“ทุกปัญหามีวิธีแก้ไข ขอแต่เราใช้สติปัญญาและความร่วมแรงร่วมใจกัน”
ปัญหาไฟใต้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าใครก็ตามที่อยู่ในอำนาจหน้าที่สามารถยอมรับความจริงได้ว่ามีข้อจำกัดและความผิดพลาด ทั้งในระดับยุทธวิธี ระดับยุทธศาสตร์ ระดับทิศทางนโยบาย และระดับภูมิปัญญาแห่งชาติ โดยเปิดใจกว้างและเชิญชวนให้ผู้คนมาช่วยกันคิดหาหนทางแก้ไขก็น่าจะพบทางออกได้ไม่ยาก ในทางตรงกันข้ามถ้ากลัวเสียหน้า หวงบทบาท ไม่ยอมคิดออกนอกกรอบหรือหวาดระแวงกัน ก็คงต้องทำใจเพราะประเทศชาติไม่ใช่ของ
1. การเพิ่มประสิทธิภาพในระดับยุทธวิธี
อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้บ้างแล้วว่ากลไกและหน่วยราชการทั้งด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนาอยู่ในสภาพที่ขาดประสิทธิภาพและหมดเครดิตในการทำงานกับชุมชนท้องถิ่นและสังคมจชต.ลงไปทุกวัน หากขืนทำงานแบบเดิม โดยหน่วยงานเดิมๆ ภายใต้กรอบความคิดแบบเก่า จะหวังให้เกิดผลอย่างอื่นคงเป็นไปไม่ได้
การหยุดกระแสความเกลียดชังอันเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายขบวนการเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ทุกหน่วยงานรัฐ และข้าราชการทุกคนในพื้นที่ต้องระมัดระวังไม่ตกหลุมพราง ต้องทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ใช้กับประชาชนและชุมชนให้เหมาะสม สิ่งใดก่อผลเสียมากต้องกล้าปรับเปลี่ยนหรือยกเลิก
การใช้สื่อทีวีและวิทยุเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจแก่คนไทย 73 จังหวัด จะเป็นเงื่อนไขใหม่ที่หยุดกระแสความเกลียดชังที่ฝ่ายขบวนการต้องได้อย่างชะงัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขับเคลื่อนในเนื้อหาประเด็นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเชิงสร้างสรรค์ เพราะจะสามารถเชื่อมโยงจิตใจสังคมมลายูมุสลิมกับคนไทยทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว
การใช้กองกำลังทหารประจำการจากทุกกองทัพภาค รวมทั้ง ตชด. และนาวิกโยธินยาตราทัพเข้าไปยึดครองพื้นที่ร่วมกับการเกณฑ์คนในท้องถิ่นมาจัดตั้งเป็นกองทหารพรานแต่งชุดดำถือปืนลาดตระเวนไปทั่วและอยู่เวรยามตามจุดต่างๆ เป็นยุทธวิธีทางการทหารที่ใช้กันมานาน ในพื้นที่วันนี้ก็ยังคงใช้รูปแบบเดิม แม้พิสูจน์แล้วว่าหมดงบประมาณและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปมากมายโดยไม่ได้ผลทางการเมืองและการทหารเป็นชิ้นเป็นอัน จึงน่าคิดว่าค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมดที่ใช้ไปถ้าทำรูปแบบอื่นซึ่งได้ผลดีกว่าและลงทุนน้อยกว่าจะเป็นอย่างไร
งานพัฒนาที่ทำโดยหน่วยราชการเมื่อพบว่ามีข้อจำกัดอย่างมาก ทำไมไม่คิดถึงการเอ้าท์ซอสซิ่งให้องค์กรเอ็นจีโอทั้งในและนอกพื้นที่ กลุ่มนักกิจกรรมประชาสังคม หรือแม้องค์กรธุรกิจรับไปดำเนินการในลักษณะเอเยนซี่กันบ้าง เพราะพวกเหล่านั้นเขามีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะที่สามารถทำงานเชิงคุณภาพได้ดีกว่าราชการ มีความเป็นอิสระและยืดหยุ่นพลิกแพลงได้มากกว่า
องค์การมหาชนแบบสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งรัฐ ได้รับการพิสูจน์แล้วสามารถทำงานกับภาคประชาชนในจชต.ได้สะดวกและเป็นที่ยอมรับมากกว่าหน่วยราชการ จะขยายบทบาทกันอย่างไร ขณะเดียวกันพอช.เองก็มีบทเรียนในจชต.อยู่มากอันเนื่องมาจากการเป็นองค์กรระดับชาติที่มีภารกิจอยู่ทั่วประเทศ ทั้งบอร์ดและผู้บริหารมีความเข้าใจต่อปัญหาจชต.อย่างจำกัด และยังก้าวไม่พ้นสภาพการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ดังนั้น การมีองค์การมหาชนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาจชต.เป็นการเฉพาะจะคุ้มค่าการลงทุนกว่าหรือไม่
2. การสร้างเอกภาพในการนำเพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูพัฒนา
การสร้างเอกภาพในการนำเป็นกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาจชต. แต่ 6 รัฐบาลที่ผ่านมายังหากุญแจดอกนี้ไม่พบและโดยส่วนลึกแล้วไม่แน่ใจว่ารัฐบาลคิดว่ามันเป็นกุญแจจริงหรือเปล่า รวมทั้งตั้งใจจะหามันหรือไม่
หากพิจารณาแนวนโยบายที่รัฐบาลตั้งกลไกกอ.สสส.จชต.ในยุคพตท.ทักษิณ ชินวัตร การฟื้น ศอ.บต.และการมอบหมายบทบาทหลักให้กองทัพดับไฟใต้ในยุคพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และการไม่ริเริ่มอะไรเลยในช่วงนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือความพยายามที่จะตั้ง สบ.ชต.และครม.จชต.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นกุญแจได้
ในระยะสั้น สิ่งที่ผมคิดว่าจะสามารถสร้างเอกภาพในการนำการแก้ปัญหาโดยเริ่มได้เร็วที่สุดน่าจะเป็นการตั้งกระทรวงหรือทบวงกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแน่นอนต้องออกกฎหมายโดยความร่วมมือจากรัฐสภา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการทุกกระทรวงในพื้นที่มาขึ้นกับกระทรวงนี้ รวมทั้งการปฏิบัติการของหน่วยทหารในพื้นที่ก็ต้องมาอยู่ภายใต้การชี้นำทางการเมืองของรัฐมนตรีกระทรวงพื้นที่เช่นกัน การวางตัวผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีนั้นสำคัญมากเพราะต้องการผู้มีทั้งคุณสมบัติด้านความรู้ภูมิปัญญา ด้านทุนทางสังคม และความสามารถในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนอย่างกว้างขวาง
ในระยะยาว ต้องคิดถึงการกระจายอำนาจที่ไปไกลกว่าการมีอบต. อบจ. และเทศบาลโดยยังคงถูกควบคุมกำกับอย่างเหนียวแน่นจากกระทรวงมหาดไทยอย่างในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้ควรทำพร้อมๆ กันทั่วประเทศไม่ใช่แค่จชต.
3. การทบทวนและปรับทิศทางนโยบาย
ในขณะนี้ควรตระหนักว่าความสำเร็จจากแนวนโยบาย 66/2523 ที่ใช้การเมืองนำการทหารนั้นไม่เพียงพอสำหรับแก้ปัญหาไฟใต้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการยึดกุมได้ง่ายของผู้ปฏิบัติทุกระดับ เราควรต้องเน้นย้ำในทิศทางนโยบายเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน โดยรูปธรรมในระดับแนวทางและกลไกดำเนินงานต้องสอดคล้องด้วย อาทิ:
· แนวนโยบายการเมืองนำการทหาร
· แนวนโยบายงานพัฒนานำงานความมั่นคง
· แนวนโยบายหลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์
· แนวนโยบายสังคมนำเศรษฐกิจ
· แนวนโยบายการพัฒนาพื้นที่โดยใช้วัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง
ซึ่งการปรับกระบวนคิด การฝึกอบรม และการปรับโครงสร้างและระบบการทำงานแบบใหม่มีความจำเป็นอย่างมาก
4. การยกระดับภูมิปัญญาเชิงสังคม
พลังปัญญาของสังคมตั้งอยู่บนรากฐานของพลังความเข้าใจของผู้คนที่มีต่อเรื่องต่างๆ ถ้าคนไทยทั้งประเทศมีความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้อย่างลุ่มลึกโดยถ้วนทั่ว กลไกรัฐในการแก้ปัญหาก็คงจะเข้าร่องเข้ารอยได้โดยไม่ยาก แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารข้อมูลความจริงมีอยู่อย่างจำกัด คนไทยเข้าใจปัญหาผิวเผิน มีอคติ และมายาคติต่อการแก้ปัญหาอยู่หนาแน่นมาก การยกระดับภูมิปัญญาเชิงสังคมคงต้องดำเนินการให้มากขึ้นแม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานก็ตาม
แต่การแก้ปัญหาจชต.มิใช่ว่าจะต้องรอคอยความเข้าใจจากสังคมจนถึงขนาดเท่านั้น เพราะสังคมไทยยังมีสถาบันหลายอย่างที่สามารถนำพาประเทศไปสู่การหาทางออกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาของผู้นำกองทัพแบบเดียวกับยุค 66/2523 ภูมิปัญญาและภาวะการนำของนายกรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง หรือแม้กระทั่งพระบารมีและพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับ.
พลเดช ปิ่นประทีป
ที่นี่ LDI 06/04/52
Be the first to comment on "แนวทางแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้"