วันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน เกือบห้าเดือนแล้วที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้ามาบริหารประเทศ หากไม่นับเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีสามารถฝ่าข้ามมาแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ท่ามกลางความสูญเสียความเชื่อถือจากต่างประเทศและซากปรักหักพังทางสังคมแล้ว รัฐบาลชุดนี้มีผลงานอะไรที่แตกต่างบ้าง?
ดูแล้วก็หนักใจแทนนายกรัฐมนตรี เพราะเจ้ากระทรวงต่างๆ ของท่านยังไม่สามารถออกหมัดเจ๋งๆ ให้คนดูรอบสนามได้ชื่นใจบ้างเลย ปกติเขาดูกันใน 1 เดือนแรก หรือ 100 วันก็พอบอกได้แล้วว่ารัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ จะสร้างความแตกต่างให้ประชาชนบังเกิดความหวังอะไรได้บ้างหรือไม่ เพราะหากพ้นจากนั้นแล้วเป็นอันเลิกคิด
เพื่อนฝูงที่เป็นข้าราชการระดับสูงจากหลายกระทรวงระบายให้ฟังว่า รัฐมนตรีชุดนี้มีข้อจำกัดในการทำงานมากทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์งานเชิงรุกของกระทรวงได้ เพราะต้องศึกษางานและมัวไปติดใจในเรื่องหยุมหยิมซึ่งเป็นงานรูทีนของฝ่ายข้าราชการจนหมดเวลา นี่ขนาดว่ามีการวอร์มอัพในฐานะรัฐมนตรีเงากันมาล่วงหน้าแล้วระยะหนึ่ง ยังช่วยอะไรไม่ได้เลย
เมื่อวันสุดสัปดาห์ ผมเดินทางไปพิษณุโลก ได้พบกับสมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่นั่น พวกเขามาบ่นให้ฟังว่า นโยบายเรียนฟรี “ไม่ฟรีจริง!”พวกเขากำลังเดือดร้อนหาค่าใช้จ่ายสำหรับลูกเปิดเรียนกันจ้าละหวั่น เสียงสะท้อนเหล่านี้เขาไม่รับรู้หรอกครับว่ารัฐบาลประสบปัญหาอะไรในทางการบริหารจัดการ นโยบายที่ประกาศออกไปได้สร้างความหวังและจินตนาการชุดหนึ่งเกิดขึ้นในใจประชาชนซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิหลังที่หลากหลาย ครั้นเมื่อถึงเวลาเขาพบว่าไม่เป็นจริงตามที่หวังไว้จึงมีผลกระทบต่อความศรัทธา และคะแนนนิยมอย่างช่วยไม่ได้
ด้วยความสนใจส่วนตัว ผมติดตามนโยบายประชานิยมที่มุ่งลงสู่ชุมชนฐานรากของรัฐบาลชุดนี้ว่ามีอะไรที่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนๆ บ้างไหม ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังไม่พบอะไรที่โดดเด่น ที่พอจะพูดได้บ้างก็คือ โครงการชุมชนพอเพียง ซึ่งกลายพันธุ์มาจากโครงการ SML และโครงการอยู่ดีมีสุขครับ
ในความริเริ่มทางนโยบาย ผมต้องให้เครดิตกับคุณทักษิณ ชินวัตร ที่กล้าทำโครงการแบบนี้ เพราะเป็นการส่งเงินงบประมาณในลักษณะBlock Grants ลงไปถึงมือของชาวบ้านโดยตรง ให้ชุมชนและประชาคมในพื้นที่เล็กๆ ระดับหมู่บ้านทั่วประเทศได้ใช้อำนาจตัดสินใจกันเองว่าจะนำไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองอย่างไรก็ได้ โดยไม่ผ่านราชการภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สมัยนั้นเขาเรียกว่าโครงการ SML โดยแบ่งขนาดหมู่บ้าน-ชุมชนออกเป็น 3 ระดับคือ เล็ก กลาง และใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับขนาดของ Block Grant 1-3 แสนบาท ตามลำดับ แต่ด้วยความคิดง่ายๆ ว่าให้เงินชาวบ้านไปก็ได้ความนิยมแล้ว เรื่องอื่นไม่ต้องใส่ใจ จึงนำมาสู่ระบบบริหารจัดการที่ขาดความพิถีพิถันในเชิงกระบวนการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมของชาวบ้าน เมื่อไม่มีการลงทุนพัฒนาคนเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง บทบาทของข้าราชการ พัฒนากรและนายอำเภอจึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของชาวบ้าน แต่ไม่เท่านั้น ด้วยสถานภาพของพรรคไทยรักไทยที่เข้มแข็งทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องสยบอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองและหัวคะแนนในจังหวัด สุดท้ายโครงการ SML ของคุณทักษิณ จึงเป็นโครงการที่สส.ไปทำมาหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน
ต่อมาในยุคของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการอยู่ดีมีสุข แต่วิธีบริหารจัดการเกือบเหมือนเดิมทุกประการ เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าเข้ามาบริหารประเทศแบบชั่วคราวระยะสั้นๆ รัฐบาลสุรยุทธ์จึงให้อำนาจการตัดสินใจอนุมัติโครงการอยู่ที่นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด โดยยุคนั้นไม่มีสส. ปรากฏว่าเสียงร้องเรียนร้องทุกข์มาถึงผมเกือบทุกครั้งที่ไปตรวจราชการทางภาคอีสาน เขาบอกว่ามีระบบชัก 10% เกือบทุกจังหวัดในเขตอีสานและภาคเหนือ
ในคราวนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งโหมโรงมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่ามีนโยบายกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง จะมาแทนที่ประชานิยมของพรรคไทยรักไทย และเมื่อได้เป็นรัฐบาลแนวคิดนี้จึงมาลงที่โครงการ SML และโครงการอยู่ดีมีสุข โดยเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการชุมชนพอเพียงหรือโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน :ศพช. มีสโลแกน“ได้เวลาเลิกจน-ชุมชนพอเพียง” และมีสำนักงานชุมชนพอเพียง เป็นหน่วยงานราชการภายใต้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการ
นอกจากมีการเปลี่ยนโครงสร้างของขนาดหมู่บ้าน-ชุมชนเป็น 7 ระดับ เพื่อให้เงินอุดหนุนตั้งแต่ 1-7 แสนบาท/ปี และมีคู่มือ ขั้นตอน และแบบฟอร์ม 23 ชุดเป็นเครื่องมือทำงานของชาวบ้านแล้ว น่าสนใจว่ารัฐบาลได้ให้นายอำเภอ, นายกเทศมนตรีเทศบาล และผู้อำนวยการสำนักงานเขตกทม.เป็นผู้มีอำนาจรับรองโครงการของชาวบ้าน แล้วส่งมาให้สำนักงานชุมชนพอเพียงในกรุงเทพฯเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวพิจารณาเห็นความยุ่งยากไม่น้อย และในที่สุดด้วยความยุ่งยากแบบนี้ อิทธิพลของข้าราชการจะเข้ามาจัดการอย่างเลี่ยงไม่ได้
ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดี ผมอยากเห็นรัฐบาลลงทุนในด้านกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาคนให้กับชาวบ้านควบคู่ไปกับการกระจายงบประมาณในโครงการชุมชนพอเพียง และเชิญชวนให้องค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอเข้ามาช่วยอย่างเปิดกว้าง เรื่องแบบนี้ต้องทำเป็นโครงการจะพูดนโยบายอย่างเดียวไม่ได้ ใช้เงินเพิ่มไม่มาก แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าครับ
หรือหากจะติว่าการลงทุนทางบวกแบบที่ว่าต้องใช้งบประมาณมากเกินไป ผมขอเสนอรูปแบบเชิงลบซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่า โดยรัฐบาลอาจสนับสนุนให้มีการเฝ้าระวังธรรมาภิบาล 1 อำเภอ : 1 เครือข่าย สำหรับติดตามดูแลโครงการชุมชนพอเพียงทั่วประเทศ ให้องค์กรเอ็นจีโอ องค์กรปกครองท้องถิ่นและองค์กรสาธารณประโยชน์ในพื้นที่มาร่วมกันติดตามดูแลโครงการชุมชนของชาวบ้าน ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้กลไกราชการที่รับผิดชอบทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความโปร่งใสขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
อย่างนี้น่าจะสร้างความแตกต่างของนโยบายประชานิยมได้บ้างนะครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ที่นี่ LDI จันทร์ 25 พฤษภาคม 2552
Be the first to comment on "ประชานิยมที่แตกต่าง"