“การจัดการความรู้” กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข

การจัดการความรู้ในขณะนี้ เป็นการปฎิวัติเงียบ การใช้ความรุนแรงบ่อยๆครั้ง หรือเกือบทั้งหมดไม่ใช่การปฎิวัติ การปฏิวัตินั้นต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เปลี่ยนคุณค่าใหม่ …

โดย สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.)

5 ธันวาคม 2548

 

ศ.นพ.ประเวศ วะสี

 

 

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส

 

          การจัดการความรู้ในขณะนี้ เป็นการปฎิวัติเงียบ การใช้ความรุนแรงบ่อยๆครั้ง หรือเกือบทั้งหมดไม่ใช่การปฎิวัติ การปฏิวัตินั้นต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เปลี่ยนคุณค่าใหม่ ซึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นของการจัดการความรู้ที่เห็นได้ชัดเจนคือนำไปสู่ความคิดใหม่ การเปลี่ยนคุณค่าใหม่ๆ ที่สำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างลึกซึ้ง (tranformation) ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กรและสังคม เราได้เห็นแล้วว่ากระบวนการใช้กฎหมายต่างๆไม่นำไปสู่ transformation เพราะขาดการเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียดลึกซึ่ง เป็นเพียงกลไกลที่นำไปสู่กลโกง การจัดการความรู้ปัจจุบันจึงนำไปสู่การผลักจิตสำนึกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง และ นำไปสู่การมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี

       สังคมปัจจุบันเชื่อมโยงกันทุกมิติ ทั้งข้อมูลข่าวสาร ระบบเศรษฐกิจ การเมืองที่เชื่อมโยงกัน สามารถเคลื่อนไหวไปรอบโลกได้ด้วยความเร็วของแสง สิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดเป็นระบบที่ซับซ้อนที่จัดการยาก ไม่รู้ว่าใครเป็นมิตร เป็นศัตรู สมัยก่อนเรารู้ว่าใครเป็นศัตรูก็สามารถต่อสู้ได้ แต่ปัจจุบันระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้ทำให้เราไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร จึงเกิดเป็นปัญหาทางโครงสร้างขึ้น สมัยที่คุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีประกาศว่าอยากแก้ปัญหาโสเภณีเด็ก แต่ไม่สามารถแก้ได้ เพราะมันอยู่ในโครงสร้างที่ซับซ้อนมาก แม้ประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อตอนหาเสียงก็ประกาศว่าอยากปฏิรูประบบบริการสุขภาพของอเมริกันที่เลวร้ายมาก แต่ก็ทำไม่ได้ หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ที่มีการปฏิวัติขับไล่นายเฟอร์ดินาน มาร์กอส ออกไปโดยคณะร่วมปฏิวัติประชาชน ให้นางคอลาซอน อาควิโน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนฟิลิปปินส์ก็คิดว่านี่คงเป็นโอกาสของคนฟิลิปปินส์ที่จะแก้ปัญหาความยากจน ความอยุติธรรมในสังคม ฟิลิปปินส์ให้หมดไป

แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าฟิลิปปินส์ก็ดิ่งลงต่ำมากขึ้น เพราะติดอยู่ในโครงสร้างที่ซับซ้อนและยากต่อการเข้าใจ อันนี้คือกฎแห่งความทุกข์ความบีบคั้นตนเองขนาดหนัก เพราะแม้ว่าเรามีสมอง ที่มีศักยภาพสูง แต่ถ้ายังถูกบางสิ่งกดทับอยู่ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆได้ ซึ่งการที่คนเราอยากทำอะไรดีดี อยากแก้ปัญหา อยากช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร จึงทำให้ครรู้สึกหมดหวังสิ่งเหล่านี้เรียกว่า ทุกข์ทางสังคมซึ่งหากจะเปรียบก็คือ เราป่วยกันหมดทั้งโครงสร้าง

จะเห็นว่าปัจจุบันเราถูกชักอยู่ในโครงสร้างของชุมชนต่างๆ องค์กร การเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และการศาสนา ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างทางดิ่ง ที่เน้นการใช้กฎหมาย กฏระเบียบ และการบริหารสั่งการจากเบื้องบนลงล่าง ในองค์กรแผ่นดินที่มีความสำคัญ มีโครงสร้างทางดิ่งมากไป คนมีอำนาจก็ใช้อำนาจจนมากเกินไป คนที่ไม่มีอำนาจก็ไม่อยากให้เรียนรู้ เพราะอยากจะสั่งมากกว่า สภาพเมืองไทยหรือต่างประเทศในขณะนี้ คนๆเดียวอยากจะสั่งคนทั้งหมด คนจึงติดอยู่ในโครงสร้างแบบนี้ เช่น มหาวิทยาลัย การบริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเป็นการบริหารกฏระเบียบมากกว่าการบริหารวิชาการ เพราะไม่กล้าที่จะก้าวข้ามวิชาชีพ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยก็มีกำลังน้อย การมีโครงสร้างแบบนี้คนจะขัดแย้งกัน คนจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน เกลียดกันแกล้งกัน ทำร้ายกัน และวิ่งเต้นเส้นสาย เพื่อให้ได้อำนาจที่เหนือกว่า

ขณะนี้อำนาจทุนกำลังเคลื่อนไหวอยู่ทั่วโลกในบทบาทต่างๆ แม้กระทั่งการควบคุมสื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งอาหารการกินของมนุษย์ ซึ่งอำนาจทุนนี้กำลังมีจำนวนมากขึ้นในสังคม สำหรับทุนกับการเมืองเองก็พยายามเข้ามาในกลุ่มสื่อมวลชนด้วยการพยายามปิดหูปิดตาสื่อทำให้เกิดความเครียดต่างๆขึ้นในสังคม ซึ่งคนไทยจะติดอยู่ในโครงสร้างทุนมหึมาโดยไม่รู้ตัว

ทางออกคือ เราต้องกลับไปสู่ศีลธรรมพื้นฐานของสังคม คือการเคารพศักดิ์ศรี ความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ถ้าสังคมไม่มีศีลธรรมพื้นฐานแล้วการพัฒนาด้านต่างๆจะบิดเบี้ยว สิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก ความเป็นธรรมทางสังคมก็จะไม่มี หากขาดศีลธรรมพื้นฐาน คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน

ดังนั้นการที่คนเราขาดศีลธรรมพื้นฐานแล้วจะใช้ประชาธิปไตยเข้ามาแก้ไข ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะประชาธิปไตยเป็นเพียงกลไกหนึ่งเท่านั้น เมื่อประชาธิปไตยเป็นเพียงกลไกหนึ่งก็กลับเป็นกลโกงได้อย่างที่เราเห็น ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงต้องอยู่บนศีลธรรมพื้นฐาน ดังนั้นเรื่องศีลธรรม สิทธิสตรี สิทธิเด็ก การพัฒนาที่เคารพคนอื่น ต้องมีความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก หากสังคมมีความเป็นธรรม คนจะเรียกว่าชาติ เรียกว่าส่วนรวม และอยากจะรักษาระบบนั้นไว้

ระบบการศึกษาของเราทั้งหมดตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ที่ทำลายศีลธรรมพื้นฐานของสังคม ศีลธรรมในที่นี้คือความเคารพศักดิ์ศรีของคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน หลายปีมาแล้วผมไปเยี่ยมโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ โรงเรียนวัดพนัญเชิง ซึ่งให้นักเรียนเรียนรู้จากชาวบ้าน เรียนจากชาวสวน เรียนจากคนขายของชำ เรียนจากช่างเสริมสวย ซึ่งคนเหล่านั้นไม่เคยมีนักเรียนมาเรียนด้วย เมื่อมีนักเรียนมาเรียนรู้จากเขา เขาจะรู้สึกมีเกียรติขึ้นทันที ซึ่งความรู้ที่สอนก็เป็นความรู้ในตัวจากประสบการณ์ตรง

แต่ปัจจุบันครูไม่สามารถสอนในรูปแบบนี้ได้ เพราะครูสอนไม่เป็น แต่ชาวบ้านสามารถสอนได้ เพราะเป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน การที่ครูจะสอนจากประสบการณ์ตรงเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงมีวิธีง่ายๆคือ การสอนศีลธรรมพื้นฐานให้กับเด็ก พร้อมจัดประเภทของความรู้ในตัวคน เพราะเราแบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน กับความรู้ที่อยู่ในตำรา ซึ่งทั้งสองอย่างมีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ แต่ต้องวางความสัมพันธ์ให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาเราวางความสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง

เพราะความรู้ที่อยู่ในตัวคนได้จากประสบการณ์ ได้จากการทำงาน เช่น เราใช้ตำราทำกับข้าวเล่มเดียวกัน เราก็จะได้สูตรเหมือนๆกัน แต่เคล็ดลับความรู้ของแต่ละคนอาจทำให้รสชาติอาหารแตกต่างกันไป ซึ่งนั่นคือความรู้ในตัวคน ดังนั้นครูที่ดีที่สุดของเราคือแม่ แม่ทุกคนสอนเรื่องดีดีไว้มากมาย แม่สอนได้เพราะแม่มีความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์การทำงาน หากเราจะเอาความรู้ที่อยู่ในตัวคนเป็นฐาน ความรู้ในตำรามาประกอบ มาปรับแต่งต่อยอด ก็จะเป็นการจัดความสัมพันธ์ของความรู้ที่ส่งเสริมทุกคน เพราะถ้าเราถือความสำคัญของความรู้ของคนแล้ว คนทุกคนจะกลายเป็นคนมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ แต่ถ้าเราเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ เหมือนชาวบ้านไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี เพราะมีคนจำนวนน้อย ที่จะรู้ในตำรา

จริงๆแล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ไม่คล่องแคล่วด้วยซ้ำไป ครูส่วนใหญ่ก็สอนเป็นนกแก้วนกขุนทอง แบบท่องจำเพราะมันยาก มันกลายเป็นเหมือนระบบพราหมณ์ที่มีพราหมณ์บางคนเท่านั้นที่ท่องคัมภีร์สรรเสริญเทพได้ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ประจักษ์ชน ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องเป็น public knowledge ที่ทุกคนสามารถเสพความรู้ได้ ร่วมสร้างและร่วมพิสูจน์ได้ ฉะนั้นเราไม่ควรปฏิเสธความรู้ทั้งสองด้าน แต่เราควรจัดความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เกิดผลในแง่บวกต่อสังคมได้ เพราะฉะนั้นการจัดการความรู้คือรูปธรรมของการเคารพความรู้ที่มีในตัวคน การจัดการความรู้ก็คือศีลธรรม เป็นศีลธรรมพื้นฐานที่เราควรจะส่งเสริมให้คนทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง แต่หากเราเอาความรู้ในตำราเป็นฐาน คนจะขาดความมั่นใจ ซึ่งจุดนี้จะเป็นพลังทางศีลธรรมที่จะเข้ามาปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพและความสุข
       

การศึกษาปัจจุบันนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นคนไม่เก่ง มีคนอยู่ไม่กี่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเก่งเพราะว่าท่องสูตรเก่ง ตอบเก่ง ได้คะแนนสูง นอกนั้นเป็นคนไม่เก่ง แต่จริงๆแล้วต้องถือว่าทุกคนมีความเก่ง แต่จะเก่งคนละด้านแตกต่างกันไป สมมติว่าเราลองทำแผนที่ดูว่าคนทั้งตำบลเก่งเรื่องอะไรกันบ้าง เราก็จะได้เห็นศักยภาพในตัวคน ทุกคนจะแข่งกันทำความดี อย่างเช่น ครูบาสุทธินันท์ เก่งเรื่องดิน หรือแม่ทองดีทำอะไรเก่ง เราก็จะรู้กันหมดทั้งประเทศ จะเกิดแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ ตัวอย่างเช่น อาจารย์ประภาภัทร นิยม เข้าไปทำเรื่องแผนที่คนดี ที่เกาะลันตาจังหวัดกระบี่ เมื่อทำแล้วชาวบ้านเกิดความปีติยินดี ชาวบ้านสามารถเป็นครู ให้ความรู้แก่ผู้อื่นได้ และรู้สึกว่าตนเองมีเกียรติ

จริงๆแล้วผมเคยพูดกับท่านนายกฯทักษิณ ชินวัตรว่าน่าจะจัดงบประมาณเพิ่มให้สกว. ปีละพันล้าน และให้สกว.ไปสนับสนุนมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาไปทำ maping ของคนในพื้นที่ ท่านก็ตอบว่า ท่านเข้าใจดีเหมือนเป็นการทำ GIS เรื่องคน แต่ท่านก็คงยุ่งและลืมเรื่องนี้ไปแล้ว

สำหรับคุณธรรมและศีลธรรม 8 ประการ เราเคารพความรู้ในตัวคน ทุกคนมีเกียรติและศักดิ์ศรี แต่การจัดการความรู้ช่วยไปเสริมกระบวนการธรรมชาติ ให้มีการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยน มีการงอกงามไปตามธรรมชาติ มีการหยั่งลึก มีการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้เรารู้ความหมายภายในของคนคนนั้น แต่ถ้าเป็นการฟังแบบตื้นๆ จะเป็นการรู้แบบ รู้เปรี้ยง ทำเปรี้ยงอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันในสังคม เป็นอารมณ์ เป็นเหยื่อของกิเลสเข้ามาก็ดี ซึ่งคนเยอรมัน ได้สร้างทฤษฎีตัวยู คือ การได้รับรู้อะไรมาอย่าเพิ่งตัดสิน ให้แขวนความรู้นั้นไว้ก่อน และนำมาพินิจพิจารณา สงบและมีสติ แล้วก็จะเกิดปัญญา เมื่อเราเกิดปัญญาแล้วจะสามารถเชื่อมโยง อดีต ปัจจุบัน อนาคต ทำให้เห็นอนาคตและกลับไปพิจารณาอดีตปัจจุบันด้วยกระบวนการทางปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า ใครพูดอะไรอย่าเพิ่งรับ อย่าเพิ่งปฏิเสธ ให้แขวนไว้ก่อน หรือ พิจารณาอย่างลึกซึ้ง มีสติก็จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น

ซึ่งเป็นวิธีการทางบวกที่เรามองความสำเร็จ ทำให้เกิดพลังเพิ่มขึ้น และไม่เริ่มต้นจากความทุกข์ เมื่อเราพูดว่าทุกข์มาก ความทุกข์ก็จะท่วม แล้วเกิดการทะเลาะกัน การเจริญธรรมมะ 4 ประการ คือการเรียนรู้ร่วมกันที่เรียกว่า interactive learning แต่ตามปกติมนุษย์จะไม่เรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้นการที่จะเรียนรู้ร่วมกันต้องมีความเอื้ออาทร เปิดเผย มีความจริงใจต่อกันและ ไว้วางใจกันได้ ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีความสุข การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ถือเป็นหัวใจของการจัดการความรู้ ถักทอไปสู่โครงสร้างใหม่ขององค์กรและสังคม มีทั้งแบบใช้อำนาจและแบบตัวใครตัวมัน แต่การจัดการความรู้ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างคนกับคน คนกับกลุ่มคน กลุ่มคนกับกลุ่มคน ซึ่งจะทำให้เกิดโครงสร้างใหม่ขึ้นในองค์กรและสังคม การเจริญสติในการกระทำหรือการรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร และฟังอย่างเงียบนิ่ง ถือเป็นการเจริญสติ ซึ่งเมื่อเข้าใจและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการเจริญสติซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่า เอกะมรรคโค เป็นธรรมอันเอก เพราะฉะนั้นประชาคมจัดการความรู้ควรจะสนใจเรื่องเจริญสติในการทำงานด้วย

หากเราพูดถึงเสรีภาพแล้วมักจะพูดถึงเสรีภาพของบุคคลพูดถึงบุคคลกับจิตก็ต้องมีระบบด้วย เหมือนรถยนต์ถ้าส่วนต่างๆ มีเสรีภาพ มันก็ไม่มีเสรีภาพของรถยนต์ ฉะนั้นทุกส่วนต้องเชื่อมโยงกันอย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ระบบทั้งหมดมีเสรีภาพ ฉะนั้นหากเราไม่ระวัง ก็จะไปติดในเสรีภาพส่วนบุคคล ทำให้เกิดการตีตรา ดังนั้นกระบวนการจัดการความรู้ควรจะมองทั้งหมดให้เชื่อมโยงกัน ขณะที่การพัฒนาในโลกนี้ก็พัฒนาแบบแยกส่วน ดังนั้นการพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงและบูรณาการ ทั้งทางกาย จิต วัตถุ สังคมและปัญญา ด้วยการร่วมคิดร่วมทำก็จะทำให้การเกิดการปรับโครงสร้างทางสังคมจากแนวดิ่งไปสู่เครือข่าย ไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันด้วยสันติ มีการนึกถึงคนอื่นการเข้าถึงธรรมชาติที่ไม่ใช้อำนาจ ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ นำทั้งหมดมาบูรณาการจัดการความรู้ เพราะทุกวันนี้เราไม่มีแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษาการวิจัย เราทำกันอย่างแยกส่วน

       จึงกล่าวได้ว่า การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการปลดปล่อยมนุษย์ ไปสู่ศักยภาพ เสรีภาพและความสุข และไปสู่การยกระดับ ไปสู่จิตสำนึกใหม่ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (tranformation) ที่นับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ร่วมกันได้

 


หมายเหตุ
: บทความนี้เรียบเรียงจาก ปาฐากถาพิเศษ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ในงาน มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่
2 จัดโดย สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ วัน ที่ 1 ธันวาคม 2548

 

ที่มา : http://www.manager.co.th/qol/

Be the first to comment on "“การจัดการความรู้” กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข"

Leave a comment

Your email address will not be published.