“หยุดความรุนแรงที่มาบตาพุดเถอะครับ”

เฝ้ารอมาค่อนปีแล้ว ภายหลังศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษาสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษภายใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษา (3 มีนาคม 2552)

อยากเห็นผู้นำรัฐบาล หน่วยราชการ หรือภาคธุรกิจ ออกมาแสดงความรับผิดชอบดูแลผลกระทบต่อชีวิตน้อยๆ ของชาวบ้าน 11 ชุมชน รอบนิคมอุตสาหกรรมบ้างตามวิสัยของเพื่อนมนุษย์ จนบัดนี้ยังไม่ปรากฏวี่แวว จะมีก็แต่การดิ้นรนอุทธรณ์และพลิกแพลงเอาชนะคะคานกับชาวบ้านอย่างไม่ลดราวาศอก
ผมว่าอย่างนี้มีแต่เสียกับเสียนะครับท่านนายกฯ

ปัญหา ความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) เป็นเรื่องที่อาจมองเห็นไม่ชัดเหมือนเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การที่ชาวบ้านต้องสูดดม สัมผัส และบริโภคสารมลพิษที่ปนอยู่ในอากาศ น้ำดิน แหล่งอาหาร ฯลฯ อยู่ทุกวัน ทุกนาที ก็คือความรุนแรงที่พวกเขาถูกกระทำตลอดเวลายาวนาน  มีการสะสมในร่างกายจนเจ็บป่วยเรื้อรังเป็นมะเร็ง กระทั่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงถึงระดับพันธุกรรม

ความรุนแรงแบบนี้ตามองไม่เห็น แต่มันมีอำนาจทะลุทะลวงมาก
ผมขอทดลองเสนอทางออก สำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหยุดความรุนแรงที่มาบตาพุด  ดังนี้:

1. หยุดดันทุรัง หันมาเยียวยาชุมชน
ในเมื่อการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่ได้หมายความว่าห้ามมิให้มีการลงทุน  เพียงแต่จะต้องลงทุนภายใต้กระบวนการและเงื่อนไขที่กำหนดทำไมยังต้องอุทธรณ์ ทำไมยังต้องหาทางพลิกแพลงให้ 76 โครงการได้ดำเนินงานตามเงื่อนไขเดิมๆ
ผมอยากเห็นนายกรัฐมนตรีของคนทุกฝ่าย แสดงความเคารพคำตัดสินของศาลปกครอง และประกาศจุดยืนที่จะเข้ามาดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ได้สมดุลเสียที ไม่เข้าข้างชาวบ้านนั้นไม่ว่า แต่อย่าถือหางภาคธุรกิจจนออกหน้าออกตา
การประกาศ คำขอโทษ แทนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้ปล่อยปละละเลยปัญหาจนหมักหมมมาจนเป็นอย่างนี้ และ ให้คำมั่น ว่าต่อไปนี้รัฐบาลจะเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ เท่านี้ชาวบ้านเขาก็มีกำลังใจมากแล้ว ยิ่งถ้า สั่งการรูปธรรม ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปช่วยเยียวยาและฟื้นฟูชุมชนอีกด้วย ก็แทบจะเทให้หมดหัวใจกันเลย
2. ทบทวนทิศทางครั้งใหญ่
การอ้างเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้นอยู่ร่ำไป ประกอบกับความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งฝ่ายการเมือง ล้วนมีแต่เรื่องหาลู่ทางช่วยภาคอุตสาหกรรม โดยไม่มีใครเอ่ยปากสักนิดว่าจะช่วยชุมชนอย่างไร และจะปรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมบ้างหรือไม่ อย่างนี้จะไม่ให้คิดได้อย่างไรว่าสิ่งที่อยู่ในหัวสมองคือรูปแบบการลงทุนอุตสาหกรรมในแบบเดิมๆ
คิดหรือว่าเมื่อหลุดเปราะนี้แล้วจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง มั่นใจหรือว่าคิดในกรอบเดิมๆ จะสามารถนำพาประเทศไปได้  บทเรียนจากมาบตาพุดจะส่งผลอะไรบ้างต่อแผนงานเซาท์เทิร์นซีบอร์ด และที่อื่นๆ ไฟจะมิลุกท่วมแผ่นดินหรือ
ถึงเวลาที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม จะต้องร่วมกันทบทวนทิศทางประเทศอย่างจริงจังแล้วกระมัง?
3. ให้ภาคธุรกิจมีสำนึกต่อท้องถิ่นและชุมชน
ความเป็นจริงอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมไทยคือโรงงานที่ไปตั้งอยู่ในท้องถิ่นใด ไม่ว่าจะเป็นนอกนิคมอุตสาหกรรม ล้วนแปลกแยกจากชุมชนท้องถิ่น ไม่มีอะไรที่ต้องผูกพันรับผิดชอบต่อกัน เพราะฉันมาลงทุนทำให้เธอมีงานทำ ฉันไม่จำเป็นต้องรับรู้ทุกข์สุขหรือห่วงใยชุมชน เวลาเสียภาษีฉันก็เสียที่กรุงเทพฯ ตามที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเธอ ฉันไม่เกี่ยว มีปัญหาอะไรฉันก็มีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางช่วยได้ แบบนี้สำนึกต่อท้องถิ่นและชุมชนเกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับ
ต้องฝากกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ใช้สติปัญญาช่วยกันหน่อย ท้องถิ่นและชุมชนเขาทำไม่ได้ จะรอแต่นายกรัฐมนตรีคนเดียวไม่ดูกินแรงกันหน่อยหรือ?
4. อาจต้องการกลไกที่มากกว่า CSR
อันที่จริงในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีบริษัทและโรงงานที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้าน CSR (Corporate Social Responsibility) ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติอยู่เป็นจำนวนมาก หากเปิดใจกว้างทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมจากภายนอกบ้าง คงจะช่วยอะไรได้เยอะ
แต่ในกรณีที่เป็นปัญหาบานปลายจนวิกฤตแล้วเช่นนี้ CSR ทำงานได้ยาก เพราะความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) มันสูญเสียไปเกือบหมดแล้ว แม้ทำดียังถูกมองว่ามีเลศนัย
ผมขอแนะนำแนวคิดและรูปแบบ มูลนิธิชุมชน ซึ่งอาจจะช่วยได้มากขึ้น
แนวคิดมูลนิธิชุมชน (Community Foundation) ไม่ใช่มูลนิธิทั่วไป แต่เป็น องค์กรทุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกาและยุโรป องค์กรทุนฯ แบบนี้มักเริ่มจากนักธุรกิจ แต่มีภาครัฐและภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมกันทำงาน งานหลักคือการระดมทุนอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของกลุ่มอาสาสมัคร และองค์กรชุมชนทำงานแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ เป็นการเฉพาะเจาะจง
ผมเชื่อว่าแนวคิดแบบนี้ เหมาะกับพื้นที่วิกฤตแบบมาบตาพุด และจังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
(05/11/2552)

Be the first to comment on "“หยุดความรุนแรงที่มาบตาพุดเถอะครับ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.