การปนเปื้อนแคดเมียมที่แม่ตาว : มุมมองทางออกของกฎหมาย

ปัญหาการแพร่กระจายของสารพิษแคดเมียม รัฐบาลปล่อยให้เป็นหน้าที่การจัดการปัญหาโดยหน่วยงานในจังหวัดและท้องถิ่น โดยที่ระดับปัญหาของพื้นที่และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีในระดับกว้างและมีจำนวนมากกว่า 12 หมู่บ้าน 3 ตำบล …พื้นที่ที่ชาวบ้านได้เคยใช้ทำการเกษตร ทำนา …กลับต้องปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่าสุดหูสุดตา…

2 กุมภาพันธ์ 2549

ดอยผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก

     ได้มีโอกาสไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้งหลังจากได้มีการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียมในนาข้าว ของชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว และลุ่มน้ำแม่กุ ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยสถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ หรือ อิมี่ (International Water Management Institute : IMWI) เมื่อปลายปี พ.ศ.2546 แม้สถานการณ์ของปัญหาจะได้รับการผ่อนคลายจากภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องในการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่เป็นชาวนา ในพื้นที่เสี่ยงไร่ละ 4,220 บาท/ไร่/ปี ไปแล้ว แต่พบว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขในระยะยาว ยังเป็นปัญหาที่รอวันปะทุอยู่ทุกเวลา และโดยเฉพาะปัญหาที่ยังถูกมองข้ามในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

 

หลายคนได้สอบถามผู้เขียนว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนก็รู้ๆอยู่ว่าสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน แต่ทำไมไม่สามารถเอาผู้ที่ก่อปัญหามาลงโทษได้ตามกฎหมาย หรือว่ากฎหมายไทยมี แต่อ่อนล้าด้อยประสิทธิภาพ ที่จะปกป้องคุ้มครองชาวบ้านได้ คำถามเช่นนี้จึงต้องใคร่ขออธิบายเพื่อใช้เป็นประเด็นในทางวิพากษ์กันต่อไปว่า สังคมไทยควรต้องทำอย่างไรต่อไป ดังนี้

การเข้าไปจัดการปัญหาเร่งด่วนของภาครัฐ

การเกิดปัญหาการแพร่กระจายของสารพิษแคดเมียมดังกล่าว รัฐบาลปล่อยให้เป็นหน้าที่การจัดการปัญหาโดยหน่วยงานในจังหวัดและท้องถิ่น โดยที่ระดับของปัญหาของพื้นที่และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีในระดับกว้างและมีจำนวนมากกว่า 12 หมู่บ้าน 3 ตำบล ซึ่ง ณ เวลานี้ (มกราคม พ.ศ.2549) ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน พื้นที่ที่ชาวบ้านได้เคยใช้ทำการเกษตร ทำนา ปลูกถั่วเหลือง ปลูกหอม-กระเทียม กลับต้องปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่าสุดหูสุดตา โดยที่ชาวบ้านเพียงแต่เฝ้านอนรอรับเงินค่าชัดเชยแค่ไร่ละประมาณ 4 พันกว่าบาทเท่านั้น (แต่ถ้าเป็นที่เช่าก็จะแบ่งค่าชดเชยคนละครึ่งกับเจ้าของที่ดิน) ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนเงินชดเชยดังกล่าวไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำวัน/เดือน/ปี ที่ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่ากับข้าว ค่าข้าว ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนประจำวัน ค่าใช้จ่ายในการเรียนของลูก ค่ายารักษาตัวเองและครอบครัวยามเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆ

ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นแม้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะพยายามเข้าไปมีส่วนในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมควบคุมโรค โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานพยาบาลสาธารณสุข จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัด อบต. สถาบันการศึกษา วิจัย สำนักงบประมาณ ส.ส.-ส.ว. ฯลฯ แต่การแก้ไขปัญหาและการให้การช่วยเหลือก็ต่างคนต่างทำ ไม่มีเอกภาพ หรือไม่มีการบูรณาการการช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จนไม่อาจนำไปสู่ความอุ่นใจและเชื่อมั่นของชาวบ้านได้อย่างชัดเจน

ปัญหาดังกล่าว มีกฎหมายที่บัญญัติมาตรการไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่ยอมนำมาใช้ คือ “พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 9” ที่บัญญัติไว้ว่า

 

“เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัยประชาชน หรือก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐเป็นอันมาก ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควรให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใด รวมทั้งบุคคลซึ่งได้รับหรืออาจได้รับอันตรายหรือความเสียหายดังกล่าวกระทำหรือร่วมกันกระทำการใด ๆ อันจะมีผลเป็นการควบคุมระงับหรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะมลพิษดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งบุคคลนั้นไม่ให้กระทำการใดอันจะมีผลเป็นการเพิ่มความรุนแรงแก่ภาวะมลพิษในระหว่างที่มีเหตุภันตรายดังกล่าวด้วย…”

 

ข้อบัญญัติตามกฎหมายมาตราดังกล่าวในวรรคแรกนั้น น่าจะเพียงพอเมื่อนำเหตุการณ์การแพร่กระจายและปนเปื้อนสารแคดเมียมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวมาบังคับใช้กับข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีกลับไม่เลือกใช้มาตรการและหรือช่องทางดังกล่าวเลย ซึ่งหานายกรัฐมนตรีมีภารกิจมากก็อาจจะมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจนั้นได้ ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 9 วรรคสอง ที่ว่า

“อำนาจในการสั่งตามวรรคหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการภายในเขตจังหวัดแทนนายกรัฐมนตรีได้ โดยให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา…”

ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว ก็จะทำให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพ ตามข้อบัญญัติทางกฎหมายดังกล่าว มาตรา 10 ที่ว่า

“มาตรา 10 เพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไข ระงับ หรือบรรเทาเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายจากภาวะมลพิษตามมาตรา 9 ให้รัฐมนตรีกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า”

ซึ่ง “รัฐมนตรี” ในที่นี้อันดับแรกคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ที่สามารถสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด เช่น กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ ฯลฯ สามารถร่วมกันกำหนดมาตรการและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่างๆได้ทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว (รวมทั้งงบประมาณ) โดยเมื่อจัดทำมาตรการแล้วก็ขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีโดยผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย) อยู่แล้วตามกฎหมายได้ การปฏิบัติการการป้องกัน แก้ไขปัญหาก็จะดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว มีเอกภาพ

ส่วนหน่วยงานกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ก็สามารถรองรับมาตรการตามมาตรา 9 ดังกล่าวได้ โดยสามารถนำมาเป็นแผนปฏิบัติการภายในกระทรวงของตน ในการเข้าไปร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้ เช่นกัน

ตลาด อ.แม่สอด แหล่งระบายข้าว สู่
ผู้บริโบคอีกจุดหนึ่ง

 การพิสูจน์หาแหล่งที่มาและสาเหตุของปัญหา

นับตั้งแต่สถาบันจัดการคุณภาพน้ำนานาชาติ (International Water Management Institute : IMWI) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เข้าไปทำการเก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541-2546 และนำผลสรุปของงานวิจัยเสนอต่อ รมว.ทส. จนมีข้อมูลบางส่วนถูกเผยแพร่ออกมาจนถึงสื่อมวลชนได้รายงานเป็นที่ตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ และทั้งพื้นที่ในอำเภอแม่สอดแล้ว กระทรวงทรัพยากรฯ ไม่อาจทนนิ่งเฉยอยู่ได้จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมของพื้นที่ดังกล่าวขึ้น โดยกรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรธรณี ก็ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างดิน น้ำ ข้าว พืชพรรณอาหารของชาวบ้านมาตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบที่แถลงออกมาพบว่ากลับขัดแย้งกันไม่สามารถสรุปที่มาและสาเหตุของปัญหาได้ กล่าวคือ

กรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อสันนิษฐานว่า การปนเปื้อนของสารแคดเมียมเกิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากในบริเวณที่ไม่มีกิจกรรมการรบกวนจากมนุษย์ พบสารแคดเมียมน้อย เช่น บริเวณบ้านถ้ำเสือ ซึ่งอยู่ต้นน้ำและอยู่เลยเหมืองแร่ขึ้นไป แต่หมู่บ้านตั้งแต่เหมืองแร่ลงมาคือ พะเด๊ะ แม่ตาวใหม่ จนถึงแม่น้ำเมยกลับพบว่ามีสารแคดเมียมสูงและลดหลั่นลงมาตามลำดับ

กรมทรัพยากรธรณี กลับบอกข้อสันนิษฐานว่า การปนเปื้อนของสารแคดเมียมเกิดขึ้นจากกระบวนการธรรมชาติ เพราะตรวจพบว่าบริเวณห้วยแม่กุ ซึ่งไม่ได้ไหลผ่านเขตเหมืองแร่ แต่พบตะกอนแร่มีสารแคดเมียมในปริมาณที่สูงด้วยเช่นกัน จึงเชื่อว่าการปนเปื้อนของสารแคดเมียมมาจากการผุพัง และชะล้างพลังทลายของดินและแหล่งแร่ที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยกระบวนการทางธรรมชาติเช่นน้ำฝนชะล้างลงมา เป็นต้น

เมื่อข้อมูลของหน่วยงานรัฐ ที่อยู่กระทรวงเดียวกันแท้ ๆ ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ตรงกันได้ ความหวังของประชาชนจึงถูกริดรอน ผนวกเดียวกันกับที่บริษัทเหมืองผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้าง “ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 2 ล้านบาทมาทำการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของการเกิดสารแคดเมียมในธรรมชาติและผลกระทบที่มีต่อมนุษย์ ซึ่งสรุปว่า มีสาเหตุมาได้ทั้ง 2 แนวทาง คือสาเหตุของการเกิดปัญหาแคดเมียมปนเปื้อนและที่สะสมในดินส่วนใหญ่มาในรูปแบบตะกอน ที่ถูกพัดพามาโดยน้ำฝน และจากกิจกรรมการเปิดหน้าดินในที่สูงของลุ่มน้ำ รวมทั้งกิจกรรมเหมืองแร่ แต่ไม่ยอมรับว่าสาเหตุใหญ่ที่แท้จริงมาจากอะไร

แม้ว่าพื้นที่ต้นน้ำลำห้วยแม่ตาว จะเป็นพื้นที่ภูเขาสูงที่กรมป่าไม้ประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ชนิดของป่าต้นน้ำชั้น 1B และ 1A ที่มีศักยภาพของสายแร่สังกะสี เป็นจำนวนมากอยู่ด้วยก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ถ้ารัฐบาล ไม่มีมติ ครม. และร่วมมือกับภาคเอกชนในการอนุญาตให้เอกชน 2 รายเข้ามาทำสัมปทาน (บริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด(ปัจจุบันปิดเหมืองไปแล้ว) และบริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด) เปิดหน้าดินทำเหมือง และกองดินที่มีหางแร่ผสมอยู่น้อยทิ้งไว้ปล่อยให้น้ำฝนชะล้าง พังทลายลงสู่ลำห้วยและพื้นที่ต่ำด้านล่าง ในพื้นที่ต้นน้ำลำห้วยแม่ตาว และลำห้วยแม่กุ ซึ่งอยู่ขนาบกัน ก่อนที่จะไหลลงไปรวมกันยังลำน้ำแม่เมย ระยะทางของสายน้ำประมาณ 25 กิโลเมตรนั้น ปัญหาก็ไม่น่าที่จะเกิด หรือแม้เกิดก็ไม่น่าที่จะเป็นปัญหารุนแรง และแผ่กว้างไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำที่ต่ำกว่าพื้นที่รับสัมปทานทำเหมืองแร่ ตลอดสายน้ำได้ แม้จะพิสูจน์ชัดเจนลงไปเลยว่ามาจากต้นเหตุที่ใดก็ตาม และที่สำคัญนับตั้งแต่เริ่มมีกิจกรรมทำเหมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 โดยบริษัทไทยซิงค์ จำกัด (ก่อนที่จะโอนสัมปทานให้บริษัทผาแดง อินดัสทรี จำกัด) เป็นต้นมา ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยใดพิสูจน์หรือกล่าวถึงเลยว่าได้มีการจัดทำบ่อกักเก็บตะกอนแร่ หรือน้ำฝนที่ไหลเซาะพื้นที่หน้าดินบริเวณเหมือง แล้วปล่อยลงสู่ลงลำห้วยแม่ตาวมาอย่างยาวนั้น มีผลกระทบสะสมเป็นเช่นไร (พรบ.สิ่งแวดล้อมฉบับแรกเพิ่งมี พ.ศ.2518)

เมื่อการพิสูจน์ตามหลักวิชาการของทั้ง 3 หน่วยงานภาครัฐ ไม่สามารถยืนยันสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้ การที่ชาวบ้านผู้เจ็บป่วย เดือดร้อน และได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 (ละเมิด) ได้เพียงใดที่ว่า

“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

ก็ย่อมที่จะเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นที่จะพิสูจน์ให้ได้ว่า “ผู้ใด” นั้นคือใคร (บุคลธรรมดาหรือบุคลตามกฎหมาย) เป็นการยากยิ่งกว่าเข็ญครกขึ้นภูเขา หากจะใช้สิทธิทางศาล เพราะการที่จะนำสืบโดยอ้างให้หน่วยงานรัฐทั้งสามดังกล่าวหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาเป็นพยานเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ ก็คงไม่สามารถได้ข้อมูลที่เป็นน้ำหนักที่เพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัยของศาลได้ หรือแม้แต่จะใช้อำนาจ ตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 ก็ย่อมจะยาก ที่ว่า

“แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใด ๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้นไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม…

…ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าของ หรือครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่งหมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริง ในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย”

เนื่องเพราะจะต้องพิสูจน์ให้ได้ชัดเจนว่า “แหล่งกำเนิดมลพิษ” ที่แท้จริงมาจากอะไรแน่ จึงจะใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่จัดการได้ และเมื่อหน่วยงานรัฐที่มีทั้งองค์ความรู้ บุคลากร และงบประมาณเพรียบพร้อม ยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงของปัญหานี้ได้ หากชาวบ้านจะใช้สิทธิทางศาลเพื่อทำการพิสูจน์เองก็คงจะเป็นเรื่องลำบาก เพราะต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการนำพิสูจน์ หรือหาข้อสรุปที่เป็นหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนในการหาแหล่งที่มาของมลพิษที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต

1) ควรปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ในมาตรา 96 วรรคหนึ่งเสียใหม่ โดยเพิ่มเติมคำว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า แหล่งกำเนิดมลพิษนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จนได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือทรัพย์สินเสียหาย”

และในวรรคสอง นอกจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายต่อผู้เสียหาย รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษด้วยแล้ว ควรเพิ่มเติม ข้อความใหม่ที่ว่า “ให้ฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมและค่าเสียโอกาสของผู้เสียหาย ที่เสียหายไปให้กลับคืนมาสู่สภาพปกติด้วย”

ทั้งนี้เพราะการเพิ่มเติมถ้อยคำ “สันนิษฐาน” เข้าไปนั้น เพื่อต้องการให้การพิสูจน์เป็นภาระแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษ (ตามหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด-Strict Liability) มากกว่าที่จะปล่อยให้ประชาชนผู้ยากจนและด้อยโอกาส ต้องมารับภาระการพิสูจน์ที่สลับซับซ้อนยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง นั่นเอง

2) ทรัพยากรแร่ หรือทรัพยากรใดๆ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ย่อมเป็นสมบัติหรือทรัพยากรของคนทั้งประเทศ เมื่อถึงคราวที่จะต้องนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาใด ๆ ให้คนทั้งประเทศหรือทั่วโลก แต่ชาวบ้านหรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก็น่าที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่มากกว่าประชาชนที่อื่นในรูปของ “กองทุนพัฒนาอาชีพหมู่บ้านหรือตำบล” หรือ “กองทุนประกันความเสี่ยงด้านสุขภาพ” แม้บริษัทที่รับสัมปทานทำเหมืองแร่ จะจ่ายค่าภาคหลวงและภาษีให้กับรัฐบาลอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม แต่รัฐก็ควรที่จะกำหนดสัดส่วนของเงินเหล่านั้นมาใช้เพื่อพัฒนาประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ในอัตราที่เหมาะสม (คนละประเภทกับภาษีท้องถิ่น) และการบริหารจัดการเงินดังกล่าวต้องให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการใช้จ่ายเงินเพื่อการพัฒนาอาชีพและอื่น ๆ

3) การชดเชยค่าเสียหายจากการไม่สามารถปลูกข้าวได้ (ไร่ละ 4,220 บาท/ปี) โดยเงินงบประมาณของภาครัฐ (ที่มาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ) ยังไม่น่าที่จะเพียงพอ เนื่องจากเกษตรกรมักปลูกข้าวสลับกับการปลูกถั่วเหลือง หรือปลูกหอม-กระเทียม หรือพืชผักอื่นๆด้วย อีกทั้งภาครัฐต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจของประชาชนที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ตามปกติ และไม่สามารถแสวงหาอาหารที่มีอยู่ในธรรมชาติตามปกติ มารับประทานได้ในครัวเรือน เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา สัตว์น้ำต่างๆ ในลำห้วย ในแปลงนา ฯลฯ เพราะเกรงว่าจะปนเปื้อนสารแคดเมียม สิ่งเหล่านี้ต้องถือว่าเป็น “ทุนทางธรรมชาติ” เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้โดยไม่ต้องไปซื้อหาตามตลาด รวมทั้งความเดือดร้อนในทางสังคมของชาวบ้านอันเนื่องมาจากมี “แรงงานส่วนเกิน” เกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะชาวบ้านไม่มีงานทำ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมอื่นๆตามมาได้ รวมทั้งการปล่อยให้มีแรงงานเถื่อนชาวพม่า เข้ามารับจ้างแรงงานในพื้นที่ด้วยอัตราค่าจ้างที่แสนถูกเพียง 70 บาท/วัน ซึ่งแตกต่างจากแรงงานชาวไทยที่ค่าจ้างมาตรฐานที่ 120 บาท/วัน ดังนั้นจึงควร…

– เพิ่มค่าชดเชยให้ชาวนาเป็นไร่ละ 10,000 บาท/ปี
– เข็มงวดในการปราบปรามแรงงานเถื่อนชาวพม่าที่มาแย่งงานคนไทยอย่างจริงจัง
– เร่งการส่งเสริมการประกอบอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับพืชอาหารให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด และดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่แหล่งทุน การผลิต การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว จนถึงการตลาด
– จัดฝึกอบรมทักษะอาชีพ-ช่างฝีมือใหม่ๆให้ชาวบ้าน เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างอิเล็คทรอนิก ช่างเย็บผ้า ช่างซ่อมรถมอเตอร์ไซด์-รถยนต์ การประกอบอาหาร ฯลฯ

ข้อเสนอดังกล่าวดูเหมือนจะยาก แต่จะง่ายมากหากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสนใจ

และจริงจังต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็จะได้ฟื้นฟูสภาพจิตใจของชาวบ้าน ให้กลับคืนมาได้อีกครั้งแม้จะไม่สมบูรณ์เต็มร้อยก็ตามที และที่สำคัญต้องเร่งพิสูจน์ให้ได้ชัดเจนว่าแหล่งของปัญหามลพิษที่แท้จริงมาจากไหนกันแน่ โดยอาจจะตั้งคณะนักวิชาการที่เชี่ยวชาญทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เคมี ชีววิทยา เกษตรศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และทางสังคมศาสตร์ จากหลากหลายหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้ามาร่วมกันพิสูจน์ สืบสวน และวิจัย บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นดูแล้วไม่น่าที่จะยากมากนักที่จะพิสูจน์บนพื้นฐานของความยุติธรรม ยกเว้นว่าจะมีม่านสีม่วง สีเทา มาปิดบังองค์ความรู้จนละเลยจริยธรรมของความเป็นนักวิชาการไปเท่านั้น ที่จะไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร…

ที่มา : www.thaingo.org

 

 

Be the first to comment on "การปนเปื้อนแคดเมียมที่แม่ตาว : มุมมองทางออกของกฎหมาย"

Leave a comment

Your email address will not be published.