กะเหรี่ยงคลิตี้…8 ปีชีวิตเปื้อนตะกั่ว

 “…ในวันนี้พวกเราต้องหยุดใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในแม่น้ำ แม่น้ำและพวกเรายังคงมีสารตะกั่วในปริมาณที่มาก พวกเราไม่รู้อีกว่าน้ำในแม่น้ำของพวกเราจะสามารถนำมาใช้ได้อีก…

 

“…ในวันนี้พวกเราต้องหยุดใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในแม่น้ำ แม่น้ำและพวกเรายังคงมีสารตะกั่วในปริมาณที่มาก พวกเราไม่รู้อีกว่าน้ำในแม่น้ำของพวกเราจะสามารถนำมาใช้ได้อีกโดยไม่เป็นอันตรายต่อพวกเราและสัตว์เลี้ยง แล้วสารตะกั่วในร่างกายของพวกเราล่ะ หากวันนี้ยังไม่ได้รับการรักษา พวกเราต้องรอไปอีกจนถึงอีกกี่พรุ่งนี้…” เป็นข้อเขียนของ กาญจนา ทองผาภูมิปฐวี เยาวชนบ้านคลิตี้ล่าง ที่แจกจ่ายให้ผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าววานนี้ (8 ส.ค.) ที่มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
        ในข้อเขียนเดียวกัน ยังระบุชะตากรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์แห่งป่าตะวันตกนับร้อยที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกับเธอ ซึ่งประสบกรรมจากผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในดิน น้ำ พืช และสัตว์น้ำที่พวกเขาใช้เป็นอาหาร หากนับหลักไมล์ที่เรื่องราวของพวกเธอถูกเปิดเผยสู่สังคมเมื่อ เม.ย.2541 ถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว แต่กระนั้นปัญหาก็ยังไม่สิ้นสุด

การเปิดเผยงานศึกษาของ เทอดพงษ์ แววพิลา นักวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต เมื่อวานนี้ (8 ส.ค.) ยังคงตอกย้ำด้วยข้อมูลวิชาการว่าเงาทะมึนของสารตะกั่วยังคงคุกคามชาวคลิตี้อยู่อย่างไม่ลดละ และเป็นข้อมูลที่ท้าทายต่อความเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) และเรียกร้องความรับผิดชอบของเจ้าของโรงแต่งแร่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ จำกัด อันเป็นที่มาของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้

       เทอดพงษ์ระบุว่า การศึกษาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในตะกอนลำห้วยคลิตี้เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณสารตะกั่วในลำห้วยยังคงมีอยู่ในปริมาณที่สูง มีปริมาณตะกั่วอยู่ที่ 2 หมื่น – 3 แสนมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ค่ามาตรฐานตะกั่วในดินมีอยู่เพียง 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมซึ่งเป็นค่าเทียบเคียงกับค่ามาตรฐานการปนเปื้อนในดินของ คพ. เอง
นางมะอ่องเส่ง นาสวนบริสุทธิ์ ตามองเห็นแย่ลงและบอดสนิทเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แพทย์ระบุเป็นผลมาจากพิษของสารตะกั่ว เธอเป็นหนึ่งในชาวบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
      นอกจากนี้ หากตรวจวัดค่าความเป็นอันตรายของตะกั่ว (TCLP) จะพบว่ามีเกินกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งเป็นค่ามาตรฐานในทุกจุดตรวจวัด โดยเฉพาะจุดตรวจที่ 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน เขายังระบุว่าหากพิจารณาขนาดของตะกอนจะพบว่ายิ่งตะกอนเล็กเท่าไหร่จะมีปริมาณตะกั่วสะสมได้มากขึ้นตามไปด้วยทั้งนี้ ควรจะมีการบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

ที่ผ่านมา การวิจัยของนักวิชาการสิ่งแวดล้อมจาก ม.รังสิต ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งต่างก็ระบุถึงการปนเปื้อนสารตะกั่วในดินและน้ำจากการปลดปล่อยหางแร่ตะกั่วจากโรงแต่งแร่ ตรงต้นน้ำเหนือหมู่บ้านไปราว 10 กิโลเมตร

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา อ้างถึงการชี้แจงของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ หลังจากการลงพื้นที่ ซึ่งระบุว่าน้ำในลำห้วยชาวบ้านสามารถดื่มได้ ทั้งๆ ที่น้ำในลำห้วยซึ่งเต็มไปด้วยตะกอนดินที่มีการปนเปื้อนของตะกั่วในอัตราที่สูงเกินกว่ามาตรฐานหลายเท่า ในขณะที่ค่ามาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกระบุว่าต้องไม่มีตะกั่วเกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร แม้แต่น้ำประปาภูเขาในหมู่บ้านกระทรวงสาธารณสุขยังตรวจพบ 0.03 มิลลิกรัมต่อลิตร การกล่าวอย่างนี้เท่ากับเป็นการฆ่าชาวบ้านทางตรง

“ถ้าหากท่านรัฐมนตรีมีความเชื่อมั่นว่าน้ำในลำห้วยสามารถกินได้ ก็ฝากให้ท่านลองกินให้ดู ไม่ใช่บอกให้ชาวบ้านกินทั้งๆที่มีตะกั่วอยู่เต็มไปหมด” เขากล่าวทิ้งท้าย

เขายังกล่าวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ที่ระบุว่าให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างย้ายออกนอกพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา โดยเขาชี้ว่าชาวกะเหรี่ยงที่คลิตี้อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้มาเป็นร้อยปี น้ำในลำห้วยเคยใสสะอาด แต่เพิ่งจะมีปัญหาจากตะกั่วอย่างหนักในรอบ 10 ปีมานี้ การทำเหมืองแร่ถือว่าเป็นกิจกรรมใหม่ที่เพิ่งเข้ามาและหากจะมีการย้ายออกจากพื้นที่ก็ควรจะเอาสิ่งใหม่ออกไปมากกว่า

“แต่การเอาชาวบ้านออก และไม่ฟื้นฟูมลพิษในแหล่งน้ำอย่างที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องแปลกสำหรับหน่วยงานที่ชื่อว่ากรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

สำหรับการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว คพ.เคยแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาและเสนอแนะการดำเนินการฟื้นฟู สุรชัย ตรงงาม ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม เล่าย้อนว่า เมื่อปี 2544 คณะทำงานดังกล่าวเคยมีมติเห็นชอบให้ทางบริษัท ตะกั่วฯ จัดสร้างเขื่อนดักตะกอนและขุดตะกอนบริเวณหน้าเขื่อนไปฝักกลบให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ “เขื่อน” หรือ “ฝายหินทิ้ง” ดังกล่าวสร้างแล้วเสร็จในปี 2545 แต่ก็ยังไม่มีการขุดลอก ในขณะที่สภาทนายความที่ชาวบ้านแต่งตั้งได้เข้ายื่นเรื่องทวงถามต่อ คพ.ในการปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูลำห้วย แต่ก็ยังไม่ได้รับการชี้แจงว่าทำไมถึงไม่ได้ทำ จึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองในเดือน ก.พ. 2547

“หลังจากนั้น คพ.ก็มีการชี้แจงว่า จะไม่ดำเนินการใดๆแล้ว เนื่องจากว่าหากทำการขุดลอกจะทำให้ตะกอนฟุ้งกระจาย ซึ่งเราเห็นว่าสิ่งที่ทาง คพ.อ้างไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับชัดเจน ไม่มีข้อมูลระบุว่าเป็นผลการศึกษาหรือความเห็นของนักวิชาการท่านใดหรือกรม กองใดๆ เหตุใดจึงไม่ทำตามมติที่ประชุมของคณะทำงานที่ คพ.แต่งตั้งขึ้นมาเอง” สุรชัยกล่าว

เขากล่าวต่อว่า ด้วยเหตุดังกล่าวชาวบ้านทั้ง 22 คนที่เป็นโจทก์จึงร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ชาวบ้านไม่สามารถหาอาหารได้จากแหล่งน้ำซึ่งปนเปื้อนตะกั่ว ระบุเดือนละ 1,700 บาทต่อเดือนต่อคน ตกเป็นเงินรวม 9 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีค่าเสียหายในอนาคตคิดในอัตราเดียวกันเรื่อยไปจนกว่าจะมีการดำเนินการเข้าฟื้นฟู

ส่วนการฟ้องร้องทางแพ่งต่อบริษัทตะกั่วฯ ชาวบ้านคลิตี้ 8 คนร่วมกันเป็นโจทก์ยืนฟ้องตั้งแต่ ม.ค.2546 โดยเรียกค่าเสียหาย 119 ล้านบาท และเริ่มสืบพยานโจทก์ปากแรกเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยนัดต่อไปจะสืบในวันที่ 17 ส.ค.นี้ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี

นั่น เป็นสิ่งยืนยันว่าชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะยังคงไม่นิ่งเฉยต่อชะตากรรมของตัวเอง เรียกร้องสิทธิของตนตามที่ตนมีสิทธิ แต่ในขณะที่ความเพิกเฉย-ปัดปัญหา ยังคงสุมกองนายทุน ข้าราชการและนักการเมืองขาจรอยู่ ปัญหาที่เข้าข่ายกรณีคลาสสิคนี้ยังคงต้องจับตากันต่อไป

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

Be the first to comment on "กะเหรี่ยงคลิตี้…8 ปีชีวิตเปื้อนตะกั่ว"

Leave a comment

Your email address will not be published.