“ทิศทาง TPBS : ทีวีข่าว-สารคดี- ความรู้”

          ผมได้รับทราบความคิดเห็นติชมรายการของทีวีไทยอย่างสม่ำเสมอผ่านทางแฟ้มประมวลความคิดเห็นซึ่งเจ้าหน้าที่จัดทำไว้ให้และจากอินทราเนทของสำนักงาน

          ในส่วนของเสียงที่ชื่นชมมักไปในทิศทางเดียวกัน คือ ชื่นชอบรายการสารคดี   รายการเพื่อสังคม เด็กและเยาวชน รวมทั้งรายการความรู้ด้านต่าง ๆ และการไม่มีโฆษณา ซึ่งอาจเป็นเพราะเหล่านี้เป็นสิ่งที่แตกต่างจากฟรีทีวีทั่วไป และผู้ชมผู้ฟังสามารถสัมผัสได้ง่าย

          คนต่างจังหวัด คนยากคนจน และผู้ที่เข้าไม่ถึงเคเบิ้ลทีวี เขาไม่มีทางเลือกในการบริโภครายการโทรทัศน์ที่หลากหลายแบบชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งมีทั้งเคเบิ้ล จานดาวเทียม อินเตอร์เนท และนิวมีเดียให้เลือกซื้อบริการนับเป็นร้อยช่อง ดังนั้นเขาเหล่านั้นจึงโหยหาสิ่งนี้จากช่อง 3,5,7,9,11 และทีวีไทย

          แต่เสียงที่แตกเป็น 2 ขั้ว คือ ตำหนิ และชมเชยอย่างรุนแรงซึ่งมีจำนวนพอ ๆ กัน เป็นเรื่องรายการข่าวของทีวีไทย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการเมือง ซึ่งอนุมานได้ว่าผู้แสดงความคิดเห็นเสนอแนะส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้ชมผู้ฟังที่มีความสนใจและตื่นตัวทางการเมืองเป็นพิเศษ รวมทั้งเป็นกลุ่มที่กำลังรณรงค์ขับเคลื่อนการเมืองในแนวทางของตนอย่างกระตือรือร้น  มีทั้งสีแดง สีเหลือง และสีอื่น ๆ อันหลากหลาย
          ยิ่งในช่วงที่มีการเผชิญหน้า มีการปะทะปราบปราม และนาทีวิกฤตต่าง ๆ ก็ยิ่งมีเสียงตำหนิและเสียงปรบมือเชียร์ เข้ามาจนสายแทบไหม้   ส่วนใหญ่เป็นเสียงจากขั้วที่ขับเคี่ยวกัน รวมทั้งแนวร่วมของทั้งสองฝ่าย   เสียงติติงว่าทีวีไทยไม่เสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนนั้นมีจำนวนมากที่สุด เข้าใจว่าตอนนั้นทั้งสองฝ่ายคงลืมหลักการไม่เลือกข้างของการเป็นทีวีสาธารณะเพราะต่างคนต่างคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดทั้งหมด   ทีวีไทยต้องมาเอื้อประโยชน์กับฝ่ายตัว
          อันที่จริงทีวีไทยย่อมมีดุลยพินิจที่เป็นอิสระของตนและโดยอำนาจหน้าที่แล้ว ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทีวีไทย คือผู้รับผิดชอบต่อเรื่องการดำเนินงานโดยตรงและเขาก็ทำหน้าที่ของเขาอย่างเต็มที่   แต่พวกเราซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายก็ตื่นเต้นร้อนรนไปด้วยในทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว    ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรรมการนโยบายก็ถูกกดดันมาจากเพื่อนสนิทมิตรสหายและญาติพี่น้องอย่างคาดหวังอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
          อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักว่าทีวีไทยเป็นทีวีสาธารณะ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เหมือนกับสื่อสารมวลชนใดๆ ที่มีอยู่ในประเทศขณะนี้
ทีวีไทย      มิใช่ทีวีรัฐที่ต้องรับใช้งานราชการและรับฟังคำสั่งของนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล
ทีวีไทย      มิใช่ทีวีธุรกิจที่แสวงหารายได้ และกำไรทางธุรกิจอย่างเสรีสำหรับผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น
ทีวีไทย      มิใช่ทีวีรณรงค์การเมืองของกลุ่มฝ่ายใด ๆ ที่มุ่งเสนอเนื้อหาสาระอย่างเข้มข้นตลอดเวลาเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการต่อสู้ของฝ่ายตน
ทีวีไทย      มิใช่ทีวีศาสนา ที่ต้องทำหน้าที่สอนสั่งหรือเผยแพร่คุณธรรมและศีลธรรมตามลัทธิความเชื่อของศาสดา และพระนักบวช ให้ผู้ชมผู้ฟังรู้ถูกรู้ผิดหรือเกิดศรัทธา
ทีวีไทย      มิใช่ทีวีสุขภาพ ที่มีภารกิจในการรณรงค์ให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจในสุขอนามัยและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมตามทฤษฎีความรู้ของสถาบัน
ทีวีไทย     มิใช่ทีวีเฉพาะประเด็น ที่มีความเชี่ยวชาญและเสนอเนื้อหาสาระอย่างเฉพาะเจาะจงตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้สนใจ เฉกเช่นสถานีข่าว หรือสถานีสารคดี หรือสถานีภาพยนต์
          เพราะทีวีไทยต้องดำเนินการตามเจตนารมย์และกรอบภารกิจที่กฎหมายกำหนด จะละเมิดหรือละเลยไม่ได้
          พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ได้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายดังนี้ ครับ :
          “…โดยที่เป็นการสมควรให้มีองค์การสื่อสาธารณะ     ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำในการผลิตและสร้างสรรค์รายการข่าวสารคุณภาพสูง    ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและส่วนรวม   เพื่อส่งเสริมให้มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงและสมดุล    และมุ่งยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนทุกภาคส่วนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก     รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและประเทศ     และสร้างความยั่งยืนให้แก่ความเป็นพลเมืองและสังคมส่วนรวมผ่านทางบริการข่าวสารและสาระความรู้     นอกจากนี้เพื่อให้องค์การเป็นผู้นำความรู้ทางวิทยากรต่าง ๆ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของชาติที่ส่งเสริมให้คนในชาติมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเกิดความรักชาติ ภูมิใจในภาษา วัฒนธรรม และท้องถิ่นของตนเอง    และกระตุ้นและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การผลิตรายการของผู้ผลิตรายการอิสระ   จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
          ดังนั้น   คณะกรรมการนโยบายชุดปัจจุบันจึงกำหนดทิศทางนโยบายในด้านเนื้อหาสาระของทีวีไทยให้มุ่งเป็น โทรทัศน์ช่อง ข่าว-สารคดี-ความรู้   เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย โดยมีสัดส่วนเวลาออกอากาศด้านข่าวร้อยละ 40 ด้านสารคดี ร้อยละ 30 และสาระประโยชน์ร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนนี้สามารถปรับได้บ้างตามสถานการณ์ อย่างเช่นในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความรุนแรงถึงวิกฤต   บางครั้งมีการเพิ่มสัดส่วนของรายการข่าวเป็นร้อยละ 45-50 ก็เคยมี
          เมื่อทิศทางนโยบายกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือและประสิทธิภาพในการบริหารของฝ่ายอำนวยการและของผู้ปฏิบัติงานว่าจะสามารถรังสรรค์ผลงานออกมาให้มีคุณภาพได้มากน้อยแค่ไหน
          ผองเพื่อนทีวีไทย และผู้ชมผู้ฟังต้องช่วยกันติดตามและติชมเสนอแนะอยู่เรื่อยๆนะครับ.
 
นพ.พลเดช ปื่นประทีป
22 มิถุนายน 2552
 

Be the first to comment on "“ทิศทาง TPBS : ทีวีข่าว-สารคดี- ความรู้”"

Leave a comment

Your email address will not be published.