“เอ็นจีโอ แอ็คตีวิสต์ และแอลดีไอ”

เมื่อเดือนก่อน คณะเจ้าหน้าที่จาก World Bank 4 คน มาที่ LDI เพื่อปรึกษาหารือจะร่วมกันทำงานฟื้นฟูชุมชนชายแดนภาคใต้ พวกเขาสนใจว่าทำไม LDI จึงทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ได้ยาวนานทั้งๆ ที่เป็นองค์กรมูลนิธิที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันก็มีเอ็นจีโอ และกลุ่มคนทำงานสังคมที่เป็นหลักเป็นฐานน้อยมากในพื้นที่

ผมบอกพวกเขาว่า อย่างแรกเรา (LDI) จำกัดบทบาทการทำงานในเรื่องการพัฒนาเท่านั้น ไม่ข้องแวะกับปัญหาด้านความมั่นคง ประการต่อมาเรายึดหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าไปสนับสนุนหรือคัดค้านความคิด อุดมการณ์ของขั้วการเมืองหรือคู่ขัดแย้งใด นอกจากนั้นเราชอบทำงานอยู่ข้างหลังให้ชุมชนท้องถิ่น ไม่ชอบแสดงตนให้เป็นที่โดดเด่น และที่สำคัญคือเราไม่ทำตัวเป็น แอคตีวิสต์ หรือทำงานแบบเอ็นจีโอทั่วๆ ไป

สำหรับ 3 ประการแรก ผมคิดว่าเพื่อนๆ ข่ายงานประชาสังคมทั่วประเทศที่ร่วมทำงานมาด้วยกันอย่างยาวนานคงเข้าใจหลักคิดและทิศทาง LDI กันดีอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแล้ว การทำงานยิ่งต้องมีวินัยที่เคร่งครัดมากเพราะหากพลาดพลั้งก็ถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายกันง่ายๆ

ส่วนประการสุดท้ายที่บอกว่าไม่ทำตัวเป็นแอคตีวิสต์ หรือเอ็นจีโอทั่วไป ต้องขอขยายความสักหน่อย เพราะพวก World Bank ที่มาวันนั้นก็สนใจในประเด็นนี้เช่นกัน
ไม่ใช่ว่าเป็นการตำหนิว่า Activist และ NGO ไม่ดีนะครับอย่าเข้าใจผิด เพราะทั้งคู่ต่างมีคุณูปการต่อสังคมไทยแต่ก็มีลักษณะเฉพาะที่เป็นข้อจำกัด
Activist คือนักกิจกรรมทางสังคม สิ่งแวดล้อม ทางการเมือง ทางกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งมักจะทำกิจกรรมการรณรงค์หรือต่อสู้ในประเด็นเฉพาะแคบ ๆ ตามที่ตนเองสนใจ ประเด็นอื่น ๆ มักไม่ค่อยเห็นไม่ค่อยเอาด้วย ดังนั้นพวกเขาจึงมักจะยืนหยัดต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างถึงที่สุด ไม่ชนะก็แพ้ ไม่กลัวอุปสรรคขวากหนาม หน้าอินทร์หน้าพรหม และแรงต้านใดๆ
ส่วน NGO ในประเทศไทยนั้นมีสถานะเฉพาะอันแตกต่างจากประเทศอื่น โดยเฉพาะในด้านภาพพจน์นั้นสื่อมวลชนและสังคมไทยโดยทั่วไปติดอยู่กับภาพว่า NGO คือพวกต่อต้านรัฐ และเป็นพวกชอบขัดขวางการพัฒนา (ทางเศรษฐกิจ) จึงทำให้บทบาทของ NGO ไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด
LDIให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก โดยผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหว ทั้งเย็นทั้งร้อนได้ทุกรูปแบบ โดยไม่ยึดติดกับประเด็นปัญหาเฉพาะ จึงมีโอกาสเลือกประเด็นทำงานได้มาก เรื่องใดที่มีความยากลำบากมากต้องออกแรงพยายามสูง ก็พักรอไว้ก่อนโดยหันไปจับประเด็นอื่นแทน เมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ เปลี่ยนไปจึงกลับมาทำต่อ
นี่คือการทำงานแบบ Long Term และ Long Life ครับ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
จันทร์ 9 มีนาคม 2552

Be the first to comment on "“เอ็นจีโอ แอ็คตีวิสต์ และแอลดีไอ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.