“เบี้ยกุดชุม” เงินตราชุมชนสู่การพึ่งตนเอง

“เบี้ยกุดชุม” เงินตราชุมชนสู่การพึ่งตนเอง

“เบี้ยกุดชุม” ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาทักท้วงการใช้เบี้ยกุดชุม ของชาวบ้าน ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร โดยให้เหตุผลว่า เพราะใช้เบี้ยเลียนแบบเงินตราของประเทศ การนำเสนอเรื่องราวของสื่อต่างๆ ทำให้ทุกฝ่ายในสังคมหันมาสนใจชุมชนแห่งนี้ด้วยมุมมองที่หลากหลาย และมีบางส่วนที่มีการนำเสนอออกมาในเชิงลบ ซึ่งส่งผลต่อชุมชนบ้างเล็กน้อยในเชิงของการขัดขวางและบั่นทอนกำลังใจ เนื่องจาก “เบี้ยกุดชุม” เป็นเพียงการทดลองใช้ระบบเงินตราชุมชน

ในการซื้อสินค้าบริการและผลผลิตในชุมชน เพื่อเงินของคนในชุมชนจะได้ไม่ไหลออกนอกชุมชนมากเกินไป และไม่ต้องผูกติดอยู่กับตลาดข้างนอกที่เข้ามากำหนดราคาสินค้าของชุมชน ชาวบ้านจึงขอเป็นผู้กำหนดราคาเอง นี่คือความไว้เนื้อเชื่อใจของคนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน การแลกเปลี่ยนสินค้าที่รับรองคุณภาพได้ ความเอื้ออาทรกัน ส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้าน และบ่งบอกถึงความพยายามแก้ปัญหาด้วยการพึ่งตนเองของชุมชน

ชาวบ้านอำเภอกุดชุม จ.ยโสธรแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านในชุมชนได้ผ่านการรวมตัวกันทำ กิจกรรมเพื่อการพึ่งตนเองมายาวนาน โดยมีผู้นำทางความคิด คือ พระครูสุภา จารุวัฒน์ พ่อใหญ่วิจิตร บุญสูง พ่อมั่น สามสี พ่อประดิษฐ์ แก้วใส และมี NGO เข้าไปร่วมคิดร่วมทำกับกลุ่มชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มเยาวชน กิจกรรมมากมายหลากหลายเกิดขึ้นที่นี่ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชน ก่อนที่จะมีโครงการทดลองให้มีระบบการแลกเปลี่ยนของชุมชนเอง โดยมี “เบี้ยกุดชุม” เป็นสื่อกลาง

ในปี 2526 โรงพยาบาลกุดชุมได้ตั้งกองทุนยาและ มูลนิธิสุขภาพไทยนำเรื่องสมุนไพรเข้ามา จนเกิดชมรมหมอยาพื้นบ้าน นอกจากนั้นยังมีแนวคิดเรื่องร้านค้าสหกรณ์ และความสนใจในการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ โดยไม่พึ่งสารเคมี และการปรับปรุงพื้นที่ทำกินให้อุดมสมบูรณ์

ปี 2533 มูลนิธิโกมลคีมทอง ได้เชิญ มาซาโนบุ ฟูโกโอกะ นักเกษตรธรรมชาติชาวญี่ปุ่น มาให้คำแนะนำกับชาวบ้านในเรื่องการทำนาธรรมชาติ ที่ช่วยให้ชาวบ้านสุขภาพดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดีสามารถรักษาสภาพดินให้ทำมาหากินได้นานๆ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บจากสารเคมี ประกอบกับชมรมเพื่อนธรรมชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการทำนาธรรมชาติ และจัดจำหน่ายข้าวปลอดสารพิษ ได้พูดคุยกับชาวบ้านว่า ชาวบ้านน่าจะผลิตข้าวปลอดสารโดยมีโรงสีข้าวของตนเอง ชาวบ้านซึ่งมีความคิดนี้อยู่ก่อนแล้วจึงตัดสินใจตั้ง “โรงสีข้าวรักษ์ธรรมชาติ” ขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 2533

ปี 2538 มีการขยายการส่งเสริมข้าวปลอดสารพิษ ทั้งใน ต.นาโส่ ต.กำแมด และ ต.ไผ่ และเริ่มส่งข้าวเกษตรอินทรีย์ขายต่างประเทศ และในประเทศไทยก็มีคนหันมาบริโภคข้าวกล้องมากขึ้น
ปี 2541 ชาวบ้านท่าลาด,โสกขุมปูน,สันติสุข,กุดหิน,โคกกลาง รวมกันก่อตั้ง กลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน โดยมีวัตุประสงค์เพื่อความอยู่ดีกินดี สามารถพึ่งตนเองได้ ในภาวะที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น ลูกหลานที่ทำงานในเมืองก็ถูกปลดออกจากงาน ชาวบ้านจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีทุน ในการทำไร่ทำนา เมื่อรวมกลุ่มกันได้จึงลงขันกันคนละ 1,000 บาท มาเป็นเงินกองกลางที่หมุนเวียนให้สมาชิกยืมไปใช้เป็นทุน โดยมีข้อตกลงว่าจะต้องนำไปใช้ประโยชน์ ในทางเกษตรเท่านั้น ให้ยืมไม่เกิน 5,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี กำหนดใช้คืนภายในหนึ่งปี ซึ่งชาวบ้านก็ได้นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดสระ ขุดบ่อเก็บน้ำในที่นา ปรับสภาพดิน หรือยกร่องปลูกพืชผัก และไม้ผลในนา

จากที่เริ่มรวมตัวกัน 16 คน ก็ขยายกว้างขึ้น ท่านพระครูสุภาจารวัฒน์ เห็นว่าเป็นความคิดที่ดีก็อนุญาตให้ใช้วัดท่าลาดเป็นที่ทำการและร่วมเป็นสมาชิกด้วยเพื่อให้ชาวบ้านได้มีเงินกองกลาง มีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่าสมาชิกรายใดที่เดือดร้อนมากและควรจะได้ยืมก่อน พร้อมกับมีกรรมการติดตามผล ตรวจสอบว่านำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่

เมื่อดำเนินงานได้เกือบปี ในกลุ่มจึงนัดประชุมเพื่อประเมินผลการดำเนินการ และเล็งเห็นว่าโครงการได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดสนในการช่วยเหลือเงินทุนเพื่อ ทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี จึงคิดกันว่าชุมชนน่าจะขยายผลของการทำโครงการนี้ในวงกว้างขึ้น ประกอบกับได้มีอาสาสมัครจากหน่วยอาสาสมัครอังกฤษ คือ Mr.Menno Salverda ชาวเนเธอร์แลนด์ และหน่วยอาสาสมัครแคนาดา คือ Mr. Jeff Power ชาวแคนาดา ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ตำบลกุดชุม ได้เสนอความคิดการสร้างระบบแลกเปลี่ยนในชุมชน ภายใต้โครงการ The Thai Community Currency System Project(TCCS)
เริ่มต้นจากการจัดสัมมนาเรื่อง “ทางออกเศรษฐกิจท้องถิ่น” ซึ่งเน้นไปที่วิธีการในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในท้องถิ่นภายใต้ความร่วมมือของคนในชุมชน และได้มีการนำเสนอแนวคิดจากกลุ่มย่อย ว่าจะหาทางออกในปัญหาความขัดสนเงินตราของชุมชนได้อย่างไร ที่จะลดการพึ่งพิงจากสังคมภายนอก และสามารถกำหนดทั้งคุณภาพและราคาสินค้าโดยชุมชนเอง ทางออกจึงน่าจะเป็นการกำหนดเงินตราท้องถิ่นขึ้นมาใช้เอง
สมาชิกในกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน สมาชิกโรงสีข้าวรักษ์ธรรมชาติ และชาวกุดชุมต่างให้ความสนใจความคิดนี้ จึงเสนอแนะให้หาความรู้ รูปแบบวิธีการ ศึกษาผลกระทบจากการใช้เบี้ย ทั้งด้านสังคม ข้อกฎหมาย และเมื่อปรึกษานักกฎหมายหลายคนต่างก็เห็นว่าไม่ขัดกับ พ.ร.บ.เงินตรา เพราะเป็นเพียงสื่อกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนกันเฉพาะในชุมชนเท่านั้น

กระบวนการที่สำคัญคือ ชาวบ้านได้ศึกษาและทดลองการ ใช้ระบบเงินตราชุมชนเปรียบเทียบกับการใช้เงินบาท ในกิจกรรมบทบาทสมมุติผู้ซื้อ-ผู้ขาย จนแน่ใจว่าการนำระบบเงินตราชุมชนมาใช้น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ลดการพึ่งพาภายนอก จึงร่วมกันพัฒนารูปแบบ ระบบบริหารจัดการ และกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวลา 9 เดือน ก่อนตัดสินใจพิมพ์เบี้ยขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจาก Japan Foundation Asia Center จำนวน 30,000 บาท พิมพ์ทั้งหมด 10,000ใบ มูลค่า30,000 เบี้ย โดยกำหนดค่าเงินเพื่อให้ง่ายต่อการใช้ คือ 1 เบี้ย เท่ากับ 1 บาท มีธนาคารเบี้ยกุดชุมเป็นหน่วยจัดการกลาง โดยมีสมาชิกเข้าร่วมกับธนาคารเบี้ยกุดชุม 120 ราย ปัจจุบันมีสมาชิกที่เบิกเบี้ยออกมาใช้ 33 ราย
สมาชิกกลุ่มผู้ใช้เบี้ยได้ทำข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดราคา และคุณภาพสินค้าในการแลกเปลี่ยนเบี้ย โดยใช้วิธีการแบบผสม คือใช้ควบคู่กับเงินบาท สัดส่วนเท่าใดนั้นแล้วแต่สมาชิกจะตกลงราคากันเอง

เพราะของบางอย่างนั้นสมาชิกต้องซื้อจากนอกชุมชนซึ่งยังต้องใช้เงินบาทอยู่ดี แต่หากเป็นสิ่งของที่ชุมชนผลิตเองได้ เช่น ข้าว ผัก ไข่ ไก่ ปลา หรืออื่นๆ ก็สามารถจ่ายเป็นเบี้ยได้ สมาชิกมีสิทธิเบิกเบี้ยมาใช้ได้ไม่เกิน 500 เบี้ยต่อคน และไม่สามารถนำเบี้ยไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทซึ่งถือว่าผิดข้อตกลง และสมาชิกที่เบิกเบี้ยไป จะต้องนำมาคืนให้ครบเมื่อครบกำหนด 1 ปี หากไม่สามารถคืนได้ก็ขอต่อระยะเวลาเพื่อหาเบี้ยมาคืนให้ได้ การกำหนดเช่นนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกกระตือรือร้นทำมาหากิน ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก เพื่อให้ได้แลกเปลี่ยนกันให้ได้เบี้ยคืนมา และจะไม่เป็นการจ่ายเบี้ยออกไปเพื่อซื้อของจากสมาชิกรายอื่นเพียงฝ่ายเดียว

หากแต่เกิดการผลิตเพื่อไว้สำหรับแลกเปลี่ยนด้วยจึงจะได้รับเบี้ยกลับมา ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการสร้างอาชีพ
จุดมุ่งหมายของการจัดตั้งโครงการธนาคารเบี้ยกุดชุมก็ เพื่อให้เกิดกิจกรรมการผลิตพื่อการพึ่งตนเองภายในชุมชน ได้แลกเปลี่ยนกันเอง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ปลอดสารพิษ มีคุณภาพ ลดการซื้อผลผลิตจากตลาดภายนอก เป็นการพึ่งตนเอง มีความพอเพียง และมีเงินเก็บออมไว้ใช้ในยามที่จำเป็น เบี้ยกุดชุมได้ช่วยสร้างความสมดุล ระหว่างกระแสวัตถุนิยมจากสังคมภายนอกและการพึ่งตนเอง โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตรของชุมชน และป้องกันไม่ให้วิถีชาวบ้านถูกกลืนหายไปกับโลกของวัตถุนิยมและ การเบิกเบี้ยมาใช้ก่อนของชาวบ้านก็เหมือนกับการใช้บัตรเครดิต เป็นความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชุมชน โดยไม่มีดอกเบี้ยมาข้องเกี่ยวด้วย

การทดลองใช้ระบบเงินตราชุมชน ของชาวบ้าน อ.กุดชุม จ.ยโสธร แม้จะยังคงเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่เมื่อศึกษาถึงความตั้งใจในจุดมุ่งหมายของชาวบ้านแล้ว นี่เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่น่าจะได้รับการส่งเสริมจากรัฐ หาใช่การมุ่งเพียงแต่จะจับผิด และมองว่าเป็นพวกนอกลู่นอกทาง การที่ชาวบ้านร่วมคิดร่วมทำและกำหนดทิศทางของตัวเองได้ น่าจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นไปได้จริง หาใช่การรอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้แทนราษฎรที่เลือกเข้าไปในสภาฯ มากำหนดว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ถึงเวลาที่ประชาชนจะได้ร่วมกันกำหนดวิถีของตนได้ด้วยตัวเองเสียที

Be the first to comment on "“เบี้ยกุดชุม” เงินตราชุมชนสู่การพึ่งตนเอง"

Leave a comment

Your email address will not be published.