“ส.ส.ส.กับความคาดหวังของสังคม”

            ก่อนอื่นผมขอถือโอกาสแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานของคุณหมอ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ว่าที่ผู้จัดการกองทุนส.ส.ส.คนใหม่ 

แม้ภารกิจของส.ส.ส.ในฐานะองค์กรเชิงนวัตกรรมที่สังคมคาดหวังและการได้รับความไว้วางใจอย่างเป็นเอกฉันท์จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่สรรหา จะเป็นทั้งแรงกดดันและแรงสนับสนุนที่มาพร้อมกัน ผมเชื่อมั่นว่าด้วยวัยวุฒิที่ยังหนุ่มแน่นและความรู้ความสามารถเฉพาะตัว คุณหมอกฤษดาจะสามารถนำพาองค์กรก้าวทะยานฝ่าสถานการณ์ปัญหาสังคมและสุขภาพไปสู่ส.ส.ส.ยุคใหม่ได้

          ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แนวคิดทฤษฎีที่ว่าด้วย ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(Local Development) ในประเทศไทย โดยเฉพาะเกี่ยวกับ ชุมชนเข้มแข็ง และ ประชาสังคม ได้ถูกบุกเบิกสร้างสรรค์ด้วยการลงมือทำ เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันถือได้ว่ามีประสบการณ์ที่ลุ่มลึก ได้รับการยอมรับในวงกว้างและมีข่ายงานที่ถักทอกันอยู่ในทุกอำเภอ-จังหวัดแล้ว

ข่ายงานชุมชนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากการจัดการตัวเองและจัดการกันเองของภาคประชาชนนั้น เป็นคนละส่วนกับเครือข่ายเฉพาะภารกิจที่จัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐและแหล่งทุน แม้ว่าโดยธรรมชาติจะมีความซ้อนๆกันอยู่ในเนื้องาน บทบาทตัวบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ตาม 
ข่ายงานที่มีชีวิตเหล่านี้มีกิจกรรมความเคลื่อนไหวในการปกป้องคุ้มครอง จัดการปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับในงานแก้ปัญหาสังคมและประเทศชาตินั้น พวกเขาเป็นเสมือนทุนทางสังคมหรือพลังงานศักย์ (Potential Energy) ที่รอจังหวะโอกาสเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ (Kinetic Energy) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สุดแต่ว่าเมื่อไรจะเกิดวิกฤตใหญ่ที่ไปกระตุ้นกดดันให้ลุกขึ้นมาแสดงบทบาทเองตามธรรมชาติ (By Crisis) หรือเกิดมีผู้นำที่มองเห็นศักยภาพและสามารถใช้บทบาทของพวกเขาไปรณรงค์แก้ปัญหาเหล่านั้น(By Design)
ทุกวันนี้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤตไปหมด จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่หน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่รัฐบาลจะแก้ปัญหาโดยลำพัง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางสังคม-การเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะสังคมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างที่มองไม่เห็นทางแก้ ไหนจะปัญหายาเสพติด ปัญหาเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ปัญหาความเสี่ยงด้านอาหารและโภชนาการ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
ปัญหาเหล่านี้ล้วนมีหน่วยงานและองค์กรระดับชาติร่วมกันรับผิดชอบอยู่แล้วทั้งหมดทั้งสิ้น แต่หากยังไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผล ในที่นี้ผมเพียงแต่อยากแนะนำว่าลองศึกษาทำความเข้าใจในแนวคิดทฤษฎี “ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” และพยายามเข้าให้ถึงยุทธศาสตร์และข่ายการทำงานของพวกเขาดูบ้าง บางทีอาจเป็นประโยชน์ครับ
สำหรับ ส.ส.ส. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีลักษณะพิเศษและมีภารกิจโดยตรงในการลดปัญหาผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลักของประชาชน 4 ประการ ได้แก่ บุหรี่ แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุจราจร และขาดการออกกำลังกาย ในสายตาของผม มองว่าบัดนี้ผลกระทบทั้ง 4 เริ่มลดลงอย่างมีความหวังแล้ว แต่ขนาดปัญหาที่มีอยู่ยังคงอยู่ในระดับสูง จึงอยู่ในวิสัยที่น่าทบทวนยุทธศาสตร์การรณรงค์เพื่อเร่งอัตราการเปลี่ยนแปลงเชิงผลสัมฤทธิ์ใน 4 ปีข้างหน้า
อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลดลงอย่างชัดเจน จาก 11.6 ล้านคน(30%) ในปี 2546 เหลือเพียง 9.5 ล้านคน (19%) ในปี 2549 และมีความเป็นไปได้ที่จะลดลงเหลือไม่เกิน 6.5 ล้านคน (10%) ภายในปี 2557
อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลดลงจาก 32.7% ในปี 2547 เหลือเพียง 29.2% ในปี 2549 การตั้งเป้าหมายรณรงค์เพื่อให้ลดลงเหลือไม่เกิน 15% ก็เป็นความท้าทายเช่นกัน
จำนวนการตายจากอุบัติเหตุจราจรลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 14,063 ราย ในปี 2546 เหลือ 12,693 รายในปี 2549 ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะขับเคลื่อนพลังทางสังคมให้ลดลงเหลือไม่เกิน 10,000 ราย
เช่นเดียวกับกระแสความตื่นตัวของประชาชนในการออกกำลังกายและสร้างสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วงหนึ่งเคยมีแนวโน้มตื่นตัวฮือฮากันมาก  ก็อยู่ในวิสัยที่จะยกระดับจากการเป็นเพียงกระแสสู่การสร้างเสริมให้กลายเป็นพฤติกรรม สุขนิสัย และวิถีชีวิตสุขภาพของสังคมได้ หากมียุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนขบวนทางสังคมที่เหมาะสม
ส.ส.ส.มีเงินกองทุนจากภาษีบุหรี่-เหล้า ร้อยละ 2 จำนวนประมาณ 2,500-2,800 ล้านบาท/ปีและไม่ได้เป็นหน่วยงานแบบราชการ จึงมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพและสังคมได้อย่างลุ่มลึกถึงระดับที่ปรับเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อและพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งทำได้มากกว่ากระทรวงใดๆ 
แต่ในฐานะที่เป็นองค์กรให้ทุนย่อมมีเงื่อนไขที่พึงระวังหลายอย่าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับทุนกับผู้ให้ทุนนั้นมีธรรมชาติของความเปราะบางทางด้านอารมณ์ความรู้สึก ทำได้ดีก็มีคนรักมาก ทำไม่ดีจะมีคนเกลียดได้เยอะ ซึ่งคุณภาพบุคลากร คตินิยม และวัฒนธรรมองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญ
 
เป็นกำลังใจให้กันครับ.
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
29 กันยายน 2552
 

Be the first to comment on "“ส.ส.ส.กับความคาดหวังของสังคม”"

Leave a comment

Your email address will not be published.