อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือการเมืองภาคพลเมืองในประเทศไทยมีการพัฒนาการ และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดูเสมือนเป็นริ้วขบวนเป็น 3 ระดับ คือ การกำหนดตนเองในการพัฒนา (ชุมชนเข้มแข็ง) การร่วมกระบวนการนโยบายสาธารณะ (ประชาสังคม) และการตรวจสอบอำนาจรัฐ (การเมืองภาคประชาชน)
คราวนี้จะขอมองอีกมุมหนึ่งจากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม และการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลาง ผมพบว่ามีการเมืองภาคพลเมืองอยู่ 3 มิติที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก คล้ายกับเป็นตัวและเงาของกันและกัน คือ ประชาธิปไตย (ระบบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่) ประชาสังคม (สังคมเข้มแข็ง) และธรรมาภิบาล (การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี)
หมายความว่า ตราบใดที่ยังไม่มีความเป็นประชาสังคม ก็อย่าหมายเลยที่จะเห็นประชาธิปไตยที่แท้ หรือประชาธิปไตยเชิงคุณธรรม-จริยธรรม เช่นเดียวกันหากสังคมยังไม่เข้มแข็ง ความมีธรรมาภิบาลก็เกิดไม่ได้อย่างยั่งยืน
ในคราวการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น สยามประเทศเพิ่งผ่านการเลิกทาสมาไม่กี่ปี ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนล้าหลัง ทัศนคติและค่านิยมของสังคมทั่วไปเป็นแบบไพร่ที่คอยพึ่งพิงเจ้านายหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า สำนึกความเป็นพลเมืองหรือเสรีชนยังไม่เกิด ความเป็นประชาสังคมยังไม่มีเลย ประชาธิปไตยที่นำมาใช้จึงได้แต่เปลือกนอก อำนาจอธิปไตยที่อ้างว่าเป็นของประชาชนนั้นตกอยู่ในมือของขุนศึกและขุนนางผลัดกันไปมา โดยมีการรัฐประหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิธีกรรมเลือกตั้งสลับกัน
ครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้านหนึ่งเป็นการพัฒนาพลังภาคประชาชนและระบอบประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งถือเป็นการปลดปล่อยพลังอำนาจของทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทหารยังคงกุมอำนาจการปกครองร่วมกับนายทุนนักการเมือง จนกระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 บทบาทของทหารในทางการเมืองแทบหมดไป ในขณะเดียวกันพลังภาคประชาชนโดยรวมยังอ่อนแอ ทั้งจากผลกระทบของแนวนโยบายการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่กับนักธุรกิจการเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลานั้น
เมื่ออำนาจการเมืองการปกครองเป็นของเผด็จการทหาร ข้าราชการ และนายทุนนักการเมือง ในขณะที่สังคมยังอ่อนแอและอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย การส่งเสริมธรรมาภิบาลกลายเป็นประเด็นงานที่นักคิดนักวิชาการพากันรณรงค์กัน เป็นแฟชั่นตามแบบอย่างที่องค์กรระหว่างประเทศจุดประกายเอาไว้ จนถึงขณะนี้ในบ้านเรา งานพัฒนาประชาธิปไตย ประชาสังคม และธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบต่างแยกกันทำเป็นส่วนๆ ขาดความเข้าใจที่เชื่อมโยง ระบบบริหารราชการแผ่นดินที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางไม่เปิดโอกาสในการบูรณาการได้จริง แม้ว่าจะมีความพยายามจนที่สุดแล้ว
แต่ความหวังยังไม่สิ้นเพราะที่ระดับชุมชนท้องถิ่นนั้นแตกต่าง เราพบว่าการเมืองภาคพลเมืองใน 3 ระดับ และทั้ง 3 มิติที่กล่าวข้างต้นนั้นสามารถบูรณาการได้อย่างง่ายดาย
ในระดับองค์กรชุมชนและชุมชนขนาดเล็ก งานชุมชนเข้มแข็ง งานประชาสังคม และงานการเมืองภาคประชาชน รวมทั้งงานพัฒนาประชาธิปไตย งานสร้างสังคมเข้มแข็ง และงานธรรมาภิบาลเป็นเรื่องเดียวกันเลย กล่าวคือไม่ว่าเราจะทำเรื่องอะไรก็จะได้ทุกเรื่องไปพร้อมกัน
สำหรับระดับท้องถิ่นหรือชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบที่ชัดเจนเราจะพบว่าพื้นที่ใดที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้มแข็ง การเมืองท้องถิ่นที่นั่นมักมีคุณภาพและมีคุณธรรม จริยธรรมดี งานพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การทุจริตคอร์รัปชั่นจะเกิดได้ยากเพราะชุมชนสามารถดูแลกันได้อย่างใกล้ชิด
เรื่องเช่นนี้ไม่มีทางเข้าใจได้เลยหากมองไปจากส่วนกลางและสร้างพระเจดีย์จากยอดลงไป แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเราสร้างประชาธิปไตย ประชาสังคม และธรรมาภิบาลโดยเริ่มจากฐานของสังคมคือชุมชนท้องถิ่นในไม่ช้าก็จะเห็นยอดพระเจดีย์ที่มั่นคงและสวยงามได้
ใน 10 ปีข้างหน้า ผมอยากเห็นหน่วยงานและองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาประชาธิปไตย ส่งเสริมประชาสังคม และสร้างธรรมาภิบาลมาร่วมกันเป็นภาคี รวมพลังกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง
“ใครจะทะเลาะกัน…ใครจะแก้รัฐธรรมนูญ…ก็ปล่อยคนส่วนหนึ่งทำไปเถอะครับ”
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ที่นี่ LDI 29 เม.ย.2552
Be the first to comment on "ประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น"