“สำรวจทฤษฎีการเมืองกับ ดร.เอนก”

                โชคดีที่ได้ไปนั่งฟัง ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ นำเสนอทางวิชาการในที่ประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา ซึ่งเป็นเวทีขับเคลื่อนความคิดการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย ที่มีอาจารย์หมอประเวศ   วะสีเป็นประธาน และ สสส.เป็นกองเลขานุการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา 

เนื้อหาสาระเป็นประโยชน์และประเทืองปัญญามาก    เข้าใจว่าอาจารย์เอนกคงจะนำสาระบางส่วนมาจากหนังสือของท่าน ชื่อเรื่อง  “แปรถิ่นเปลี่ยนฐาน : สร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นรากฐานประชาธิปไตย”  โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใครที่สนใจไปหาอ่านเพิ่มเติมได้    ในที่นี้ผมจะขออนุญาตนำสาระบางส่วนที่เก็บได้มาเล่าสู่มิตรสหายในข่ายงานประชาสังคมครับ

                ท่านบอกว่าทฤษฎีการเมืองในยุคกรีกโบราณนั้นเน้นการปกครองตนเองเป็นหลัก (Self Government)    อาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยกรีกโบราณ คือการปกครองตนเองของประชาชน ไม่ใช่การเลือกตั้ง ไม่ใช่การมีผู้แทน หรือผู้นำ และไม่ใช่แค่ Good Government เท่านั้น การปกครองตนเองดังกล่าวนั้นหมายรวมไปถึงการตัดสินใจทำหรือเลิกสงคราม ระบบดังกล่าวให้โอกาสแก่คนหรือพลเมืองในการจัดการด้วยตัวเองมากที่สุด ถึงขั้นจับสลากผลัดกันเข้ามาเป็นรัฐบาล   แต่ก็มีอย่างน้อย 2 ภารกิจที่เขาไม่ยอมให้มีการจับสลากคือ การเลือกแม่ทัพนายกอง และนักบัญชี!

                ต่อมาในยุคโรมัน ยังคงเน้นประชาธิปไตยแบบปกครองตนเองเช่นเดียวกัน แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณธรรมของพลเมืองที่เรียกว่า Civic Virtue  เพิ่มขึ้นมา  ประชาชนมีฐานะทั้งเป็นผู้ปกครองและเป็นผู้ถูกปกครองในเวลาเดียวกัน   แบ่งเป็น 2 ระดับชั้นคือสามัญชน (Plebian) และชนชั้นสูง (Patrician) มีสภา 2 สภาและมีกงสุล (Consul)
                เมื่อมาถึงยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีข้อถกเถียงทางทฤษฎีประชาธิปไตยแบ่งเป็น 2 สาย ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับการเปลี่ยน Self Government  ให้เป็น Representative Government และเปลี่ยนจาก Small Democracy ให้เป็น National Democracy โดยลดความจำเป็นของคุณธรรมและความเป็นพลเมือง เพิ่มความสำคัญของสิทธิเสรีภาพและความปัจเจกชนนิยม (Individualism)
                ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งยืนยันความสำคัญของระบบประชาธิปไตยและการปกครองตนเองของชุมชนหรือสังคมขนาดเล็ก ที่มีความชิดเชื้อกันของผู้คน
                ท่านอธิบายเพิ่มเติมให้เห็นแนวคิดหลักของนักทฤษฎีเป็นรายคน ฝ่ายแรกที่เห็นว่าระบบผู้แทนคือระบบประชาธิปไตย อาทิ :
                                Madison : “ประชาธิปไตยแบบเมืองขนาดเล็กมีปัญหามากเพราะความที่รู้จักหน้าค่าตากันเกินไป”
                                Mill : “ต้องทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันหมด จึงเป็นความชอบธรรมที่จะใช้วิธีเลือกตั้ง”
                                Mosca : “ไม่เชื่อว่าคนทุกคนจะมีคุณสมบัติเป็นทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในเวลาเดียวกัน”
                                Weber : “ประชาธิปไตยสมัยใหม่คือการเลือกตั้งผู้นำไปทำหน้าที่ ประชาชนไม่ต้องทำอะไรมาก”
                                Schumpeter : “สำหรับประชาธิปไตยนั้น ขอให้ประชาชนรับรองหรือเห็นด้วยกับผู้แทนที่เลือกไปเท่านั้นก็พอ”
                                Berelson : “ประชาชนในระบบประชาธิปไตยตะวันตกนั้นสำรวจแล้วพบว่าไม่ค่อยรู้เรื่องหรือสนใจอะไรมากและการเลือกตั้งของพวกเขามัก เลือกตามความนิยมชมชอบเท่านั้น”
                ส่วนฝ่ายที่เห็นแตกต่างมีแนวคิดสำคัญ ๆ อาทิ  :
                                ซาปาต้า : “เราไม่ต้องการผู้นำที่เก่งมาก เพราะจะได้ผู้ตามที่อ่อนแอ”
                                จูเวเนล : “ถ้าประชาชนไม่เข้มแข็ง ผู้นำจะกลายเป็นหมาป่าในฝูงแกะ”
                                รูสโซ : “ประชาธิปไตยต้องเป็นการปกครองตนเอง ผู้นำเป็นแค่ผู้ช่วยประชาชนเท่านั้น”
                                มองเตสกิเออ : “ประชาธิปไตยในชุมชนขนาดเล็กดีกว่า ในสังคมขนาดใหญ่ขึ้นต้องทำเป็นแบบสมาพันธรัฐ”
                                เดอ ต็อกเกอวิลล์ : เป็นคนยุโรปที่ไปเห็นประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่นขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกาจึงมีความเชื่อมั่นในความกล้าหาญและหยิ่งผยองของคนชั้นล่าง
                                บุคชินส์ : วิพากษ์การเมืองว่า “ปัจจุบันเป็นแค่การรัฐเท่านั้น ไม่สามารถเทียบกับประชาธิปไตยยุคกรีกที่เรียกได้ว่าเป็นการเมือง
                                แมคเคียวเวลลี่ : เขียนหนังสือ The Discourse  “ประชาธิปไตยที่สามารถผสมกลมกลืนและปรองดองจะมีได้ก็ในเมืองขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น”
                                มาริอองยัง : “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ หัวใจอยู่ที่คุณภาพของการถกเถียงและการเอาใจเขามาใส่ใจเรา”
                                แมทธิวส์ : “ประชาธิปไตยต้องอยู่บนฐานของชุมชนและประชาสังคม”
                                เปติต : “สิทธิเสรีภาพควรตีความกันใหม่ ตามแบบสาธารณรัฐนิยม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมมีบทบาททำอะไรด้วยตนเอง- -เสรีภาพสำคัญ- -เป็นเสรีภาพในการที่จะเข้าไปทำเรื่องส่วนรวมเสมือนหนึ่งเป็นเรื่องของเราด้วย”
                สุดท้ายอาจารย์เอนก ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเมืองพหุนิยมของอังกฤษว่า Figgis, Laksi  และ Maitland  ชี้ว่า รัฐอธิปัตย์สมัยใหม่ชอบผูกขาดอำนาจสาธารณะ ทั้ง ๆ ที่ในยุคกลางและเรเนอซองส์ก็เคยเป็นแบบสังคมย่อย ๆ (partial societies) ที่มีอำนาจจัดการตนเองมาก่อน (internal autonomy) รัฐควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่เป็นนายของสังคม (state = first among eguals)
                นั่งฟัง ดร.เอนกวันนั้นแล้ว ผมพยายามนึกว่าอะไรคือ  Message หรือวาทกรรมเพื่อการขับเคลื่อนสังคม
ใช่  “Self Government” หรือเปล่าครับ.
 
พลเดช   ปิ่นประทีป
30 มิถุนายน 2552
 

Be the first to comment on "“สำรวจทฤษฎีการเมืองกับ ดร.เอนก”"

Leave a comment

Your email address will not be published.