(รัฐบาลรักษาการ”คนกลาง” ตอนที่ ๒)
กรอบภารกิจของรัฐบาลรักษาการคนกลาง
๑๒-๐๑-๒๐๑๔
พลเดช ปิ่นประทีป
การกำหนดกรอบเวลาและภารกิจหลักที่ชัดเจนมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานของรัฐบาลรักษาการที่เป็นคนกลาง ควรตอกย้ำว่ารัฐบาลรักษาการคนกลางมีภารกิจในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น (ส่วนงานประจำให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้ดูแลแทน)
๑. ในกรณีที่มีเวลารักษาการเพียง ๖ เดือน ควรมีภารกิจสำคัญดังนี้
(๑) จัดตั้งสภาประชาชนในขั้นต้นโดยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมตรี เพื่อให้เป็นกลไกตั้งต้นในกระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในระยะยาว
(๒) สร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการเลือกตั้งในพรรคการเมืองทุกฝ่ายทุกขั้ว สร้างหลักประกันในเสรีภาพในการหาเสียงเลือกตั้งของทุกพรรค ในทุกภูมิภาคและชุมชนท้องถิ่น
(๓) ร่วมกับ กกต. พรรคการเมืองและภาคประชาสังคมในการปรับปรุงกระบวนการแข่งขันเลือกตั้ง ให้มีความเป็นธรรม โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับ สร้างข้อตกลงและสัตยาบันร่วมระหว่างพรรคการเมืองและให้สัญญาประชาคมต่อประชาชนทั้งประเทศในเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย
(๔) จัดวางระบบและโครงข่ายอาสาสมัครภาคพลเมืองในการเฝ้าระวังและดูแลการเลือกตั้ง หนุนการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ กกต. ทั้ง กกต.จังหวัดและกกต.ส่วนกลาง
(๕) เปิดพื้นที่ทางสังคมและสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ให้เอื้อต่อการรณรงค์และตรวจสอบการเลือกตั้ง
๒. ในกรณีที่มีเวลารักษาการ ๑๒ เดือน ควรมีภารกิจสำคัญเพิ่มเติมดังนี้
(๖) ริเริ่มโครงการขับเคลื่อนนโยบายขจัดเงื่อนไขทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นรายกระทรวง (โดยเฉพาะกระทรวงที่มีรัฐมนตรีรักษาการ) มุ่งสร้างรูปธรรมความสำเร็จในการบริหารกระทรวงแบบมืออาชีพ สร้างกลไกและระบบสำหรับกระทรวงเหล่านั้นเพื่อรองรับการกลับสู่การเมืองระบบปกติอย่างมีภูมิคุ้มกัน
(๗) กลไกสภาประชาชนที่จัดตั้งขึ้นจักต้องสามารถจัดทำและส่งมอบพิมพ์เขียว และ (ร่าง) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งโรดแม็ปการปฏิรูปเสนอต่อรัฐบาล พรรคการเมืองและสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ๕-๘ เรื่อง ที่มีความสำคัญเร่งด่วน อาทิ ปฏิรูปการปกครองและการกระจายอำนาจ ปฏิรูปการเมืองและระบบราชการ ปฏิรูประบบการตรวจสอบเพื่อป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ปฏิรูปตำรวจและระบบยุติธรรม ปฏิรูปที่ดินและการเกษตร ปฏิรูประบบเศรษฐกิจป้องกันทุนผูกขาด ปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้ปฏิรูปสังคมสร้างพลังพลเมือง
Be the first to comment on "กรอบภารกิจของรัฐบาลรักษาการคนกลาง"