ผมมีโอกาสเข้าไปนั่งในฐานะกรรมการนโยบายชุดแรกขององค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท. หรือ TPBS) โดยเริ่มรับผิดชอบตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา พวกเราทั้ง 9 คน มีวาระการทำงาน 4 ปี แต่เมื่อผ่านไปครบ 2 ปีแรกจะต้องจับสลากออกไปครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย
ทันทีที่เข้ามาร่วมกันรับผิดชอบในฐานะเป็นองค์กรผู้นำสูงสุดของ ส.ส.ท. พวกเราต้องทำความเข้าใจอย่างรวดเร็วต่อสถานภาพองค์การฯ ภารกิจที่ฝ่ายนโยบายต้องรับผิดชอบ และความคาดหวังจากสังคม เพราะคณะกรรมการนโยบายชุดชั่วคราวเขากระโดดลงจากรถด่วนสาย TPBS ไปแล้ว โดยไม่มีเวลาหยุดให้เราตั้งหลักแม้แต่วินาทีเดียว
งานกรรมการนโยบาย TPBS นั้นผิดกับการเป็นกรรมการนโยบายหรือบอร์ดขององค์กรรัฐและรัฐวิสาหกิจอื่นๆอยู่มาก เพราะเท่าที่ทราบ บอร์ดขององค์การต่างๆมักจะทำงานโดยการประชุมเดือนละครั้งเพื่อลงมติสำคัญบางอย่างและรับค่าตอบแทนก้อนใหญ่ พูดง่ายๆ คือ งานสบาย สวัสดิการดี
แต่ที่ TPBS มิได้เป็นอย่างนั้น พวกเราต้องทำงานหนักมากทีเดียวเพราะคณะกรรมการชุดชั่วคราวทำงานมาก่อนมิทันได้สร้างระบบงานและโครงสร้างองค์การเพราะต้องสาละวนจนหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องดูแลทีวีมิให้ “จอมืด” รวมทั้งการต้องรับพนักงานของไอทีวีเดิมทั้งหมดมาดูแลในสภาพที่พวกเขามีอารมณ์ตกค้างแค้นเคืองจากการที่องค์กรเดิมถูกศาลตัดสินให้สิ้นสภาพ
มีงานเร่งด่วนจำนวนมากที่กฎหมายกำหนดให้กรรมการนโยบายชุดแรกต้องทำให้บรรลุโดยมีระยะเวลากำกับ ทั้งการออกระเบียบข้อบังคับที่สำคัญๆ และการตั้งกลไกการทำงาน รวมทั้งการสรรหาผู้อำนวยการตัวจริง สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราต้องประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้งและทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเหมือนการบุกเบิกสร้างบ้านใหม่
ขณะเดียวกัน ในห้วงเวลาดังกล่าว ประเทศอันเป็นที่รักของเรากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและกว้างขวาง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) และแนวร่วมสีเหลืองปักหลักชุมนุมใหญ่อย่างยืดเยื้อเป็นแรมเดือน มีการยึดทำเนียบรัฐบาลและเคลื่อนไหวดาวกระจายเพื่อกดดันรัฐบาล ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและแนวร่วมสีแดงที่มีคุณสมัคร สุนทรเวชและคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้นำก็ใช้ท่าทีแข็งกร้าว ข่มขู่ และใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงและสูญเสียสะสมกันเป็นระลอก ในสถานการณ์เช่นนี้ TPBS หรือทีวีไทยซึ่งเป็นสื่อโทรทัศน์ระดับชาติองค์กรหนึ่งจึงถูกสังคมคาดหวังและจับตาบทบาทอย่างใกล้ชิดทุกฝีก้าว
แม้กรรมการนโยบายมิใช่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในการเสนอข่าวสารและรายการต่างๆ แต่สังคมไม่รับทราบหรอกครับว่าฝ่ายนโยบาย ฝ่ายผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติ ใครมีหน้าที่แค่ไหนอย่างไร พวกเขาต่างคาดหวังว่ากรรมการนโยบายจะต้องกำกับดูแลเพื่อสนองความต้องการของเขาได้ จึงสะท้อนความคิดเห็นมาที่พวกเรามากมาย มีทั้งเสียงติและเสียงชม มากบ้างน้อยบ้างตามความร้อนแรงของสถานการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมือง
ถือว่าเราไม่มีช่วงฮันนีมูนเลย เพราะต้องปฏิบัติการสื่อสาธารณะท่ามกลางความแตกแยกทางการเมือง อีกทั้งต้อเร่งขึ้นเสาเอกสร้างบ้านสร้างองค์กรในฐานะที่เกิดใหม่ นับเป็นห้วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมากครับ
การเป็นทีวีสาธารณะนั้นหมายความว่าเป็นทีวีที่ต้องสนองความต้องการอันหลากหลายของผู้คนในสังคม ทุกกลุ่มทุกฝ่าย ในจำนวนนั้นมีทั้งคนที่อยากดูข่าว คนที่อยากดูสารคดีและคนที่อยากดูรายการบันเทิง , มีทั้งเด็กทั้งเยาวชน ทั้งคนแก่ ผู้พิการ และนักการเมือง นักวิชาการ ผู้บริหาร ฯลฯ ซึ่งกฏหมายกำหนดให้ทีวีสาธารณะต้องผลิตและเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลและรายการสาระประโยชน์สำหรับคนกลุ่มต่างๆอย่างหลากหลาย จะสนองความต้องการของกลุ่มใดขั้วใดเป็นการเฉพาะไม่ได้
ยิ่งในกระแสการขับเคียวต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสีเหลือง-สีแดงด้วยแล้ว ทีวีไทยจึงโดนเรียกร้องกดดันจากทั้ง 2 ขั้ว ความขัดแย้งอย่างหนักหน่วงทีเดียว ต่างฝ่ายต่างต้องการดึงให้ทีวีไทยเข้าเป็นขั้วของตน นับว่าเป็นสถานการณ์ที่วางตัวลำบากอย่างยิ่ง
พวกเราตระหนักในความต้องการและความคาดหวังของสังคมเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็รับรู้ในข้อจำกัดอันเนื่องมาจากปัจจัยและองค์ประกอบภายในอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม พวกเราทั้ง 9 คนยังมีความมุ่งมั่นอดทนและทุ่มเทสติปัญญากันเต็มที่
ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
12 มิถุนายน 2552
Be the first to comment on "ทีวีไทยในกระแสสังคมแบ่งขั้ว"