“งานพัฒนา จชต.2552”

            แต่ไหนแต่ไรมา งานพัฒนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยส่วนใหญ่เป็นบทบาทของภาคราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นอิสระหรือเอ็นจีโอมีน้อยมากและองค์กรส่วนใหญ่จะไม่ถึงขั้นเป็นสถาบันที่มั่นคงนัก

นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่และนักพัฒนาอิสระอยู่ในสภาพทำงานแบบวิจัยแคบๆ หรือเป็นงานทดลองนำร่องเท่านั้นโดยไม่สามารถที่จะผลักดันเชิงนโยบายหรือสถาปนาความเป็นสถานบันการพัฒนาของภาคประชาชนได้เลย   นักกิจกรรมด้านประชาสังคมหลายกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวรวมตัวสร้างความเข้มแข็งและแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายรูปแบบ แต่มีข้อจำกัดอยู่มากทั้งปัญหาด้านการเมืองและความหวาดระแวงจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐ
อำนาจที่รวมศูนย์อยู่ในส่วนกลางทำให้งานพัฒนาของทุกกระทรวงถูกคิดและกำหนดไปจากกรุงเทพฯ ก่อนที่จะส่งผ่านไปให้หน่วยงานของตนในพื้นที่ งานด้านความมั่นคงก็มีสภาพเช่นเดียวกัน ทำให้ทั้งงานแก้ปัญหาความไม่สงบและงานฟื้นฟูพัฒนาขาดความเป็นเอกภาพอย่างยิ่ง ผู้มีอำนาจในส่วนกลางขาดข้อมูลและความรู้จริงในพื้นที่แต่กลับมีอำนาจตัดสินใจ ข้าราชการในพื้นที่จะบูรณาการก็ทำได้เพียงรูปแบบพิธีกรรมเท่านั้น จะไปหวังให้มียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย
ภายหลังเหตุการณ์ 4 มกราคม 2547 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรประกาศทุ่มงบประมาณนับหมื่นล้านลงไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม    ผมและ LDI ได้พยายามเข้าขบวนไปด้วยโดยหวังจะให้เกิดกระแสการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาคมในท้องถิ่นและสร้างวัฒนธรรมการทำงานพัฒนาของรัฐกับประชาชนในรูปแบบใหม่ เราได้จัดกระบวนการเปิดเวทีระดมสมองไปในทุกอำเภอร่วม 50 เวที ให้ชาวบ้านช่วยกันเสนอแผนงานโครงการตามยุทธศาสตร์ของภาคประชาชน ซึ่งในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล 94 โครงการรวมงบประมาณ 1,360 ล้านบาท แต่เมื่อถึงขั้นของการดำเนินการจริง ทั้งโครงการและเงินงบประมาณทั้งหมดต้องผ่านหน่วยราชการกระทรวงต่าง ๆ ลงมาเป็นลำดับชั้น สุดท้ายไม่มีโครงการใดเลยที่ประชาชนและชุมชนได้ทำตามที่สู้อุตส่าห์ระดมความคิดและสร้างความฝัน ความมุ่งมั่นกันไว้ นักวิชาการอิสระ เอ็นจีโอ นักกิจกรรมประชาสังคมและผู้นำชุมชนในพื้นที่ ต่างมีบทบาทเพียงแค่รอให้ถูกเชิญเข้าไปร่วมกิจกรรมตามที่หน่วยราชการจัดเท่านั้น
งานพัฒนา จชต. ในวันนี้ราชการยังคงเป็นตัวหลักอยู่เช่นเดิม   แต่สถานการณ์ความไม่สงบที่บานปลายมาเรื่อย ๆ ทำให้ข้าราชการในพื้นที่เองก็ไม่สามารถลงชุมชนได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอที่ทำงานกับชาวบ้านมานาน และแม้แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเองก็ยังต้องปักหลักอยู่แต่ในสถานีอนามัยและโรงพยาบาล จะมีก็แต่ครูที่จำต้องเดินทางไปสอนในโรงเรียนตามหมู่บ้านต่าง ๆ งบประมาณและโครงการที่ดำเนินการในรอบ 5 ปี หลายแสนล้านบาทซึ่งผ่านไปตามกลไกข้าราชการหลายหมื่นคนจึงมิได้ทำให้เกิดความหวังในการแก้ปัญหาเลย   ซื้อใจชาวบ้านก็ไม่ได้   หน่วยงานราชการแทบไม่เหลือเครดิตอะไรในหมู่ชาวบ้านที่นั่นแล้ว
โครงการและกิจกรรมที่หน่วยราชการในพื้นที่ทำได้ในขณะนี้มีเพียงกิจกรรมแบบซ็อตเดียว จบกันไปเป็นครั้ง ๆ สมมติว่าเป็นโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ   เมื่อเรียกชาวบ้านมาประชุมชี้แจงแล้วก็แจกแพะไปคนละ 2 ตัว ชาวบ้านมารับแพะไปเลี้ยง จนกระทั่งแพะตายก็ทำกินเป็นอาหารแล้วก็จบกันไปแค่นั้น จะหวังอะไรที่เป็นการพัฒนาต่อเนื่องหรือต่อยอดไม่ได้เลย   เพราะราชการไม่ได้ทำกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาคนใด ๆ เลย อาจเป็นเพราะทำไม่ได้หรือทำไม่เป็นอย่างไรไม่ทราบได้ เรื่องนี้จะไปตำหนิข้าราชการผู้น้อยข้างเดียวก็ไม่ได้ แม้ ศอ.บต.เองพยายามระดมนักพัฒนาและนักปกครองมือดีจากระทรวงต่าง ๆ ไปร่วมกันทำงานโดยมีทั้งอำนาจหน้าที่และงบประมาณสนับสนุนก็ยังไม่สามารถทำงานพัฒนาอะไรที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้สักน้อยเช่นกัน
จะมีพอที่พูดได้บ้างก็ในด้านการศึกษา ชาวบ้านสะท้อนให้ฟังว่าสิ่งใดที่กระทรวงศึกษาประกาศว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็มักมีการดำเนินการตามนั้นจริง เป็นต้นว่าจะสอน 2 ภาษา   จะปรับหลักสูตรให้สอดคล้องวิถีชีวิต   จะช่วยเหลือตาดีกา และปอเนาะ   แต่ในสายตาของคนภายนอกก็ต้องบอกว่านี่ก็ไม่ได้ช่วยให้เครดิตของรัฐดีขึ้นแต่อย่างใด
สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)นั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายกลุ่มมองว่าได้ถูกขบวนการส่งคนเข้ายึดกุมหมดแล้ว จึงค่อนข้างมองผู้นำองค์กรท้องถิ่นในลักษณะหวาดระแวง   ซึ่งความจริงแล้วอาจตรงกันข้าม หากเราเข้าใจธรรมชาติและสถานภาพของพวกเขาจะพบว่า พวกเขาต้องรักษาตัวให้อยู่รอดในพื้นที่ ด้านหนึ่งต้องระวังฝ่ายขบวนการ ด้านหนึ่งต้องเอาใจเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ด้านหนึ่งต้องทำมาหากิน ด้านหนึ่งต้องอิงการเมืองระดับชาติ หลายคนต้องจบชีวิตลงด้วยคมกระสุนของฝ่ายโน้นบ้างฝ่ายนี้บ้าง อันที่จริงฝ่ายขบวนการเองไม่น่าที่จะประสงค์ให้คนของตนเข้ามาบริหาร อปท.หรอก เพราะควบคุมยาก และเสี่ยงมากที่จะปล่อยให้มาทำงานใกล้ชิดราชการ   การที่รัฐหวาดระแวงพวกเขาจึงเป็นการทำลายแนวร่วมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนงานพัฒนานั้นจะเอา อปท.มาเป็นหน่วยงานพัฒนาหลักแทนส่วนราชการก็ยังหวังไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะพูดความจริงอะไรได้ ต้องเอาตัวให้รอดไปวัน ๆ แต่บทบาทในการร่วมพัฒนานั้นอปท.สามารถทำได้ครับ ขอให้ดูตัวอย่างของงานกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลที่พวกเขาร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.) เป็นกรณีศึกษา
สุดท้ายขอพูดถึงกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ปัจจุบันยังถือว่าองค์กรเหล่านี้มีโครงการที่เป็นเรื่องเป็นราวน้อยมาก อย่างเก่งก็เป็นแค่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการและฝ่ายความมั่นคงรวมทั้ง ศอ.บต. ให้ทำกิจกรรมก็อก ๆ แก๊ก ๆ ไป   แหล่งทุนภายในประเทศที่มีอยู่ยังไม่มีแหล่งทุนใดที่สนใจทำงานเชิงยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งการเปลี่ยนแปลงจริง อาจเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ หรืออาจมองว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ไม่อยากไปยุ่ง องค์กรต่างประเทศอย่าง World Bank และ EU ก็เพิ่งจะเริ่มเข้ามาทำวิจัย และทดลองนำร่องซึ่งมีสัดส่วนที่น้อยมากและผิวเผินอย่างยิ่ง   ทรัพยากรด้านเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมในพื้นที่ขาดแคลนมาก องค์กรนอกพื้นที่ที่สนใจและมีความพร้อมก็มีจำกัดอย่างยิ่ง
แต่ด้วยความที่เป็นอิสระและมีทักษะความเชี่ยวชาญในการทำงานเชิงคุณภาพ ตลอดจนการมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเพื่อนนักพัฒนาทั่วประเทศในวันนี้ ผมคิดว่าเอ็นจีโอ   นักกิจกรรมภาคประชา-สังคม และนักวิชาการอิสระจะเป็นปัจจัยตัวแปรในการแก้ปัญหา และฟื้นฟูพัฒนาจชต. ครับ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
23 มีนาคม 2552

Be the first to comment on "“งานพัฒนา จชต.2552”"

Leave a comment

Your email address will not be published.