“ภาคประชาชน” เตรียมยื่นหนังสือเตือนสติ “ทักษิณ” สกัด 7 กสช.ฉาว หวั่นซ้ำรอยผู้ว่าฯ สตง. ลั่นเดินหน้าฟ้อง วุฒิฯ-สปน.-กก.สรรหาฯ เพื่อคืนผลประโยชน์สู่ประชาชน ด้าน “เลขาฯ ครป.” เตือนวุฒิฯยังไม่พ้นผิด-มีสิทธิ์ติดคุกยกโขยง…
“ภาคประชาชน” เตรียมยื่นหนังสือเตือนสติ “ทักษิณ” สกัด 7 กสช.ฉาว หวั่นซ้ำรอยผู้ว่าฯ สตง. ลั่นเดินหน้าฟ้อง วุฒิฯ-สปน.-กก.สรรหาฯ เพื่อคืนผลประโยชน์สู่ประชาชน ด้าน “เลขาฯ ครป.” เตือนวุฒิฯยังไม่พ้นผิด-มีสิทธิ์ติดคุกยกโขยง
วันนี้ (2 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายพิทยา ว่องกุล ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย นายวินิจ ล้ำเหลือ นักกฎหมายจากสภาทนายความ ได้ร่วมกันแถลงถึงการเตรียมการฟ้องร้องบุคคล และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ในข้อหาเป็นองค์กรรัฐที่ละเลยและเพิกเฉย โดยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่
นายพิทยา กล่าวว่า กำลังศึกษาแนวทางที่จะฟ้องร้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2546 พบว่ามีบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในคณะกรรมการสรรหาฯ กับผู้สมัคร และอาจจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในการสรรหา กสช.ครั้งต่อไปได้ ดังนั้น คณะกรรมการสรรหา |
|
|
สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) |
||
ชุดแรกน่าจะสิ้นสภาพไป จึงไม่อาจจะดำเนินการคัดสรรต่อไปได้ ประกอบกับมีกรรมการสรรหาฯ หลายคนจากส่วนที่เป็นนักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชนได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการสรรหาฯ มีภาพลักษณ์ที่ไม่อาจจะไว้วางใจ และไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไป |
“จากคำพิพากษาของศาลปัญหาสำคัญ คือ เหตุใดปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะองค์กรดำเนินงานให้เกิดการสรรหากรรมการ กสช. จึงไม่ยกเลิกคณะกรรมการสรรหาฯ ชุดแรก ซึ่งตามหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว คำพิพากษาของศาลปกครองย่อมส่งผลให้คณะกรรมการสรรหาฯ ชุดนั้นหมดสภาพไปทันที ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสำนักนายกรัฐมนตรีรู้เห็นเป็นใจกับปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับแผนการที่กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งต้องการที่จะยึด กสช.หรือไม่” นายพิทยา กล่าว
นายพิทยา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่คณะกรรมการสรรหาฯ ชุดแรก และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่สนใจต่อภาพลักษณ์เชิงลบ รวมทั้งความไม่เชื่อมั่นว่าเป็นองค์กรที่จะดำเนินงานต่อไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ ซึ่งจะเห็นได้จากกรรมการสรรหาฯ ส่วนหนึ่งในชุดแรกลาออก และผู้สมัครจำนวนมากใน 103 คน ไม่ยอมยืนยันแสดงเจตจำนงลงสมัครอีก เพื่อให้กรรมการสรรหาฯ ที่มีมลทินได้มีโอกาสพิจารณาคัดเลือกใหม่ต่อไป ดังนั้นจึงมีผู้แสดงเจตจำนงสมัครต่อน้อยมากเพียงแค่ 37 คนเท่านั้น และกรรมการสรรหาฯ ได้หาช่องทางรวบรัดด้วยการไม่ยอมเปิดรับสมัครใหม่ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ หรือมีความสามารถ และดีจริงๆ เข้าไปในจำนวนที่เพียงพอ
“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การสรรหากรรมการ กสช.มีเบื้องหลังลึกล้ำ แม้แต่การตัดสินเลือกครั้งสุดท้ายให้เหลือเพียง 7 คนในวุฒิสภา ก็ยังไม่ยอมรับฟังปัญหาผลการตรวจสอบประวัติว่ากรรมการสรรหาฯ ทั้ง 14 คน มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ หากใช้พวกมากลากไปโดยเมินเฉยต่อปัญหาความเสื่อมเสีย และไม่สนใจต่อภาพลักษณ์ที่วุฒิสภาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวสู่ยุคอำนาจ และเสียงข้างมากเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงระเบียบกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์กรระดับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี และวุฒิสภาประพฤติเยี่ยงนี้ ย่อมส่อเค้าว่าสังคมไทยกำลังก้าวสู่ยุคมืดที่อันตราย และประชาธิปไตยกำลังมาสู่จุดจบ” นายพิทยา กล่าว
ด้าน นายวินิจ กล่าวว่า คดีนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2544 โดยสภาทนายความได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการสรรหาโดยไม่ชอบ ซึ่งประเด็นหลักในการพิจารณาในครั้งนั้นคือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองในครั้งนั้นเป็นไปอย่างละเอียด และจะเป็นแนวทางให้คณะกรรมการสรรหาฯ สามารถนำไปดำเนินการสรรหาบุคคลที่จะขึ้นมาเป็น กสช.ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากในคำพิพากษาของศาลปกครองจะระบุว่า สิ่งใดคือความเป็นกลาง และสิ่งใดคือสภาพของความขัดแย้ง รวมทั้งสิ่งใดคือผลประโยชน์ทับซ้อน และระบุว่าบุคคลใดเป็นคู่กรณีของใคร ซึ่งใครมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับใคร โดยกรรมการสรรหาฯ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อที่จะไม่ให้ซ้ำรอยกับของเดิมได้
“จากการรวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชน และเอกสารต่างๆ ปรากฏว่าในการสรรหาครั้งใหม่มีประเด็นว่า คณะกรรมการสรรหาฯ ชุดเดิมยังมีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกสรรหาบุคคลอยู่หรือไม่ สิ้นสภาพไปแล้วหรือไม่ เพราะที่มาของกรรมการสรรหาของบางคนนั้นมาโดยตำแหน่ง แต่บางคนนั้นตำแหน่งได้สิ้นสภาพไปแล้ว ซึ่งทางกฎหมายต้องมาดูว่าจะสามารถทำหน้าที่ได้ต่อไปหรือไม่ ประเด็นต่อมาคือมีการเปิดรับบุคคลที่จะมารับเลือกเป็นกรรมการหรือไม่ แล้วกระบวนการคัดเลือกต่างๆ ได้ทำตามขั้นตอนศาลปกครองอย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ รวมทั้งบุคคลที่มีส่วนได้เสียในกรณีที่ศาลเคยพิพากษาไว้ยังปฏิบัติเช่นเดิมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นต่างๆ ที่สภาทนายความกำลังรวบรวมข้อมูลเอกสารทั้งหมด” นายวินิจ กล่าว
ส่วนวุฒิสภาที่สภาทนายความกำลังติดตามข้อมูลอยู่นั้น นายวินิจ กล่าวว่า พบว่าคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลต่างๆ ที่กรรมการสรรหาฯ ได้เสนอมา และจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีข้อท้วงติงเรื่องการทักท้วงในเรื่องของคุณสมบัติในตัวบุคคล วิธีการสรรหา ความรู้ความสามารถของบุคคล ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ เห็นควรว่าที่จะยังไม่มีการรับรอง แต่ปรากฏว่าวุฒิสภาได้มีการรับรอง เพราะฉะนั้นประเด็นที่สภาทนายความกระทำอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการดำเนินคดีจะแยกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนที่ 1 คือการดำเนินคดีในศาลปกครองว่าที่ผ่านมาได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนของศาลปกครองหรือไม่ และขณะนั้นวุฒิสภาได้ทำหน้าที่ไปโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
“เพราะหากข้อมูลทั้งหมดได้มีการตรวจสอบแล้วมีการท้วงติง และคัดค้านแล้ว จะต้องมาดูว่าวุฒิสภาได้ทำหน้าที่ไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะถ้ามีการพิจารณารับรองไปทั้งๆ ที่ข้อมูลบกพร่อง และขาดคุณสมบัติ ก็จะเป็นประเด็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะนำไปสู่การฟ้องในคดีอาญา โดยและในส่วนของสำนักปลัดนายกฯ เป็นสำนักเลขานุการที่จะทำงานสนับสนุนกรรมการสรรหาฯ เมื่อมีข้อบกพร่องในครั้งแรกแล้วได้มีการติดตาม หรือดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนกับกรณีเดิมหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนคือ หน่วยงานรัฐละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ และวุฒิสภาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพิจารณาดูแล้วไม่ถูกต้อง ก็จะพิจารณาฟ้องร้องคดีอาญา” นายวินิจ กล่าว
ขณะที่ นายสุริยะใส กล่าวเรียกร้องให้นายกฯ ไตร่ตรองให้เกิดความรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รักษาการให้กระบวนการสรรหา กสช.ชุดใหม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 ซึ่งต่างกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพราะองค์กรอิสระเหล่านี้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ฉะนั้น ต่อไปถ้ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น นายกฯจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะอาจมีความผิดทั้งทางอาญาคือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือถูกเข้าชื่อถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 303 ได้
“นายกฯ ต้องเอาบทเรียนจากกรณีปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือกรณีโผทหารมาเป็นบทเรียน เพราะเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติทางกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามแบบแผนทางราชการ ซึ่งจะนำขึ้นกราบบังคมทูลไม่ได้ เรื่องนี้ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาที่ 4881/2541 ในกรณีปัญหาวิกฤตตุลาการไว้แล้ว ส่วนการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้ง 3 หน่วยงาน คือ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) คณะกรรมการสรรหา กสช. และวุฒิสภา มีสิทธิ์รับผิดชอบทั้งทางปกครองและทางอาญา โดยเฉพาะวุฒิสภาจะหลงระเริงว่าเรื่องนี้พ้นตัวไปแล้วไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ คงไม่ได้ เพราะการลงมติของวุฒิสภาเพื่อเลือก กสช.ครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยงานฝ่ายบริหารในการใช้อำนาจทางการปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ” เลขาฯ ครป.กล่าว
เลขาฯ ครป.กล่าวอีกว่า ฉะนั้นจึงเชื่อว่าข้อพิพาทนี้ยังอยู่ในขอบเขตอำนาจศาลปกครองที่จะไต่สวน และพิพากษาเพิกถอนมติที่มิชอบของวุฒิสภาครั้งนี้ได้ และเรายังจำเป็นต้องฟ้องความผิดทางอาญากับ สปน. คณะกรรมการสรรหาฯ และวุฒิสภาเสียงข้างมาก ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานประพฤติมิชอบจงใจใช้อำนาจโดยขัดต่อกฎหมาย ซึ่งโทษฐานความผิดในคดีอาญาต้องจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000 ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในวันอังคารที่ 4 ต.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ทาง ครป. และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจะยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อยับยั้งการนำรายชื่อ กสช.ทั้ง 7 ขึ้นทูลเกล้าฯ ไว้ก่อน จนกว่าจะเกิดความชัดเจน
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 3 ตุลาคม 2548
Be the first to comment on "ภาค ปชช. ลุยยื่นหนังสือจี้ ทักษิณ ยับยั้งทูลเกล้าฯ 7 กสช."