“ริ้วขบวนการเมืองภาคพลเมือง”

          ดูเหมือนว่าการเมืองภาคพลเมืองจะมีบทบาทมากขึ้นในสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและความแตกแยกทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต จึงน่าที่พวกเราข่ายงานชุมชนเข้มแข็ง และประชาสังคมทั่วประเทศจะได้สำรวจริ้วขบวนความเคลื่อนไหวดังกล่าว

          ในแง่มุมทางนโยบาย และยุทธศาสตร์ ผมมองเห็นความเคลื่อนไหวการเมืองภาคพลเมืองผ่านงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และประชาธิปไตยของประเทศเป็น 3 ขบวนใหญ่ๆ ว่าด้วยการกำหนดตนเองในการพัฒนา การร่วมกระบวนการนโยบายสาธารณะ และการตรวจสอบอำนาจรัฐ
            1.     การเมืองภาคพลเมืองว่าด้วยการกำหนดตนเองในการพัฒนา
ความเคลื่อนไหวนี้คือขบวนการชุมชนเข้มแข็งที่กำลังขยายตัวในระดับชุมชนท้องถิ่นที่ฐานรากของสังคมไทยทั่วประเทศนั่นเอง หัวใจของขบวนการนี้คือการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเพื่อแก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันเองภายในกลุ่ม มีการถักทอเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปตามธรรมชาติ
ขบวนการชุมชนเข้มแข็งมีพัฒนาการที่ชัดเจนในช่วง 3 ทศวรรษตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา สิบปีแรกเป็นการต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มนักพัฒนาเอ็นจีโอที่ลงทำงานฝังตัวตามหมู่บ้านในชนบท คอยเฝ้าสังเกตการณ์ถึงผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาประเทศในกระแสหลักที่ใช้เศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง วิพากษ์วิจารณ์รัฐและรัฐบาล ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายความมั่นคงหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็มี แต่ในที่สุดก็บรรลุผลในการผลักดันให้เกิดการยอมรับว่าเป็น “ทางเลือกของการพัฒนา”  สิบปีที่สองมีกลุ่มนักวิชาการทางสังคมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ ขอนแก่น และมหิดล ลงไปช่วยกันทำวิจัยร่วมกับนักพัฒนาเอ็นจีโอในหมู่บ้านจนสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้จากการปฏิบัติขึ้นเป็น “ทฤษฎีหรือแนวคิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” มีการบรรจุแนวคิดนี้ไว้ในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วย และช่วงสุดท้ายตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เป็นต้นมา เมื่อเกิดผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ผนวกกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นปรัชญาพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งสอดคล้องกันอย่างยิ่ง แนวคิดและแนวทางชุมชนเข้มแข็งได้ถูกยอมรับอย่างแพร่หลายจนยกระดับเป็น “อุดมการณ์ทางสังคม” อย่างหนึ่งไปโดยปริยาย
ทุกวันนี้คาดประมาณว่ามีกลุ่มองค์กรชุมชนเข้มแข็งในหลากหลายประเภท และต่างระดับคุณภาพกันไปจำนวนไม่ต่ำกว่า 250,000 องค์กร มีสมาชิกกว่า 20 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเกิดจากการจัดตั้งตนเองของชุมชนและที่เอ็นจีโอไปสนับสนุน และหนึ่งในห้าอยู่ในระดับที่เข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้
2.     การเมืองภาคพลเมืองว่าด้วยการร่วมกระบวนการนโยบายสาธารณะ
ความเคลื่อนไหวนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ประชาสังคม”หรือ “การเคลื่อนไหวแนวสังคมใหม่”  (Civil Society / New Social Movement) มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในประเทศไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นต้นมา อาทิ :- กระบวนการจัดทำแผน 8 ความเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญธงเขียว การถักทอข่ายงานประชาสังคมจังหวัด การเคลื่อนไหวเครือข่ายปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภค การเกิดขึ้นของกลไก สกว. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สื่อวิทยุชุมชน องค์กรแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย การเคลื่อนไหวเสนอกฎหมายของภาคประชาชน ฯลฯ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้สร้างกิจกรรมสาธารณะและยกระดับจิตสำนึกสาธารณะ และจิตใจอาสาสมัครของผู้คนอย่างต่อเนื่อง
3.     การเมืองภาคพลเมืองว่าด้วยการตรวจสอบอำนาจรัฐ
ความเคลื่อนไหวนี้คือการเมืองภาคประชาชนที่มีพัฒนาการมายาวนานกว่าเพื่อน ที่เห็นชัดอาจนับได้ตั้งแต่ปี 2500 ที่มีประชาชนรวมกลุ่มกันต่อต้านหรือเรียกร้องรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ซึ่งถูกรัฐบาลเผด็จการปราบปรามและจับขังคุกเป็นระยะ โดยมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลสะเทือนและเป็นจุดเปลี่ยนคุณภาพการเมืองและระบอบประชาธิปไตยของประเทศหลายเหตุการณ์ ได้แก่ 14 ตุลาคม 2516, 6  ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 ตลอดความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้สัดส่วนประชากรที่ได้รับการศึกษาและมีเศรษฐฐานะดีขึ้น เทคโนโลยีและการสื่อสารสมัยใหม่ที่ประชาชนเข้าถึงได้กว้างขวาง ฯลฯ ล้วนมีส่วนในการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกระบวนการตรวจสอบอำนาจรัฐด้วยทางหนึ่ง
ในวันนี้การเมืองภาคพลเมืองทั้ง 3 ระดับกำลังเคลื่อนตัวอย่างมีพลวัตร โดยมีกฎหมายและกลไกสนับสนุนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จึงน่าเชื่อได้ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ดุลอำนาจพลังการเมืองภาคพลเมืองกับการเมืองภาคตัวแทนในภาพรวมระดับประเทศจะเปลี่ยนไป
พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน และ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายคู่แฝดที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นับเป็นเครื่องมือสำคัญของสังคมในการนี้ การใช้ประโยชน์จากพ.ร.บ. แรกควรมุ่งที่การเมืองภาคพลเมืองในระดับหนึ่งและสอง ส่วน พ.ร.บ.ฉบับหลังควรเน้นส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองในระดับสองและสามเป็นด้านหลัก
ผมคิดว่าการมีภาคียุทธศาสตร์มาช่วยกันคิดส่งเสริมสนับสนุนการเมืองภาคพลเมืองทั้ง 3 ระดับอย่างเหมาะสม และถูกจังหวะน่าจะช่วยให้สังคมไทยสามารถก้าวข้ามแพร่ทางแยกแห่งมหาวิกฤตสยาม สู่ความวิวัฒน์ครั้งใหญ่ได้
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ที่นี่ LDI: 22 เม.ย.2552

Be the first to comment on "“ริ้วขบวนการเมืองภาคพลเมือง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.