ผลจากรัฐธรรมนูญ 2540 และพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการฯ พ.ศ.2543 ได้ทำให้มีปรากฏการณ์ทยอยกันเกิดอย่างเป็นธรรมชาติของสถานีวิทยุชุมชนในเชิงอุดมคติ
ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บนฐานของความเข้มแข็งของชุมชนที่เป็นจริง ตลอดจนเป็นไปตามความสนใจและความพร้อมขององค์กรชุมชนที่เกี่ยวข้อง จนเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี สถานีวิทยุชุมชนแบบนี้ทั่วประเทศมีจำนวนเพียง 300 แห่ง และที่คาดว่าจะยืนหยัดพึ่งตนเองและทำงานได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางความอัตคัดขาดแคลนทุกด้านจะเหลือเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ภาวะสุญญากาศที่เกิดขึ้นเนื่องจาก กสช.ไม่สามารถจัดตั้งได้ กับภาวการณ์ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ได้หลุดไปจากมือกรมประชาสัมพันธ์ เป็นจังหวะเปิดให้ภาคธุรกิจและการเมืองเข้าไปลงทุนจัดตั้งสถานีวิทยุท้องถิ่นจำนวนมากโดยเรียกขานตัวเองว่าวิทยุชุมชนเช่นกัน สถานีวิทยุเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่างทำมาหากินเป็นล่ำเป็นสันและใช้วิทยุเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองกันอย่างดุเดือด ปัจจุบันคาดว่ามีสถานีวิทยุธุรกิจ-การเมืองระดับท้องถิ่นแบบนี้ประมาณ 4,000 สถานีทีเดียว แต่ละแห่งมีรัศมีการออกอากาศ กำลังส่งของเครื่อง ความสูงและอัตราขยายของสายอากาศแตกต่างกันไปตามอัธยาศัยเพราะไม่มีหลักเกณฑ์และระบบควบคุมดูแล ต่างคนต่างกำหนดคลื่นความถี่กันเอาเอง ที่ใช้คลื่นเดียวกันก็มี ที่ซ้อนทับพื้นที่และรบกวนกันไปมาก็มาก
นอกจากจำนวนสถานีวิทยุที่ตั้งขึ้นใหม่ และเลขความถี่ที่ยึดครองกันไว้ดังกล่าวแล้ว ยังมีสถานีวิทยุของรัฐทั้ง A.M. และ F.M. ที่มีอยู่เดิมอีก 524 สถานี มีทั้งหน่วยงานพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ดูแลอยู่ และโดยส่วนใหญ่ก็นำไปให้สัมปทานกับภาคธุรกิจ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ในส่วนนี้ตามกฎหมายจะต้องนำมาจัดสรรกันใหม่ ให้เป็นส่วนของรัฐ ส่วนของธุรกิจ และส่วนของสังคม แต่ก็ยังไม่ได้ทำและทุกหน่วยต่างก็หวงเอาไว้สุดฤทธิ์สุดเดช ซึ่งคงต้องรอ กสช.เข้ามาดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบในการใช้คลื่นความถี่ต้องเกิดขึ้น ผมคิดว่าถึงเวลานั้นควรมีการจัดประเภทของสถานีวิทยุที่จะขออนุญาตใช้คลื่นความถี่และดำเนินการสถานีวิทยุ โดยพิจารณาเป็น 2 จังหวะ จังหวะแรกเป็นการแบ่งประเภทของสถานวิทยุตามรัศมีการออกอากาศ ซึ่งสัมพันธ์กับกำลังส่งของเครื่อง ความสูงและอัตราการขยายของสายอากาศ เพื่อมิให้เกิดการทับซ้อนและรบกวนคลื่นกัน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ สถานีวิทยุระดับชาติ สถานีวิทยุท้องถิ่น และสถานีวิทยุชุมชน ซึ่งแต่ละระดับควรมีสัดส่วนที่แน่นอน มีกลไกในการควบคุมดูแลกันเอง และมีกติกามารยาทที่ชัดเจน
จังหวะที่สอง เป็นการแบ่งตามลักษณะการบริการ และที่มาของรายได้ในการดำเนินการ เพื่อให้รู้ว่าใครโฆษณาได้หรือไม่ได้ ใครมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน หรือใครมีสิทธิ์รับเงินสนับสนุนจากกองทุน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ วิทยุของรัฐ วิทยุภาคธุรกิจ และวิทยุสาธารณะ ซึ่งแต่ละประเภทก็อาจมีได้ทั้ง 3 ระดับ และควรมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนเช่นกัน
ในกรณีของวิทยุชุมชน 300 สถานีที่มีอยู่ แน่นอนต้องเป็นวิทยุสาธารณะ และมีรัศมีของการออกอากาศในพื้นที่แคบๆ เช่น ไม่เกิน 10-15 กิโลเมตร เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและควบคุมดูแลกันได้สะดวก แต่วิทยุประชาสังคมที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองและมีรัศมีการออกอากาศกว้างกว่านั้น ก็ควรจัดเป็นวิทยุสาธารณะเช่นกัน แต่เป็นวิทยุระดับท้องถิ่น
หรืออย่างกรณีของวิทยุภาคธุรกิจ 4,000 สถานีที่ดำเนินการอยู่ บางส่วนเป็นสถานีวิทยุระดับชาติ บางส่วนเป็นระดับท้องถิ่น ก็ควรกำหนดเงื่อนไขรายละเอียด หน้าที่ความรับผิดชอบ และกฎกติกามารยาทให้เหมาะสม
เท่าที่ทราบในขณะนี้คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำลังกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชั่วคราว(วิทยุกระจายเสียงชุมชน) โดยทำหน้าที่แทน กสช.ไปก่อน ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และ มาตรา 78 แห่ง พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ผมคิดว่าเป็นความพยายามที่ดี แต่เป็นห่วงว่าการจัดระเบียบวิทยุชุมชน(300) โดยที่ยังไม่แตะวิทยุธุรกิจ(4,000) และวิทยุของรัฐ(524) แบบนี้จะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย และดูเป็นการลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติเสียด้วยซ้ำ ดีไม่ดีอาจจะเป็นการก่อปัญหาสะสมให้กับการจัดระเบียบจริงที่ต้องพิจารณากันทั้งกระดานในภายภาคหน้า
ขอฝากให้ใครที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาด้วยนะครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
Post Today พฤหัสบดี 5 มีนาคม 2552
Be the first to comment on "จัดระเบียบวิทยุชุมชน ควรมองทั้งกระดาน"