การจัดการเมืองร้อยเอ็ด

การเจริญเติบโตและการขยายตัวของเมืองร้อยเอ็ด ประชาชนในเมืองเพิ่มมากขึ้นผู้คนอพยพย้ายเข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างอาศัยอยู่ตามชุมชนแออัด การหลั่งไหลของผู้คนจากชุมชนชานเมือง…..ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมืองร้อยเอ็ด

 

กรณีศึกษาสภาพการณ์และการจัดการเมืองร้อยเอ็ด


ข้อมูลทั่วไปจังหวัดร้อยเอ็ด

            จังหวัดร้อยเอ็ดตั้งอยู่บนส่วนกลางของภาคอีสาน มีพื้นที่ 8,299.46 ตร.กม. มีประชากร 1.2 ล้านคนเศษ เขตชนบทมี 192 ตำบล 2,412หมู่บ้าน การปกครองส่วนท้องถิ่นมี 1 เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด   16 เทศบาลตำบล   186 อบต.   สำหรับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดมีพื้นที่ 11 ตร.กม. มีประชากร 37,000คนเศษ แบ่งเขตพื้นที่เป็น 16 ชุมชน

ประวัติเก่า สาเกตนคร

              เมืองร้อยเอ็ดหรือเมืองสาเกตนคร ตามตำนานอุรังคธาตุ นับเป็นเมืองเก่าแก่ ปรากฏตังแต่สมัยพุทธกาล มีหัวเมืองขึ้น 11 หัวเมือง อ่านว่า สิบเอ็ด ทางเข้า 11 ประตู เขียนว่า 10 กับ 1 =101 จึงเรียกว่าเมืองร้อยเอ็ดในปัจจุบัน  จากหลักฐานทางโบราณคดี พบวัฒนธรรมของชุมชนทวาราวดี เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญคือ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบชุมชนในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดและบริเวณที่เป็นหัวเมืองขึ้นอีก 11 เมือง สำหรับในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด บางแห่งมีสภาพเดิมเห็นได้ชัดเจน คือบริเวณทิศตะวันออกริมคลองเมืองร้อยเอ็ด

สภาพในปัจจุบัน

            ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศเป็นเขตโบราณสถาน ประกอบด้วยพื้นที่ริมรอบคลองคูเมืองร้อยเอ็ดหรือ เขตกำแพงเมืองเก่า จำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสระบัว บูรพา 1 บูรพา 2 พิพิธภัณฑ์ แตรชวลิตและชุมชนสระแก้ว มีประชากรตั้งบ้านเรือนจำนวนเกือบ 1,000ครัวเรือน และตั้งถิ่นฐานอยู่เขตโบราณสถานอีก 400 ครัวเรือนมีสำเนาทะเบียนบ้าน 285 ครัวเรือน และไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน 115 ครัวเรือน

สถานการณ์ปัญหาชุมชนในร้อยเอ็ดเป็นอย่างไร

            สภาพปัญหาหลักที่พบในชุมชนที่ตั้งอยู่บนเขตโบราณสถานคูเมืองเก่า จำนวน 400 ครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ทางรัฐไม่รับรองการตั้งถิ่นฐาน ไม่ได้รับบริการสาธารณูปโภคจากภาครัฐ ไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้มิเตอร์ของบ้านที่มีสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่มีน้ำประปาใช้ในการอุปโภค บริโภค ต้องใช้น้ำจากคลองคูเมืองอาบ ซักผ้า ตลอดจนใช้ประกอบอาหาร ส่วนใหญ่มีอาชีพกรรมกร รับจ้างแบกหามในตลาด ฐานะยากจน สำหรับเด็กและเยาวชนเรียนจบ ป.6แล้ว ไปประกอบอาชีพรับจ้าง บางคนไม่มีอาชีพ มีปัญหาในการลักขโมยของในชุมชนของตนเองและใกล้เคียง เล่นการพนัน ติดยาเสพติด ปัญหาโสเภณีเด็ก การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ขาดการวางแผนครอบครัว เป็นต้น

            ปัญหาเชิงสังคมอีกประการหนึ่ง คือผู้มีอิทธิพลในชุมชนปล่อยเงินกู้นอกระบบ เก็บดอกเบี้ยเป็นรายวันในอัตราที่สูง สร้างบ้านในที่สาธาณะให้คนยากจนในชุมชนและคนเร่ร่อนที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองเช่าอาศัย ในกรณีของชุมชนตั้งบ้านเรือนในเขตโบราณสถาน ได้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมือง ใช้โอกาสต่อรองหาเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวชุมชนเป็นอย่างมาก  ถึงแม้จะมีปัญหาหลากหลายมิติซับซ้อนอยู่ แต่ชุมชนเองก็พยายามรวมกลุ่มคนชุมชนคลองคูเมืองในการระดมทุนเพื่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนของตน

ภาครัฐมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร


            จากสภาพดังกล่าวที่เกิดขึ้นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและตัวแทนคนในชุมชนได้หาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาโดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายชุมชนออกจากเขตโบราณสถาน เริ่มจากการคัดเลือกผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการขึ้นมาเป็นตัวแทนจัดเวทีประชาคม หาข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ที่อาศัยในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาดูงานตัวอย่างของ    จ. สกลนครและจ. อยุธยา

            ทั้งนี้ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด สำนักผังเมืองจังหวัด การเคหะแห่งชาติ ได้จัดหาพื้นที่รองรับใหม่สำหรับการย้ายที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่สุดเขตเทศบาลห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก 5 กม. โดยมีเครือข่ายชุมชนสาเกตนคร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ประสานแหล่งทุน เกิดโครงการบ้านมั่นคงพัฒนา ของคนชุมชนคลองคูเมืองขึ้นจำนวน 250 ยูนิต โดยเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดมีแผนการจัดสวัสดิการสำหรับผู้ย้ายถิ่น อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีที่บำบัดน้ำเสีย การอบรมฝึกให้มีอาชีพไว้รองรับ เป็นต้น

            สำหรับการย้ายถิ่นฐานไปชุมชนใหม่นี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากชาวชุมชนมีทั้งความหวังว่าจะพ้นจากชุมชนเดิม สู่การสร้างชุมชนใหม่ที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวชุมชนดีขึ้น แต่ยังไม่ทราบว่าจะประสบชะตากรรมอย่างไร อนาคตยังไม่แน่นอน รวมทั้งการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องแบกภาระหนี้ผูกพัน ตลอดจนความแตกต่างทางความคิดของคนในชุมชนเองด้วย  นับเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตของคนทั้งครอบครัวและทั้งชุมชนเลยทีเดียว

สภาพการขยายตัวของเมืองร้อยเอ็ดส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาใด    

            จากสภาพการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเมืองร้อยเอ็ด ประชาชนในเมืองเพิ่มมากขึ้นผู้คนอพยพย้ายเข้ามาประกอบอาชีพรับจ้าง อาศัยอยู่ตามชุมชนแออัด รวมถึงการหลั่งไหลของผู้คนจากชุมชนชานเมืองและชุมชนใกล้เคียงเข้ามาประกอบอาชีพในตัวเมืองล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมือง ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณขยะมีจำนวนถึง 40 ตันต่อวัน สำหรับผู้คนที่สัญจรผ่านถนนสายร้อยเอ็ดกาฬสินธุ์ไปด้านทิศเหนือของเมือง จะเจอกับกองขยะมหึมา และมีควันลอยอยู่เหนือกองขยะขนาดใหญ่รวมทั้งกลิ่นที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ

             ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ทิ้งขยะตามสถานที่สาธารณะ การนำขยะจากบ้านหรือชุมชนรอบนอกเข้ามาทิ้งในเมือง และปัญหาพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างเขตเทศบาลกับอบต.เป็นต้น

 

             หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะเทศบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เกี่ยวกับการกำจัดขยะและหาพื้นที่ในการกำจัดขยะ โดยการซื้อที่ทิ้งขยะ จำนวน 112 ไร่ ในพื้นที่รอยต่อของอบต.อุ่มเม่า ห่างจากตัวเมือง 15 กม. แต่ถูกชาวบ้านในชุมชนต่อต้าน  ปัญหาขยะท่วมเมืองจึงยังเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจของชาวเมืองร้อยเอ็ดต่อไป
             เนื่องจากพื้นที่เขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สวนสุขภาพกลางตัวเมือง มีบึงพลาญชัยและมีคูคลองล้อมรอบชุมชนเมืองอีกชั้นหนึ่ง เป็นแหล่งรองรับน้ำเสียจากชุมชนคลองคูเมืองที่อยู่ริมคลองสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำห้วยเหนือ เขต ต.เหนือเมือง และการชะล้างปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืช  ลงสู่ลำห้วย ไหลลงลำน้ำชี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าว

การจัดระบบจราจรและการคมนาคมในจังหวัดร้อยเอ็ดมีมาตรการอย่างไร

            การคมนาคมเป็นปัญหาหนึ่งของเมืองร้อยเอ็ด ในขณะที่ปริมาณรถเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่ถนนภายในตัวเมืองยังคับแคบ สภาพผิวจราจรขรุขระ ระบบสัญญาณไฟขัดข้อง ป้ายจราจรไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จะเห็นได้จากช่วงเทศกาลปีใหม่2547ที่ผ่านมา ร้อยเอ็ดมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ

            อีกทั้งปัจจุบัน รถยนต์สามล้อเครื่องส่วนบุคคลหรือรถสกายแลป ใช้รับส่งผู้โดยสารทั้งในตัวเมืองและชานเมืองซึ่งรถดังกล่าวไม่มีทะเบียนเพราะเป็นรถดัดแปลงไม่ถูกกฎหมาย มีสภาพเก่า และผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ ขาดความรู้เรื่องกฎจราจรและระเบียบวินัยในการขับขี่  เช่นขับขี่ในขณะมึนเมา การถูกเอาเปรียบจากผู้มีอิทธิพลที่คุมคิว ตลอดจนไม่มีมาตรฐานด้านราคา จากการสำรวจยังพบว่า 87%ไม่มีใบอนุญาตขับขี่   43% ขับขี่รถยนต์สามล้อเครื่องขณะเมาสุรา   27% ประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่สามล้อเครื่อง  จากการสำรวจความต้องการของผู้ขับขี่พบว่า  ส่วนใหญ่ต้องการใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สามล้อเครื่อง  ประกันภัย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัย เครื่องแต่งกายหรือสัญลักษณ์ที่ชัดเจนและจัดตั้งกลุ่มชมรมสามล้อเครื่องเมืองสาเกตนคร

 

 

การแก้ปัญหาเรื่องรถยนต์สามล้อเครื่องส่วนบุคคลเป็นไปในทิศทางใด
และประชาคมสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ดมีบทบาทอย่างไรต่อปัญหาดังกล่าว


          ประชาคมสุขภาพท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ด มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสาธารณะที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา จึงได้ประสานงานและหารือร่วมกันกับภาคีกัลยาณมิตรประกอบด้วย สำนักงานสาธาณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานขนส่งจังหวัดร้อยเอ็ด ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานประกันภัยจังหวัดร้อยเอ็ด โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ชมรมประกันวินาศภัยจังหวัดร้อยเอ็ด  ชมรมสื่อสร้างสรรค์จังหวัดร้อยเอ็ด  ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์สามล้อ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2547 ในรูปแบบการบรรยายและการอภิปรายกลุ่ม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ ทำให้เกิด ปฏิญญาประชาคม มีสาระสำคัญคือ ผู้ขับขี่รถยนต์สามล้อเครื่องจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่ บัตรประจำรถยนต์สามล้อเครื่อง  พ.ร.บ.ประกันภัย อาสาสมัครแจ้งอุบัติเหตุและช่วยเหลือในกลุ่มสมาชิก
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2547  ได้มีพิธีมอบใบอนุญาตขับขี่และใบติดรถของผู้ขับขี่โดยมีนายนพพร จันทรถง   ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธี และมีภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 20 องค์กร ในการทำบัตรประจำรถยนต์สามล้อเครื่องจำนวน1,509 คัน  จัดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้ขับขี่รถยนต์สามล้อเครื่อง  ผลจากการอบรม ได้มีการจัดโซนจุดรับส่ง และจัดทำเสื้อเพื่อใส่ประจำโซนโดยแบ่งเป็น 5 โซนคือ โซน1สีแดง   โซน2 สีแสด  โซน3สีฟ้า  โซน4สีเขียว  โซน5สีน้ำเงิน

คาดว่าในอนาคตอันใกล้ กลุ่มสามล้อเครื่องเมืองสาเกตนครจะสามารถจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกภายในกลุ่มและก้าวออกมาช่วยเหลือสังคมต่อไป

          เส้นทางจักรยาน  สำนักงานสาธารณสุขร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้มีแนวคิดที่จะจัดระบบจราจรเมืองให้มีถนนสำหรับรถจักรยาน  อีกทั้งยังเป็นการรณรงค์และปลูกจิตสำนึกประชาชนให้หันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น

          จากสภาพปัญหาดังที่ได้กล่าวมา การจัดการผังเมืองร้อยเอ็ด นับเป็นกรณีที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของเมืองหลักของภาคอีสานในปัจจุบัน กระบวนการทำงานและจัดการกับปัญหาจึงต้องมีการร่วมมือกันของภาคประชาสังคมโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรตระหนักว่าเป็นปัญหาสาธารณะและร่วมกันขับเคลื่อนการทำงาน มีความจริงใจในการแก้ปัญหาเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่นและสังคมต่อไป

ที่มา : โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ (จังหวัดร้อยเอ็ด)

เรียบเรียง : สันสกฤต มุนีโมไนย
กองบรรณาธิการ

 

Be the first to comment on "การจัดการเมืองร้อยเอ็ด"

Leave a comment

Your email address will not be published.