“ป.ป.ช.ภาคประชาชน”

          ภาวะหนี้สินบานเบอะของการบินไทยที่ปูดออกมาในระยะนี้ สังคมโดยทั่วไปตกอยู่ในสภาพช็อกเพราะนึกไม่ถึงว่าสายการบินแห่งชาติที่เราภาคภูมิใจนั้นสุขภาพทรุดโทรมขนาดนี้เชียวหรือ และคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าปัจจัยสำคัญเกิดจากคอร์รัปชันที่เป็นมะเร็งร้ายเกาะกินมาจากภายใน

          กรณีปลากระป๋องเน่าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความไม่ใสสะอาดและหย่อนประสิทธิภาพอย่างรุนแรง ซึ่งสังคมก็พิพากษาไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
          หรือในกรณีทุจริตที่เกิดขึ้นมาในยุคก่อนๆ มากมายก็ล้วนสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันของประเทศได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโรคเรื้อรังมายาวนานและวิกฤตจนที่สุดแล้ว อาทิ: กรณีทุจริตเกือบทั้งระบบของสนามบินหนองงูเห่า (สุวรรณภูมิ), กรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน, การแปรรูป ปตท., กรณีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์, การซ่อมเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้, เรือขุดแอริคอต, ทุจริตยา, บ้านเอื้ออาทร, และที่ดินลำพูน เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าเราไม่มีกลไกป้องกันและปราบปรามกันเสียเมื่อไหร่ เรามีทั้ง ป.ป.ป. และ ส.ต.ง. ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่ดูแลปัญหานี้โดยตรง ครั้นต่อมาคิดว่าที่แก้ปัญหายังไม่ได้เป็นเพราะหน่วยงานดังกล่าวขาดความเป็นอิสระเนื่องจากอยู่ในระบบราชการ จึงปรับเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับตั้งองค์กรตรวจสอบอื่นๆ เป็นแผงเลย มีทั้ง ป.ป.ช., ส.ต.ง., ก.ก.ต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งกลไกศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ หวังว่าจะดูแลตรวจสอบคอร์รัปชั่นกันในทุกมิติ

แต่สิบปีผ่านไปแล้วปัญหากลับมิได้ลดน้อยลงเลย นี่ก็มี ป.ป.ท.ขึ้นมาดูแลการทุจริตของราชการระดับล่างอีกหน่วยหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามสังคมหาได้เกิดความหวังกว่าเดิมไม่
          การสำรวจทัศนคติของคนทั่วไปรวมทั้งเยาวชนหลายครั้งโดยสำนักต่างๆ   ล้วนสะท้อนไปในทิศทางที่ยอมจำนนต่อสภาพดังกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว มีความรู้สึกชินชา และต้องปรับตัวอยู่ร่วมกับมัน ในลักษณะ “ทีแก ทีฉัน” คือถ้ามีโอกาสฉันก็เอาบ้าง
          ความพยายามก่อตัวของภาคประชาชนในการต่อต้านปัญหาคอร์รัปชันเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในปี 2544 เมื่อข่ายประชาสังคมร่วมกับกลุ่มองค์กรที่ทำงานตรวจสอบมารวมตัวกันเป็น“เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน”(คปต.)” นอกจากนั้นยังมี “เครือข่าย 30 องค์กรตรวจสอบการทุจริตยา”, “กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน”, “องค์กรเพื่อความโปร่งใส”, “มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด”  และเครือข่ายที่รัฐและรัฐบาลสนับสนุนอีกหลายเครือข่ายมาร่วมแจมด้วย
          ในสถานการณ์การทำงานจริงของเครือข่ายภาคประชาชนทุกเครือข่ายที่ผ่านมา เราพบความจริงว่าเครือข่ายที่ทำงานแหลมคมและเข้มแข็งมักหาทรัพยากรสนับสนุนการทำงานได้ยากมาก จะหาหน่วยงานรัฐ หรือกองทุนกึ่งรัฐ หรือภาคธุรกิจมาสนับสนุนแทบไม่มี เพราะต่างระวังระแวงกันไปหมด
            คนที่มาทำงานต้านคอร์รัปชันในเครือข่ายภาคประชาชน จึงเหลือแต่คนที่ต้องเสียสละ กล้าหาญ   ทุ่มเททั้งจิตใจ ทั้งแรงกาย และทุนทรัพย์ หรือกระทั่งเสี่ยงชีวิต  อย่างที่ล่าสุดคือ ดต.ชิต ทองชิต อดีตตำรวจทางหลวงก็เพิ่งสละชีวิตไปเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ซึ่งผมหวังว่าเขาควรได้รับการยกย่องสดุดีจากการประชุมองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล(Transparency International) ที่ทั่วโลกจะมาจัดประชุมในประเทศไทยใน 2 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะเป็นรางวัลแบบ Post Humous Award ก็ตาม
          อย่างไรก็ตาม กระแสความตื่นตัวของการเมืองภาคประชาชนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้สังคมไทยได้เกิดความรู้และความหวังต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันและปัญหาธรรมาภิบาลต่างๆได้มากขึ้น เมื่อสังคมเกิดความตื่นตัวทางการเมือง   มีจิตสำนึกที่ยกระดับขึ้นและมีปฏิบัติการตรวจสอบที่เต็มไปด้วยข้อมูลหลักฐาน รวมทั้งมีการสื่อสารเปิดประเด็นผ่านสื่อมวลชนทุกรูปแบบอย่างเป็นระบบ ทำให้องค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกระทั่งทำให้นายกรัฐมนตรี 2 คนต้องถูกพิพากษาจำคุกไปแล้ว และกำลังจะมีการตัดสินตามมาอีกหลายคดี
          เราเรียนรู้ว่าพลังทางสังคมที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชนนั้นเป็นปัจจัยแวดล้อมสำคัญ เมื่อประกอบเข้ากับการปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระเข้มแข็งขององค์กรตามกฎหมายประดามี จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาที่ยากๆ ได้
          แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนนั้นยังต้องอาศัยองค์ประกอบอีกหลายอย่างเข้ามาเสริม อาทิ: การมีหน่วยขนาดเล็กคอยติดตามการทุจริตในทุกกระทรวง ทุกจังหวัด และรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงกับแหล่งข่าวหรือเป็นแหล่งข่าวด้วยตนเอง การเก็บข้อมูลและรวบรวมหลักฐานที่เป็นระบบ การเชื่อมโยงกับงานสื่อเชิงสืบสวนสอบสวนเพื่อการเปิดประเด็นและขับเคลื่อนสังคม การประสานร่วมมือกับทีมกฎหมายในกระบวนการดำเนินการทางคดี และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการมีกองทุนสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชนที่ต้องบุกเบิกกันอย่างจริงจังเสียที
          ในประเทศเกาหลี ขบวนการภาคประชาสังคมที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันเข้มแข็งมาก เพราะมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เกาหลีมีประชากรที่เป็นชนชั้นกลางมากถึงร้อยละ 80 มีการศึกษาดี มีเศรษฐฐานะมั่นคง มีความตื่นตัวทางการเมืองอันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและประชาสังคมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ถูกแบ่งแยกประเทศภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการใช้สื่อเทคโนโลยีใหม่เป็นวิถีชีวิต และมีกระแสชาตินิยมสูง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกือบทุกคนเป็นสมาชิกองค์กรประชาสังคมและเอ็นจีโอ องค์กรภาคประชาชนทำงานโดยอาศัยเงินทุนจากสมาชิกเป็นหลักจึงสามารถพึ่งตนเองและเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระได้จริง ไม่มีอิทธิพลจากรัฐและทุนมาแทรกแซง
          ในบ้านเราขณะนี้มีความพยายามของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งทำงานต่อเนื่องมาจากกลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุค คมช. ในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ “ป.ป.ช.ภาคประชาชน” อย่างเป็นกิจลักษณะ และขณะนี้พวกเขาเหล่านั้นกำลังมีกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ภาคประชาชนจำนวน 36 คน จาก 9 ภูมิภาคทั่วประเทศ  ผมอยากเชิญชวนท่านผู้มีความสนใจและมีความพร้อมเสนอตัวหรือเสนอชื่อบุคคลเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณา โดยท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ภาคประชาชน ทาง http://www.oknation.net/blog/pacm/2009/01/17/entry-1
หมดเขตภายใน 14 กุมภาพันธ์ 2552 นี้นะครับ และส่งใบสมัครไปที่ คณะกรรมการสรรหากรรมการป.ป.ช.ภาคประชาชน, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. 10100
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
OK Nation/Post Today/4 ก.พ. 2552

Be the first to comment on "“ป.ป.ช.ภาคประชาชน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.