“ปกครองตนเอง”

             ในขณะที่การเมืองระดับชาติยังต่อสู้ขับเคี่ยวกันอย่างหนักว่าระบบประชาธิปไตยของเราจะไปทางไหน ข่ายงานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมที่พวกเราขับเคลื่อนกันอยู่ น่าจะช่วยกันขบคิดและผลักดันประชาธิปไตยชุมชน และประชาธิปไตยท้องถิ่นกันอย่างจริงจัง

เพื่อสร้างปัจจัย “แรงดึงดูดเชิงสร้างสรรค์” (Positive Attractor) สำหรับประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน

            ซึ่งผมขอนำเสนอวาทกรรมว่าด้วย “การปกครองตนเอง” (Self Government) ครับ

                เวลานี้กระแสการต่อสู้ทางการเมืองและการพัฒนาระบบประชาธิปไตยของประเทศมีขาใหญ่หลายกลุ่มกำลังเคลื่อนไหวต่อสู้กัน   ทั้งในระดับแนวคิดทฤษฎี และการปฏิบัติการทางการเมืองการทหาร จนเป็นเหตุให้มีความรุนแรงปะทุขึ้นเป็นระลอก ๆ ตอนนี้ภายนอกอาจดูสงบลงบ้าง  แต่พิจารณาเบื้องลึกเบื้องหลังแล้ว   จะเห็นคลื่นใต้น้ำก่อตัวตลอดเวลาและคาดว่าจะดำรงต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 – 10 ปีทีเดียว

                กลุ่มนักการเมืองตัวแทนจากทุกพรรค   ทุกสีและบรรดาหัวคะแนนหรือนักการเมืองท้องถิ่นที่เติบโตขึ้นมาในสายวัฒนธรรมการเมืองตัวแทนแบบเก่า ต้องพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทนของพวกเขา แม้จะรู้ว่ายากลำบากกว่าแต่ก่อนมากเพราะสังคมเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันผู้แทนราษฎร์อย่างหนัก    ขณะเดียวกันพวกเขาก็พยายามช่วงชิงเข้าสู่อำนาจอย่างเต็มกำลังในทุกโอกาส
                กลุ่มคนเสื้อแดงและสำนักทฤษฎีของเขา มุ่งก้าวข้ามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่อย่างอื่นที่คิดว่าก้าวหน้ากว่า    พวกเขาประกาศตัวเป็นอริกับ อมาตยธิปไตยและการทำรัฐประหาร    แต่ขณะเดียวกันก็พัวพันกับการช่วยเหลือคุณทักษิณ ชินวัตร ให้สามารถกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย    ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของกลุ่มนี้อยู่ในระดับเซียน
                กลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศเดินหน้าสร้างการเมืองใหม่แบบเต็มลูกสูบ   ล่าสุดได้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาแล้ว นัยว่าจะช่วงชิงเข้าไปบริหารประเทศและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า   โดยกลุ่มนี้ยังคงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้อย่างมั่นคง   ส่วนขีดความสามารถและเครื่องมือสื่อสารของกลุ่มนี้ไม่เป็นที่สงสัยเพราะมีผลงานเชิงประจักษ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับชาติมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งใหญ่ๆ 
                สำนักคิด “ปฏิวัติประชาธิปไตย”   ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังนำเสนอหนทางการเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคน โดยการมี “รัฐบาลเฉพาะกาล”   ขึ้นมาดำเนินการปฏิวัติเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นใหญ่อย่างแท้จริงโดยมีกรรมกรเป็นกำลังหลัก   แต่การที่จะมีรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาได้นั้นอาศัยเงื่อนไขแวดล้อมอย่างไรและใครจะเป็นผู้ก่อขึ้นนั้นยังมองไม่ค่อยออก   กลุ่มนี้เป็นลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้เป็นต้นธารของนโยบาย 66/23 ซึ่งเคยสร้างประวัติศาสตร์ยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยมาแล้ว
                ข่ายงานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมของพวกเราเองก็สนใจติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิดและคอยประคองสถานการณ์มิให้ไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสียจนเกินเหตุ   ตามกำลังสติปัญญาที่จะทำได้ เราไม่ถนัดและไม่มุ่งหวังในการเข้าสู่อำนาจรัฐไม่ว่าด้วยวิธีการใด แต่เราเชื่อในเรื่องการพึ่งตนเอง และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเล็ก ๆ ในระดับฐานล่างของสังคมมากกว่า
                เรามิได้เห็นด้วยหรือเชื่อมั่นศรัทธาไปกับกลุ่มใดในทุกเรื่อง   เราเป็นอิสระที่จะคิด ทำ และแสดงออกในแบบของเราเอง   บางเรื่องเห็นด้วย และสนับสนุนกลุ่มสีเหลือง แต่บางเรื่องก็ไม่ บางเรื่องชื่นชมสีแดง แต่บางเรื่องต้องขอประนาม การเมืองระบบตัวแทนเราก็เห็นว่าจำเป็นสำหรับสังคมขนาดใหญ่ แต่วิถีวัฒนธรรมที่เสื่อมทรามของผู้แทนจะดำรงอยู่อย่างนี้ไม่ได้ แนวคิดการปฏิวัติประชาธิปไตยเราก็เห็นว่ามีเหตุผล   รัฐบาลเฉพาะกาลที่จะมาทำภารกิจเชิงอุดมคติอย่างที่ว่า   หากเกิดขึ้นโดยสถานการณ์จำเป็นก็ยอมรับได้แต่ก็ยังจินตนาการไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
                ผมคิดว่าเราควรต้องติดตามการคลี่คลายของสถานการณ์การเมืองระดับชาติกันต่อไป แต่ในระหว่างนี้สิ่งที่เราพอทำได้และควรเร่งทำคือการสร้างประชาธิปไตยในระดับสังคมย่อย (partial societies) อันได้แก่ ชุมชน กลุ่ม องค์กร สมาคม สถาบัน เครือข่าย ฯลฯ)
                ประชาธิปไตยในระดับนี้ต้องเน้นค่านิยมการเป็นอาสาสมัครรับใช้ส่วนรวม รังเกียจการแย่งชิงเข้ามาเป็นตัวแทนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว   เน้นการปกครองและการจัดการด้วยตนเองทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว กลุ่ม องค์กร ฯลฯ มากกว่าที่จะเลือกนายมาปกครองเรา   เน้นการใช้ฉันทมติมากกว่าการลงมติเพื่อเอาชนะหักล้างกัน
                ในการนี้ ผมคิดว่าวาทกรรม “การปกครองตนเอง” น่าจะเป็น message ที่มีพลังมากกว่าคำ “การมีส่วนร่วม” ครับ.
 
พลเดช   ปิ่นประทีป
9 กรกฎาคม 2552

Be the first to comment on "“ปกครองตนเอง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.