เกิดการพัฒนาชุดความรู้ประจำท้องถิ่นและฐานข้อมูลเชิงประเด็นของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากการนำความรู้ที่เป็นทฤษฎีมาทดลองปฏิบัติจริงและฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นจากการทำงานและประสบการณ์ตรง จนสามารถยกระดับเป็นความรู้คู่ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบเป็นของตัวเองได้ เช่น ชุดความรู้เรื่องการพัฒนาคน การกำหนดบทบาทคนทำงาน ยุทธศาสตร์ในการทำงานท้องถิ่นภายใต้พลวัตรของสังคมปัจจุบัน การมองภาพและสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคมแบบองค์รวม เป็นต้น แต่หากต้องการพัฒนาเป็นสถาบันการจัดการความรู้ของภาคประชาชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนแล้ว จำเป็นต้องมีความพร้อมเรื่องคน ทุน ความรู้ เครือข่ายในประเด็นต่างๆ ทรัพยากร งบประมาณสนับสนุน และกระบวนการคิดและพัฒนาความเป็นสถาบันให้สามารถตอบสนองประโยชน์และความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

4. การทำงานที่มีความเป็น “ภาคประชาสังคม” ได้ประจักษ์ชัด พิสูจน์ได้จากการเข้าร่วมทำงานเพื่อท้องถิ่นด้วยความเป็นอิสระและมีจิตสาธารณะอย่างแท้จริงของคนในท้องถิ่นเอง โดยไม่ยึดติดกับค่าตอบแทน ผลประโยชน์ หรือตำแหน่งใดๆ เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถเชื่อมร้อยคนต่างๆ ให้มาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ เพราะแต่ละภาคส่วนต่างมีความไว้วางใจต่อกัน จึงเท่ากับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับท้องถิ่นจังหวัดตากแห่งนี้ให้เกิดขึ้นและคงอยู่ต่อไป

5. กระบวนการทำงานและการจัดการที่อาศัยความรู้เป็นตัวนำ โดยมียุทธศาสตร์การทำงานที่ให้ความยืดหยุ่นกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงรอบตัว หากมีการทำงานที่เข้มข้นขึ้นไปอีกจะสามารถยกระดับและพัฒนาตนสู่การเป็นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมระดับจังหวัด ซึ่งสามารถสอดรับกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่มีอยู่แล้วได้

 

สนับสนุนข้อมูลโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ตาก

ประชาคมแม่สอด เลขที่ 68/2 ถ.สายเอเชีย อ.แม่สอด จ.ตาก 63110

โทรศัพท์/โทรสาร 055-534958


จัดทำโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3 www.ldinet.org

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Be the first to comment on "กำหนดอนาคต…ท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาฐานคิด สร้างชีวิตสาธารณะเมืองแม่สอดที่เข้มแข็ง"

Leave a comment

Your email address will not be published.