เพื่อนฝูงหลายคนมาเลียบเคียงถามผมถึงสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าแนวโน้มจะไปทางไหน ประชาชนเป็นอย่างไรกันบ้าง ผมเองในระยะหลายเดือนมานี้ก็ลงพื้นที่ไม่บ่อยนัก แต่ได้คอยสดับตรับฟังเหตุการณ์จากนักวิจัยของ LDI และผู้ประสานงานประชาคมมุสลิมท้องถิ่นอยู่มิได้ขาดช่วง
การเข้าพื้นที่ล่าสุดของนักวิจัยเยาวชนสตรีมุสลิมท้องถิ่น 20 กว่าคน เพื่อเก็บข้อมูลจากชาวบ้านกว่า 200 หมู่บ้านในเขตพื้นที่สีแดงของฝ่ายความมั่นคง พวกเขาได้สัมผัสกับความหวาดระแวงของชาวบ้านจนเกือบจะทำงานไม่ได้เอาเสียเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้และน่าเห็นใจอย่างยิ่ง ในหมู่บ้านต่าง ๆ มีกองทหารและด่านตรวจตราอย่างเข้มงวด คนจากต่างหมู่บ้านจะเข้าไปก็ต้องลงทะเบียน แสดงบัตรประชาชน จดหมายเลขบัตรเอาไว้ ซักถามกันละเอียดกว่าจะมาทำไม ไปพบใคร อยู่นานแค่ไหน ซึ่งมาตรการทางทหารแบบนี้ไม่ได้ทำให้พวกขบวนการเดือดร้อนเลยเพราะเขาใช้เส้นทางอื่นเข้าหมู่บ้าน แต่วิถีชีวิตชาวบ้านถูกกระทบอย่างหนัก กลางค่ำกลางคืนอยากจะเปิดประตูหน้าต่างออกไปรับลมบ้างก็ต้องผงะเพราะมีหมู่ทหารมาซุ่มอยู่ข้างบ้านตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ สภาพจิตใจของประชาชนและชุมชนชายแดนใต้วันนี้เป็นอย่างไร คงพอจินตนาการเอาเองได้นะครับ
แต่ก่อนชาวบ้านกลัวพวกขบวนการมากเพราะพวกนั้นอยู่ในความมืด ไม่รู้ว่าเป็นใครและจะก่อเหตุที่ไหนอย่างไร ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา การปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการเปิดเผยมากขึ้นตามลำดับ ชาวบ้านเริ่มจับทิศทางได้ กลุ่มเป้าหมายที่ฝ่ายขบวนการกำจัดคือคนกลุ่มไหนชาวบ้านเขาเรียนรู้กันได้เองจากสัญญาณที่พวกนั้นส่งออกมา ตรงข้ามกับกองทหารของรัฐจากต่างถิ่นที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาประจำฐานในหมู่บ้าน ซึ่งแม้จะเห็นตัว แต่ภาษาหน้าตาวิถีชีวิตก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง บ้านไหนที่ทหารเข้ามาหา เจ้าของบ้านต้องขวัญกระเจิดกระเจิงเพราะไม่รู้ว่ามาด้วยประสงค์ใดและเมื่อทหารออกไปพวกขบวนการจะเพ่งเล็งเขาแบบไหน โดยสรุปแล้วตอนนี้ ชาวบ้านกลัวทหารมากกว่ากลัวขบวนการ
ความเชื่อถือไว้วางใจในชุมชนและสังคมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดของสุขภาวะและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทุก ๆ ด้านของท้องถิ่นและประเทศชาติ ดูตัวอย่างง่ายๆ ที่นักวิจัยเยาวชนสตรีมุสลิมท้องถิ่นเข้าหมู่บ้านซึ่งเป็นพี่น้องของเขาเองเพื่อเก็บข้อมูล ยังพบกับภาวะความหวาดระแวงว่าจะเก็บข้อมูลไปทำอะไร เป็นพวกไหนส่งมา ภารกิจง่าย ๆ ที่ปกติใช้แรงเพียง 1 ส่วน ที่นี่อาจต้องใช้ถึง 10 ส่วนปานนั้นทีเดียว
แต่ชาวบ้านเขาก็อยู่กันได้ครับ ส่วนหนึ่งคงไม่มีหนทางไปอื่น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยกันไปในแต่ละวัน ใครที่โดนก็โดนไป ที่เหลือต้องดูแลตัวเอง หลักศรัทธาและการปฏิบัติศาสนามีส่วนช่วยปลอบประโลมได้มาก ในทางเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นชื่อในด้านเป็นพื้นที่ยากจนมาโดยตลอด เพราะหน่วยพัฒนาของรัฐต่างเพ็งดูที่ GPP และรายได้ต่อหัวประชากร ซึ่งอยู่ในกลุ่มต่ำที่สุดของประเทศ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบก็โทษว่าเป็นเพราะปัญหาคนว่างงาน คนยากจน เยาวชนตกงานกันมากจึงมั่วสุมไปในทางร้าย ดังนั้นวิธีแก้ปัญหารัฐจึงมุ่งทุ่มเททรัพยากรและงบประมาณรัฐลงไปเพื่อกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของพื้นที่เป็นสำคัญ และหวังว่ามาตรการระดับมหภาคแบบนั้นจะไปขจัดเงื่อนไขการว่างงานของเยาวชนได้ แล้วปัญหาความรุนแรงที่มีอยู่ก็จะค่อย ๆ หมดไป โครงการนิคมฮาลาลก็ดี โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานก็ดี โครงการส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวก็ดีและแม้โครงการจ้างงานเยาวชน 4,500 บาท ล้วนตั้งอยู่บนสมมติฐานความเชื่อแบบที่ว่าทั้งสิ้น
ผู้นำประเทศและนักพัฒนาภาครัฐไม่ค่อยเข้าใจว่า ในความเป็นจริงแล้ว ความยากจนกับความอดอยากไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอไป การว่างงานกับทุกขภาวะก็ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันแบบอัตโนมัติ เมื่อ 2 ปีก่อนผมและคณะไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาในเวทีว่า “พวกเรายากจน แต่ไม่เคยอดอยากเลย” เขาอธิบายถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมท้องถิ่น จนทำให้เราสามารถมองเห็นภาพว่าคนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ทุกข์ร้อนกับ GPP และรายได้ต่อหัวประชากรเลย แน่นอนคนบางกลุ่มอาจมีความขวนขวายทะยานไปตามการพัฒนากระแสหลักอย่างที่เราคุ้นชิน แต่จะเอากระบวนทัศน์ของเราไปครอบพวกเขาทั้งหมดย่อมไม่ใช่
ความเข้าใจต่อสถานการณ์ชุมชนชายแดนใต้ และปัจจัยสาเหตุของปัญหาความไม่สงบในวันนี้ หากไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันอย่างขนานใหญ่ก็คงยากที่จะเดินถูกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนทัศน์ของผู้นำประเทศ ผู้นำกองทัพ และสถาบันหลักของชาติที่เกี่ยวข้อง
ประเทศไทยและสังคมไทยจะมีปัญญาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แค่ไหน จุดนี้คือด่านสำคัญ
และ 5 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์หลายอย่างต่างสะท้อนข้อจำกัดในภูมิปัญญาของแผ่นดินที่ว่านี้ได้อย่างชัดครับ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ที่นี่ LDI
Be the first to comment on "ชุมชนชายแดนใต้ 2552"