“ว่าด้วยแนวคิดมูลนิธิชุมชน”

          ผมทิ้งท้ายไว้ในบทความที่แล้วว่าการฟื้นฟูชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุดอาจต้องใช้กลไก “มูลนิธิชุมชน” หรือ “กองทุนเพื่อท้องถิ่น” เข้ามาเสริม เพราะลำพังงานซีเอสอาร์ของบริษัทหรือโรงงานต่าง ๆ ประสบปัญหาความหวาดระแวง ชุมชนสูญเสียความศรัทธาไปมา

          มีผู้สนใจ อยากรู้จักแนวคิดมูลนิธิชุมชนมากขึ้น   ผมขอถือโอกาสให้ข้อมูลเพิ่มเติมความเข้าใจส่วนตัวดังนี้ครับ
          1. คือ องค์กรทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน
          การที่นำแนวคิดและรูปแบบของ Community Foundation  มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยโดยเรียกตรง ๆ ว่า “มูลนิธิชุมชน” นั้น   มักทำให้คนเข้าใจไปว่าเป็นมูลนิธิทั่ว ๆ ไป ที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชนหรือใช้คำว่าชุมชนมาตั้งเป็นชื่อมูลนิธิเท่านั้น

          ที่จริงแล้ว “มูลนิธิชุมชน” แบบที่ว่านี้ คือองค์กรทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งผู้ก่อตั้งมีความคาดหวังให้เป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

          ดังนั้นในระยะยาวจึงควรกลายเป็นสถาบันที่สำคัญอย่างหนึ่งของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ เช่นเดียวกับวัด ศาสนสถาน โรงเรียน สถานีอนามัย    โดยมีบทบาทหลักในการระดมทุนในท้องถิ่น กระจายทุนสนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น และเป็นเวทีเชื่อมประสานผู้นำที่หลากหลายในท้องถิ่น    มาพบปะเรียนรู้แลกเปลี่ยน    ร่วมคิดร่วมทำร่วมปรับตัว   เพื่อความอยู่รอดและมีสุขร่วมกัน
 
          2. มักมีจุดเริ่มจากปัญหาวิกฤตในท้องถิ่น
          ที่จริงมูลนิธิชุมชนทั่วโลกมีทั้งส่วนที่เกิดขึ้นจากการวางแผน (by design)  และที่เกิดจากภาวะวิกฤตบีบคั้น (by crisis) แต่แบบหลังมีมากกว่า
          ที่แคนาดา มูลนิธิชุมชนแห่งหนึ่งแถบชายฝั่งตะวันออกเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนงานที่ตกงานเพราะโรงงานปลาแช่แข็งปิดตัวลง    ชุมชนและภาคธุรกิจอยู่ไม่ได้ จึงระดมทุนกันเพื่อตั้งมูลนิธิชุมชนและจัดการอบรมอาชีพพร้อมให้ทุนเพื่อคนงานจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่    ต่อมาประชาชนและธุรกิจบริเวณนั้นสามารถกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
          ในสาธารณเช็คซึ่งเคยเป็นประเทศสังคมนิยม ต่อมาเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ประกอบกับต้องการฟื้นฟูสภาพหลังสงคราม ที่นคร Banska Bystica จึงมีโครงการใหญ่ชื่อ “เมืองน่าอยู่” สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ให้ปลอดจากขยะ ควันพิษ น้ำเสีย    ความสำเร็จของโครงการมูลนิธิชุมชนแห่งนี้ คือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เช่น การสำรวจ การทำโพล การเปิดเวทีสาธารณะเป็นประจำทุกเดือน แล้วนำข้อคิดเห็นมาวางแผนพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
 
          3. หลักการสำคัญของมูลนิธิชุมชน
          มูลนิธิชุมชนเป็นกลไกที่มุ่งสร้างความสามารถและความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นและชุมชน จึงต้องเข้าใจชุมชนและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา   สร้างโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิด   สร้างพันธมิตรและหุ้นส่วนทางสังคม   ทั้งในและนอกพื้นที่   สร้างความสมดุลและการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย
          สร้างระบบการให้ทุนที่ตอบสนองความต้องการแท้จริงของชุมชนท้องถิ่น ไม่เป็นผู้ดำเนินงานพัฒนาด้วยตัวเองแต่เป็นตัวกลางในการระดมทุนบริจาคในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนกลุ่ม องค์กรสาธารณประโยชน์และอาสาสมัคร    สร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่มให้กับชุมชน รวมทั้งการให้เพื่อสาธารณประโยชน์ (Philanthropy) ถือการระดมทุนเป็นการสร้างมิตร การช่วยเหลือหรือการแก้ปัญหาต้องโดนใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
          ต้องมีการวัดผล เผยแพร่และแลกเปลี่ยนบทเรียน ดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่น จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนด้วยจิตสำนึกผูกพันและรับผิดชอบ
 
          4. กองทุนที่หลากหลายในมูลนิธิชุมชน
          ทุนและสินทรัพย์ที่ระดมมา มักถูกใช้ไปในกิจกรรม 3 แบบ 1. เป็นทุนหรือสินทรัพย์จากผู้ให้สู่ผู้รับ หรือเรียกว่าเป็นการให้ทุน (Grants) 2. เป็นค่าบริหารงานมูลนิธิ (Operation Cost) 3. เป็นกองทุนถาวรสะสม (Endowment Fund)
          ในกรณีของมูลนิธิชุมชนไตรแองเกิล แห่งนอร์ธคาโลไรนา มีกองทุนเล็กๆ หลากหลายมากถึง 500 กองทุน  ทั้งกองทุนถาวรที่ผู้มีจิตศรัทธาตั้งขึ้นให้มูลนิธิดูแลและเติมเงินบริจาคใส่กองทุนของตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้มูลนิธินำดอกผลไปใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาของท้องถิ่น 
อาจแบ่งลักษณะของกองทุนต่างๆในมูลนิธิชุมชนได้ดังนี้ :
§   กองทุนตามความสนใจและสถานการณ์ (Field of Interest Funds) เป็นกองทุนที่คณะกรรมการมูลนิธิหรือผู้อำนวยการตัดสินใจให้การสนับสนุนตามสภาวการณ์ปัญหา เช่น สิ่งแวดล้อม สันติภาพ คุณภาพชีวิต ศิลปวัฒนธรรม
§       กองทุนทั่วไป (Unrestricted Funds) เป็นกองทุนที่สามารถเอาดอกผลไปใช้ได้อย่างไม่จำกัด ยืดหยุ่นมากที่สุด
§   กองทุนที่ผู้บริจาคระบุวัถุประสงค์ (Donor Advisor Funds) เป็นกองทุนที่ผู้บริจาคระบุว่าต้องการให้นำเงินบริจาคไปทำอะไรในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ต่อเมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตแล้วอาจนำมาเข้าเป็นกองทุนถาวรกองกลางได้
§   กองทุนเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนที่เรารัก (Memorial Funds) กองทุนในชื่อของผู้บริจาคที่อุทิศส่วนกุศลให้กับคนที่รัก มักใช้ดอกผลเพื่อทุนการศึกษา และกิจกรรมสาธารณประโยชน์
§   กองทุนช่วยเหลือองค์กรสาธารณประโยชน์(Restricted Purpose Funds) เป็นกองทุนที่องค์กรการกุศลอื่นๆ นำมาให้มูลนิธิเป็นผู้บริหารกองทุนแทน เนื่องจากศรัทธาและไว้วางใจว่าเงินที่ตนฝากไว้นั้นจะสามารถสร้างมรรคผลต่อสังคมได้ดีกว่าแยกกันอยู่อย่างกระจัดกระจาย
§   กองทุนเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation Funds) เป็นกองทุนที่บริษัทห้างร้าน หรือ ปัจเจกชนให้แก่มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิชาการ ทำการศึกษาค้นคว้าสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคม
§   กองทุนการศึกษา (Scholarship Funds) เป็นกองทุนที่นิยมทำเพราะง่ายและหลากหลาย รวมทั้งเห็นผลงานได้ชัด
§   กองทุนถาวรสะสม (Endowment Funds) เป็นกองทุนที่เป็นหลักประกันให้กับการทำงานในระยะยาวของมูลนิธิชุมชน ถือเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการเป็นมูลนิธิชุมชน ในสหรัฐอเมริกา เขาถือเกณฑ์กองทุนถาวร จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐลงมาเป็นมูลนิธิชุมชนขนาดเล็ก
 
5. ต้องการความเป็นพหุภาคี
เนื่องจากหลักการสำคัญคือการระดมทุนภายในหรือทุนที่ผูกพันกับท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดังนั้นฐานการบริจาคจึงควรมีความกว้างขวางเพียงพอ มูลนิธิชุมชนในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ก่อตั้งโดยภาคธุรกิจในเมืองที่มีพลเมืองเกินกว่า 1 ล้านคน ฐานการบริจาคจึงกว้างขวางและเติบโตรวดเร็ว
จุดสำคัญอยู่ที่ความหลากหลายและปริมาณของภาคธุรกิจซึ่งหมายรวมถึงแรงงานจำนวนเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ และบรรดากลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและอาสาสมัครที่หลากหลายอีกด้วย
การก่อตั้งและดำเนินงานมูลนิธิชุมชนจึงต้องการความเป็นพหุภาคี อย่างน้อยก็มีภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ มาร่วมกันทำงาน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมผู้นำจากทุกภาคี ทุกเครือข่ายให้เกิดความเข้าใจและมุ่งมั่นเพื่อการอยู่ดีมีสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน
จะทดลองนำมาใช้ที่มาบตาพุดก็ไม่เลวนะครับ
นพ.พลเดพช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "“ว่าด้วยแนวคิดมูลนิธิชุมชน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.