พูดถึงการจัดตั้ง (Organizing) ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งตนเอง หรือถูกคนอื่นเข้ามาจัดตั้ง หัวใจสำคัญอยู่ที่ทำให้มีการจัดการ (Management) ซึ่งการจัดการที่สำคัญคือการจัดการในเรื่องบทบาทและความสัมพันธ์ (Role/Relationship) ของบุคคลต่างๆ ที่เป็นสมาชิกนั่นเอง
พลังชุมชน พลังมวลชน พลังเครือข่าย และพลังประชาคม ล้วนเป็นพลังที่เกิดจากการจัดตั้งทั้งสิ้น อย่างที่เพลงปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพลงหนึ่งกล่าวไว้ว่า…
“หยาดฝนย้อยหยาดฟ้ามาสู่ดิน ประมวลสินธุ์เป็นมหาสาครใหญ่
แผดเสียงซัดปฐพีอึงมี่ไป พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน
อันประชาสามัคคีที่จัดตั้ง เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล ไม่อาจต้านแรงมหาประชาชน”
พลังมวลชน เป็นคำที่มักใช้ในความหมายเชิงเรียกร้อง กดดัน ต่อสู้ ตรวจสอบ หรือกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชิงลบหรือในงานแบบร้อนๆ ส่วนคำว่าพลังชุมชน พลังเครือข่าย และพลังประชาคม มักถูกใช้ในลักษณะเชิงบวกหรือในงานแบบเย็นๆ เสียเป็นส่วนใหญ่
ในงานยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ทั้งในส่วนชุมชนเข้มแข็ง และส่วนประชาสังคม พวกเราถนัดในเรื่องงานเชิงบวก งานสร้างสรรค์ และงานเย็นจนถึงระดับอุ่นๆ แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธงานร้อนๆ เมื่อถึงคราวจำเป็นครับ
ดังนั้นงานจัดตั้งของเราจึงให้ความสำคัญต่อการจัดการพลังงานประเภทพลังชุมชน พลังเครือข่าย และพลังประชาคม มากกว่าพลังมวลชน รูปแบบองค์กรเหล่านี้จะไม่ใช่องค์กรเดี่ยวแต่เป็นองค์กรเชิงเครือข่าย ภาวะการนำของเครือข่ายไม่ใช่การนำเดี่ยว แต่เป็นการนำรวมหมู่ของเครือข่ายผู้นำที่มีความสามารถเชี่ยวชาญอย่างแตกต่างหลากหลาย และผลัดเปลี่ยนกันแสดงบทบาทการนำตามสถานการณ์และประเด็นปัญหา โดยผู้นำเครือข่ายมักมีบุคลิกภาพเป็นผู้ประสานงาน ไม่ใช่ผู้สั่งการ
องค์กรเชิงเครือข่าย (ชุมชน เครือข่าย ประชาคม) ล้วนมีองค์ประกอบของสมาชิกที่แตกต่างหลากหลายและเป็นอิสระในตัวเอง ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับคนอื่นแบบเสมอภาคกัน คือเป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่เป็นเอกภาพกันในเครือข่ายคือ ทิศทางใหญ่ หลักจริยธรรม กฎ กติกา มารยาท และวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการรวมพลังขับเคลื่อนในแต่ละเหตุการณ์
ในการระดมความคิดและร่วมกันตัดสินใจ องค์กรเชิงเครือข่ายไม่นิยมใช้การลงมติโดยเสียงข้างมาก แต่จะใช้ฉันทามติ หรือการเห็นร่วมกันโดยเอกฉันท์ ซึ่งกว่าจะได้มานั้นย่อมต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยความอดทนจนเป็นที่เห็นพ้องต้องกันเสียก่อน
ในงานสนับสนุนชุมชนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาชายแดนภาคใต้ (2252-2556) ซึ่ง LDI กับ World Bank กำลังร่วมกันดำเนินงานในพื้นที่ จชต.อยู่ในขณะนี้ พวกเรากำลังศึกษาทดลองในเรื่องการจัดตั้งองค์กรเชิงเครือข่ายควบคู่ไปด้วย เบื้องต้นนี้กำลังทำการสำรวจและรวบรวมทุนทางสังคม ในส่วนที่เป็นทุนมนุษย์หรือบุคลากรในเครือข่ายซึ่งแบ่งเป็น 7 ประเภท
1. ผู้นำชุมชน หมายถึง ผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำที่ไม่เป็นทางการ ผู้นำองค์กรชุมชน หรือผู้ที่มีบทบาทเป็นที่ยอมรับนับถือของชุมชนระดับรากหญ้า(ฐานราก) ในระดับตั้งแต่ตำบลลงไป
2. ผู้ประสานงานเครือข่าย หมายถึง อาสาสมัครชนชั้นกลาง ที่มีบทบาทประสานและเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือ เอ็นจีโอในเชิงประเด็น หรือเครือข่ายองค์กรชุมชนในท้องถิ่นหรือพื้นที่ ในระดับกลุ่มตำบล หรือระดับอำเภอขึ้นมา
3. นักพัฒนาอาวุโส หมายถึง นักคิด นักพัฒนาที่มีทักษะประสบการณ์ในการวางแผนและบริหารจัดการงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ในพื้นที่ระดับจังหวัด และ/หรือกลุ่มจังหวัด
4. นักวิจัยท้องถิ่น หมายถึง บุคลากรทางวิชาการในพื้นที่ ที่มีความรู้ความสามารถในการวิจัยขั้นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หรือทางสังคมก็ได้ และเป็นผู้ที่มีบทบาท/ผลงานด้านวิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่น
5. ข้าราชการจิตอาสา หมายถึง ข้าราชการหรือบุคลากรของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีรกราก/ภูมิลำเนาในพื้นที่ (อาจเป็นพลเรือน ทหาร หรือตำรวจก็ได้ จะเป็นผู้ที่ยังปฏิบัติงานอยู่ หรือเกษียณอายุแล้วก็ได้) และเป็นผู้มีจิตอาสา รักและสนับสนุนภาคประชาชน
6. นักสื่อสารชุมชน หมายถึง นักจัดรายการวิทยุชุมชน สื่อมวลชนท้องถิ่น นักข่าวพลเมือง และศิลปินพื้นบ้าน ซึ่งมีบทบาท/ผลงานสื่อสารสาธารณะ ในระดับใดระดับหนึ่งอยู่ในพื้นที่
7. ผู้ทรงคุณวุฒิท้องถิ่น หมายถึง อาจารย์อาวุโส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำทางจิตวิญญาณ และผู้นำศาสนาในพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง
เพื่อนนักพัฒนา ในข่ายงานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมจังหวัดอื่นๆ จะนำไปประยุกต์ใช้บ้างก็ได้นะครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
7 กันยายน 2552
Be the first to comment on "บุคลากรในเครือข่าย"