นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลก “Albert Einstein” ได้เคยกล่าวไว้มานานแล้วว่า “หากมนุษย์จะอยู่รอดได้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยการไปให้จากพ้นภาวะเก่าอันวิกฤต” ด้วยเหตุนี้มนุษย์ต้องการจินตนาการใหม่ เพื่อให้มนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นมนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และแนวคิดใหม่จึงจะอยู่รอดได้
ดังนั้น จึงมีคำถามอยู่ว่า กระบวนทัศน์คืออะไร (Paradigm) และมีความสำคัญอย่างไรต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ?
การตอบคำถามดังกล่าวอาจทำให้เราต้องย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1962 ซึ่ง Thomas S.Kuhn นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ได้นำเสนอเรื่องราวของกระบวนทัศน์ หรือ“Paradigm” ไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า The Structure of Scientific Revolution โดย Kuhn ได้พยายามฉายภาพให้เห็นว่ากระบวนทัศน์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างสูงต่อวิธีคิดของมนุษย์ เพราะกระบวนทัศน์เป็นวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความเชื่อของวิธีการทั้งทางวิทยาศาสตร์ (และทางสังคมศาสตร์)
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คำว่า กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ที่ได้รับอิทธิพลจากความคิดของ Kuhn ก็ได้รับความสนใจและอาจกล่าวได้ว่ามีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ แนวปฏิบัติ วิธีวิทยา(Methodology)ของศาสตร์ต่าง ๆทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา
ในขณะเดียวกันก็ได้มีการขยายตัวอย่างกว้างขวางในแวดวงการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ของศาสตร์ต่างๆ อย่างมากมาย
Fritjof Capra เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้พูดถึงกระบวนทัศน์ ในงานเขียนเรื่อง The Turning Point (1986) หรือจุดเปลี่ยนของศตวรรษ โดยนำเสนอว่ากระบวนทัศน์คือ ชุดแนวความคิด หรือมโนทัศน์ (Concepts) ค่านิยม (Values) ความเข้าใจรับรู้(Perceptions) และการปฏิบัติ (Practice) ที่มีร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ชุมชนหนึ่งและได้ก่อตัวเป็นแบบแผนของทัศนะอย่างเฉพาะแบบหนึ่ง เกี่ยวกับความจริง (Reality) ซึ่งเป็นฐานของวิถีเพื่อการจัดการตนเองของชุมชนนั้น
หากนำแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนทัศน์มาเสนอเพื่อประยุกต์ใช้ในทางการวิจัยแล้วจะพบว่า “กระบวนทัศน์การวิจัย (Research Paradigm)” เป็นกระบวนการทางความคิดและปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิจัยที่มีการเชื่อมโยงระหว่างโลกทัศน์ (worldview) และมโนทัศน์ (concept) ต่อความเป็นจริงหรือปรากฏการณ์ในโลกอันเป็นพื้นฐานในการสร้างและทำความเข้าใจรับรู้ (perception) ต่อความเป็นจริงหรือปรากฏการณ์นั้นๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติ (practice) รวมทั้งหาวิธีการจัดการ (management) ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างแบบแผน (pattern) แบบจำลอง (model) รวมทั้ง ค่านิยม (value) ที่เป็นพื้นฐานการจัดการตนเองของชุมชนหนึ่งๆ
ดังนั้น“กระบวนทัศน์การวิจัย” จึงหมายถึงโลกทัศน์ที่ผู้ทำวิจัยมีต่อปรากฏการณ์หรือความจริงที่เกิดจนสามารถพัฒนาเป็นชุดความคิดที่มีแนวทางปฏิบัติ ในการค้นคว้า หาวิธีการเก็บข้อมูลและหาวิธีการการทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์หรือความจริงนั้น ตลอดจนสามารถหาข้อสรุปเพื่อสร้างแนวคิดและแนวปฏิบัติให้เป็นแบบแผนแบบจำลอง รวมทั้งค่านิยมเพื่อจุดมุ่งหมายในการจัดการตนเอง ชุมชนและสภาพแวดล้อมในที่สุด
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี (2545) ได้กล่าวไว้ในหนังสือวิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 สู่ภพภูมิใหม่แห่งการพัฒนาว่า ภวะเก่า (ท่านอาจารย์ประเวศใช้ “ภวะ” แทน “ภาวะ”) ของสังคมไทยและสังคมโลกได้เข้าสู่สภาพที่เสื่อมโทรมเต็มที่ โลกมนุษย์ต้องมีจินตนาการใหม่และจินตนาการใหญ่ รวมทั้งกระบวนทัศน์ใหม่ โลกมนุษย์จึงรอดพ้นได้ นั่นก็คือต้องร่วมกันสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งทางพุทธศาสนากล่าวถึงการสร้างสัมมาทิฐิและสัมมาปฏิบัติ เนื่องจากการมีสัมมาทิฐิจะนำไปสู่การสร้างสัมมาปฏิบัติทั้งสองส่วนจึงจะทำให้สังคมไทยได้เกิดหรือคลายตัวเองจากภพภูมิที่เคยอยู่ไปสู่ภวะใหม่ในทางที่สังคมควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม หากเราพากันมองย้อนกลับไปในอดีตของ 4 ทศวรรษแห่งการพัฒนา เราคงพบว่าการพัฒนาสังคมไทยที่ผ่านมาเกิดวิกฤตเป็นอย่างมากโดยเฉพาะที่เรียกว่า “วิกฤติตามกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยม” กล่าวคือ
ประการแรก ผลการพัฒนาสังคมไทยที่ผ่านมาทำให้เกิดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นพัฒนาเมืองมากกว่าชนบท
ประการต่อมา ยิ่งมีการพัฒนาก็ดูเหมือนจะยิ่งทำให้สังคมไทยต้องพึ่งพาภายนอกมากขึ้นในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาเครื่องจักรกลเทคโนโลยี การพึ่งพาวิธีคิดรวมทั้งการพึ่งพารูปแบบการดำรงชีวิต
ประการที่สาม ผลจากการพัฒนาทำให้คนในสังคมไทย ไร้ศีลธรรมมากขึ้น จิตใจเสื่อมลง มีการทำลายต้นทุนทางสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้
ประการที่สี่ ในอดีตที่ผ่านมา เกิดการรวมศูนย์ทางอำนาจการพัฒนา ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองผลก็คือชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ ชุมชนท้องถิ่นหลายชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของตนเอง
ประการที่ห้า ผลจากการพัฒนาได้ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเอาฐานทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ไปพัฒนาเข้าสู่ระบบการตลาดของสังคม และประการสุดท้าย ผลการพัฒนาสังคมที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาในทิศทางเดียวและฐานเดียวทั่วประเทศโดยไม่ได้ให้ความสนใจกับทางเลือกของท้องถิ่น
ดังนั้น “กระบวนการวิจัย” จึงถูกนำเสนอเพื่อเป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐ และองค์กร การปกครองในการตั้งคำถามวิจัย การออกแบบ เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดทางเลือกเพื่อการพัฒนาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างไม่ตรงจุด มองไม่เห็นภาพทั้งระบบที่เชื่อมเข้าหากัน
ที่ผ่านมาเช่นกัน “เครื่องมือการวิจัย” และ “การวิจัยที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ”ได้ถูกเสนอในสังคมไทยในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายแนวทางและที่สำคัญที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อวิธีคิดในการวางแผนพัฒนาก็คือแนวเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก อันมีแบบอย่างการพัฒนาจากตะวันตก รวมทั้งแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างความยุติธรรมในสังคม และที่ผ่านมาอีกเช่นกันได้พบว่างานวิจัยแนวทางนี้ยังไม่สามารถตอบคำถามและปัญหาให้กับสังคม
เนื่องจากว่าผลของงานวิจัยไปขัดผลประโยชน์กับผู้กุมอำนาจทางการเมือง และบางครั้งติดกับดักทางการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอทางเลือกเพื่อการพัฒนาให้มีการใช้งานวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมซึ่งเป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะนำเอาชาวบ้านนักวิชาการ และนักพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในการกระบวนแก้ปัญหาของตนเอง แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีการทำกันอย่างจริงจัง ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน อย่างที่เรียกว่างานวิจัยแบบมีส่วนร่วม ผลก็คืองานวิจัยในลักษณะนี้ ก็ยังไม่สามารถตอบปัญหาของชุมชนได้อยู่นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ปี 2541 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้ทบทวนการทำงาน ของ สกว. ทั้งหมดโดยพบว่า ที่ผ่านมาการสนับสนุนงานวิจัยในหลายฝ่ายได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างดี แต่ยังไม่สามารถทำให้ชาวบ้านผู้ที่อยู่ในฐานรากของสังคมได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย
ดังนั้น “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” จึงได้ถูกนำเสนออีกกลุ่มหนึ่ง เพิ่มเติมจากงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่มีอยู่แล้วโดยทั่วไป ทั้งนี้“งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น”ได้เน้นให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเป็นผู้ลงมือทำวิจัยด้วยตนเองโดยมีพี่เลี้ยง มีผู้ประสานงาน มีนักวิชาการเข้ามาร่วมกันทำงาน
งานวิจัยนี้พยายามเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากงานวิจัยแบบเดิมเข้าสู่ภวะใหม่ที่เรียกว่า“งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research) อันเป็นงานวิจัยแบบฐานรากเพื่อเสริมรากฐานของชุมชน
หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัยโดยทั่วไปแล้วนั้น มักจะพบรูปแบบเดิมๆจากการเริ่มต้นบนฐานของประเด็นเร่งด่วนตามองค์กร หน่วยงาน เจ้าของแหล่งทุน รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานวิจัย
ประเด็นเร่งด่วนบางประเด็นสามารถจัดทำเป็นแผนงานพัฒนาและจัดทำโครงการพัฒนาโดยตรงสู่กระบวนการพัฒนาชุมชนได้ แต่ในบางครั้งมีความต้องการข้อมูลและงานพัฒนาไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายทางกระบวนการคิด อาจต้องนำไปสู่เพื่อวิเคราะห์หาปัญหา หาข้อมูลสู่การค้นคว้าวิจัยโดยมีนักวิจัยเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ
งานวิจัยแบบนี้อาจเห็นภาพเชิงโครงสร้าง และไม่สามารถตอบคำถามของชุมชนท้องถิ่น
แต่ก็สามารถแก้ปัญหาและตอบปัญหาได้เฉพาะส่วนได้พอสมควร
ดังนั้น กระบวนการวิจัยและผลการวิจัยในกระบวนทัศน์เดิม กล่าวได้ว่าเป็นการทำงานแยกส่วน ยังไม่ค่อยจะเห็นการเชื่อมงานและการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีกระบวนทัศน์ในการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้ง วิถีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในอดีตที่ผ่านมาเราจึงเห็นภาพแห่งการทำงาน แยกส่วนระหว่างการวิจัยกับการพัฒนา ระหว่างงานวิจัยกับองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน และระหว่างการวิจัยกับการขับเคลื่อนในขบวนการภาคชาวบ้าน ซึ่งภวะดังกล่าว ศาสตราจารย์ น.พ. ประเวศ วะสี กล่าวว่า “ กระบวนการเช่นนี้เป็น ภวะเดิมภพเดิม และเข้าสู่วิกฤตทางกระบวนทัศน์”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เริ่มเสนองานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เมื่อต้น ปี พ.ศ. 2541 โดยตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากการวิจัย” การตอบคำถามแบบนี้ต้องมองย้อนกลับไปที่ชุมชนท้องถิ่น โดยให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดโจทย์วิจัยเพื่อตอบคำถามของตัวเอง
ถึงแม้ว่าประเด็นเร่งด่วนบางประเด็นจะสามารถจัดกระบวนการ จัดงบประมาณเพื่อนำไปสู่งานหรือโครงการพัฒนาได้ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้คนในชุมชนเข้ามาศึกษา ร่วมเก็บร่วมค้นคว้าหาข้อมูล มีการวางแผนการทำงาน มีการวิเคราะห์และสรุปบทเรียน เพื่อไปตอบประเด็นปัญหาของท้องถิ่น โดยมีพี่เลี้ยงมีที่ปรึกษา และมีเครือข่ายในชุมชนท้องถิ่นมาร่วมกันทำงาน งานวิจัยแบบนี้จึงมีประโยชน์ในการแก้ปัญหารวมทั้งนำไปสู่การชี้นำการพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ที่มา : www.manager.co.th มุม : คุณภาพชีวิต
|
Be the first to comment on "กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น (1) : การเปลี่ยนผ่านของวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ"