“จิตอาสา”

          กระแสความตื่นตัวของผู้คนเรื่องจิตอาสาในสังคมไทยซึ่งเคยเฟื่องฟูในหมู่นักศึกษายุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ได้กลับมาอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิถล่มฝั่งอันดามันตอนปลายปี 2547

          เหตุการณ์แรก  มีแรงกระตุ้นจากกระแสประชาธิปไตยและอุดมการณ์ทางการเมืองของนักศึกษาประชาชนในยุคนั้น    บรรยากาศช่วงนั้นได้ผลิตบุคลากรทางสังคมที่มีจิตสำนึกส่วนรวมมากมาย หลายคนได้กลายมาเป็นนักพัฒนาสังคม นักบริหาร นักการเมือง นักคิด นักปฏิบัติ ตลอดจนนักปฏิรูป-นักปฏิวัติที่มีตัวตนอยู่ถึงทุกวันนี้

          ส่วนเหตุการณ์หลัง  มีแรงกระตุ้นจากความสะเทือนใจที่เห็นเพื่อนมนุษย์และคนไทยจำนวนนับหมื่นนับแสนคนต้องสูญเสียชีวิต บ้านเรือนและทรัพย์สินในชั่วข้ามวันเมื่อพิบัติภัยธรรมชาติถล่ม คนไทยทุกหมู่เหล่าซึ่งรับรู้เหตุการณ์พร้อมกันผ่านสื่อโทรทัศน์แบบเรียลไทม์ ต่างออกมาจากบ้านด้วยจิตใจที่ขันอาสาและอยากเสียสละช่วยเหลือผู้ประสบภัย ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงกระแส CSR ของภาคธุรกิจในปัจจุบัน

          จากประสบการณ์ส่วนตัว   ผมมองเห็น จิตอาสา  ที่แตกต่างหลากหลายมากในหมู่สามัญชนผู้ทำงานสาธารณะ หรือพัฒนาสังคม ทั้งหมดล้วนเป็นกำลังของแผ่นดิน เมื่อต้นสัปดาห์จึงทดลองจุดประกายความคิดเพื่อเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้บริหารรัฐวิสาหกิจนักธุรกิจ CSR และอาจารย์นักพัฒนาจากมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง
          ผมคิดว่าจิตอาสาเป็นกระบวนการพัฒนาภายในของผู้คน เพื่อก้าวข้ามความสำนึกแบบสัญญาณดิบและความเป็นตัวตนที่เห็นแก่ตัว จากสัตวภูมิสู่มนุษยภูมิ (Transcending Self) ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 5 ระดับเป็นเบื้องต้น :
 
          1. จิตสำนึกพึ่งตนเอง
                   เป็นจิตสำนึกที่พบเห็นในบุคคลหรือชุมชน กลุ่ม องค์กร ที่มีความเข้มแข็งโดยทั่วไป ซึ่งที่เขาเข้มแข็งได้ก็เพราะมีจิตสำนึกพึ่งตนเองเป็นรากฐาน ไม่รอพึ่งเทวดาฟ้าดิน ไม่โทษปัจจัยภายนอก แต่มุ่งใช้สติปัญญาของตนสร้างความพอเพียงและมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาด้วยตนเอง
                   กลุ่มนี้จะยึดหลักของการกำหนดตนเอง (Self Determination), การจัดการตนเอง (Self Management) และการปกครองตนเอง (Self Government)
                                อย่างไรก็ตามคนหรือชุมชนที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้ (Self Reliance) ก็ไม่หมายรวมว่าจะมีความสนใจหรือเผื่อแผ่ให้คนอื่นหรือส่วนรวมเสมอไป คนหรือชุมชนที่เข้มแข็งมักมีคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือมีขีดความสามารถในการปกป้องคุ้มครองตนเองจากภัยคุกคามต่าง ๆ ได้ และลักษณะเชิงต่อสู้ต้านทานเช่นนี้มักติดตัวมา   บางครั้งมีบุคลิกที่ระแวดระวังและขีดวงตนเองเพื่อความอยู่รอด บ่อยครั้งเราจึงพบคนและชุมชนที่แข็งแรงแต่เห็นแก่ตัวซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ   เราต้องส่งเสริมคนและชุมชนให้พึ่งตนเองได้และเรียนรู้-พัฒนาจิตสำนึกต่อไปต่อเนื่อง
 
          2. จิตสำนึกสาธารณะ
                   เป็นจิตสำนึกที่ใส่ใจต่อส่วนรวม ห่วงใยประโยชน์และสมบัติสาธารณะ   คนและชุมชนที่มีจิตสำนึกสาธารณะจะเฝ้าระวังมิให้ใครมาทำลายหรือเอาสมบัติสาธารณะไปเป็นของตัว     พวกเขาจะตะโกนบอกด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้คนอื่น ๆ ในสังคมได้รู้เมื่อมีอันตรายคุกคาม
                   จิตสำนึกสาธารณะเป็นรากฐานความเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น (Active Citizen)    สังคมที่มีพลเมืองผู้กระตือรือร้นจำนวนมากย่อมเป็นสังคมที่มีความตื่นตัวตลอดเวลา ใครจะมาขโมยสมบัติสาธารณะหรือทำลายสิ่งแวดล้อมจะทำได้ยากขึ้น
                   แต่บ่อยครั้งเราก็พบว่า บางสังคมมีแต่ผู้กระตือรือร้นประเภทที่เก่งในการร้องตะโกนโหวกเหวกอยู่เท่านั้น   หาได้ลงมือทำงานหรือร่วมต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองไม่   พวกเขาชอบเรียกร้องให้คนอื่นซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้รับผิดชอบมาแก้ไขปัญหาอยู่ถ่ายเดียว บางครั้งไม่ทันใจหรือไม่เป็นที่พอใจก็ต่อว่าด่าทอ สังคมใดมีพลเมืองผู้เอาแต่ใจตนเอง ขี้บ่นและเกรี้ยวกราดแบบนี้   ย่อมเป็นสังคมที่ทอนพลัง และน่าเป็นห่วงไม่น้อย
 
          3. จิตสำนึกอาสาสมัคร
                   เป็นจิตสำนึกที่พร้อมจะเสียสละสมบัติหรือประโยชน์ส่วนตัวให้กับผู้อื่นหรือส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน   อาจเป็นการเสียสละเวลา   แรงกายแรงใจ ความรู้สติปัญญา หรือทรัพย์สินเงินทองก็ได้   คนและชุมชนที่มีจิตอาสามักเป็นผู้ที่สามารถพึ่งตนเองได้ และมีจิตสำนึกสาธารณะเป็นทุนเดิม จึงมีความพร้อมที่จะเสียสละเพื่อคนอื่นได้ในระดับใดระดับหนึ่งอยู่ตลอดเวลา
                   จิตอาสาเป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่เข้มแข็งหรือประชาคม (Civil Society)   สังคมที่มีพลเมืองผู้มีจิตอาสาเป็นส่วนประกอบสำคัญ   ย่อมพัฒนาสู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมที่เข้มแข็ง และสังคมที่มีคุณธรรมได้โดยง่าย
                   กิจกรรมสาธารณะและกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ล้วนเป็นเวทีเรียนรู้และฝึกฝนจิตอาสาที่ง่ายและเป็นประโยชน์มากสำหรับพลเมืองและเยาวชน จึงควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง และทุกท้องถิ่นอย่างจริงจัง
 
          4. จิตสำนึกวีระชน
                   เป็นจิตอาสาที่ผนวกด้วยความกล้าหาญในการต่อสู้หรือปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวมแบบไม่กลัวยากไม่กลัวตาย   มีความพร้อมที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตเพื่อหมู่คณะของตน ซึ่งอาจเป็นครอบครัว วงศ์ตระกูล ชุมชนท้องถิ่น องค์กร สถาบัน เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ประเทศ อุดมการณ์ ลัทธิความเชื่อ ศาสนาฯลฯ
                   จิตสำนึกวีระชนมักพัฒนาขึ้นมาโดยผ่านการต่อสู้ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หล่อหลอมจากการขับเคี่ยวกับตัวเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านบททดสอบตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า และมักแสดงวีรกรรมให้ประจักษ์ต่อสายตาของผู้คนเมื่อมีเหตุการณ์คับขัน หรือไม่ก็ภายหลังจากการสละชีวิตร่างกาย
 
          5. จิตโพธิสัตว์
                   เป็นจิตสำนึกความรักและรับใช้เพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกหน้า  ไม่เลือกว่าเป็นหมู่คณะหรือเผ่าพันธุ์ใด   มีความเป็นสากล 
ผู้ที่มีจิตสำนึกแบบนี้มักเป็นผู้ปฏิบัติธรรม หรือมีความศรัทธาในหลักศาสนา และมีวัตรปฏิบัติส่วนตนที่เข้มงวด มีวินัยสูง บางทีเคร่งยิ่งกว่าพระ.
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
1 สิงหาคม 2552

Be the first to comment on "“จิตอาสา”"

Leave a comment

Your email address will not be published.