กะเหรี่ยง : คนชายขอบ บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาติไทย

กะเหรี่ยง ชนชาติเก่าแก่ชนชาติหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กะเหรี่ยงยังถูกกีดกันพื้นที่ทางสังคมในประเทศที่ตัวเองอาศัยอยู่ …

โดย อิรภัทร สุริยพันธุ์ /ศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
 



กะเหรี่ยง ชนชาติเก่าแก่ชนชาติหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กะเหรี่ยงยังถูกกีดกันพื้นที่ทางสังคมในประเทศที่ตัวเองอาศัยอยู่ จนทำให้ดูเหมือนคนเหล่านี้เป็นเพียงชาวป่า ชาวเขา หรือคนชายขอบของรัฐใหญ่

กะเหรี่ยงไม่มีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ หรือมีหลักฐานความอารยะเป็นรูปธรรมอย่างโบราณสถาน โบราณวัตถุ แต่อดีตของพวกเขาถูกร้อยเรียงอยู่ในขนบวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงบันทึกอยู่ในตำนาน นิทาน บทกวี และบทเพลง

ความเป็นคนชายขอบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หากแต่กำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับการสถาปนาอำนาจของความเป็นศูนย์กลาง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ศูนย์กลางเป็นผู้ผลิตชายขอบ ในทางเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์กลางและชายขอบมีความสัมพันธ์ที่ขึ้นตรงต่อกันและพึ่งพาซึ่งกันและกัน

แต่อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องของวาทกรรมในประวัติศาสตร์กระแสหลักคนชายขอบกลับถูกปฏิเสธหรือมองข้าม ถูกทำให้ไม่มีตัวตน ไร้คุณค่า หรือเป็นภาระแก่สังคมศูนย์กลาง และจากการที่ถูกทำให้ไม่มีที่ยืน ทำให้เกิดความจำเป็นที่ชนกลุ่มน้อยจะต้องสร้างตัวตนให้มีขึ้น เพื่อค้นหาความเป็นมาของตัวเอง และแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์สร้างการยอมรับจากสังคมใหญ่

สันนิษฐานว่า กะเหรี่ยงเริ่มมีความสัมพันธ์กับรัฐไทย (สยาม) มาตั้งแต่สมัยอยุธยาหลังจากที่มอญพ่ายแพ้สงครามต่อพม่า ในสมัยพระเจ้าอโนรธา กะเหรี่ยงซึ่งช่วยมอญรบกับพม่า จึงต้องอพยพหนีภัยจากถิ่นเดิมเข้ามาสู่ดินแดนสยามและล้านนา

 

สยามเองซึ่งก็มีความหวาดระแวงในอำนาจของพม่าได้ใช้ความเป็นผู้ชำนาญการเส้นทางป่าของกะเหรี่ยงให้เป็นประโยชน์ โดยการให้กะเหรี่ยงซึ่งตั้งหมู่บ้านอยู่ตามป่าชายแดนไทย-พม่า เป็นนายด่าน คอยตระเวนหาข่าวสอดแนม เมื่อคราวสงครามก็เกณฑ์เป็นแรงงานไพร่พลร่วมรบกับทหารไทย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลัง พ.ศ.2369 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กะเหรี่ยงในกองลาดตระเวนชายแดนตะวันออก ได้ส่งข่าวให้สยามรับรู้ความพ่ายแพ้ของพม่าต่อกองทัพอังกฤษเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้พม่าต้องสูญเสียตะนาวศรีและอาระกัน หลังจากนั้น ความหวาดระแวงที่สยามมีต่อพม่าก็เปลี่ยนไปสู่การระแวดระวังแสนยานุภาพของกองทัพอังกฤษ ดินแดนที่อยู่ของกะเหรี่ยง มีความสำคัญในการเป็นเขตกันชนของสยาม ชาวกะเหรี่ยงดูแลบริเวณชายแดนไทย-พม่า ระวังสังเกตการณ์เกี่ยวกับการขยายอำนาจของอังกฤษเข้ามาในไทย

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงยกฐานะของสังขละบุรี ซึ่งมีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน อวยยศผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงขึ้นเป็นเจ้าเมืองสังขละ พระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า ‘พระยาศรีสุวรรณคีรี ‘ ชื่อนี้มาจากการที่สังขละบุรีเป็นบริเวณที่ขุดพบแร่ทองกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ตำแหน่งนี้มีสืบต่อมา 5 คน ก่อนจะยกเลิกไปหลังการปฏิรูปการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระยาศรีสุวรรณคีรี (ทะเจียงโปรย) เป็นต้นตระกูลของตระกูลเสตะพันธุ์ หนึ่งในตระกูลที่เก่าแก่ที่สุดตระกูลหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี
 

พัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กะเหรี่ยง จากที่เคยมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกันระหว่างรัฐใหญ่กับชนกลุ่มน้อย ค่อยๆ กลายมาเป็นการพยายามกลืนวัฒนธรรม และรัฐไทยได้เข้าไปแทรกแซงการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของชุมชนกะเหรี่ยงเพื่อดึงมาไว้ในอำนาจรัฐ เหตุผลมาจากแนวคิดทุนนิยมกระแสหลักที่ทำให้เกิดนโยบายการพัฒนาเข้ามามุ่งแสวงหาผลกำไร หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

กรณีที่ชาวกะเหรี่ยงต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นการมองชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บุกรุกป่าคุ้มครอง ทั้งที่หมู่บ้านของพวกเขาอยู่ในป่าก่อนที่จะมีกฎหมายคุ้มครองป่าสงวนนับร้อยปี หรือนโยบายความมั่นคงที่ต้องการจะกลืนวัฒนธรรมย่อยของชนกลุ่มน้อยเข้ามาสู่กระแสหลัก เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในปัจจุบันและอนาคต

ภายใต้นโยบายการพัฒนาประเทศของไทย กะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งมีสถานะเป็นคนชายขอบอำนาจรัฐ กำลังอยู่ในภาวะตกขอบทางสังคม (marginationalization) เมื่อพื้นที่ทางสังคมของพวกเขาถูกลิดรอนมากขึ้นเรื่อยๆ

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และอานันท์ กาญจนพันธุ์ นักวิชาการที่สนใจปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยมีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันในเรื่องที่ว่า การสร้างประวัติท้องถิ่นจะช่วยสร้างพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยในสังคมใหญ่

ฉัตรทิพย์มองว่าการศึกษาชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยยังขาดมิติหลายๆ อย่างโดยเฉพาะการศึกษาในแง่ของประวัติศาสตร์ โดยนักวิจัยในท้องถิ่นเอง ส่วนอานันท์เชื่อว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือการหาพื้นที่ยืนของสังคมที่อยู่นอกรัฐชาติอย่างคนในท้องถิ่น หรือชนกลุ่มน้อย เป็นงานศึกษาที่อธิบายความเป็นคน เป็นมนุษย์ คนละแบบกับประวัติศาสตร์รัฐชาติที่มองคนในบริบทที่เป็นประชากรเป็นราษฎร

การสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ต้องเริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชุมชนของชนกลุ่มน้อย เพื่อรู้จักกับตัวตน ทัศนคติ และความเป็นมาของพวกเขา

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษา รับรู้และเข้าใจถึงตนเอง เป็นการคืนองค์ความรู้สู่ท้องถิ่น ก่อให้เกิดพื้นที่ใหม่ทางสังคม และการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขอันเป็นอุดมการณ์สูงสุดของการปกครองแบบธรรมาธิปไตย

 

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ / จุดประกาย : ศิลปวัฒนธรรม   30 พฤศจิกายน 2549

Be the first to comment on "กะเหรี่ยง : คนชายขอบ บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาติไทย"

Leave a comment

Your email address will not be published.