“TPBS :ความใฝ่ฝันกับความเป็นจริง”

          เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2552   ระหว่างไปร่วมงานแสดงคอนเสิร์ต 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ของวงซิมโฟนีออเครสต้าแห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล   ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์    ผมได้พบเพื่อนผองน้องพี่สีเหลืองเข้มที่ติดตามทีวีไทยอย่างใกล้ชิดและมีเสียงสะท้อนที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 ท่าน 

          ท่านแรกเป็นนักธุรกิจใหญ่ เคย

ขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง    ประกาศตัวหนุนการต่อสู้ชัดเจน    ท่านบอกว่าทีวีไทยกำลังดีวันดีคืน ขอเป็นกำลังใจให้ดูแลให้ดียิ่งๆ ขึ้น    ท่านที่สองเป็นแพทย์อาวุโสหัวขบวนกลุ่มแพทย์ชนบท   ท่านตำหนิว่า ทีวีไทยล้มเหลว บ้านเมืองจะฆ่ากันตายยังมัวฉายหนังกลางแปลงอยู่ได้   พิธีกรรายการข่าวก็คุณภาพแย่   ขาดการศึกษาเจาะลึก   ส่วนท่านที่สามเป็นผู้บริหารและเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนระดับนำในจังหวัดพิษณุโลก มาคู่กับภรรยาซึ่งเป็นพยาบาล   ทั้งคู่มีวิญญาณนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยอยู่ในสายเลือด   บอกว่าในช่วงเหตุการณ์วิกฤตทีวีไทยรายงานข่าวได้ดีมาก   มีความแตกต่างจากช่องอื่นและน่าเชื่อถือ แต่หลัง ๆ มานี้ย่อหย่อนลงไปจนน่าเป็นห่วง และอยากให้ขยายเวลาออกอากาศให้เต็ม 24 ชั่วโมง

          ในวันนั้นผมยังได้พบกับพรรคพวกที่เป็นฝ่ายสีแดงเข้มมากหน้าหลายตาเช่นกัน   มีทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน และนักเคลื่อนไหว   แต่กลุ่มนี้ไม่มีใครมาสะท้อนความคิดเห็นฝากทีวีไทยเหมือนข้างต้นบ้างเลย   มีแต่พูดกันว่าวันนี้มาดูคอนเสิร์ต ขอไม่คุยการเมือง!
          ผมเองเมื่อแรกเข้ามาร่วมรับผิดชอบเป็นกรรมการนโยบายคนหนึ่ง   มีความคิดฝันมากมายเช่นเดียวกับเพื่อนกรรมการนโยบายท่านอื่น ๆ และเดี๋ยวนี้ก็ยังคงฝันเหมือนเดิม    แต่ระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้และเข้าใจสภาพความเป็นจริงอันเป็นอุปสรรคและช่องว่างมากมายที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อพาขบวนก้าวข้ามไปให้ได้
          ประการแรก :ในด้านการบริหารจัดการองค์การ  กฎหมายได้ออกแบบให้ส.ส.ท.มีระบบบริหารแบบสองชั้น (Two – Tier Boards) กล่าวคือให้มีคณะกรรมการนโยบาย (Board of Governors) ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง แนวนโยบายและคอยกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว   พร้อมกับให้มีคณะกรรมการบริหาร (Executive Board) ทำหน้าที่นำนโยบายไปบริหารจัดการและลงมือนำพาพนักงานทุกระดับในองค์การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย
          พูดง่าย ๆ ก็คือฝ่ายกำหนดนโยบาย ไม่มีหน้าที่ขับเคลื่อน และฝ่ายขับเคลื่อนก็ไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายนั่นเอง ในทางทฤษฎีแล้ว บอร์ด 2 ระดับต่างมีหน้าที่ที่ชัดเจนของตนและมีการถ่วงดุลกันไปในตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก และผมคิดว่าการออกแบบเช่นนี้ ยังมีความเหมาะสมอยู่   เป็นแต่เพียงว่าเราต้องการมีกรรมการและคณะกรรมการทั้ง 2 ระดับที่สมบูรณ์แบบทั้งในด้านศักยภาพ ประสิทธิภาพ และวุฒิภาวะ โดยที่ในความเป็นจริงของเมืองไทยนั้นโอกาสที่จะถึงพร้อมแบบนั้นมีน้อยมาก ซึ่งเราคงต้องยอมรับสภาพแต่ไม่ยอมจำนนต่อมัน
          ตัวเชื่อมระหว่างคณะกรรมการทั้ง 2 ระดับคือผู้อำนวยการองค์การฯ ครับ ตำแหน่งนี้สำคัญยิ่ง เพราะเขาคือประธานคณะกรรมการบริหาร   ในขณะเดียวกันก็เป็นเลขานุการของคณะกรรมการนโยบาย  คนที่จะนั่งในตำแหน่งนี้ควรต้องเป็นผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถอย่างครบเครื่องทีเดียวจึงจะแสดงบทบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล    ในประเทศไทยหาคนแบบนี้ได้ไม่ง่ายเลยครับ
          แต่กฎหมายได้เปิดทางให้ ผู้อำนวยการสามารถหาคนที่ตนไว้ใจมาร่วมเป็นทีมรองผู้อำนวยการได้ถึง 3 คน ดังนั้นจึงอยู่ในวิสัยที่ผู้อำนวยการจะหาบุคคลมาเสริมทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นข้อจำกัดของตนได้อย่างเต็มที่เช่นกัน
          ในขณะที่เสียงสะท้อนจากผู้ชมผู้ฟังและประชาชนทั่วไปที่มีต่อทีวีไทยเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทีมผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารเพราะเป็นผู้ดูแลการปฏิบัติงานโดยตรงแบบวันต่อวัน แต่อย่างไรก็ตามประชาชนกลับชอบที่จะเรียกร้องคาดหวังจากคณะกรรมการนโยบายในฐานะองค์กรนำสูงสุดของ ส.ส.ท.มากกว่า
          ประการที่สอง ในด้านความรับรู้ ความเข้าใจและจินตนาการต่อสิ่งที่เรียกว่า “สื่อสาธารณะ” ของสังคมที่แตกต่างกันในรายละเอียดก็เป็นช่องว่างที่สำคัญมาก 
          คนทั่วไปในสังคมไทยไม่ค่อยสนใจหรอกครับว่า ทีวีไทยจะต้องเป็นทีวีสาธารณะอย่างไร เขาต้องการเพียงแค่มีทางเลือกในการดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้นเท่านั้น   ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีวีไทยที่จะต้องสร้างสรรค์รายการที่เป็นประโยชน์และได้รับความนิยม   โดยใช้รายได้จากภาษีตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ห้ามมีโฆษณาหารายได้ทั้งสิ้น
          จะมีก็แต่นักคิด นักวิชาการ นักวิชาชีพและนักกิจกรรมสังคมนั่นแหละที่ใส่ใจต่อคุณค่า ความหมาย และคุณภาพความเป็นสื่อสาธารณะของทีวีไทย    แต่ในกลุ่มคนเหล่านี้ก็มีความรู้และจิตนาการที่แตกต่างกันอยู่มาก    บางท่านเคยมีบทบาทร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาจึงรู้สึกหวงแหนและคาดหวังสูง หลายท่านยึดติดในความคิดเห็นดั้งเดิมของตนโดยไม่สนใจว่าสุดท้ายกฎหมายมีข้อยุติในเชิงเนื้อหาสาระอย่างไร  และถึงเวลาสวมเสื้อต่างสีต่อสู้กันมักจะลืมหลักการสำคัญของกฎหมายไปหมด
          ประการที่สาม สำหรับพนักงานขององค์การ   ด้วยเงื่อนไขที่ทีวีไทยต้องรับพนักงานทั้งหมดมาจากทีไอทีวี หรือ ไอทีวีเดิม   และต้องไม่ปล่อยให้ “จอมืด” ด้วย เงื่อนไขนี้นับเป็นความลำบากอย่างยิ่งต่อการสร้างองค์การสื่อสาธารณะซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย   เปรียบเสมือนการสร้างบ้านตามแบบที่ออกใหม่ในที่เดิม โดยห้ามรื้อถอนบ้านเดิมกระนั้น
พนักงานไอทีวีเดิมเขาอยู่ในองค์กรสื่อธุรกิจที่เสรี มีชุดความรู้ความเข้าใจและวิถีชีวิตวัฒนธรรมองค์กรในแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นธุรกิจสังกัดค่ายสีแดง จะให้พวกเขาปรับเปลี่ยนทันทีนั้นเป็นไปไม่ได้หรอกครับ    นอกจากนั้นการที่ไอทีวีบ้านเดิมของพวกเขาถูกศาลสั่งยุบไปนั้นได้สร้างความขุ่นเคืองขนานใหญ่ติดมาด้วยในหัวใจอย่างเลี่ยงไม่ได้    สิ่งเหล่านี้มาส่งผลออกทางหน้าจอทีวีไทยโดยเฉพาะรายการด้านข่าวซึ่งอ่อนไหวมาก   และมีผลต่อบรรยากาศการอยู่ร่วมกันภายใน ส.ส.ท. อย่างต่อเนื่องตามสมควรโดยที่คนภายนอกไม่ค่อยรับรู้รับทราบ
          BBC นั้นมีวิวัฒนาการมา 80 ปี จึงมีทรัพยากรคนและวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง ส่วน TPBS เพิ่งเกิดใหม่ ยังต้องการเวลาในการเรียนรู้และสร้างคนสร้างวัฒนธรรมสื่อสาธารณะแบบไทยๆ เพราะไม่สามารถไปซื้อหาสิ่งสำเร็จรูปมาติดตั้งได้เหมือนอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่คงไม่ใช้เวลานานขนาดนั้นเพราะมีโอกาสเรียนรู้จากสถาบันสื่อสาธารณะทั่วโลกได้ง่าย
          องค์กร ส.ส.ท. และทีวีไทย เป็นสมบัติสาธารณะ   พวกเราขันอาสาเข้ามาเป็นกรรมการนโยบายชุดแรก โดยผ่านกระบวนการคัดสรรสาธารณะตามกฎหมายกำหนด ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้วสำเร็จ หรือล้มเหลวก็ต้องยอมรับความจริง 
เมื่อหมดเวลาก็ต้องไปครับ.
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
29 มิถุนายน 2552
 

Be the first to comment on "“TPBS :ความใฝ่ฝันกับความเป็นจริง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.