การศึกษาศักยภาพในการจัดการปัญหาสาธารณะตามวิถีชาวบ้าน : กรณีศึกษา การจัดการภัยแล้งในตำบลเสือโก้ก อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
วิภาณุ คงจันทร์ (วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการบริหารสิ่งแวดล้อม
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
กชกร ชิณะวงศ์ รวบรวม
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษารูปแบบการจัดการปัญหาภัยแล้ง ในฐานะที่เป็นปัญหาสาธารณะของกลุ่มชาวบ้าน ว่ามีพัฒนาการตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทางทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม รูปแบบการแก้ปัญหาเหล่านั้นตั้งอยู่บนองค์ประกอบ หรือเงื่อนไขปัจจัยใดบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การอธิบายถึงศักยภาพและความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการจัดการปัญหาสาธารณะ โดยผู้วิจัยได้เลือกทำการศึกษาในชุมชนตำบลเสือโก้ก อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม อันเป็นพื้นที่ที่มีประสบการณ์แก้ปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง
ผลการศึกษาวิจัยในหัวข้อนี้ ได้ค้นพบประเด็นสำคัญต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบรูปแบบ การแก้ปัญหาภัยแล้งของชุมชนตำบลเสือโก้ก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ในแถบภาคอีสาน เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ชุมชนในภาคอีสานต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งมานานนับตั้งแต่อดีต ภาวะฝนแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่คุกคามแผ่นดินอีสานซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาอย่างยาวนาน ประวัติศาสตร์หลายเมืองหลายหมู่บ้านได้บันทึกเรื่องเหล่านี้เอาไว้ในอดีต เช่น ในราวปี พ.ศ. 2453 อันเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดภาวะฝนแล้งขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีอย่างรุนแรง และในระดับหมู่บ้านเอง ก็ได้รับความทุกข์อันเกิดจากภาวะภัยแล้งเช่นกัน เช่น การเกิดโรคระบาด ความอดอยาก ซึ่งเกิดขึ้นกันทั่วหน้า ทั้งชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงวัวควาย เพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านต้องอาศัยทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตมาทุกยุคทุกสมัย
สำหรับชาวบ้านในตำบลเสือโก้ก ก็มีชีวิตไม่แตกต่างไปจากชาวบ้านในชุมชนอีสานอื่น ๆ เลย พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเรื่อยมา ย้อนหลังไปในอดีต ในยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานใหม่ ๆ การบุกเบิกที่ดินยังไม่กว้างขวางเป็นผืนนาใหญ่เหมือนในปัจจุบัน ในที่ดอนยังคงเป็นป่าที่ยังไม่มีการบุกเบิกถากถางขยายออกไป ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนมีที่ดินเป็นแปลงเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณที่ลุ่ม ทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพียงพอสำหรับการกินในแต่ละปีเท่านั้น และในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงติดต่อกันหลายปี การทำนาก็ไม่ได้ผล ชาวบ้านจึงเกิดปัญหาข้าวไม่พอกิน ในยุคหลัง ๆ สมาชิกในชุมชนมีมากขึ้น ทำให้น้ำท่าไม่พอกินไม่พอใช้ ชาวเสือโก้กต้องทนรับกับสภาพการขาดแคลนน้ำทุกปี คันคลองหนองน้ำในทุ่งนาที่แห้งขุ่นข้น ไม่พอที่จะเลี้ยงวัวควาย ส่วนน้ำกินน้ำใช้ ก็ต้องไปเข้าคิวรอตักจากบ่อน้ำนานเป็นหลายชั่วโมง ชาวบ้านเล่าว่า เกือบทุกครอบครัวไม่ว่าจนหรือรวยก็ต้องรอซื้อน้ำเพื่อกินเพื่อใช้ในช่วงหน้าแล้งทุกปี จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ปีไหนที่แล้งหนัก ภาระการหาน้ำกินมาใช้ก็หนักขึ้นเป็นทวีคูณเช่นกัน และด้วยสภาพปัญหาจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้ก่อให้เกิด
คำถามสำคัญที่ชวนให้ขบคิด หาคำตอบว่า คนอีสานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจนถึงรุ่นปัจจุบัน มียุทธศาสตร์หรือวิธีการดำเนินชีวิตและผ่านพ้นปัญหาภัยแล้งที่เวียนมาครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างไร?
จากการศึกษาถึงวิธีการแก้ปัญหาภัยแล้งของชาวตำบลเสือโก้ก พบว่า รูปแบบในการแก้ปัญหาสามารถจำแนกได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่หนึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นวิธีการที่ชาวบ้านใช้มากที่สุด เพื่อให้ความเดือดร้อนผ่านพ้นไป ในช่วงที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในช่วงที่หมู่บ้านเพิ่งตั้งถิ่นฐานใหม่ ชาวบ้านต่างตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือกัน ทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชน ในยุคนั้น
แบบแรกคือ การออกขอแลกข้าวจึงถูกใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในทุกหมู่บ้าน แต่ในช่วงที่ฝนไม่ตกติดต่อกันนานเกินกว่าจะประทังได้ ด้วยการพึ่งพาเพื่อนบ้าน ชาวบ้านหลายครัวเรือนได้ตัดสินใจ แก้ปัญหาโดยการออกนอกหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งตัดสินใจย้ายถิ่นไปหาที่ทำกินใหม่ อีกส่วนหนึ่งออกไปขายแรงงานในต่างถิ่น และทั้งการย้ายถิ่นและการอพยพไปทำงานต่างถิ่น เป็นรูปแบบที่ใช้แก้ปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การแก้ปัญหาในรูปแบบนี้เป็นการร่วมมือกัน ในระดับกลุ่มที่อาศัยความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติและเพื่อนบ้านเป็นหลัก ไม่มีการจัดรูปโครงสร้างกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือหรือบริหารจัดการกลุ่มแต่อย่างใด หากดำเนินไปตามธรรมชาติของหมู่เครือญาติซึ่งเชื่อฟังผู้อาวุโส ผู้มีประสบการณ์มากกว่าเป็นหลัก ในปัจจุบันพบว่าการอพยพไปทำงานต่างถิ่นนั้น ชาวบ้านยังเชื่อมโยงเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนเช่นเดิม โดยมีโครงข่ายการช่วยเหลือติดต่อสื่อสารหลวม ๆ อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านตำบลเสือโก้กไปทำงานหรือตั้งหลักแหล่งอยู่
รูปแบบที่สอง เป็นการแก้ปัญหาผ่านประเพณี ความเชื่อพื้นบ้าน เป็นรูปแบบที่ยังคงได้รับการสืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวอีสานไปแล้ว เนื่องจากสามารถเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน ในการอดทนต่อสู้กับภัยแล้งมาหลายชั่วอายุคน ความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนายฟ้าฝนเหล่านี้ สามารถเป็นจุดร่วมของชาวบ้าน ที่จะสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นในชุมชน พร้อมทั้งเริ่มต้นทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง กับการเตรียมตัวต้อนรับภาวะฝนแล้ง เช่น คำตักเตือนของผีปู่ตาให้ซ่อมทำนบเหมืองฝาย การตักเตือนให้สามัคคีปรองดองกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พบว่า พิธีกรรมทางความเชื่อหลายอย่างได้เริ่มสูญหายไปตามวันเวลา
สิ่งสำคัญเนื่องจากความซับซ้อนของพิธีกรรมทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมเหลือไม่กี่คน ขณะเดียวกันชาวบ้านก็หันไปให้ความสำคัญกับวิธีการแก้ปัญหาที่ส่งผลอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า พิธีกรรมที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบันหลายอย่างก็เริ่มถูกปรับบทบาทให้สามารถตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว และชุมชนมากขึ้นด้วย เช่น การระดมทุนทอดผ้าป่าร่วมไปกับการทำบุญบั้งไฟ หรือการทำนายตัวเลข การใบ้หวยไปพร้อมกันในพิธีทำนายฟ้าฝนของผีปู่ตา เป็นต้น
รูปแบบการแก้ปัญหารูปแบบที่สาม คือ การแก้ปัญหาโดยความร่วมมือและการพึ่งพากันเองภายในชุมชน เป็นวิธีการที่มุ่งแก้ไขที่สาเหตุของปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาสำคัญที่ทำให้ชุมชน สามารถฟันฝ่าวิกฤตธรรมชาติมาได้ในอดีต เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการเตรียมรับมือกับภาวะภัยแล้งอย่างตรงไปตรงมา เช่น การขุดบ่อน้ำ การขุดสระ การสร้างทำนบเหมืองฝาย เป็นต้น วิธีนี้นับว่าเป็นมรดกการแก้ปัญหาที่ทิ้งไว้ช่วยเหลือลูกหลานในปัจจุบันได้มากทีเดียว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รูปแบบการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ดำเนินไปได้ คือ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้นำทางจิตใจ ผู้นำที่สามารถสร้างศรัทธาให้ชาวบ้านมาร่วมแรงร่วมใจกันได้ ประกอบกับในยุคนั้นการช่วยเหลือจากรัฐยังเข้าไปไม่ถึง ชุมชนจึงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยตัวเอง สำนึกถึงชะตากรรมร่วมจึงเกิดขึ้น เพราะถ้าหากไม่ลงมือช่วยกันเองแล้วก็ไม่อาจฝ่าวิกฤตไปได้ อย่างไรก็ตามการลงมือดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นภายใต้บริบทชุมชน ที่ยังเกี่ยวโยงพึ่งพากันอย่างเหนี่ยวแน่น
เมื่อการพัฒนาทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น
ในยุคต่อมา การแก้ปัญหาในรูปแบบที่สี่ จึงเริ่มปรากฏมากขึ้น นั่นคือ การแก้ปัญหาโดยผ่านทางโครงการของรัฐหรือองค์กรภายนอกชุมชน ซึ่งบทบาทในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนไปอยู่ที่ผู้นำและหน่วยงานจากภายนอกเป็นหลัก ในขณะที่ชาวบ้านเป็นผู้รับผลจากการพัฒนา และการถูกกำหนดบทบาทให้เป็นผู้รับผลกระทบแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้เกิดการสะสมความคิดในเรื่องบทบาทการแก้ไขปัญหาของชุมชนว่าเป็นของรัฐและผู้นำ การคิดริเริ่ม การลงมือแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยการร่วมมือของชาวบ้านจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่เปลี่ยนเป็นการเสนอโครงการไปให้หน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการให้เป็นหลัก
กระบวนการและผลจากรูปแบบการแก้ไขปัญหาทั้ง 4 รูปแบบ
ได้สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการจัดการปัญหาสาธารณะร่วมกันของชาวบ้านในระดับชุมชน ที่มีทั้งปัจจัยที่เป็นทุนหนุนเสริมและปัจจัยที่เป็นอุปสรรค สำหรับในตำบลเสือโก้กนั้น เมื่อพิจารณาเป็นรายหมู่บ้าน จะเห็นถึงความแตกต่างในรายละเอียดของรูปแบบ การแก้ปัญหาสาธารณะและระดับการให้ความสำคัญระหว่างการพึ่งพิงพลังภายในชุมชน กับการพยายามดึงทรัพยากรและความช่วยเหลือจากภายนอก ซึ่ง
กลวิธีในการดึงทรัพยากรจากองค์กรภายนอกชุมชนนั้นได้พัฒนาการ จนกระทั่งมาสู่การใช้พลังมวลชน (Pressure group) เพื่อเสนอความคิด ความต้องการของชาวบ้านต่อหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจกลายเป็นวิธีที่ชาวบ้านนำมาใช้เพื่อการจัดการปัญหาสาธารณะนั้น ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน การปรับกรอบความคิดไปสู่การพึ่งตนเอง การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อนำไปสู่การกำหนดอนาคตของชุมชนตนเองอย่างแท้จริงหรือไม่ มิเช่นนั้น การรวมตัวกันของภาคประชาชนเพื่อสร้างพลังต่อรองกับภาครัฐ ภาคธุรกิจหรือภาคอื่น ๆ ในสังคม อาจเพียงนำไปสู่การแก้ปัญหาส่วนรวมบนระบบอุปถัมภ์รูปแบบใหม่เท่านั้น รวมทั้งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมได้
อย่างไรก็ตามศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการการอยู่ร่วมกันนั้น ย่อมสัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเป็นสำคัญ กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ในส่วนหนึ่งต้องอาศัยการจัดกระบวนการภายในชุมชนเอง ว่าจะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ การถกเถียง กระบวนการคิด ตัดสินใจร่วมกันอย่างไร การให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เป็นต้น และในขณะเดียวกันองค์กรภายนอกซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน โดยเฉพาะองค์กรของรัฐต้องปรับ
บทบาทตนเอง ทั้งระดับการเข้าไปจัดการปัญหาสาธารณะของชุมชนและกระบวนการทำงานให้เอื้อและสอดคล้อง เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งและการจัดการการอยู่ร่วมกันของชาวบ้าน
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่งานวิจัยครั้งนี้ค้นพบ คือ ศักยภาพในการจัดการการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านยังมีข้อจำกัดในระดับและขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยจากการศึกษาในตำบลเสือโก้ก พบว่า การร่วมกันคิดหาทางแก้ไขปัญหา หรือการจัดการการอยู่ร่วมกันในระดับที่กว้างกว่าขอบเขตหมู่บ้านหรือกลุ่มบ้านนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก ชาวบ้านยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยง ความร่วมมือของสังคมในระดับที่กว้างขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะชาวบ้านมีชีวิตที่ต่างคนต่างอยู่ ซ้ำยังประสบกับความยากจน และส่วนใหญ่ยังคงกังวลกับการช่วยเหลือตนเอง ให้หลุดพ้นจากภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ทำให้ขาดการวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงสาเหต ุและหาทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตนเองกับปัญหาของส่วนรวม การแก้ปัญหาจึงมุ่งไปที่ต่างคนต่างทำ ยิ่งไปกว่านี้ ยังไม่มีสมบัติสาธารณะร่วมกันในระดับกว้าง เช่น ไม่มีแม่น้ำสายหลักที่ใช้ร่วมกันในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด จึงมองไม่เห็นประเด็นสาธารณะร่วมกันในวงกว้าง และเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับวิถีชีวิตตนเอง เนื่องจาก การรับรู้และการตระหนักในชะตากรรมร่วมเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ดังนั้นเมื่อไม่เกิดชะตากรรมร่วม โอกาสในการสื่อสารสาธารณะเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ เรียนรู้ และการจัดการการอยู่ร่วมกันในระดับกว้างจึงไม่เกิดขึ้น และเมื่อไม่เกิดประสบการณ์หรือกิจกรรมการทำงานสาธารณะ ในระดับกว้างขึ้น การเริ่มต้นเรียนรู้การทำงานลักษณะนี้ จึงอาจทำได้โดยการอาศัยการกระตุ้นจากภายนอก หรือการได้ออกมาเรียนรู้ประสบการณ์จากชุมชนอื่น
หากพิจารณาในภาพรวมของประเทศ จะพบว่าสภาพสังคมที่ขาดการมองความเชื่อมโยงถึงการอยู่ร่วมกัน ในสังคมระดับหรือขอบเขตกว้างกว่าปัญหาเฉพาะตัว หรือปัญหาที่เกี่ยวกับปากท้องของตนเองโดยตรงนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ชุมชนทั้งในระดับเมืองและชนบท มิได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ตำบลเสือโก้กเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามการศึกษาในกรณีตัวอย่างครั้งนี้ ต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่า กระบวนการจัดการการอยู่ร่วมกันในประเด็นย่อย ๆ หรือในขอบเขตพื้นที่เล็ก ๆ เป็นพื้นฐานและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของพัฒนาการการเรียนรู้การจัดการการอยู่ร่วมกันในสังคมที่กว้างขึ้น เพื่อนำไปสู่การยกระดับการจัดการสู่การมีส่วนร่วมเสนอนโยบายและกฎหมายต่อไป
Be the first to comment on "การศึกษาศักยภาพในการจัดการปัญหาสาธารณะตามวิถีชาวบ้าน"