“คนจน” จนเพราะโครงสร้าง ใช่จนเพราะตนเอง

“คนจน” จนเพราะโครงสร้าง ใช่จนเพราะตนเอง

ทัศนะต่อคนจนของคนส่วนใหญ่มักมองว่า การที่คนเราจนเพราะขี้เกียจ นพ.ประเวศ วะสี เคยสะท้อน แนวคิดนี้ออกมา เมื่อครั้งไปร่วมเสวนา “คนจนกับทางออกของสังคมไทย” ณ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน จ.อุบลราชธานีไว้ว่า

“สังคมไทยเป็นสังคมที่เกลียดคนจน คนจนถูกดูหมิ่นดูแคลน นักเรียนที่เข้าโรงเรียนก็ถูกสอนให้เกลียดคนจนโดยไม่รู้ตัว สุภาษิต เช่น รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา คำอวยพร เช่น ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน ขอให้ได้นั่งกินนอนกิน สะท้อนทัศนะที่ฝังลึกในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ไปกำหนดลักษณะของอาชีพ รายได้ และความเป็นไปอื่นๆ เช่น คนจนต้องทำงานต่ำ รายได้น้อย แต่เสี่ยงภัยมาก และไม่มีเกียรติ ที่จริงคนจน คน ”หามเสา” นั่นแหละเป็นฐานของประเทศ ย้อนหลังไปไม่นาน ภาษีอากรที่เอามาใช้สำหรับประเทศเกือบจะมาจากชาวนาล้วนๆ วิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศครั้งนี้จะเห็นว่า คนจนไม่ได้เป็นคนก่อขึ้นเลย แต่เกิดจากคนข้างบนที่มีฐานะ มีการศึกษา และมีอำนาจ การจะแก้ไขปัญหาความยากจนได้ต้องมีการปรับทัศนะเกี่ยวกับคนจนเสียใหม่ การเคารพคุณค่าความเป็นคนของทุกคน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากจน เป็นศีลธรรมพื้นฐาน ปราศจากศีลธรรมพื้นฐานนี้ประเทศมีสันติสุขไม่ได้”

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวว่า

“คนชั้นกลางจำนวนมากเป็นแม่ค้า ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ยิ่งได้เป็นนายกฯ เป็นนักการเมือง หรือรัฐมนตรี ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ เพราะคิดว่าตนเองก็จน แต่ยังสามารถมาถึงตรงนี้ได้ ทำไมคุณมาไม่ได้ เพราะขี้เกียจหรือโง่ หรือเปล่า ตรงนี้เป็นปัญหามาก ยิ่งตัวนโยบายการพัฒนา ทำให้อธิบายลำบาก เพราะนโยบายการพัฒนาของเรา ไม่รู้จะเอาความจนใส่ตรงไหน ดังนั้น ความยากจนจึงเป็นอุบัติเหตุ หรือใจร้อนไป ให้รอไปก่อนเดี๋ยวก็จะรวยบ้าง”

อันที่จริงแนวคิดเรื่อง “ความยากจน” มีความสัมพันธ์โดยตรงกับแนวคิดเรื่อง “การพัฒนา” ซึ่งรัฐไทยได้รับอิทธิพลความคิดนี้มาจากประเทศตะวันตก โดยธนาคารโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาวางแผนการพัฒนาให้ จนเกิดเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504 ประเด็นสำคัญของแผนดังกล่าวคือ การแผ่ขยายอำนาจของรัฐจากฐานคิดประเทศตะวันตกไปครอบงำทางคุณค่าแก่สังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงไปตามคุณค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดังนั้นเมื่อเกณฑ์วัดการพัฒนาคือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ “ความยากจน” ในทัศนะของรัฐจึงถูกนิยามว่า เป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนรายได้ ทรัพยากร วัตถุดิบ แรงงาน และต่อมายังขยายไปถึงเทคโนโลยี จากทัศนะเหล่านี้ การพัฒนาของรัฐในยุคแรกจึงเน้นไปที่เรื่อง น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ
แต่ต่อมานโยบายการพัฒนาประเทศได้มุ่งส่งเสริมไปที่อุตสาหกรรมของภาคธุรกิจกิจเอกชน โดยอาศัยฐานทรัพยากรและแรงงานจากภาคชนบท

การพัฒนาดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่นจากการหาอยู่หากินเพื่อยังชีพไปสู่การผลิตเพื่อการค้า โดยมีกลไกตลาดเป็นตัวควบคุม อันนำมาสู่ปัญหาการทำลายฐานทรัพยากรของท้องถิ่น และความล้มเหลวของเกษตรกรในการจัดการเกษตรและทำมาหากิน
ครอบครัวของแม่ปราณี โนนจันทร์ ชาวบ้าน อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี คือตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศ เมื่อรัฐบาลมีการอนุมัติให้สร้างเขื่อนปากมูลขึ้น ครอบครัวที่เคยอาศัยลำน้ำมูลเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาขาย วิชาการประมงที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ก็มีอันต้องจบลงไปด้วย

“แต่ก่อนหากินอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้มีแต่ปลาอย่างเดียว มีกุ้ง หอย พืชผักต่างๆ ตามริมแม่น้ำ แล้วเราก็ใช้ที่ดินริมแม่น้ำปลูกพืชผักสวนครัวเสริมด้วย พอได้หมุนเวียนเป็นวัฏจักรที่เราอยู่ได้ ถึงไม่ได้ร่ำรวย แต่เราก็มีความสุข แต่พอปี 2537 เขื่อนสร้างขึ้นมา พ่อ (สามี) ก็หาปลาไม่ได้ เลยต้องมารับจ้างที่กรุงเทพฯ ทำงานก่อสร้าง เงินที่ได้มาตอนแรกๆ ลูกยังเล็ก ก็พอใช้ แต่พอลูกต้องเข้าโรงเรียน ข้าวต้องซื้อ เราก็ต้องไปหยิบยืมเงินคนอื่น แต่ก่อนเวลาจับปลาได้ เรายังเอาปลาไปแลกข้าว แลกเสื้อผ้ามาใช้ ไม่มีอะไร เข้าป่าเก็บเห็ด หน่อไม้ได้ แต่ตอนนี้ไม่มีป่าแล้ว น้ำท่วมหมด ก่อนนี้การหาปลามันเป็นชีวิตที่ไปด้วยกันระหว่างพ่อแม่ลูก ลูกคนโตเกิดมาก่อนสร้างเขื่อน เขาจะว่ายน้ำเป็น หาปลาเป็นตั้งแต่เล็กๆ เพราะพ่อแม่จะพาไปด้วย แต่คนที่สองหาปลาไม่เป็นแล้ว ก่อนนี้แม่ไม่คิดว่าตัวเองจน เพราะยังหาอะไรได้อยู่ แต่ตอนนี้เราจน เพราะเราหาอะไรไม่ได้ ถึงเราจะมีปัญญา แต่มันไม่มีที่ทำกินเหลือให้เราแล้ว”

ศ.เสน่ห์ จามริก เคยวิเคราะห์เรื่องความจน จากการพูดคุยบนเวทีเสวนาเดียวกันที่ปากมูลนี้ว่า

“ทุกวันนี้เรากำลังพูดถึงปัญหา “ความยากจน” มากกว่า อันเป็นสิ่งที่เกิดโดยระบบ โดยโครงสร้าง คือเกิดจากโครงสร้างระบบผู้นำของไทยเรา ที่มองเรื่อง “การพัฒนา” โดยเดินตามก้นมหาอำนาจ ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านถูกทำลาย นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนมีความแตกต่างกันมาก เพราะยุทธศาสตร์การพัฒนาทำให้การแบ่งสรรทรัพยากรโน้มเอียงไปในทางที่จะทำให้คนรวยได้เปรียบ กรณีปากมูลเป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นในอีกหลายๆกรณี อันเป็นเรื่องของโครงสร้างระบบผู้นำของไทยเราที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของความโง่แกมหยิ่ง ที่ฉวยโอกาสแสวงหาความมั่งคั่ง อำนาจ จากการที่ต่างชาติเข้ามาครอบงำสังคมไทย และไปมองความต้องการจากภายนอกประเทศมากกว่าภายในประเทศ ทำให้การพัฒนาประเทศเกิดความผิดพลาด”

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยให้ภาพถึงเรื่องการพัฒนาว่าทำให้คนยิ่งจนลง โดยอธิบายว่า ความจนมี 2 แบบ คือ (1) จนสัมบูรณ์ ซึ่งนักวิชาการ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ได้ใช้เป็นวิธีการวัดความจน ด้วยการลากเส้นขึ้นมาเส้นหนึ่ง สมมติให้เป็นเส้นรายได้ ถ้าใครมีรายได้ต่ำกว่าเส้นนี้ ถือว่ายากจน ถ้ามีรายได้เหนือเส้นนั้นไป ก็ไม่ถูกจัดว่าเป็นคนยากจน

“เฉพาะในเมืองไทย คนที่อยู่ใต้เส้นนี้ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีประมาณ 11 % (6 ล้านคน) หลังวิกฤตเพิ่มเป็น 13 % (7-8 ล้านคน) เมื่อเทียบกับประชาชนมากกว่า 60 ล้านคน อาจเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ถ้าเทียบกับความรู้สึก ความทุกข์ยากของคน มันมโหฬารมาก”

ความจนในแบบที่ (2) ความจนเปรียบเทียบ ซึ่งมีปริมาณมากกว่าแบบแรก หมายถึง เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นในเครือข่ายความสัมพันธ์รอบข้าง เขาเป็นคนจน ทำอะไรไม่ได้หลายอย่าง เขาอาจมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน แต่อยู่ในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น คนจนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเดินทางมาก ยิ่งจนมาก ก็ถูกไล่ให้ออกไปอยู่นอกเมือง เพราะราคาบ้านถูกกว่า แต่กลับต้องเสียเงินมาก เพราะค่าเดินทางที่ต้องเสียเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง มนุษย์เงินเดือนต่างๆ ที่มีเงินพอใช้เดือนชนเดือน ไม่มีเงินเก็บมากนัก และการต่อรองก็มีไม่มาก วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพ่นพิษหลายอย่างให้กับพนักงานกินเงืนเดือนทั่วไป หลายโรงงานต้องปิดลง หลายบริษัทต้องปลดพนักงาน

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้พาดหัวข่าวใหญ่ว่า “ปูนกลางปิดโรงงานโละพนักงาน บทเรียนจากวิกฤตที่คนไทยต้องรับกรรม” ในเนื้อข่าวมีการกล่าวถึงสาเหตุของการโละพนักงานครั้งนี้ว่า เนื่องจากปัญหายอดส่งออกปูนไปต่างประเทศของบริษัทอยู่ในภาวะถดถอย จึงต้องหยุดเดินเครื่องไป 1 โรงงาน อันรวมไปถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวนหนึ่ง ในข่าวยังได้มีการสัมภาษณ์พนักงานรายหนึ่งของโรงงานว่า

“ขณะนี้ในด้านขวัญและกำลังใจของพนักงานที่โรงงานสระบุรี ค่อนข้างจะมีปัญหา ทุกคนไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้ทำงานต่อไปหรือไม่ แม้ผลตอบแทนจากการเลิกจ้างจะค่อนข้างน่าพอใจ แต่พวกเขายังต้องการมีงานทำมากกว่า บางคนทำงานที่นี่เกือบ 30 ปี จึงไม่อยากที่จะย้ายหรือต้องหางานใหม่ตอนนี้ และที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้แจ้งอะไรให้พนักงานทราบ ทุกอย่างคลุมเครือไปหมด บางครั้งพนักงานถูกยื่นหนังสือแจ้งการพ้นสภาพแค่ 2 วันเท่านั้น”
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างชีวิตชาวบ้านที่เขื่อนปากมูลกับพนักงานปูนซีเมนต์ขณะนี้คงมีสภาพไม่แตกต่างกันนัก นั่นคือการสูญเสียที่ทำมาหากิน ได้รับผลกระทบมาจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดเหมือนกัน โดยเฉพาะความต้องการของรัฐในการนำประเทศไปสู่การผลิตเพื่อการค้ามากกว่าการยังชีพ อย่างที่ชาวบ้าน ประชาชนเคยมีมาก่อน

“ผมคิดว่า คนพอใจชีวิตแบบพอยังชีพ เพราะมันทำให้ชีวิตมั่นคง มันผ่านการปรับเปลี่ยนทดสอบมาเป็นเวลาพันๆ ปี ทุกคนสร้างความสัมพันธ์สำหรับที่จะอยู่ในแบบนั้นได้อย่างแข็งแกร่ง เกษตรกรไทยอาศัยเศรษฐกิจแบบยังชีพ เป็นฐานในการเปลี่ยนแปลงมานานมาก ในอีสานใช้แบบนี้เป็นฐานมาถึงทศวรรษที่ 20” อ.นิธิ กล่าว
จากตัวอย่างของความยากจนในเบื้องต้น อาจกล่าวได้ว่า “ความยากจน” ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่การขาดรายได้ ขาดความรู้ หรือความเฉื่อยชา แต่เป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นภาวะของผู้คนที่ไร้อำนาจ ไร้สิทธิต่อชะตาชีวิตของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้อาจทำให้เราหวนคิดได้ว่า แท้ที่จริงมิได้มีเพียงแต่ชาวบ้านในชนบทเท่านั้นหรอกที่ยากจน แต่การไร้อำนาจ ความสามารถในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง กลับกระจายไปสู่ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่อาจไม่คิดว่าเราได้รับผลกระทบ เพราะเรายังมีเงินจับจ่ายใช้สอยอยู่ แต่ความจนมีมากกว่าแค่จนตัวเงิน หากหมายรวมถึง การจนโอกาส การจนสิ่งแวดล้อมที่ดีๆ การจนอำนาจต่อรอง หวนคิดดีๆ เรามีโอกาสต่อรองมากน้อยแค่ไหน เมื่อเรากลายเป็นพนักงานกินเงินเดือน แล้ววันหนึ่งพบว่าต้องตกงาน เพราะพิษเศรษฐกิจ ซึ่งคนที่ก่อมันขึ้นมาไม่ใช่เรา แต่เป็นคนมีเงิน มีอำนาจเป็นผู้ก่อ การพัฒนาที่ทอดทิ้งประชาชนส่วนใหญ่ มุ่งเน้นเศรษฐกิจและอำนาจของชนชั้นนำกลับสร้างภาวะความยากจนเสมอหน้า ภาวะการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เพราะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมาตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาไทย

นพ.ประเวศ มองว่า มีโครงสร้างอย่างน้อย 10 ประการ ที่ทำให้คนจนนั้นจน ถ้าเราไม่ถอนโครงสร้างนี้ออกก็แก้ได้ยาก พร้อมทั้งเสนอโครงสร้างที่ควรทำได้แก่
(1) การปรับทัศนะเกี่ยวกับคนจน
(2) นโยบายเพื่อคนจน
(3) การปฏิรูปกฎหมายเพื่อคนจน
(4) องค์กรของคนจน
(5) สิทธิในการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม
(6) ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
(7) ธุรกิจเพื่อคนจน
(8) ธนาคารเพื่อคนจน
(9) ปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะการงบประมาณเพื่อคนจน
(10) สื่อเพื่อคนจน

“จะเห็นได้ชัดว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เป็นยุทธศาสตร์การสร้างความร่ำรวย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์การแก้ความยากจน ในทางพุทธศาสนา จะจับตรงยุทธศาสตร์การแก้ทุกข์ พอแก้ทุกข์ได้ ก็สุข แต่ยุทธศาสตร์ของฝรั่งคือ ยุทธศาสตร์ของการสร้างความสุข ความร่ำรวย ซึ่งคนส่วนน้อยที่มีอำนาจก็เอาเปรียบคนส่วนใหญ่มาสร้างความร่ำรวย ทำให้แก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ และช่องว่างระหว่างความยากจน ร่ำรวยก็จะห่างมากขึ้น ดังนั้นต้องปรับมาสู่ยุทธศาสตร์การแก้ความยากจน แล้วมาดูว่า จะต้องแก้โครงสร้างอะไรต่างๆ บ้าง”

นอกจากนี้ยังนักวิชาการหลายท่านที่ให้ข้อเสนอถึงทางออกของคนจนไว้ 3 ประเด็น ในงานเสวนาที่แม่มูนมั่นยืนว่า

1. ต้องสร้างงานวิชาการขึ้นมาเพื่อเพิ่มพลังคนจน โดยพลังของงานวิชาการในการศึกษาวิจัยจะช่วยเป็นฐานที่ดีในการสร้างข้อเสนอที่จะไปต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และเป็นจริงในสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกรณีหนึ่งคือ เรื่องป่าชุมชน ย้อนหลังไป 20 ปีก่อน ใครพูดเรื่องป่าชุมชนจะไม่มีใครฟัง แต่เพราะมีการศึกษาเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างดี เวลานี้มีแต่คนเห็นด้วย แม้แต่กรมป่าไม้ก็ยังยอมรับในหลักการ นี่มาจากฐานพลังวิชาการ ที่ทำอย่างต่อเนื่อง จนเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวของคนจนได้

2. การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งต่อคนจน และคนชั้นกลาง โดยเข้าไปยึดพื้นที่ใน 2 ส่วนคือ สื่อและการศึกษา แน่นอนว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเรายึดพื้นที่ในสื่อไม่ได้ เราก็ไม่อาจสื่อกับคนชั้นกลางได้
3. ทางออกด้านการเมือง รูปธรรมที่ชัดเจนคือ ต้องไม่ยอมจำนน ขยายพันธมิตร คิดยุทธวิธีใหม่ และสร้างวาระแห่งชาติที่เป็นของคนจน

3. ปัญหาของคนจนถือเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ลึกมาก
ไม่มีรัฐบาลใดๆ สามารถแก้ได้ เพราะปัญหาเรื่องคนจนเป็นปัญหาทางศีลธรรมพื้นฐาน
สังคมที่ขาดศีลธรรมพื้นฐาน จะเป็นสังคมที่เจริญไม่ได้ การเคารพคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน
โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากจน เป็นศีลธรรมพื้นฐาน ปราศจากศีลธรรมพื้นฐานนี้ประเทศมีสันติสุขไม่ได้
นพ.ประเวศ วะสี (นโยบายเพื่อคนจน)

 

——————————————————————————–

อ้างอิงจาก
1.การเสวนา “คนจนกับทางออกของสังคมไทย” วันที่ 20-21 เมษายน 2543 ณ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
2.ประเวศ วะสี . “เพื่อคนจน ถอนโครงสร้างความยากจน” หนังสือชุด ปฏิรูปสังคมไทย ลำดับที่ 1
3.ประเวศ วะสี. “นโยบายเพื่อคนจน” เสนอในการประชุมเรื่อง “คนจนกับทางออกของสังคมไทย” 20-21 เมษายน 2543 ณ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
4.นิธิ เอียวศรีวงศ์. วิเคราะห์สถานการณ์คนจน ทางเลือก-ทางรอดสหสวรรษใหม่. เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 30 วันที่ 23-29 ธันวาคม 2543
5.กฤษฎา บุญชัย (2541) “ความยากจนในชนบท”, คนจนในภาวะวิกฤต,เศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน) ฉบับที่ 7 ,ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ บรรณาธิการ, ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6. “ปูนกลางปิดโรงงานโละพนง บทเรียนจากวิกฤตที่คนไทยต้องรับกรรม” ผู้จัดการรายวัน. ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2543,หน้า 17.

 

Be the first to comment on "“คนจน” จนเพราะโครงสร้าง ใช่จนเพราะตนเอง"

Leave a comment

Your email address will not be published.