“สิทธิชุมชน คนอยู่กับป่า”

พรบ.ป่าชุมชนกับทางออกของสังคมไทย
การจัดการป่าโดยชุมชน…และเพื่อชุมชน ชุมชนมองป่าในฐานะเป็น “ทุนทางสังคมหรือทุนของชุมชน” ป่าให้  “มูลค่าและคุณค่า”  มหาศาล “ป่าเป็นฐานทรัพยากรที่เชื่อมโยงกับชีวิตอย่างใกล้ชิด” ทั้งเป็นธนาคารอาหาร การดำรงอยู่ของความเชื่อ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น………

เครือข่ายรางวัลลูกโลกสีเขียว ร่วมกับ เครือข่ายเฝ้าระวังป่าไทย

และเครือข่ายยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน

กระบวนทัศน์ใหม่ของการจัดการป่าชุมชนโดยชุมชน…เพื่อชุมชน

 

สถานการณ์ด้านป่าไม้ของประเทศได้มีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2504 ที่นับเป็นปีเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ในขณะนั้นมีพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ 53.33 ผลพวงของการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากร อันเป็นทุนทางสังคมของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย

นโยบายของรัฐตั้งแต่อดีต ให้ความสำคัญกับการสัมปทานทำไม้ ในมุมหนึ่งอาจสร้างความร่ำรวยให้กับประเทศหากคิดเป็นตัวเงิน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศที่มิอาจจะประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ แม้รัฐจะมีนโยบายในการปิดป่าเมื่อ 2532 แล้วก็ตามและก็มิได้ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด ปัจจุบันมีการรายงานว่ามีพื้นที่ป่าประมาณร้อยละ 33.09 เท่านั้น

การขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม ความต้องการที่ดินทำกินและตั้งถิ่นฐาน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นปัจจัยเร้าให้พื้นที่ป่าลดลงเป็นลำดับมูลเหตุที่สำคัญของความเลื่อมโทรมของฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ไม่เฉพาะจะเกิดจากความบกพร่อง และขาดทิศทางของการดำเนินโยบายของภาครัฐแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการฐานทรัพยากรควบคู่ไปด้วย

พรบ.ป่าชุมชน เป็นกลไกสำคัญของการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการจัดการป่าที่ต้องเร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เจตนารมณ์ของพรบ.ป่าชุมชน อยู่ที่การให้ สิทธิอันชอบธรรม กับชุมชนที่แสดงให้เห็นว่ามีความมุ่งมั่นในการดูแลรักษาป่า โดยให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการ คุ้มครอง ดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

สาระสำคัญของป่าชุมชน คือ การจัดการป่าโดยชุมชน…และเพื่อชุมชน ชุมชนมองป่าในฐานะเป็น ทุนทางสังคมหรือทุนของชุมชน ป่าให้  มูลค่าและคุณค่า  มหาศาล ป่าเป็นฐานทรัพยากรที่เชื่อมโยงกับชีวิตอย่างใกล้ชิดทั้งเป็นธนาคารอาหาร การดำรงอยู่ของความเชื่อ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนที่หลากหลายมิติ คนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ตามชนบทแม้ไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่พวกเขามี ป่าชุมชนเป็นสินทรัพย์ที่สมาชิกในชุมชนสะสมร่วมกันมาอย่างยาวนาน และเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษขที่ช่วยกันดูแล รักษาให้กับลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ดังนั้น การมองป่าในฐานะของทรัพยากรแต่เพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่ใช่หนทางแห่งความสำเร็จของการจัดการป่า หากแต่ต้องมองป่าในฐานะ ทุนแห่งชีวิต จึงจะเกิดพลังการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าโดยชุมชนและเพื่อชุมชนแบบบูรณาการอย่างแท้จริง


บทสรุปและทางออกของการจัดการป่าชุมชน

บทสรุปที่สังเคราะห์ได้จากการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน ของเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน ครั้งที่ 5/2547 เมื่อวันที่14-15 ตุลาคม 2547 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้หัวข้อเรื่อง สิทธิชุมชน คนอยู่กับป่า…พรบ.ป่าชุมชนกับทางออกของสังคมไทย ได้สะท้อนมุมมองของการจัดการป่าชุมชนในมิติต่างๆดังนี้


 

1  มิติของการสังเคราะห์องค์ความรู้ในการจัดการป่าชุมชน

1)  ให้มองป่าทั้งในมิติของ มูลค่าและคุณค่าป่าให้ประโยชน์กับชุมชนทั้งในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน เมื่อชุมชนเห็นมูลค่าของป่าในฐานะที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตแล้ว ย่อมหมายความว่าป่าชุมชนมีคุณค่าในตัวเอง

2)  พัฒนาให้เกิด ป่าชุมชนต้นแบบ ให้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาค โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับภูมินิเวศของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ป่าชุมชนต้นแบบ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับชุมชนและประชาชนทั่วไป โดยสามารถเชื่อมโยงป่าชุมชนเข้ากับการจัดการชีวิตมุมมองต่างๆได้ สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของป่าชุมชนต้นแบบคือ วิธีคิดในการจัดการป่าชุมชน ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค

3)  รัฐต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการ พื้นที่เขตกันชนรอบพื้นที่อนุรักษ์  เนื่องจากปัจจุบันมีพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งที่มีความขัดแย้งในเรื่องการกำหนดแนวเขตระหว่างที่ดินทำกินของประชาชนกับพื้นที่อนุรักษ์ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคง ภาครัฐต้องสนับสนุน ส่งเสริมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เขตกันชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า และการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ

4)  การแก้ไขปัญหาป่าไม้ของประเทศ ภาครัฐต้องมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการในเรื่อง ดิน น้ำ ป่า และเศรษฐกิจชุมชน ไปพร้อมๆกัน การจัดการทรัพยากรต้องเชื่อมโยงกับการจัดการเศรษฐกิจของชุมชนควบคู่ไปด้วย การที่รัฐจะจัดการป่าไว้ให้ได้ ต้องให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นได้เข้าถึงและมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นด้วย ป่าจึงจะยั่งยืนได้

5)  ควรมีการพัฒนา งานวิจัยด้านป่าชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วม ในกระบวนการวิจัย เน้นการวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหา โดยประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาบูรณาการงานวิจัย เน้นการสร้างศักยภาพของชุมชนในการรวบรวม สังเคราะห์องค์ความรู้ในการจัดการป่าชุมชนเพื่อเผยแพร่ ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป นอกจากนี้งานวิจัยเกี่ยวกับป่าชุมชนต้องเชื่อมโยงเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนควบคู่ไปด้วย

6) เสริมสร้างแนวร่วมของชุชนที่มีการจัดการป่าชุมชนให้ทำ ธนาคารผักพื้นบ้านอาหารชุมชน ให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน หรือเกษตรอินทรีย์ ไม่เน้นการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทางกาย จิตใจที่ดีของประชาชน

7)  สนับสนุนการ รวมกลุ่มชุมชนและการระดมทุน เพื่อการจัดการป่าชุมชนและการต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การสร้างภาวะความเป็นผู้นำชุมชน การแสวงหาแหล่งทุน การเสนอโครงการ การบริหารทุนให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

 

2  มิติของการสื่อสารสู่ภาคประชาสังคม

1)  การสังเคราะห์ความรู้ด้านการจัดการป่าชุมชนควรมองแบบบูรณาการและเป็นองค์รวม กล่าวคือ มองป่าในฐานะที่เป็นทุนทางสังคมและทุนแห่งชีวิตของชุมชน ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งมิติทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และมิติเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นจึงต้องเผยแพร่องค์ความรู้ที่ผ่านการสังเคราะห์แล้วสู่การรับรู้ของทุกภาคส่วนในสังคม โดยกระตุ้นให้สื่อทุกแขนงให้ความสำคัญต่อการนำเสนอเนื้อหา เรื่องราว บทเรียน ประสบการณ์ในการจัดการป่าชุมชนให้ต่อเนื่อง

2)  ชุมชนที่มีบทบาทในการจัดการป่าชุมชนในทุกภูมิภาคของประเทศ ต้องสะท้อนปรัชญา แนวคิด บทเรียน หรือวิถีชีวิตที่น่าสนใจที่สามารถเชื่อมโยงกับการจัดการป่าชุมชนให้เป็นที่รับรู้ของสื่อทุกแขนงเพื่อหยิบยกเรื่องราวเหล่านั้นไปขยายผลสู่สังคมให้ได้รับรู้ เข้าใจและเข้าถึงวิถีแห่งการดำรงชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง

3)  ป่าชุมชน สามารถเชื่อมโยงกับการจัดการในเรื่องอื่นๆได้มากมาย ทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อ จารีตของชุมชนต่างๆ ดังนั้นต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันให้ถ่ายทอดเรื่องราวของป่าชุมชนสู่กลุ่มคนทุกระดับ เพื่อให้เกิด ภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิปัญญา ในการจัดการป่าชุมชน ทั้งนี้ สถาบันที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากคือ บ้าน สถาบันทางศานา  โรงเรียน และชุมชนที่ต้องถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่อง

4) สร้างประเด็นของการจัดการป่าชุมชนให้เป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อให้ภาคการเมืองและภาคสังคมติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวในการรับรู้ข่าวสาร และกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของภาคการเมืองต่อการจัดการป่าชุมชน เช่น การสนับสนุนประเด็นข่าวที่ว่า ถ้ารัฐบาลสนับสนุนสิทธิชุมชน คนไทยจะหายจน เป็นต้น

 

3  มิติของการผลักดันสู่ภาคการเมือง

1)  เร่งรัดผลักดันให้ร่างพรบ.ป่าชุมชน พ.ศ…. เป็นนโยบายที่สำคัญของภาคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันและเร่งรัดให้มีการออกพรบ.ป่าชุมชนโดยเร็ว และให้ประเด็นของ พรบ.ป่าชุมชน เป็น วาระเร่งด่วนของพรรคการเมือง ที่จะสามารถนำไปกำหนดเป็นนโยบายหลักของพรรคในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งต่อไป ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าจะให้การสนับสนุนกับพรรคการเมืองที่มีความตั้งใจจริงและนำประเด็นเรื่องป่าชุมชนไปเป็นนโยบายหลักของพรรค

2)  ในช่วงสมัยรัฐบาลปัจจุบัน การผลักดันออก พรบ.ป่าชุมชน ไม่สามารถดำเนินการได้ทันนั้น  เครือข่ายภาคประชาชนจะดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อการจัดการป่าชุมชน บนหลักการของ การจัดการป่าโดยชุมชน…เพื่อชุมชน   โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงการจัดการป่าชุมชนให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป ป่าชุมชนต้องเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทยทั้งประเทศ

                        3)  ภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการเมือง ต้องมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการให้ สิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน การให้อำนาจกับประชาชนอย่างแท้จริงก็คือ การให้สิทธิกับชุมชนในการจัดการตนเองร่วมกับรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการป่าชุมชนนั้น ชุมชนต้องมีสิทธิอันชอบธรรมในการจัดการบนพื้นฐานของการกำกับดูแล ตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน สิทธิชุมชน แม้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่สิทธิชุมชนสามารถสร้างความยั่งยืนของการจัดการทรัพยากรได้

 

จังหวะก้าวเดินของเครือข่ายภาคประชาชน

ในฐานะของเครือข่ายรางวัลลูกโลกสีเขียว  เครือข่ายเฝ้าระวังป่าไทย และเครือข่ายยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน มีปณิธานที่แน่วแน่ว่าจะดำเนินการสร้าง พลังชุมชน ในการรับรู้และตื่นตัวในเรื่อง สิทธิชุมชน เพื่อสนับสนุนร่างพรบ.ป่าชุมชน พ.ศ…. ให้เป็นวาระแห่งชาติภาคประชาชนที่สามารถเชื่อมโยงสู่การผลักดันภาคการเมืองในเร็ววันต่อไป


Be the first to comment on "“สิทธิชุมชน คนอยู่กับป่า”"

Leave a comment

Your email address will not be published.