ความมั่นคงแบบจีน

Table of Contents

พลเดช ปิ่นประทีป

Post Today/พุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทางภาคใต้ เมื่อปีที่แล้ว เขาไปตระเวนสอนหนังสือในหลายมหาวิทยาลัยของจีนเป็นแรมเดือน เขาบอกผมอย่างตื่นเต้นว่าทุกมหาวิทยาลัยที่เขาไปล้วนกำหนดวิสัยทัศน์ 100 ปีข้างหน้าทั้งนั้นเลย

ทำให้ต้องคิดต่อว่า นี่เป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาระดับหน่วยงานเท่านั้น หากเป็นวิสัยทัศน์ความมั่นคงของประเทศจีน หรือสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจ เขาจะวางแผนไปในอนาคตสักกี่ศตวรรษ

แม้ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็น่าเชื่อว่าจะต้องมีวิสัยทัศน์ความมั่นคงของประเทศในระยะที่ยาวมากแบบเดียวกัน เพราะวันหนึ่งอาจถูกน้ำท่วมหายไปทั้งประเทศหรือถูกภัยคุกคามทำลายจากต่างชาติและฝ่ายเสนาธิการของเขาคงศึกษาตำราสามก๊กจนทะลุปรุโปร่ง

หลังปี 1949 จีนเปลี่ยนการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน เหมาเจ๋อตงผู้นำรุ่นแรกปิดประเทศอยู่ 27 ปี ช่วงแรกสามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งอดอยากมีโอกาสกินข้าวได้ครบ 3 มื้อ ชาวจีนจึงให้ความนิยมอย่างสูง ผู้นำตัดสินใจเร่งเครื่องเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น แต่โชคร้ายช่วงถัดมาเกิดพิบัติภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุถล่ม ไฟไหม้ เป็นเหตุให้คนจีนตายเกือบ 30 ล้านคน เศรษฐกิจพังพาบ แผนการทุกอย่างล้มเหลว ต้องขอให้หลิวส้าวฉีเข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่หลังจากนั้นกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนายทุน เป็นลัทธิแก้เหมาขับเคลื่อนการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยเยาวชนแดงเพื่อกำจัด เป็นเหตุให้มีคนจีนตายไปประมาณ 1.2 ล้านคน

ปี 1978 เติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมาเป็นผู้นำภายหลังการตายของเหมา เขาเริ่มจากปฏิรูปชนบทให้ชาวนามีที่ทำกิน เลิกระบบนารวม ระหว่างนั้นเขาใฝ่ฝันที่จะสร้างความทันสมัยให้กับแผ่นดินแม่ จึงเดินทางมาดูกรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ ในที่สุดเขาเลือกสิงคโปร์เป็นตัวแบบเพราะมีหลายอย่างที่คล้ายจีน เป็นประเทศที่ทันสมัย เทคโนโลยีก้าวหน้า มีเสถียรภาพทางการเมือง พรรคเดียวครองอำนาจ ประชาชนมีเสรีภาพไม่มากนัก และใช้วิธีวางแผนเศรษฐกิจจากศูนย์กลาง

จากนั้นเขาจึงเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยส่งคณะดูงานถึง 400 คณะมาดูให้เห็นกับตาว่าจีนควรพัฒนาอย่างไร คนที่ถูกส่งมาล้วนเป็นระดับเลขาธิการพรรคและนายกเทศมนตรี จีนเริ่มตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น 2 แห่งแรกที่ฟูเจี้ยน (ติดช่องแคบไต้หวัน) และกว้างตุ้ง (ใกล้ฮ่องกง) เพื่อที่จะอาศัยพลังและทรัพยากรจากจีนเพื่อนบ้าน ต่อมาจึงขยายไปอีก 14 เมือง และปัจจุบันรวมหลายร้อยแห่งตลอดชายฝั่งทะเล

ปี 1985 เติ้งปราศรัยต่อหน้าแกนนำพรรคว่า “เราต้องลดกำลังกองทัพประชาชนจีนลง 1 ล้านคน ทั้งพรรค รัฐบาลและกองทัพต้องมุ่งสร้างตัวทางเศรษฐกิจ” เวลานั้นกองทัพจีนมีกำลัง 4.2 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ และเทคโนโลยีทางทหารต่ำมาก

ปี 1989 เกิดเหตุการณ์จลาจลที่เทียนอันเหมิน เติ้งใช้กำลังเข้าปราบ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดประสบการณ์และแรงด้วยกันทุกฝ่าย โชคดีที่การพัฒนาสู่ความทันสมัยไม่สะดุด เติ้งทำนายว่าจีนต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 50 ปี จึงจะบรรลุเป้าหมาย แต่บัดนี้ผ่านมาเพียง 30 ปีเท่านั้น เติ้งตายไปนานแล้ว ภาพลักษณ์และแบรนด์ของจีนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ผู้นำด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร อวกาศ กีฬา วัฒนธรรม คมนาคม พาณิชยนาวี และพลังงานนิวเคลียร์

มี 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ที่ได้แรงบันดาลใจจากจีน คือ โซเวียตรัสเซีย และอินเดีย

ปี 1985 ประธานาธิบดี กอร์บาชอฟ เริ่มหลังจีน 7 ปี เขาทำการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วย นโยบาย กลาสน็อต-เปเรสตอยก้า มุ่งที่อุตสาหกรรมในเมืองเป็นหลัก ละเลยชาวนาในชนบทด้วยความใจร้อน ในที่สุดจึงล้มเหลว ประเทศแตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยจำนวนนับสิบ ซึ่งบางแห่งยังคงทำสงครามรบพุ่งกันไม่เลิกจนทุกวันนี้

ปี 1991 อินเดียโดยนายกรัฐมนตรี พีวีนาราสิงหเราห์ และรัฐมนตรีคลังมานโมฮาน ซิงห์ เดินตามจีนอย่างระมัดระวัง ภายหลังการปิดตัวยาวนานหลังได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพราะเข็ดขยาดกับประเทศนักล่าอาณานิคม ประชาชนยากจน คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ความขัดแย้งทางสังคม-การเมืองในประเทศสูงมาก ผู้นำตระกูลคานธี 3 คน ถูกลอบสังหารไป (มหาตมะ 1948, อินทิรา 1984 และราจีฟ 1991) ปัจจุบันอินเดียผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ของโลกแล้ว

วิสัยทัศน์ความมั่นคงและการพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและคาบเกี่ยวกันอย่างแยกไม่ออก ความมั่นคงมิติใหม่จึงควรเป็นความมั่นคงในมิติกว้าง การปรับกระบวนทัศน์ด้านความมั่นคงจึงเป็นงานเร่งด่วนที่ “นักวิชาชีพความมั่นคง” และ “ประชาคมความมั่นคง” ของไทยต้องพิจารณา

ความมั่นคงของประเทศที่มีมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง คือคำจำกัดความในมิติใหม่ใช่หรือไม่? นี่เป็นประเด็นที่เปิดเอาไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนครับ

Be the first to comment on "ความมั่นคงแบบจีน"

Leave a comment

Your email address will not be published.