“มากไปกว่าการมีส่วนร่วม”

                เมื่อ 30 ปีก่อน ตอนที่นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการอิสระ กลุ่มเล็ก ๆ เริ่มบุกเบิกแนวคิด แนวทางการพัฒนาที่ใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้งนั้น

พวกเขาถูกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกกีดกันไปอยู่ที่ชายขอบ   ในขณะที่ประเทศกำลังระเริงอยู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

                ผ่านการทำงานต่อสู้กับความยากลำบาก และทฤษฎีการพัฒนาทุนนิยมสุดโต่งในประเทศมาอย่างยาวนาน   ในปัจจุบันเรื่องชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมได้กลายเป็นอุดมการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งไปแล้ว ดังที่เห็นได้จากการบรรจุสาระสำคัญของแนวคิดนี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญและแผนพัฒนาประเทศ   ตลอดจนแนวนโยบายของพรรคการเมืองและหน่วยงานระดับต่าง ๆ ของรัฐ

                 วาทกรรมว่าด้วย “การมีส่วนร่วม” ได้ถูกนำไปใช้อย่างทรงพลังและกว้างขวางในเวทีการแลกเปลี่ยนสนทนา   การปรึกษาหารือ และการเจรจาแก้ปัญหาของประชาชน   ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐไปจากเดิมมาก

                แต่ดูเหมือนว่าเวลานี้ก็ยังไม่พอที่จะยกระดับไปสู่คุณภาพใหม่
                บางทีเราอาจต้องสร้างวาทกรรมชุดใหม่ที่ว่าด้วยการปกครองตนเองและการช่วงชิงให้ได้มาซึ่งการปกครองและบริหารจัดการตนเองอย่างจริงจัง
                เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทยนำเอาแนวคิดชุมชนเข้มแข็งและงานกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ไปทำเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้านก็ดี หรือกรณีที่กระทรวงมหาดไทยนำเอาแนวคิดและงานประชาสังคมไปบัญญัติเป็นกระบวนการเวทีประชาคมหมู่บ้านก็ดี    พวกเขาขาดความลุ่มลึกในทางวิชาการและขาดความพิถีพิถันในการดำเนินการจึงทำให้ได้แต่เพียงรูปแบบและทิ้งร้างอนุสาวรีย์เต็มประเทศไปหมด   โดยไม่สามารถสร้างจิตวิญญาณควบคู่ไปได้
                น่าสังเกตว่าเมื่อถึงระดับหนึ่งทั้งนักการเมืองผู้กำหนดนโยบาย และข้าราชการซึ่งรับผิดชอบแต่ละเรื่องนั้น เขาเห็นประโยชน์จากแนวคิดของภาคประชาชน แต่ก็กีดกันนักคิดนักพัฒนาที่เป็นต้นตำรับออกไปอยู่วงนอกหมดสิ้น ด้านหนึ่งอาจระแวงว่าพวกนี้หัวแข็ง ควบคุมยาก อีกด้านหนึ่งคงคิดว่างานง่าย ๆ แบบนี้ใคร ๆ ก็ทำได้   เราจึงเห็นโครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการ OTOP โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการ SML โครงการชุมชนพอเพียง ฯลฯ ที่ขับเคลื่อนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกันให้นักคิดนักพัฒนาอิสระ “มีส่วนร่วม อยู่นอกวง” เสมอ
                รัฐธรรมนูญยุคหลังปี 2540 เป็นต้นมาให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมมาก ถึงขั้นเน้นย้ำหลักคิดว่าระบบประชาธิปไตยของประเทศต่อไปนี้มี 2 ส่วนประกอบเข้าด้วยกัน คือ การเมืองแบบตัวแทน และการเมืองภาคพลเมือง
                มีกลไกอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 องค์กรที่ถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) นอกจากนั้นยังมี พ.ร.บ.ที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดนี้อีกหลายฉบับ อาทิ : พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ, พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน, พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง, พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ฯลฯ
                แต่น่าสังเกตว่าในขั้นตอนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหล่านี้ มักก้าวไม่พ้นด่านวัฒนธรรมระบบราชการไทย เพราะผู้บริหารสำนักงานล้วนมาจากราชการ จึงนำเอากรอบคิดและระเบียบวิธีการแบบราชการติดมาด้วยอย่างเหนียวแน่น
                นอกจากนั้นยังพบว่า ระบบการเลือกตั้งกันเองเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกสภาประเภทต่าง ๆ ตามกฎหมายเหล่านี้ล้วนก้าวไม่พ้นด่านวัฒนธรรมการเมืองไทย ที่มีผู้ทะเยอทะยานหวังเข้ามาเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูลและการทำมาหากินมากกว่าที่จะเป็นอาสาสมัครผู้เสียสละทุ่มเททำงานเพื่อส่วนรวม
                กระบวนการเลือกตั้งกันเองเท่าที่ใช้กันอยู่ทั้งกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สภาพัฒนาการเมือง (ในส่วนตัวแทนภาคประชาสังคม), สภาผู้ชมผู้ฟัง (ของทีวีไทย ทีวีสาธารณะ) ฯลฯ ต่างมีปัญหาบล็อคโหวตกันโดยถ้วนหน้า   ผู้ที่ต้องการเข้ามาเพื่อมีสถานภาพทางสังคมมักใช้ความพยายามทุกวิถีทางให้ชนะ ส่วนผู้ที่ขันอาสาเข้ามาทำงานด้วยความจริงจังมักกระดากใจที่จะดิ้นรน   วิธีการเลือกตั้งกันเองในสภาพที่ทุกคนเพิ่งจะมารู้จักตัวและฟังวิสัยทัศน์กันเพียงครึ่งวันแล้วลงคะแนนนั้นไม่อาจทำให้ผู้ใช้สิทธิมีดุยลพินิจเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากการเลือกพวกพ้อง   เมื่อเลือกเสร็จจึงมีปัญหาว่าผู้พลาดจากการเลือกมักผิดหวัง ข้องใจ และหันหลังให้กับองค์กร ในขณะที่ผู้ได้รับเลือกเข้ามาส่วนใหญ่มีสำนึกแบบ “ผู้แทน” และเรียกหาสายสะพายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อยู่ร่ำไป
                ทบทวนเรื่องเหล่านี้ครั้งใด ยิ่งทำให้ผมนึกถึง วาทะของ แฟรงค์ เฟริส ทรู ซึ่งเป็นเจ้าสำนัก Critical Theory ที่ว่า : “การไปเลือกตั้งที่เราบูชากันหนักหนา ก็คือ การไปเลือกนายที่จะมาปกครองเรา”
                หรือว่าถึงเวลาที่เราจะต้องขบคิดถึง “สิ่งที่มากไปกว่าการมีส่วนร่วม” เสียแล้ว ?!
 
พลเดช ปิ่นประทีป
5 กรกฎาคม 2552
 

Be the first to comment on "“มากไปกว่าการมีส่วนร่วม”"

Leave a comment

Your email address will not be published.