ในเวลานี้คงเห็นกันได้ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็สามารถทำนโยบายลงสู่รากหญ้าได้ไม่น้อยหน้าคุณทักษิณ ชินวัตร โชคดีที่ถูกบริภาษไม่มากนักเพราะมีประเด็นความจำเป็นที่ต้องรีบรดน้ำดับไฟเศรษฐกิจมาเป็นข้ออ้างและมีคนอื่นๆ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาก่อนแล้ว
แต่สิ่งที่คณะทำงานของนายกรัฐมนตรีควรคิดให้มากและเร่งด่วนคือ ทำอย่างไรจะมีผลิตภัณฑ์นโยบายประชานิยมเชิงสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ดี และยั่งยืนกว่าเข้ามาเสริมทัพโดยเร็ว
ที่ว่าประชานิยมสร้างสรรค์ คือ นโยบายประชานิยมที่มีมิติของการพึ่งตนเองและการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของสังคมและประชาชนมากกว่าการรอรับการหว่านโปรยของรัฐบาลหรือผู้สูงศักดิ์ เป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมสวัสดิการที่รัฐสนับสนุนมากกว่าการทำตัวเป็นรัฐสวัสดิการให้ประชาชนคอยแบบมือขอ
เท่าที่ผมรับทราบขณะนี้คณะทำงานของท่านนายกรัฐมนตรีกำลังรวบรวมแนวคิดใหม่ ๆ มากมายเพื่อเสนอเป็นนโยบายทางสังคมออกมาแข่งกับเวลา ซึ่งก็ได้รับความสนับสนุนและร่วมมืออย่างดีจากกลุ่มนักคิด นักวิชาการและนักพัฒนาอาวุโสจำนวนหนึ่ง

ปัจจุบันประมาณว่ามีคนพิการ 1.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ได้รับการจดทะเบียนกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้วประมาณ 6 แสนคนเท่านั้น สิ่งที่คนพิการต้องการคือโอกาสในการทำงาน การศึกษา และการเข้าถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่นเดียวกับคนปกติซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องลงทุน เพราะหากทำได้คนพิการจะไม่เป็นภาระแก่สังคม แต่จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้ด้วย
มีคนพิการเป็นจำนวนมากที่ดิ้นร้นต่อสู้และพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานเชิงเทคนิคบางอย่างและทำงานบางประเภทในสำนักงานได้ดีกว่าคนธรรมดาเสียอีก อย่างเช่นโอเปอร์เรเตอร์รับโทรศัพท์ เป็นพนักงานถอดเทปบันทึกเสียง เป็นช่างคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งผมอยากเห็นหน่วยราชการกระทรวงต่าง ๆ รับคนพิการเหล่านี้เข้ามาทำงานให้เป็นแบบอย่างแก่ภาคธุรกิจ ถ้ารัฐบาลประกาศนโยบายว่า ข้าราชการที่จะรับใหม่สองหมื่นกว่าตำแหน่งในปีนี้ ขอให้รับคนพิการที่มีความสามารถดังกล่าวเข้ามาสักพันคนก็จะถือเป็นมิติใหม่ที่เหนือคำโฆษณาใดใด
ในแง่การช่วยเหลือ ปัจจุบันรัฐมีเบี้ยยังชีพสำหรับคนพิการอยู่แล้วเช่นเดียวกับผู้สูงอายุ แต่สิ่งที่น่าจะก้าวหน้ากว่าคือการออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมสำหรับบุคคลธรรมดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่อาจกำหนดตัวเลขไว้คนละ 30,000 บาท โดยคนพิการต้องเป็นผู้มีบัตรประจำตัวคนพิการ มีรายได้ไม่เพียงพอการยังชีพ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู ของผู้มีเงินได้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
อันที่จริงเรื่องนี้ได้มีการดำเนินการมาก่อนจนเกือบสุดแล้ว รัฐบาลเพียงแค่เรียกมาดูและเร่งรัดในขั้นตอนสุดท้ายก็สามารถสร้างผลงานได้ทันที
ปี 2550 รัฐบาลในขณะนั้นได้การประกาศให้เรื่องการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมเป็นวาระแห่งชาติและประกาศให้ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมายุฯ 80 พรรษาปีนั้น เป็นปีแห่งการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม
กระทรวง พม. โดยคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) ได้เสนอมาตรการภาษีที่เอื้อต่อการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม 8 มาตรการสำหรับกลุ่มองค์กรเอกชน กลุ่มองค์กรธุรกิจ กลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง ครม. มีมติ 18 ธันวาคม 2550 เห็นชอบในหลักการโดยให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันศึกษารายละเอียดสิ่งใดดำเนินการได้ทำไปเลย ส่วนใดที่ต้องเข้า ครม. ก็เสนออีกครั้ง
ต่อมาเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายกระทรวงการคลัง กระทรวง พม. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำงานสานต่อจากมติดังกล่าวทราบว่ายัง มี 3 เรื่องที่ค้างคาอยู่ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์น่าจะเรียกมาดู
1. กระทรวงการคลังเห็นด้วยแล้วในหลักการที่ให้มีการลดหย่อนภาษีแก่ผู้เลี้ยงดูผู้พิการ ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะได้พิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ต่อไป
2. กรมสรรพากรรับข้อเสนอจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากรตามประมวลรัฐฎากร มาตรา 65 ตรี (3) ในการเพิ่มรายการลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะแก่นิติบุคคลเพื่อให้มีรายการบริจาคเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มรายจ่ายในการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม รายจ่ายในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก รายจ่ายในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ และรายจ่ายในการช่วยเหลือคนพิการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังรีบไปพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เพื่อให้คำแนะนำในการกำหนดเกณฑ์ และการพิจารณาข้อปัญหาที่เกิดขึ้นในการยกเว้นภาษีให้แก่มูลนิธิ สมาคม
เสียดายที่รัฐบาลคุณสมัคร สุนทรเวช และคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ต้องสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาทางการเมืองจนหมดเวลาไปเฉย ๆ
ทั้งคนพิการ ทั้งประชาชนผู้ต้องการบริจาคเพื่อสังคม และองค์กรสาธารณประโยชน์ เขากำลังรอรัฐบาลนี้อยู่นะครับ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
OK Nation/Post Today/26 ม.ค. 2552
Be the first to comment on "ลดหย่อนภาษีบุคคลที่ดูแลคนพิการ"