การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 1)

การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 1)

: วิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองใน 20 ปี ข้างหน้า :

พลเดช ปิ่นประทีป/ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เขียนให้ โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2557

     การปฏิรูปเป็นเรื่องความจำเป็นต่อชะตากรรมของประเทศและสังคมไทย ดังมีผู้คนเรียกร้องต้องการขยายวงกว้างออกไปทุกที แม้บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะปฏิรูปอะไรและอย่างไร แต่ก็เกิดความสำนึกและตระหนักรู้ขึ้นมาจากการได้ประจักษ์ปัญหาบ้านเมือง และผลกระทบกับตัวเองในระดับที่แตกต่างกันไป

     มาถึงวันนี้ ผมคิดว่าสังคมไทยควรต้อนรับสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการกำหนดเป้าหมายประเทศในระยะยาวที่เราอยากเห็น อย่างน้อยสัก 20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเรียกเล่น ๆ ว่า “วิสัยทัศน์ 2035” สำหรับให้เป็นการบ้านในการกำหนดทิศทางและวางแผนปฏิรูปประเทศกันในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่ง TD Forum จะขอยกเป็นตุ๊กตาเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

 

 

 

ด้านเศรษฐกิจ

  • ในด้านเศรษฐกิจมหภาค สถานะของประเทศที่ยังคงติดกับดักรายได้ปานกลางมายาวนานร่วม 30 ปี ควรจะหลุดพ้นกับดักและก้าวขึ้นสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงของโลกได้ก่อนถึงปี พ.ศ.2575
  • ในเงื่อนไขนี้ สัดส่วนคนยากจนของประเทศไทยที่มีแนวโน้มลดลงมาโดยลำดับตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก็ควรลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 และสัดส่วนคนจนในเมืองกับชนบทก็ไม่ควรห่างกันเกินร้อยละ 5.0
  • ใน 20 ปีข้างหน้า จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้สินซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาทุกปี เมื่อถึงตอนนั้น ควรเหลือไม่เกินร้อยละ 50 ขณะเดียวกันขนาดของหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยทั่วประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 200,000 บาท/ครัวเรือน

ด้านสังคม

  • ระดับความรุนแรงของปัญหาการกระจายรายได้ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ในปี 2035 ควรจะมีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้นไปอีก กล่าวคือมีค่าสัมปสิทธิ์จินี ต่ำกว่า 0.400 คืออยู่ในระดับเท่าๆ กับค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียและอาเซียน -5 หรือ สหรัฐอเมริกา
  • เช่นเดียวกัน กลุ่มประชากร 20% ที่รวยสุด กับกลุ่มประชากร 20% ที่จนสุด ควรมีรายได้ต่างกันไม่เกิน 7.5 เท่า
  • ในด้านขนาดและโครงสร้างประชากร คาดว่าประเทศไทยจะมีประชากรเพิ่มจำนวนเป็น 70.9 ล้านคนในปี 2563, 74.0 ล้านคนในปี 2573 และ 75.1 ล้านคนในปี 2583 โดยในปี 2563 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และปี 2583 กำลังแรงงาน 1 คน จะแบกรับภาระเลี้ยงดูเด็ก 0.2 คนกับผู้สูงอายุอีก 0.6 คน

     ดังนั้น วิสัยทัศน์ 20 ปี ข้างหน้าสำหรับด้านนี้ คือ ประเทศไทยจะมีหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมและมีระบบสวัสดิการสังคมที่หลากหลาย ทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น สำหรับรองรับสังคมสุงอายุได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ

  • ในด้านกำลังแรงงานสำหรับการพัฒนาประเทศ ที่คาดว่าจำนวนแรงงานไทยจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ วิสัยทัศน์ใน 20 ปีข้างหน้าคือ ประเทศไทยสามารถจัดระเบียบแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการอนุญาตเข้าเมือง อนุญาตทำงาน การเสียภาษีเงินได้ การจัดสวัสดิการสังคมและสุขภาพที่ทั่วถึงเป็นธรรม ไม่มีปัญหาการค้ามนุษย์แอบแฝง

ด้านความมั่นคงของประเทศ

  • ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมเป็นเรื่องเรื้อรัง ซึ่งแนวนโยบายในการแก้ปัญหาที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมาตามนโยบายของนักการเมืองที่ขาดองค์ความรู้ และยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม นอกจากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ยังมีแนวโน้มที่รุนแรง จนเกิดสภาพผู้ป่วยยาเสพติดล้นโรงพยาบาลและนักโทษยาเสพติดล้นคุก

     ปัญหากระบวนการยุติธรรมขั้นต้น (ตำรวจและอัยการ) ที่ดำรงอยู่เป็นต้นตอของปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่คนยากจนและประชาชนผู้ไร้อำนาจต่อรองได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางและซึมลึกอารมณ์ความรู้สึกมากที่สุด จึงมีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรวดเร็วมากในช่วงที่ผ่านมา

    ปัญหาชายแดนใต้ นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความวิตกกังวลมากที่สุดของสังคมไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา นโยบายและกลไกในการแก้ปัญหาไฟใต้ที่ขาดเอกภาพ มีส่วนทำให้ประเทศต้องทุ่มเทงบประมาณลงไป ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทในแต่ละปี โดยยังไม่มีวี่แววว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

     ปัญหาแม้วัยทีม หรือการตั้งครรภ์ของเด็กวัยรุ่นอายุน้อย กำลังเป็นปัญหาที่ไต่ระดับและทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี โดยในปี 2555 พบแม่อายุต่ำสุดเพียง 10 ปี เท่านั้น ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีสถิติแม่วัยรุ่นสูงที่สุดในเอเชียแล้ว และเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศแอฟริกาใต้

      วิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงภายในขอปงระเทศใน 20 ปีข้างหน้า คือ ประเทศไทยประสบความสำเร็จในด้านการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นทั้งระบบในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยความร่วมมือของสังคมทุกภาคส่วน รวมทั้งปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปสังคมอย่างบูรณาการ จนสามารถดูแลปัญหาความมั่นคงภายในประเทศในทุกมิติ รวมทั้งปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ และสามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้อย่างยั่งยืน จนทำให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนที่เป็นสะพานเชื่อมตะวันออกลางและโลกมุสลิม

ด้านคุณธรรมจริยธรรม

  • ปัญหาความเสื่อมถอยทางด้านคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยมีแนวโน้มที่รุนแรงถึงขั้นวิกฤติแล้ว ดังที่เห็นได้จากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจที่เกิดขึ้นกับระบบงบประมาณโครงการต่าง ๆ ของส่วนราชการและองค์กรปกครองท้องถิ่น นักการเมืองและคนในระดับชนชั้นปกครอง ซึ่งถือได้ว่าควรจะเป็นบุคคลที่ต้องเป็นแบบอย่างให้กับสังคม กลับมีพฤติกรรมไม่ซื่อตรง ไม่รับผิดชอบและพูดโกหกต่อหน้าสื่อมวลชนอย่างหน้าด้านๆ เอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ต้องนำพาสังคมให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก

     วิสัยทัศน์ด้านคุณธรรมจริยธรรมใน 20 ปีข้างหน้า คือ สังคมไทยประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบการศึกษาและฟื้นฟูระบบคุณธรรมจริยธรรมโดยความร่วมมือร่วมใจกันของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ จนสามารถสถาปนาองค์กรและหน่วยงานอันหลากหลายที่มีมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล ในทุกวงการ ทุกภาคส่วน และทุกจังหวัด อำเภอทั่วประเทศ อย่างน้อยร้อยละ 50

Be the first to comment on "การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 1)"

Leave a comment

Your email address will not be published.