“นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” ผอ.สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เปิดเผยกับสภาท่าพระอาทิตย์ (22 มี.ค.48) โดยปฏิเสธว่า ยังไม่ได้รับการทาบเข้าร่วมกก.สมานฉันท์ หากได้รับเชิญก็พร้อมจะร่วมมือทำงานด้วย เชื่อกก.ชุดนี้จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้มาก -ชี้ “ป้ญหาใต้” หลังเหตุปล้นปืน เริ่มปริแยกมากขึ้น เหตุเพราะผู้ก่อความไม่สงบทั้งกลุ่ม “เก่า-ใหม่” แตกคอกันเอง
“นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” ผอ.สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เปิดเผยกับสภาท่าพระอาทิตย์ (22 มี.ค.48) โดยปฏิเสธว่า ยังไม่ได้รับการทาบเข้าร่วมกก.สมานฉันท์ หากได้รับเชิญก็พร้อมจะร่วมมือทำงานด้วย เชื่อกก.ชุดนี้จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้มาก –ชี้ “ป้ญหาใต้” หลังเหตุปล้นปืน เริ่มปริแยกมากขึ้น เหตุเพราะผู้ก่อความไม่สงบทั้งกลุ่ม “เก่า-ใหม่” แตกคอกันเอง
รายการสภาท่าพระอาทิตย์ ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2548 ดำเนินรายการโดยสำราญ รอดเพชร และคำนูณ สิทธิสมาน สำราญ – เอาล่ะครับ เราเปลี่ยนเรื่องดีกว่า ไปที่คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ที่มีข่าวว่าจะเปลี่ยนชื่อโดยเพิ่มคำว่ายุติธรรมเข้าไปด้วยนะ คุณคำนูณ เป็นคณะกรรมการยุติธรรม และสมานฉันท์แห่งชาติ คำนูณ – ชักจะไปกันใหญ่ พอได้ยินข่าวคืบหน้าเรื่องเปลี่ยนชื่อนี่ คือมันไม่ใช่สารัตถะ สำราญ – แล้วสารัตถะอยู่ตรงไหนล่ะ คำนูณ – มันก็ต้องอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม จะเปิดเพลงชาติให้บ่อยขึ้น เพื่อความสามัคคี สำราญ – เอาล่ะครับ เราจะไปรบกวนกับท่าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนานะครับ ซึ่งคุณหมอท่านนี้ก็ทำงานเรื่องภาคใต้เยอะนะ ก็ไปช่วยงานชุมชนในท้องถิ่น ดูแลเรื่องการพัฒนานะครับ และมีข่าวว่าจะเป็น 1 ในกรรมการสมานฉันท์ด้วย จริงเท็จอย่างไร ต้องไปคุยกับคุณหมอท่านครับ คำนูณ – สวัสดีครับ คุณหมอครับ นพ.พลเดช – สวัสดีครับ คำนูณ – ได้ข่าวว่าจะเป็น 1 ในคณะกรรมการสมานฉันท์ด้วย ไม่ทราบว่าได้รับการทาบทามมาหรือยังครับ นพ.พลเดช – รู้ก่อนผมอีกล่ะ ยังครับ แต่ว่าเห็นอาจารย์หมอประเวศ ท่านบอกอยู่เหมือนกันครับ แต่ยังไม่รู้รายละเอียดมากไปกว่านั้น แต่เห็นคุณหมอบอกว่า สงสัยต้องไปช่วยกันทำนองนั้นครับ นพ.พลเดช – ต้องมาช่วยกันเท่านั้นแหละครับ สำราญ – อันนี้แสดงว่าคุณหมอประเวศเป็นกรรมการด้วยหรือครับ นพ.พลเดช – ผมไม่แน่ใจว่าจะไปในลักษณะไหนนะครับ แต่ว่าโดยปกติผมก็มีงานที่ทำใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่แล้วครับ เรามีเครือข่ายที่นั่น เราเรียกว่าเครือข่ายสมานฉันท์ของ 3 จังหวัด มันเป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากตอนที่ผมลงไปพร้อมกับทางคุณจาตุรนต์เขา ตอนนั้นก็เราก่อตัวเป็นเครือข่ายสำหรับพวกชุมชนนะครับ กับพวกภาคประชาสังคมทำงานกันอยู่แล้ว แล้วก็ทำงานร่วมกับกองทัพด้วย กองทัพภาคที่ 4 น่ะครับ ตรงนี้ก็ทำงานกันต่อเนื่องมาอยู่แล้ว ทีนี้ถ้าหากว่ามีคณะกรรมการสมานฉันท์นี่ ก็คงจะมีโอกาสได้เสริมกันน่ะครับ คำนูณ – ก็คือลงไปตั้งแต่ครั้งคุณจาตุรนต์ก็ประมาณปีนึงมาแล้ว นพ.พลเดช – ครับ แต่ว่าเราสะดุดไปพักหนึ่งครับ สะดุดไปตรงที่ว่าโครงการต่างๆ คือเราได้เสนอต่อทางรัฐบาลนี่ ก็ครม.ก็อนุมัติแล้ว แต่ตอนหลังนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่ กอ.สสส.จชต. ก็เลยสะดุดไปพักหนึ่งหลายเดือนครับ ประมาณ 3-4 เดือนนี่ครับ สะดุดไป เพิ่งจะได้ต่อกันติด คำนูณ – พูดถึงแนวทางที่คณะกรรมการชุดคุณจาตุรนต์ ฉายแสงเสนอเมื่อปลายเมษายน ต้นพฤษภาคมที่แล้ว ที่หายเข้ากลีบเมฆไปนี่นะครับ สมมุติว่าถ้าดูตัวบุคคลแล้ว จำนวนหนึ่งก็คงมาอยู่ในคณะกรรมการสมานฉันท์อยู่ และแนวทางก็คงจะออกมาใกล้เคียงประมาณนั้น นพ.พลเดช – คงจะมีส่วนครับ ผมคิดว่าอย่างนั้น คำนูณ – ครางนี้มันจะซ้ำรอยเดิมไหม นพ.พลเดช – ขึ้นอยู่กับตัวท่านนายกฯด้วย แต่ว่าคราวนี้สถานการณ์น่าจะแตกต่างไปครับ เพราะว่าสถานการณ์มันถึงจังหวะนี้ มันมีคณะกรรมการสมานฉันท์มาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็ท่านนายกฯอานันท์ท่านมาช่วย แล้วผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนเข้ามาช่วยอย่างนี้ ผมคิดว่าท่านนายกฯก็อาจจะให้ความรับฟังมากขึ้น นพ.พลเดช – ครับ สถานการณ์มันเปลี่ยน หวังว่าอย่างนั้นนะครับ คำนูณ – แต่ถ้าเผื่อว่าเหมือนเดิม ก็คงลำบากนะ นพ.พลเดช – ลำบากครับ ถ้าเหมือนเดิมก็ลำบาก สำราญ – ถ้าเหมือนเดิมก็ตัวใครตัวมัน นพ.พลเดช – ตัวใครตัวมัน ผมคิดว่าท่านนายกฯก็คงจะลำบากด้วย สำราญ – เห็นว่าวันที่ 29 นี้ จะมีการประชุมอะไรที่ปัตตานี นพ.พลเดช – วันที่ 29 จะมีการประชุมเครือข่ายสมานฉันท์ คืออย่างนี้ครับ ขณะที่จะมีการตั้งกรรมการสมานฉันท์ เรามีเครือข่ายสมานฉันท์ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เป็นอิสระอยู่แล้ว ทำงานกันมาก่อนล่วงหน้าแล้ว โดยที่ท่านอาจารย์โคทมเป็นแม่งาน กับทางมหาวิทยาลัยมหิดลนี่เป็นแม่งาน ก็มีการประชุมกันเกือบจะทุกเดือนครับ เดือนนึงหรือสองเดือนครั้งนึง ประชุมกันมาอยู่เรื่อยๆอยู่แล้วครับ แล้วก็ขณะนี้วันที่ 29 ที่จะถึงนี้ เราคิดว่าเราจะไปประชุมกันในพื้นที่ครับ จะไปที่ มอ.ปัตตานีครับ ก็เลยเป็นการประชุมครั้งแรกที่จะเคลื่อนลงไปที่โน่นนะครับ ทุกทีเราประชุมใน กทม. ครับ สำราญ – ไปทำอะไรครับ ไปประชุมเพื่ออะไรครับ นพ.พลเดช – ไปประชุมก็เป็นการประชุมเพื่อที่จะหารือกันว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน แล้วก็มีแนวคิดอะไรต่างๆที่จะแก้ปัญหา ก็จะได้มีการแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกครั้งที่เรามีการประชุม ก็จะมีคนจากพื้นที่นะครับ พวกผู้นำทางโต๊ะอิหม่าม ทางไทยต่างๆก็ขึ้นมาด้วยนะครับ ตอนนี้นี่เราจะลงไปพื้นที่เพื่อที่จะเรียกว่า คนในพื้นที่จะได้มากขึ้น ไปฟังกับทางโน้นมากขึ้น ทุกทีเราจัดใน กทม. คนจากพื้นที่ก็จะมาได้น้อยไงครับ สำราญ – ถ้าไปในพื้นที่คนจะเยอะกว่านะครับ นพ.พลเดช – คนในพื้นที่จะได้มา เดินทางได้สะดวกนะครับ แล้วก็จะได้ฟังได้กว้างขวางมากขึ้นครับ สำราญ – ทีนี้งานปัจจุบันที่คุณหมอดูอยู่ ที่เกี่ยวกับของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนานะ จริงๆก็เป็นงานส่วนหนึ่งของ กอ.สสส.จชต. หรือเปล่าครับ นพ.พลเดช – เป็นส่วนหนึ่งครับ ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งครับ แต่ว่าหมายความว่าอย่างนี้ครับ เราก็ทำงานเป็นอิสระของเราอยู่แล้วนะครับ แต่ว่ามีบางส่วนที่เป็นโครงการที่ทำร่วมกันแล้วก็งบประมาณของทางราชการของทางรัฐบาลนี่ ผ่านไปที่ทางกอ.สสส.จชต. แล้วก็เราก็ไปทำงานร่วมกันในพื้นที่ อย่างนี้ก็ต้องถือว่าเป็นงานที่ทำร่วมกันครับ แต่ว่าโดยปกติ ถึงแม้ว่าไม่มีการสนับสนุนจากตรงนั้น ผมก็จะมีงานของผมอยู่แล้วในพื้นที่ สำราญ – ทีนี้คำถามของผมอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเรามองผ่าน กอ.สสส.จชต. ไปแล้วนี่ งานพัฒนา งานมวลชน งานชุมชนของเขานี่เป็นอย่างไรบ้างครับ มันเวิร์กหรือไม่เวิร์กว่างั้นเถอะ นพ.พลเดช – เขาพยายามอยู่ครับ แต่ว่าเขาเองก็จำกัดมากๆครับ เพราะว่าโดยภาพของทหาร หรือว่าเจ้าหน้าที่นี่ ความสนิทใจกับชาวบ้าน จะมีข้อจำกัดมากนะครับ ชาวบ้านนะครับ แต่ว่าทางพวกเราเอง กับพวกชาวบ้านนี่ทำงานกันอยู่แล้วนี่ เราค่อนข้างจะไปได้ใกล้ชิดมากกว่า อย่างเช่น ในโครงการปกติของผม เราเรียกว่าโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่นี่นะครับ เป็นโครงการที่ผมทำมาล่วงหน้า 2 ปีแล้ว สำราญ – ก็เป็นงานบางส่วนนะครับ นพ.พลเดช – เป็นงานบางส่วนครับ เราก็ทำของเราต่อครับ สำราญ – มองในฐานะเป็นนักพัฒนา สถานการณ์ 3 จังหวัดนี่ เปรียบเทียบกับตอนปล้นปืนใหม่ๆกับนาทีนี้ มันต่างกันเยอะไหมครับ นพ.พลเดช – ต่างครับ สถานการณ์นี่ผมคิดว่า แต่เดิมผมคิดว่าส่วนของสังคมของคนไทยพุทธ กับคนไทยมุสลิมในพื้นที่นี่ แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในทางศาสนิก ศาสนานี่ แต่ว่าไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่ความรุนแรง เพราะว่าเขามีปรับตัวอยู่ด้วยกันนี่ เราจะเห็นลักษณะเช่นนี้อยู่ในเรื่องต่างๆมากมายครับ ในทางวัดกับมัสยิด กับชุมชนต่างๆนี่นะครับ มีการปรับตัวเข้าหากันครับ นพ.พลเดช – ขบวนใหม่มีพลังพอสมควรนะครับ ในการที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังนี้ เป็นเรื่องเริ่มใช้ระเบิดนะครับ ตรงนี้ตามความเข้าใจของผมนะครับ ผมคิดว่าอาจจะเป็นยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของเขาในการที่จะทำให้เรื่องนี้ไปสู่สากล ทุกวิถีทางไม่ว่าจะอะไรก็ตามไปสู่สากลให้ได้ ลากไปให้ถึงตรงนั้น ตรงนี้ก็อาจจะเป็นเหตุทำให้เกิดมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น และก็แม้แต่ใช้ระเบิดตามจุดต่างๆนะครับ สำราญ – คือพอจะกล่าวได้ไหมครับ ว่าคือ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ การอุ้มฆ่า ความไม่ยุติธรรม ก็เป็นเหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ประการหลักด้วยซ้ำไป แต่พอมาปีนี้มันก็สถานการณ์ใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเข้ามาอีกเยอะเลย นพ.พลเดช – ใช่ครับ เห็นด้วยครับ ตรงนี้ครับ สำราญ – รวมทั้งความขัดแย้งของเขากันเอง นพ.พลเดช – ภายในของเขากันเองด้วยครับ เขาก็มีการต่อสู้กันทางความคิดน่ะครับ ว่าขบวนเก่าเองเขาก็คิดอย่างหนึ่ง ขบวนใหม่เขาก็มีปฏิสัมพันธ์กันอยู่นะครับ ตรงนี้ก็ต้องติดตามดูต่อไปครับ ว่ามันจะคลี่คลายไปอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม เราคงจะต้องดูแลเรื่องของความปลอดภัยของตัวเราเองนะครับ สำราญ – ถ้าให้ประเมินดูนี่นะครับ คิดว่าการก่อความรุนแรงทุกวัน ฆ่ากันรายวันแบบนี้ คือเป้าหมายลึกๆจะนำไปสู่อะไรครับ เขาต้องการลากไปสู่อะไรครับ ไปสู่สากลหรือไม่สู่อะไรซักอย่างนี่คืออะไรครับ ถ้ามองด้วยสายตาตอนนี้เนี่ย นพ.พลเดช – ผมต้องการให้เขาขยับขึ้นไปให้มีองค์กรระหว่างประเทศนี่เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็นำไปสู่การ ผมคิดว่าเรื่องการแยกดินแดนนี่ก็มีส่วนนะครับ อันนี้ความเห็นผม ส่วนความเห็นคนอื่นนี่ไม่ทราบนะครับ คือคิดว่าน่าจะพยายามที่จะลากสถานการณ์ให้มันไปสู่สากล และก็สากล องค์กรสากล ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ หรือว่าไม่ว่าจะเป็นองค์กรสากลของอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ว่าเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ ผมก็ยังตั้งข้อสงสัยอยู่ว่า เขาจะไปถึงขั้นนั้นได้หรือเปล่า แต่ว่าอ่านดูแล้ว จากปะติดปะต่อเหตุการณ์ต่างๆ คิดว่ามีความพยายามไปถึงขนาดนั้น แต่อาจจะเป็นไปไม่ค่อยได้ แต่ว่าก็ประมาทไม่ได้เหมือนกันครับ สำราญ – เอาล่ะครับ เอาเป็นว่าคุณหมอก็ยินดีนะครับ ที่เขามาตั้งเป็นกรรมการสมานฉันท์ นพ.พลเดช – ก็ทำอยู่แล้วครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นก็ทำอยู่แล้ว แล้วก็ช่วยกันครับ คำนูณ – ขอถามประเด็นอื่นนะครับ คุณหมอมีความเห็นอย่างไรครับ ในเรื่องที่สุราจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ นพ.พลเดช – ตรงนี้นะครับ ผมคิดว่า บางทีมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเหมือนกัน ทางฝ่ายคุณธรรมเขาก็ต่อต้านสุดฤทธิ์เลยนะครับ แต่โดยส่วนตัวของผมเอง ผมคิดว่าบางทีเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องของการตลาด เป็นเรื่องของทางธุรกิจครับ ที่ผมเองไม่บวกไม่ลบกับมันเท่าไหร่ครับ เข้าก็ได้ ไม่เข้าก็ไม่เห็นแปลก เพราะทุกวันนี้มันก็อยู่ในระบบของการค้าขายที่ค่อนข้างจะทุนนิยมเต็มตัวอยู่แล้วนะครับ คำนูณ – คือทางเราไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ สำราญ – อยู่ในกลุ่มที่ว่าเข้าก็ได้ ไม่เข้าก็ได้นะครับ ถ้าอย่างนั้นก็อยู่กลุ่มเดียว กับพวกผมนะครับ เอาล่ะครับ ก็ขอบคุณคุณหมอพลเดชมากครับ นพ.พลเดช – ครับ สวัสดีครับ
|
|
|
Be the first to comment on "หมอเอ็นจีโอ ปฏิเสธ ยังไม่ถูกทาบร่วม กก.สมานฉันท์"