ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่พลิกผันไปมาในรอบ 3 ปี วันนี้พลพรรค เสื้อแดงของนปช.กำลังปั่นป่วนสร้างสถานการณ์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ในขณะที่ฝ่ายสีเหลืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) สงบคุมเชิงอยู่ในที่ตั้งนั้น รัฐบาลร่วมของสีฟ้าและสีน้ำเงินต้องไม่ใช้ความรุนแรง และต้องจัดการปัญหาอย่างชาญฉลาด เฉียบขาด และรับผิดชอบ
มีบทเรียนที่สังคมไทยเคยได้รับจากรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาในรอบ 10 ปีจำนวนมาก ซึ่งนอกจากแก้ปัญหาไม่ได้ ยังกลับก่อผลกระทบไม่พึงประสงค์มากมายจนยากจะเยียวยา อาทิ: ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้, การฆ่าตัดตอนคดียาเสพติด 2,500 ราย และกรณีปราบม็อบชาวบ้านต่อต้านท่อแก๊สที่สงขลาในยุครัฐบาลทักษิณ หรือกรณีใช้นโยบายขวาจัดข่มขู่ปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มพธม.อย่างต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ของรัฐบาลสมัคร-สมชาย จนทำให้มีผู้เสียชีวิต พิการ และบาดเจ็บรวมหลายร้อยคน
ขณะเดียวกันเราก็มีบทเรียนความเสียหายจากการปล่อยปละละเลยต่อการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยเหตุที่ต้องการประนีประนอมอย่างไร้หลักการและจากการอัมพาตพิกลพิการของกลไกยุติธรรม เช่น กรณีนปช.บุกทำลายบ้านสี่เสาเทเวศน์ในยุครัฐบาลคมช.
ปัญหาการชุมนุมด้วยอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดของนปช.จะแก้ได้แค่ไหนยังไม่รู้ แต่สิ่งที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์สามารถตัดสินใจคว้าได้ทันทีคือการเลือกที่จะให้ประชาชนจดจำว่าเป็น “รัฐบาลที่ไม่ใช้ความรุนแรง”
อย่างไรก็ตามต้องตระหนักว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการรักษาหลักนิติธรรม(Rule of Law) และความเป็นนิติรัฐ (Legal State) ซึ่งทุกอย่างอยู่ใต้กฎหมาย ปฏิบัติตามกฎหมายและรับรองสิทธิตามกฎหมาย ดังนั้นฝ่ายเสื้อแดงก็ช่าง ฝ่ายสีเหลืองก็ตาม หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดกฎหมายต้องได้รับการดำเนินคดีโดยถ้วนหน้า
ที่ผ่านมาประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และประสิทธิผลของกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอนถูกตั้งคำถามมากโดยยังไม่มีรัฐบาลชุดใดสามารถให้คำตอบแก่สังคม ระบบตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมนั้นมีปัญหาธรรมาภิบาลในเกือบทุกระดับ ทุกอณู ระบบอัยการแห่งชาติซึ่งเป็นไม้สองในกระบวนการยุติธรรมก็ถูกตั้งคำถามอย่างมากไม่แพ้กัน กระแสข่าวที่ว่ามีพนักงานอัยการระดับสูงจำนวนหนึ่งได้รับเงินเดือนจากอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น สังคมมีแนวโน้มที่จะเชื่อโดยไม่ต้องตรวจสอบข้อมูล ทั้ง 2 วงการนี้รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์จะไม่แตะเลยไม่ได้ แต่จะมียุทธศาสตร์และเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเช่นไรนั้นขึ้นอยู่กับความกล้าหาญ ภูมิปัญญา และภาวะผู้นำ
ส่วนในระดับของศาลและตุลาการนั้น แม้คนทั่วไปจะเชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้มากที่สุดในระบบยุติธรรมไทย แต่ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาคดีนั้น บัดนี้ได้กลายเป็น “ความไม่ยุติธรรม” เสียเอง ผู้ทรงอิทธิพลที่กระทำความผิดเป็นจำนวนมากมักหลุดคดี หรือไม่ก็มีชาวบ้านคนเล็กคนน้อยมารับโทษแทน การตัดสินคดีที่ล่าช้าไม่อาจป้องปรามคนให้เคารพยำเกรงกฎหมายได้ รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ในการอำนวยการความยุติธรรมให้บังเกิด แต่ไม่ใช่ไปแทรกแซงระบบและอำนาจตุลาการ อะไรคือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ในเรื่องนี้ และสำหรับประเด็นการกระทำความผิดทางอาญาที่คาบเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง จะกำหนดเป้าหมายการจับกุมดำเนินคดีไว้ระดับใด
สำหรับกลุ่มองค์กรทางสังคมไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรที่จะเข้าไปแทรกแซงกดดันศาลและตุลาการได้ แต่การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก่อตัวเป็นกระแสความเรียกร้องต้องการในภาพรวมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์และสามารถกระทำได้โดยที่ฝ่ายตุลาการจะเป็นผู้ซึมซับและมีดุลยพินิจของท่านได้เอง ถูกหรือผิด เร็วหรือช้าประการใด
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่าการเคลื่อนไหวสังคมในรูปแบบใหม่(New Social Movement) ที่เน้นการสร้างความรู้ การรวบรวมข้อมูล และการเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านสื่อสารสาธารณะนั้นน่าจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานของตุลาการได้ดีกว่าการเคลื่อนไหวมวลชน (Mass Movement) ที่มุ่งเรียกร้องกดดันแบบเกรี้ยวกราด ขอให้ศึกษากรณีมาบตาพุดและแม่เมาะเป็นตัวอย่าง
สำหรับการรับมือกับขบวนการเสื้อแดงนั้น บัดนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าประมุขและหัวขบวนของกลุ่มนปช.ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปเป็นระบบอื่น การประกาศโค่นล้มรัฐบาลสีฟ้า-น้ำเงิน และอำมาตยาธิปไตย เป็นเพียงเป้าหมายในระดับยุทธวิธีของพวกเขาเท่านั้น เพราะเนื้อหาสาระในการเคลื่อนไหวปลุกระดมในหมู่มวลชนและแนวร่วมทั้งในกรุงเทพ อีสาน และภาคเหนือนั้นไปไกลและโจ่งแจ้งมากแล้ว ระยะ 2-3 วันมานี้ รัฐบาลเริ่มมีทีท่าตระหนักในสถานการณ์ปัญหามากขึ้นแล้ว กลไกรัฐทุกหน่วยทุกจังหวัดน่าจะทำงานเข้มงวดแข็งขันขึ้น 2-3 วันข้างหน้า(8-10 เมษายน)ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงหรือจราจลในกรุงเทพฯ และการก่อวินาศกรรมในต่างจังหวัด จึงเป็นหน้าที่ของอาสาสมัครภาคประชาชนที่จะเกาะติดเหตุการณ์อย่างแนบเนียน บันทึกภาพ และเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในทางคดีเฉพาะหน้า และมีส่วนร่วมสร้างเสริมนิติธรรมความเป็นนิติรัฐในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในศึกครั้งนี้คุณทักษิณและขบวนการเสื้อแดงคงพ่ายแพ้อีกตามเคย แต่ทว่าจะฝากรอยแผลและเชื้อร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองในปัจจุบันอย่างบาดลึก จนเชื่อได้ว่าภายใน 10 ปี ข้างหน้าระบบการเมืองของประเทศนี้น่าจะเปลี่ยนโฉมไปจากปัจจุบัน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
7 เม.ย.2552
Be the first to comment on "แนวทางสยบความรุนแรงของกลุ่มเสื้อแดง"