การพูดเรื่องยุทธศาสตร์ดับไฟใต้นับเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการถูกเขม่นเอาง่ายๆ ด้านหนึ่งเพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่มีหน่วยงานด้านความมั่นคงอันมหึมาดูแลอยู่แล้ว พลเรือนตัวเล็กๆจะไปรู้เรื่องอะไร
อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะนำมาพูดเปิดเผยทั่วไปไม่เหมาะนัก และหากพูดตรงไปตรงมามากเกินไปก็จะพาลมีคนเสียกำลังใจ เสียหน้า น้อยอกน้อยใจ เพราะทุกวันนี้ทหารตำรวจเสี่ยงและเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสอยู่แล้ว ผมขอพูดพอประมาณเพียงเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนบทเรียนและแนวคิดในหมู่นักพัฒนาที่ห่วงใยประเทศชาติก็แล้วกัน
ในสังคมไทยเราชอบใช้คำว่ายุทธศาสตร์กันมาก เราจะเห็นคำยุทธศาสตร์ถูกใช้ในแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง แนวนโยบาย และแผนงาน โครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาไฟใต้มากมายเกลื่อนไปหมด แต่เท่าที่ผมพยายามสำรวจด้วยใจที่เป็นกลาง จะบอกว่า “รัฐไทยยังไม่มียุทธศาสตร์แก้ปัญหาไฟใต้” ก็จะดูเป็นการให้ร้ายกันเกินไป เอาเป็นว่า “รัฐไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ใหม่อะไรเลยตั้งแต่มกราคม2547 เป็นต้นมา!”
5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความไม่สงบในจชต.ไปไกลมากแล้วครับ พิจารณาจากเทคนิคการผลิตระเบิดที่พลิกแพลงไปมากและการแบ่งงานกันเป็นช่วงๆของฝ่ายขบวนการก็ต้องบอกว่าประชาชนที่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐที่นั่นได้พัฒนาศักยภาพไปมาก การวางระเบิดและการโจมตีกองกำลังทหารตำรวจในพื้นที่สีแดงเป็นเรื่องที่เกิดเป็นประจำ ในขณะที่การปฏิบัติการในเขตพื้นที่สีขาวจะทำเมื่อไร และที่ไหนก็ได้ ถ้าไม่พยายามประเมินเข้าข้างตนเองหรือปกปิดจนเกินไปเราจะพบว่า แนวร่วมทางความคิดของฝ่ายขบวนการขยายตัวอย่างมาก ไม่มีผู้นำศาสนา โต๊ะอิหม่าม โต๊ะครู และผู้นำชุมชนคนใดเลย ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และที่อยู่กรุงเทพฯ กล้าออกมาฟันธงว่าแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายนั้นผิด คนมุสลิมท้องถิ่นที่เชื่อว่าพวกนั้นสู้อย่างถูกต้องจึงมีจำนวนมากขึ้นเยอะ คนที่ไม่เชื่อก็พอมีอยู่ แต่ไม่กล้าชี้ชัด ไม่กล้าค้าน และหดตัวลงทุกที ยิ่งรัฐอ่านยุทธศาสตร์สร้างความเกลียดชังของฝ่ายขบวนการไม่ออก มาตรการแต่ละอย่างกลับไปเพิ่มความลำบากให้กับชาวบ้านชาวเมืองทั่วไปโดยที่ทำอะไรฝ่ายก่อการแทบไม่ได้ งานพัฒนาของราชการไม่อาจซื้อใจชาวบ้าน ข้าราชการในพื้นที่กลายเป็นตัวตลกที่หมดเครดิตลงไปทุกวันจนนึกไม่ออกว่าจะกอบกู้คืนได้อย่างไร
ทุกหน่วยราชการ รวมทั้งนักการเมืองและนักวิชาการชอบท่องคาถา “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” อันเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน ชอบพูดถึง “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งเคยใช้ได้ผลในการเอาชนะสงครามพรรคคอมมิวนิสต์มาในอดีต แต่ความจริงพบว่านั่นเป็นเพียงคำพูดที่ทำให้ “ดูดี” เท่านั้น การปรับเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหายังคงเป็นเพียงการปรับในเชิงยุทธวิธีบ้างเล็กน้อยเท่านั้นเอง กระบวนวิธีคิดไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย กำลังทหารจากทุกกองทัพภาคนับหมื่นระดมไปแบ่งส่วนลงแขกพื้นที่จะอธิบาย “การเมืองนำการทหาร” ได้แบบไหนกัน
เมื่อต้องวิเคราะห์แนวทางและผลงานดับไฟใต้ของภาครัฐในรอบ 5 ปี ผมคิดว่ารัฐไทยมีปัญหาข้อจำกัดและข้อผิดพลาดทั้งในระดับยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ และทิศทางนโยบาย ตลอดจนข้อจำกัดในระดับภูมิปัญญาของแผ่นดินทีเดียว
ประการแรก มาตรการทางด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาที่ทุกรัฐบาลและหน่วยงานทุกกระทรวง รวมทั้งกลไกพิเศษแบบศอ.บต.ใช้แก้ปัญหาอยู่ในขณะนี้เป็นตัวสะท้อนข้อจำกัดและข้อผิดพลาดในระดับยุทธวิธีเป็นอย่างดีครับ การทุ่มกำลังคน กำลังติดอาวุธ และงบประมาณลงไปอย่างมหาศาลในช่วง 5 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำเร็จที่จับต้องไม่ได้เลยนั้นคือตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ยุทธวิธีทางการทหารที่ใช้อยู่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ จะถอนกำลังออกไปก็ไม่มั่นใจ จึงต้องต่ออายุพรก.ฉุกเฉินทุก 3 เดือนมาเกือบยี่สิบครั้งแล้ว งานเยียวยาของผู้ว่าและนายอำเภอกลายเป็นงานรูทีนที่หย่อนยานลงไปตามลำดับ ในขณะที่ผู้รับผลกระทบยังคงสะสมตัวอยู่ตลอดเวลา งานฟื้นฟูพัฒนาของกระทรวงต่างๆทำได้แค่ลดแลกแจกแถมและสังคมสงเคราะห์กันไปตามเรื่อง ถ้ายังขืนไม่เปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการ รวมทั้งหีบห่อ ภาพพจน์ และบริษัทจัดจำหน่ายเสียใหม่ ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะขายของได้อย่างไร
ประการที่สอง เรื่องเอกภาพในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับระบบอำนาจรัฐที่รวมศูนย์อยู่ส่วนกลาง ข้าราชการทุกคน ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานในพื้นที่ต้องรับคำสั่งจากผู้กดรีโมทในกรุงเทพฯ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเราพูดเรื่องนี้กันมากแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรจริงจังเพราะต้องประนีประนอมกันอยู่ร่ำไป อาณาจักรของใครของมัน จะหานายกรัฐมนตรีหรือใครที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาจริงได้ยากมาก จากกอ.สสส.จชต.มาเป็นศอ.บต. และกำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น สบ.ชต. ในการสร้างเอกภาพทางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยแม้แต่น้อย ตั้งครม.จชต.ขึ้นมาก็อ้อมแอ้มพูดว่ามีบทบาทสนับสนุนทางนโยบายและการอนุมัติงบประมาณเท่านั้น เดี๋ยวก็หมด 3 เดือน หมดปี แล้วก็เลือกตั้งใหม่อีกแล้ว
ประการที่สาม นโยบาย 66/2523 คือตัวอย่างและความชัดเจนและถูกต้องของทิศทางนโยบายในการแก้ปัญหาสงครามอุดมการณ์บนผืนแผ่นดินไทยในยุคนั้น ผู้นำประเทศ นักการทหาร และนักทฤษฎีทางการเมืองที่เคยมีประสบการณ์ในยุคก่อนพากันร่วงโรยไปตามวัยหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ก็มีขีดจำกัดในการประยุกต์ใช้บทเรียนสำหรับสงครามยุคใหม่ที่มีมิติในด้านความไม่เป็นธรรมทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และธรรมาภิบาลของจชต. เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าใครเก่งกว่าใคร หรือใครต้องผูกขาดในการแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียว แต่ต้องการการเปิดใจกว้างและช่วยกันคิด เพราะประเทศชาติเป็นของพวกเราทุกคน
ประการที่สี่ เวลาเราจะดูว่าใครแก้ปัญหาอะไรได้หรือไม่ เรามักจะบอกว่า “มีปัญญาในเรื่องนั้นหรือเปล่า?” สังคมไทยและประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาไฟใต้ที่ทรุดหนักมา 5 ปีแล้ว และยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะมีปัญญาแก้ปัญหานี้ ผลรวมของภูมิปัญญาของคนไทยทั้งประเทศประกอบกันเป็นภูมิปัญญาของแผ่นดิน มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง สังคมไทยโดยรวมมีความเข้าใจและทัศนคติต่อปัญหาไฟใต้ในระดับที่บางเบาและวูบไหวตามอารมณ์มาก ในสภาพเช่นนี้หากไม่ถอดใจปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม บทบาทของผู้นำประเทศ ผู้นำกองทัพ และสถาบันหลักของชาติคือตัวแปรสำคัญครับ…
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ที่นี่ LDI
Be the first to comment on "ยุทธศาสตร์รัฐดับไฟใต้ 2552"