“ความเข้มแข็งของท้องถิ่น” กับ ระบบประชาธิปไตยเชิงจริยธรรม

การเมืองภาคพลเมือง ภาคประชาชน ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่ามาร่วมชุมชนกัน มาร่วมพลังกัน เดินขบวน…การเมืองภาคพลเมืองไม่มีวันเข้มแข็งถ้าชุมชนท้องถิ่นยังไม่มีความเป็นตัวตน    อัตลักษณ์จะต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยผ่านการทำความรู้จักว่าเรามีต้นทุนอะไรบ้างทั้งทรัพยากร สังคม วัฒนธรรม…

ศ. เสน่ห์ จามริก ราษฎรอาวุโส ประธานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ปัจจุบันงานสิทธิมนุษยชนได้ยกประเด็นเรื่องชุมชน ทรัพยากร ซึ่งถือเป็นของใหม่ในแวดวงงานด้านสิทธิมนุษยชน ประเด็นท้องถิ่นที่เราได้ทำกันมา เหตุการณ์ที่ผ่านมารวมทั้งสิ่งที่ท่านอาจารย์ได้ทำงานด้านมนุษยชน เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นประเด็นที่ตรงเป้าหมายที่สุดของปัญหาของยุค เพราะเราย่างเข้ามาสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจที่เดินตามประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมโดยตลอด ความคิดความเข้าใจในประชาคมวิชาการเราค่อนข้างจะ เดินตามหลังฝรั่งเยอะ เป็นเหตุที่ทำให้เราถลำเข้ามาในจุดที่เป็นอันตรายของท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ
ประสบการณ์ที่ได้คือ แนวโน้มของปัญหาประชาชนคนสามัญที่จะเข้าใจความจริงทุกแห่งโดยเฉพาะประเทศโลกที่สาม เรามีทุนทรัพยากรเขตร้อน พวกเราจะทำงานเรื่องท้องถิ่นก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าเราอยู่กับทรัพยากรอะไร เราไม่ใช่ทรัพยากรแบบน้ำ ป่า ธรรมดา

ศ. เสน่ห์ จามริก

แต่ของเราค่อนข้างจะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ในภูมิภาคเขตร้อนนั้นประเทศไทยโชคดีที่อยู่ใจกลางเขตร้อน ฉะนั้นเราจึงเป็นแหล่งของทรัพยากรที่ค่อนข้างหลากหลายมาก ก่อนอื่นพวกเราต้องทำความเข้าใจให้ดีเพราะเราจะได้รู้ว่าเรามีต้นทุนทรัพยากรอย่างไร ซึ่งเป็นเป้าหมายของการเบียดเบียนช่วงชิงของกลุ่มทุนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชขึ้นมา จะรุนแรงมากขึ้น ความเกะกะระรานเข้ามายุ่มย่ามกับทรัพยากร สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งบอกว่ามีผู้ก่อการร้ายเต็มทั่วโลกไปหมด เป็นปฏิกิริยาสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นการบุกรุก เบียดเบียน กดขี่ อีกด้านหนึ่งคือการลุกขึ้นมาก่อการร้าย ฉะนั้นปัญหาก่อการร้ายทางแก้ที่ดีที่สุดคือต้องให้ความยุติธรรมแก่ประชาคนสามัญโดยเฉพาะระดับรากหญ้า

หลังจากที่เราได้เรียนรู้การรวมตัวในภาคประชาชน เราต้องรู้จักต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรมของเราเหมือนกัน จากประสบการณ์ของท่านอาจารย์ด้านมนุษยชนนั้นเห็นชัดเจนว่าต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม นั้นก็กำลังจะถูกช่วงชิงเหมือนกันโดยเฉพาะ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น อาหาร ยา มีทุนข้ามชาติที่สนองตอบ เบียดเบียนทรัพย์สินพื้นบ้านของเรา เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือยา ท่านอาจารย์ยกกรณีตัวอย่างว่า เมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ สหรัฐอเมริกามีข้อเสนอร่วมเป็นตัวกลางที่จะทำข้อตกลงกองทุนวิจัยป่าเขตร้อน ซึ่งปรากฏว่ากระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ ลงนามรับทันที แต่ข้อตกลงยังต้องผ่านระบบราชการ ซึ่งมีชาวบ้านคณะที่ทำงานร่วมกันต่อต้าน เพราะมีเงื่อนไขว่าพวกเขาจะจัดตั้งกองทุนวิจัยให้เรา โดยมีเงื่อนไขว่าพวกเขาต้องมีสิทธิ์ในการสำรวจป่าทั่วประเทศ ซึ่งแปลว่าพวกเขาจะทำพวกทรัพยากร รวมทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย ซึ่งเรามีภูมิปัญญาหลายอย่าง ทรัพยากรหลายอย่างที่ถูกช่วงชิงไป เอาไปจดทะเบียนสิทธิบัตร ซึ่งเราไม่สามารถแตะต้องได้อีก กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศก็เป็นนกระบวนการล้วนแล้วแต่เอื้อต่ออำนาจอุตสาหกรรมทั้งนั้น

โดยแท้จริงแล้วปัญหาที่เราประสบอยู่ไม่ใช่แค่เพียงจากอำนาจรัฐอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นอำนาจรัฐที่อยู่ภายใต้กระแสที่กำลังกดดัน ชี้นำของภายนอกแล้วเราก็ยังมีชนชั้นนำที่พร้อมจะสนองตอบ การที่เราจะทำเรื่องชุมชนท้องถิ่น การเมืองภาคพลเมืองภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็งนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจสมมุติฐานว่า อะไรที่ทำให้เราอ่อนแอ เราจะได้เข้าใจสถานการณ์ตรงนี้ เราจะได้รู้ว่าเราควรจะทำอะไร อย่างไร และในทิศทางใด

หันกลับมาพิจารณาต่อว่า ชุมชนอ่อนแออะไร ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอเพราะว่าได้ถูกกระทำจากยุคของการพัฒนาโดยการขยายพื้นที่ทำหลายอย่าง เช่น ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เขื่อน ขยายพื้นที่ถนน ป่าราบไปหมด แล้วยิ่งกว่านั้นยังมีการช่วงชิงของข้าราชการในพื้นที่ป่า ขับไล่ประชาชน ทำให้ภาครัฐโดยเฉพาะกรมป่าไม้กลายเป็นคู่ต่อสู้ของชาวบ้านซึ่งเป็นมาตลอด ฉะนั้นเราต้องเข้าใจไว้ว่าในขณะนี้ผู้นำคือปัญหา แต่เป็นปัญหาในแง่ผลประโยชน์ วัฒนธรรมในการเรียนรู้ การเรียนรู้ทางวิชาการที่สนองตอบคนภายนอก แต่ไม่ได้หันหลับมาดูเลยว่าโดยแท้จริงแล้วเรามีพื้นฐานภูมิปัญญาอะไรที่เราจะเอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงที่ในกระแสโลกย่างเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าเสรีนิยมใหม่ กระแสทุนที่ข้ามชาติไปยึดครองจะรุนแรงมากขึ้น (เสรีนิยมเป็นขวาจัด) เช่น สงครามอิรักการช่วงชิงน้ำมัน โดยเฉพาะในยุคของบุช ทำให้เราตกอยู่ในฐานะที่อ่อนแอ และเราต้องเข้าใจว่าเราอ่อนแออย่างไรด้วย

การเมืองภาคพลเมือง ภาคประชาชน ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่ามาร่วมชุมชนกัน มาร่วมพลังกัน เดินขบวน ประชุมเสวนา อยากให้เห็นว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่นำไปสู่กระบวนการสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งขึ้น อะไรคือองค์ประกอบความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นที่ยืนหยัดขึ้นรับกับกระแสของการถูกคุกคามและการเบียดเบียนทรัพยากร? เราถูกแย่งชิงทรัพยากร เช่นที่ปากมูล เลย พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน จุดอ่อนแอนี้เพราะว่าชุมชนเราเป็นชุมชนที่แตกสลาย

การเมืองภาคพลเมืองจะไม่มีวันเข็มแข็งตราบเท่าที่ชุมชนท้องถิ่นยังอ่อนแอ ความอ่อนแอการถูกช่วงชิงเป็นตัวบอกว่าเราต้องทำอะไรซักอย่าง

เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย” วันที่ 18 พฤศจิกายน 2549 ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ กทม.

ความล่มสลายของชุมชนมีมานาน แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะฟื้นขึ้นมา ความเป็นชุมชนล่มสลายในแง่ความเป็นเอกภาพในชุมชน ในสมัยก่อนนั้นผู้นำในระดับกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนของชุมชนอย่างแท้จริง ในสมัยหลังๆ เป็นผู้รับเหมา ความแตกแยก ความแปลกแยกทางสังคมเป็นไปตามกระแสเศรษฐกิจของโลก ทำธุรกิจและมีผู้นำชุมชน เช่น อบต. มารับเหมางานก่อสร้าง เกิดปัญหาการแบ่งแยกระหว่างผู้นำชุมชนกับชาวบ้านกลายเป็นปัญหารุนแรง

ถ้าเราล่มสลายเป็นแบบนี้ สถาบันสังคมก็ล่มสลายไปด้วย เช่น ครอบครัว รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ชุมชนไม่มีกำลังพอที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ได้เป็นภูมิปัญญาที่มีความเป็นตัวตน จนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างแท้จริง เมื่อมีจุดอ่อนแล้วภูมิปัญญาถูกช่วงชิงสู่ภายนอก อะไรที่ภูมิปัญญาพอจะเป็นธุรกิจการค้าได้ถูกช่วงชิงไปหมด เช่นการนวด อาหาร เป็นธุรกิจที่สร้างความร่ำรวย เจริญเติบโต

ดังนั้นในการที่จะระดมสรรพกำลัง เราต้องสำรวจตรวจสอบว่าที่จริงแล้วเรามีองค์ประกอบอะไรที่จะทำให้ดึงสิ่งเหล่านี้ ที่จะดึงให้มาเป็นพลัง เป็นต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรมของเรา การเมืองภาคพลเมืองไม่มีวันเข้มแข็งถ้าชุมชนท้องถิ่นยังไม่มีความเป็นตัวตน อัตลักษณ์จะต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยผ่านการทำความรู้จักว่าเรามีต้นทุนอะไรบ้างทั้งทรัพยากร สังคม วัฒนธรรม เราคิดว่าเราทำการเมืองภาคพลเมืองเพื่อไปกดดันข้างบน แต่ตราบเท่าที่เราไม่มีฐานข้างล่าง เราไปกดดันข้างบนไม่ได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องนำไปพิจารณาด้วย ถ้าฐานข้างล่างไม่เข้มแข็ง ก็ไม่สามารถต้านทานข้างบนได้ ควรพิจารณาต้นทุนทางมนุษย์ ได้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน สตรี แม่บ้าน เยาวชน การเมืองภาคพลเมืองจึงมีนัยยะความหมายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่สามารถจับมือทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวเป็นตนจริงๆ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการเมืองที่มีอำนาจทางการเมืองที่ดึงอำนาจไปสู่ศูนย์กลางในกทม.

นอกจากนั้น ในการแก้วิกฤตจริงๆ ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ถ้ามีความเข้มแข็งเป็นพื้นฐาน การที่เราเรียนรู้อะไรจากภายนอกเราจะสามารถเลือกได้ การรวมตัวที่ผ่านมาส่วนมากเป็นการรวมตัวในเชิงลบ เช่นการประท้วง การต่อต้าน ซึ่งไม่มีการสร้างความเข้มแข็งขึ้น ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งในชุมชนนั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบดังนี้

1. ในชุมชนต้องพิจารณาตั้งกลุ่มบริหารจัดการเรื่องการเงิน เนื่องจากอำนาจรัฐกระจายงบประมาณลงมา 35% สู่ท้องถิ่น

2. ชุมชนควรที่จะคิดอ่านวางแผนพัฒนาในชุมชนของตนเอง เพื่อคานอำนาจแผนพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองชุมชนหรือท้องถิ่น

3. เตรียมกำลังพล เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน เยาวชน ได้ร่วมรับรู้ เรียนรู้

4. ทำกระแสต่อต้านโดยสันติวิธีและสร้างสรรค์

แนวทางการปฏิรูปควรจะต้องเลือกปฏิรูปตัวเราเองและในชุมชนเพื่อที่จะรองรับปัญหา กระแสโลกที่มีอำนาจมากมายความจริงก็มีข้อจำกัด เริ่มมีกระแสต่อต้านมากมายทั่วโลก เราสามารถที่จะทำเป็นกระแสต่อต้านที่เป็นแบบสันติวิธีและสร้างสรรค์ ประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจจัดกระบวนการปฏิรูปการเมืองให้สอดคล้องกับปัญหา ชุมชนท้องถิ่นควรจะเป็นฐานที่กำหนดอนาคตบ้านเมือง

เรียบเรียงจาก : ปาฐกถานำ “ความเข้มแข็งของท้องถิ่น กับ ระบบประชาธิปไตยเชิงจริยธรรม”
เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย” วันที่ 18 พฤศจิกายน 2549 ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ กทม. จัดโดย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

Be the first to comment on "“ความเข้มแข็งของท้องถิ่น” กับ ระบบประชาธิปไตยเชิงจริยธรรม"

Leave a comment

Your email address will not be published.