“ครูพัน” ครูผู้เป็นครู เหนือกว่าความหมายตามพจนานุกรม

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตของผู้คน ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนย่านตลาดสันป่าข่อย เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา วันนี้ความเจริญของยุคสมัยทำให้ย่านนี้พลุกพล่านไปด้วยยวดยาน พาหนะ…

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตของผู้คน ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนย่านตลาดสันป่าข่อย เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา วันนี้ความเจริญของยุคสมัยทำให้ย่านนี้พลุกพล่านไปด้วยยวดยาน พาหนะ

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังดำรงอยู่เสมือนดื้อดึงยืนหยัดต่อสู้กับเทคโนโลยีล้ำยุคที่ไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยกำลังน่องของมนุษย์ นั่นคือสามล้อปั่น และที่เหนือไปกว่านั้นคือ ผู้ที่ยึดอาชีพนี้มาโดยตลอด ไม่ว่างเว้นแม้จะผ่านวันคืนที่แสนเหนื่อยยาก

“ครูพัน” หรือ “มานพ ยาระณะ” คือหนึ่งในจำนวนนั้นที่นับวันจะเหลือน้อยลง และคงหมดลงไปในที่สุด ครูพันยึดอาชีพสามล้อปั่นหาเลี้ยงชีพมาโดยตลอด แต่ชีวิตของคนผู้นี้ ถูกยอมรับนับถือเรียกขานว่า“ครู” เพราะเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะพื้นบ้านของล้านนาหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นสะล้อ ซอซึง การตีกลองสะบัดชัย การตีกลองปู่จา ฟ้อนดาบ มวยไทย มวยสากล เหล่านี้เป็นวิชารูปธรรม ที่เห็นที่จับต้องได้

ยังมีสิ่งที่เป็นนามธรรมทางวัฒนธรรมที่ฝังแน่นอยู่ในตัวครูผู้นี้อีกมากมายมหาศาลที่พร้อมจะหลั่งไหลซึมซาบไปสู่บรรดาลูกศิษย์ลูกหา หรือแม้แต่ผู้ที่สนใจแวะเวียนไปหา

แต่ครูพันไม่ได้ยึดถือวิชาความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นว่าเป็นอาชีพ เพราะถือคติว่า”วิชาเหล่านี้เป็นของสูง เป็นวิชาครู จะไม่นำมาทำมาหากิน” การถ่ายทอดวิถีแห่งล้านนาของครูเพื่อส่งผ่านไปยังคนรุ่นถัดไปจึงเป็นการถ่ายถอดด้วยใจ ทั้งใจที่รักในความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม และใจที่รักในลูกศิษย์ลูกหา

ดังนั้นรายได้ที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต จึงมาจากสามล้อปั่นแต่เพียงอย่างเดียว จะมีอีกบางส่วน ก็จากลูกศิษย์ลูกหาที่มอบให้เป็นสินน้ำใจครูที่ทุ่มเทถ่ายทอด ดังนั้นบ้านช่องห้องหับของครู จึงสะท้อนให้เห็นฐานะที่ยากจนโดยแท้ ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับน้ำใจไมตรีที่รำรวยล้นฟ้า แต่ครูภูมิใจกับวิถีเช่นนี้ เคยมีคนเห็นใจต้องการให้ครูมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชักชวนไปทำกิจกรรมหลายอย่าง ที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถของครูสร้างรายได้ เพื่อบรรเทาความขัดสน แต่ครูปฏิเสธทุกครั้งที่มีผู้หวังดีมาชักชวน

“ตาอยู่ของตาแบบนี้ก็ดีแล้ว ไม่ทุกข์ร้อนอะไรหรอก แค่นี้ก็บุญแล้ว” ครูพันกล่าวกับผู้ปรารถนาดีทุกครั้งที่ได้รับการชักชวน ภารกิจถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์ลูกหาที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยที่ครูยังหนุ่มยังแน่น ในอดีต ค่ายมวย “คล่องประชัน” ของครูนั้นเป็นที่เลื่องชื่อลือชาในเรื่องความเก่งกาจของนักมวย ด้วยนักมวยค่ายนี้แน่นไปด้วยความรู้และแพรวพราวด้านเชิงมวย เรียกว่าย้อนหลังไป 40 ปีไม่มีใครไม่รู้จัก “ คล่องประชัน”

เย็นสอนมวย ตกค่ำถ่ายทอดความรู้ดนตรีพื้นบ้านสะล้อซอซึง ร่ายหอก รำดาบ ตีกลองสะบัดชัยไปจวนดึก มีบ้างบางเวลาที่คนมาเรียนจนล้นบ้าน และก็มีบ้างบางเวลา ที่มีลูกศิษย์เหลือแค่คนเดียว แต่ครูพันไม่เคยละเว้นหรือเกี่ยงการสอนในเรื่องของจำนวนคนเรียน

คนเดียวครูก็สอน เพราะผู้ที่มาเรียนคือผู้ที่ต้องการความรู้ ครูจะละเลยความเป็นครู ของครูได้อย่างไร? นี่ก็เป็นอีกคติหนึ่งในหลายๆคติของครูผู้นี้

เคยมีคนสงสัยว่าทำไมครูถึงได้สั่งสมความรู้ไว้ในตัวได้มากมาย และดูเหมือนบางอย่าง จะขัดแย้งกันในตัว อาทิดนตรีกับชกมวยรำดาบ อย่างหนึ่งอ่อนไหว ในขณะที่อีกอย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามใช้แต่กำลัง

ครูตอบว่าความรู้ทุกวิชามีพื้นฐานของการเรียนรู้เหมือนกัน หากศึกษาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างถ่องแท้ย่อมเข้าใจวิชาแขนงอื่นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ความรู้ทุกอย่างเสมือนมาจากรากเดียวกัน เพียงแต่แตกกิ่งไปคนละสาขา มวยก็ใช่ว่าจะมีแต่การใช้กำลังแต่เพียงอย่างเดียว ความอ่อนไหว จังหวะ รู้แข็งรู้อ่อน ไวต่อประสาทสัมผัสของความรู้สึกทั้งภายในภายนอก รวมถึงไหวพริบปฏิภาณ สิ่งเหล่านี้สำคัญเสียยิ่งกว่าการใช้กำลัง และก็มีอยู่ในดนตรี ที่มีจังหวะ มีดังมีเบา มีความต่อเนื่อง สัมพันธ์สอดคล้องเรียงร้อยเป็นหนึ่งเดียว แล้วถ่ายทอดออกมาด้วยอารมณ์ความรู้สึกเป็นเสียงเพลง
ดั่งการออกอาวุธของมวยที่ต่อเนื่องสัมพันธ์ย่อมงดงามเป็นศิลปะ ต่างกับการใช้กำลัง เข้าห้ำหั่นอย่างป่าเถื่อน

ตีกลองสะบัดชัย รำหอก รำดาบ นอกจากจะเป็นหนึ่งเดียวกับเชิงมวยแล้ว ยังเหมือน การฟ้อนรำที่มีความชดช้อยงดงาม จังหวะจะโคน ผสมผสานกับความสง่าผ่าเผย มีแข็งมีอ่อน สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไม่รู้จบ ดั่งสายน้ำไหลต่อเนื่องพลิกพลิ้ว ก่อให้เกิดศิลปะของการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่งดงาม

จะเห็นว่าแท้จริงแล้วความรู้ทุกแขนงมีความสัมพันธ์กันอยู่ นั่นคือความเข้าใจในระบบ การเรียนรู้ของครูพันผู้มีความรู้พื้นฐานแค่ประถมสี่อันไม่ต่างกับผู้มีความรู้ดีกรีสูงที่จบมาจากเมืองนอกเมืองนา

ย้อนกลับมาสู่เรื่องการถ่ายทอดวิถีแห่งล้านนา

ทุกวันนี้ในยุคที่คนไทยกำลังควานหารากความเป็นไทยของตน ด้วยละทิ้งมานาน จนลูกหลานยุคใหม่ผลิยอดแตกใบกลายเป็นคนวัฒนธรรมพันทาง เลยรู้ซึ้งถึงค่าของความเป็นไทย ที่ถูกต่างชาติขโมยเอาไปทำมาหากิน จนลูกหลานไทยได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ครูพันจึงเป็นรากแก้ว รากหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่ทรงคุณค่าที่จะส่งทอดศิลปวัฒนธรรมไทยไปยังคนรุ่นต่อไปให้ผลิดอกออกใบเป็นไทยพันธุ์แท้อีกครั้ง

รากแก้วรากนี้หยั่งลึกมานานร่วม 76 ปี แต่กำลังใจและความตั้งใจไม่เคยถดถอย ส่วนกำลังกายคงเป็นไปตามสภาพของสังขาร

ด้วยวิถีของครูผู้ไม่เคยหวังผลตอบแทน มาวันนี้ครูเป็นผู้หนึ่ง ที่ได้รับเลือกให้เป็น “ ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวัฒนธรรมพื้นบ้าน สิ่งนี้เสมือนหยดหนึ่งของหยาดน้ำทิพย์ ที่มาหล่อเลี้ยงใจของผู้ที่ยึดแนวทางของครูที่เป็นครูที่แท้มาอย่างยาวนาน

รางวัลก็คือรางวัล ครูพันก็ยังเป็นครูพันคนเดิม ผู้ก้าวพ้นจากลาภยศสรรเสริญ ยังคงยึดอาชีพสามล้อปั่นหาเลี้ยงชีพและถ่ายถอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาให้กับลูกศิษย์ลูกหาและผู้สนใจเหมือนเดิม

จนกว่าวันเวลาที่พอเพียงสำหรับมนุษย์คนหนึ่งที่พึงได้รับจากธรรมชาติจะมาถึง…

 

Be the first to comment on "“ครูพัน” ครูผู้เป็นครู เหนือกว่าความหมายตามพจนานุกรม"

Leave a comment

Your email address will not be published.