การสร้างรากฐานที่ดีเพื่ออนาคตประเทศไทย

“การกำหนดนโยบายสาธารณะมีผลกระทบรุนแรงทั้งทางบวก ทางลบต่อทุกทุกภาคส่วน  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สังคมควรใช้ความรู้และวิชาการเข้ามาพิจารณาอย่างรอบคอบ คือ การใช้ความรู้และปัญญา ที่ได้มาจากการสังเคราะห์และวิจัย และเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายชุมชน ฝ่ายนักวิชาการ ฝ่ายเอ็นจีโอ ฝ่ายธุรกิจ  ฝ่ายราชการ ฝ่ายการเมือง  ฝ่ายสื่อมวลชน…”(ศ.นพ.ประเวศ  วะสี )

เรียบเรียงโดย สันสกฤต  มุนีโมไนย  กองบรรณาธิการ ทีมสื่อสารสาธารณะ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2548    โรงแรมแอมบาสเดอร์     มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย    จัดเวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง   การสร้างรากฐานที่ดีเพื่ออนาคตประเทศไทย   มีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน ประกอบด้วยนักวิชาการ  นักการเมือง   สื่อมวลชน  นักธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชุมชน สรุปสาระสำคัญดังนี้


ศ.นพ.ประเวศ  วะสี
   กล่าวว่า  การกำหนดนโยบายสาธารณะมีผลกระทบรุนแรงทั้งทางบวก ทางลบต่อทุกองคาพยพ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สังคมควรใช้ความรู้และวิชาการเข้ามาพิจารณาอย่างรอบคอบ คือ การใช้ความรู้และปัญญา ที่ได้มาจากการสังเคราะห์และวิจัย และเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายชุมชน ฝ่ายนักวิชาการ ฝ่ายเอ็นจีโอ ฝ่ายธุรกิจ  ฝ่ายราชการ ฝ่ายการเมือง  ฝ่ายสื่อมวลชน          เราต้องคุยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะจัดวิจัยเรื่องนโยบายสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วนำผลการวิจัยมาสู่เวทีนโยบายสาธารณะที่มีการเน้นเรื่องการเรียนรู้ร่วมกัน  ไม่เน้นเรื่องการมาทะเลาะวิวาทโต้เถียงกัน   ถ้าทุกมหาวิทยาลัยสามารถทำวิจัยอย่างนี้  หรือเป็นเครือข่ายนักวิชาการ หรือนักการเมือง คิดว่าในอนาคต พรรคการเมืองน่าจะทำงานทางวิชาการ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ หรือแม้แต่ตั้ง สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะขึ้นมา  ถ้าทุกมหาวิทยาลัยทำเช่นนี้แลัวนำไปสู่เวทีนโยบายสาธารณะ  เชื่อว่า ในอีก 5-10 ปีสังคมทุกภาคส่วนจะยกระดับความรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะได้มากขึ้น”

การสร้างนโยบายสาธารณะจำเป็นต้องมี  (1) กระบวนการทางปัญญา ประกอบด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้   (2) กระบวนการทางสังคม คือมีคนเข้าร่วม  (3) กระบวนการทางศีลธรรม คือเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนทั้งมวล    การจัดเวทีนโยบายสาธารณะ เพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนนี้ไม่ใช่จัดครั้งนี้ครั้งเดียว ควรจัดเวทีอย่างนี้ทุก 1-2 เดือน แล้วแต่กำลังของผู้จัด ขอให้มีประเด็น  ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ได้ทำวิจัยหลายประเด็น แต่ไม่ได้นำมาสู่เวทีนโยบายสาธารณะ งานวิจัยบางส่วนลงมือทำไปแล้ว บางส่วนอยู่ระหว่างลงมือปฏิบัติ  ท่านที่สนใจก็มาเข้าร่วมเวทีอย่างนี้ได้ทุกเดือน เราจะเคลื่อนตัวไปอย่างนี้ คิดว่าประเทศคงจะดีขึ้น  มีการเรียนรู้ร่วมกันจากความรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงความเห็น  สังคมก็จะเคลื่อน

 

ตัวไปในทางที่ดีขึ้น”

        “ตัวอย่างเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับภาคใต้และปัญหาราคาน้ำมัน   ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไข โดยปัญหาความรุนแรงในภาคใต้กำลังถูกเชื่อมโยงให้เป็นความขัดแย้งทางสังคม การทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ใช่เป็นเพียงการนำเสนอว่าควรจะทำอะไรบ้าง แต่ต้องเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ และการรับฟังข้อเสนอแนะ รวมถึงการส่งเสริมเครือข่ายสันติวิธีให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และเน้นการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ     ในขณะที่ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะโครงสร้างสังคมไทยเป็นสังคมที่กินน้ำมัน (Petroleum eating society)     ประชาชนถูกกระตุ้นให้ต้องเสพสุขในสิ่งต่างๆเช่น ต้องใช้รถมาก ต้องเดินห้างสรรพสินค้า หรือการขนส่งสินค้าที่ใช้รถบรรทุก ดังนั้นต้องคิดว่า ทำอย่างไรที่จะใช้น้ำมันให้น้อยลง เช่น ส่งเสริมให้คนใช้ตลาดนัดชุมชนมากกว่าเดินห้างสรรพสินค้า ใช้จักรยานแทนรถ  หรือการใช้รถไฟขนส่งสินค้าแทนการใช้รถบรรทุก    ต่อไปต้องส่งเสริมการเดินให้มาก ในชุมชนไม่ต้องใช้รถ หันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น การออกกำลังกาย เช่นการเต้นแอโรบิกควรนำมาแปลงเป็นพลังงานให้ได้  ขณะเดียวกันสังคมต้องหาพลังงานทดแทน เช่น เราสามารถผลิตข้าวและน้ำตาลได้มาก ถ้ารัฐส่งเสริมให้ประชาชนต้มเหล้าโดยรัฐรับซื้อเพื่อไปกลั่นเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ก็จะช่วยได้มาก หรือการออกมาชุมนุมของสมัชชาคนจน เป็นความพยายามของคนที่เดือดร้อนอยากให้รัฐบาลได้ยิน แต่เป็นเรื่องยาก เพราะขนาดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมา 27 ปี ก็ยังไม่ค่อยมีใครได้ยิน แต่การชุมนุมก็ถือเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย เพียงแต่คนไทยส่วนใหญ่จะเห็นเป็นเรื่องน่ารำคาญ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เรื่องสมัชชาเรียกร้อง รัฐบาลก็ทำไม่ได้ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงควรแก้ปัญหาร่วมกัน

ศ.นพ.ประเวศยังกล่าวอีกว่า    ขณะนี้รัฐบาลมีอำนาจมากที่สุด  มากกว่าทุกรัฐบาลที่เคยมี ก็ควรทำเรื่องที่คนอื่นทำไม่ได้ เช่นการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการลดหลั่น เอาเปรียบ แม้ว่าที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมพยายามทำเรื่องนี้มานาน ก็ยังทำไม่ได้ ในเมื่อรัฐบาลมีอำนาจมาก ก็อยากให้รัฐบาลตั้งใจทำเรื่องนี้ เพราะการที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาความยากจนได้นั้น รับรองว่าแก้ไม่ได้ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ก่อน    ส่วนทิศทางของสังคมไทยวันนี้ คือการที่จะพัฒนาความเข้มแข็งของทุนทางสังคมที่ไม่ใช่เงิน  เพราะปัจจุบันมีความพยายามจะแปลงทุนของคนส่วนใหญ่ทั้งหมดในประเทศไปเป็นเงินสำหรับคนส่วนน้อยและคนต่างชาติ

ดร.เกษม  ศิริสัมพันธ์  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  กล่าวว่า  คนตะวันตกมักพูดกันว่า สิ่งที่บ่งชี้ถึงการเป็นประชาธิปไตยคือ การเลือกตั้ง ซึ่งคนในบ้านเราก็คิดเช่นนั้นกันมาก ส่วนตัวเห็นว่าการมีครม. มีรัฐมนตรี เป็นแค่เปลือกนอก การเป็นประชาธิปไตยจะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก ปัญหารากฐานของอนาคตประเทศไทย ขณะนี้คือ เราจะต้านทานกระแสโลกที่เป็นทุนนิยมได้อย่างไร เพราะเป็นกระแสที่มีอิทธิพลและบิดเบือนสิ่งต่างๆมากเหลือเกิน  หนทางคือยึดตามแนวพระราชดำรัส คือการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต ทุกคนเห็นด้วยหมด แต่ไม่มีการปฏิบัติเกิดขึ้น เราจึงควรพิจารณากันว่า ทำอย่างไรที่เราจะฟื้นกลับไปหาตัวของเราเอง   ที่ผิดแผกแตกต่างจากกระแสโลกอาจจะเริ่มด้วยการ 

 
รณรงค์ให้ Return to the basic คือ กลับไปหาคุณธรรมพื้นฐานในเรื่องของความสันโดษ หิริโอตตัปปะ เบญจศีล เบญจธรรม

 

อ.ชัยวัฒน์  ถิระพันธ์  ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กล่าวว่า  ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าสถานการณ์จะเร็วจนตั้งตัวไม่ติด ปลายปีนี้ถ้าสหรัฐบุกอิหร่าน น้ำมันจะแพงกว่านี้ สถานการณ์โลกอีก 10 ปี จะปั่นป่วน การอยู่ในโลกที่ปั่นป่วนและเคลื่อนไปด้วยความเร็ว  ปัญญาและหัวใจ จะเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงต้องทำ 2 เรื่อง

     (1) สร้างนโยบายสาธารณะที่สามารถพัฒนาทักษะให้ดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ หรือโลกที่ขัดแย้งกันตลอดเวลา แต่ผมคิดว่า ในอีก 20 ปีต่อไป วัตถุนิยมจะแผ่วลง และด้านจิตใจ ศาสนาจะกลับขึ้นมา แต่ระหว่างนี้จะทำอย่างไรไม่ให้สังคมไทยเสียหายไปมากกว่านี้การส่งไม้ต่อสู่คนรุ่นหลังสำคัญมาก ถ้าตั้งตัวไม่ติด จะเจ็บยาว อย่างที่อาร์เจนตินา ฟิลิปปินส์ เป็นมาแล้ว

     (2) การอยู่กับโลกที่ซับซ้อนต้องใช้พลังเพื่อเอาชนะอุปสรรค ต้องให้คนปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพ การทะเลาะกัน ผนึกกำลังกันไม่ได้ การมองทะลุระบบที่ซับซ้อนเป็นเรื่องสำคัญ  ต้องสร้างโครงสร้างที่ยืดหยุ่น ไม่แข็งทื่อ สื่อต้องป้อนข้อมูลกลับสู่สังคมให้เร็วว่า ความจริงของสังคมคืออะไร ถ้าสังคมไทยไม่เห็นความจริงจะอยู่ไม่ได้

 

     นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า  การจะสร้างรากฐานที่ดีของประเทศให้เกิด จะต้องสานรากของนโยบาย วิสัยทัศน์ และกระบวนการทางสังคม แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ สาระในการตั้งโจทย์ ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เราจะอยู่ในฐานะผู้เดินตามหรือสวนทาง เมื่อโลกเปลี่ยนเป็นระบอบทุนนิยม  แล้วทำอย่างไรเราจะอยู่กับทุนนิยมอย่างมีความสุข  โดยที่ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธข้อดี

     “การสร้างการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนระบบการเมืองตัวแทนก็มีคุณค่า ระบบราชการก็มีคุณค่า ระบบชุมชนก็มีคุณค่าในการสร้างสรรค์นโยบาย  การสร้างค่านิยมวัฒนธรรมการเมืองที่ดี  คือการสร้างให้คนยอมรับในระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองในปัจจุบันไม่ค่อยมีตรง

จุดนี้ วัฒนธรรมทางการเมืองปัจจุบันไม่มีการมองนโยบายสาธารณะ  ซึ่งเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดการสร้างสังคมโดยรวมนโยบายจะถูกมองตามความอยากของแต่ละบุคคล

กติกาเป็นส่วนที่สำคัญมาก  ผมคิดว่าการที่เราจะทำให้ทุกคนเคารพกติกาเป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งทางสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  อาจจะต้องมีการโต้แย้งกันทางปรัชญา  และต้องมีการถกเถียงถึงบทบาทของรัฐว่าจะทำอย่างไร  ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศควรอยู่ที่ส่วนไหน ตอนนี้เราหมกมุ่นอยู่แต่ปัญหา  โดยไม่คำนึงถึงปัญหาระยะยาว หากเป็นแบบนี้ต่อไป การเดินไปข้างหน้าจะน่าเป็นห่วง และในส่วนเศรษฐกิจก็นึกถึงแต่เรื่องเงิน มากกว่าข้าวปลาอาหารที่จะได้

 

 

      ดร.เสกสรรค์  ประเสริฐกุล  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เชื่อว่าในสังคมสลับซับซ้อน รากฐานที่ดีอาจมีความแตกต่างกันไป แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีการตีความว่า จุดมุ่งหมายและอุดมคติทางสังคมจริงๆคืออะไร มีคนออกมาแสดงวิสัยทัศน์ มักจะเป็นเทคนิคในการอยู่รอดในกระแสโลกาภิวัฒน์ หรือแข่งขันทางเศรษฐกิจต่างๆซึ่งทำให้เราหลุดลอยออกไปจากจุดมุ่งหมายพื้นฐานของการเกิดมา       การวางรากฐานที่ดีของสังคมไทย เราต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าชีวิตที่ดีคืออะไร  ในเวลานี้ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง บางคนไม่ได้ตั้งคำถามด้วยซ้ำ มีแต่ตอบรับสิ่งเร้าไปวันๆ

มองอย่างกว้างขวางแล้วทุกคนต้องการความสุข  คนเราจะมีความสุขได้ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี 3 ประการ คือ (1) มีความสัมพันธ์ที่ลงตัวกับตัวเอง  เราไม่ได้ใส่ใจกับส่วนนี้เลยว่า บางครั้งเราเกลียดตัวเอง ทะเลาะกับตัวเอง  (2) มีความสัมพันธ์กับคนอื่น  (3) มีความสำคัญกับธรรมชาติและจักรวาล  ถ้าสามส่วนนี้มีความสมานฉันท์ลงตัว ชีวิตคนก็น่าจะมีความสุข และสามส่วนนี้ก็มีส่วนแปลมาเป็นระบบของสังคมได้

เรื่องความเหลื่อมล้ำที่สุดขั้ว ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในส่วนของอำนาจและการเมือง ทำให้คนเบียดเบียนกัน ทำให้เกิดการโต้กลับที่รุนแรงทางการเมือง เพราะฉะนั้นการจัดความสำคัญทางเศรษฐกิจสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทำให้เกิดความสมานฉันท์ในหมู่ของมนุษย์    เราจะใช้หลักการเพียงหลักการเดียวไม่ได้ เป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องดูแลให้ครบทุกมิติ

เมื่อคนมีความลงตัว มีสันติภาพกับตนเองและผู้อื่น การอยู่ร่วมกับธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย การเบียดเบียนจากธรรมชาติทั้งหมดนี้ เกิดจากคนที่มีอำนาจเกินคนอื่นมากเกินไป คนที่มีทุนเงินตรากว่าคนอื่นมากเกินไปและขาดการมีส่วนร่วมของคนที่ไม่มีอำนาจ นอกจากนี้เกิดจากการที่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์อันเปราะบางหรือความสมดุลระหว่างมนุษย์กับจักรวาลทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่หลุดลอยออกจากความเป็นจริง”

 

พระไพศาล  วิสาโล     กล่าวว่า  ปัญหาของประเทศคือการกินบุญเก่า  ด้วยการนำทรัพยากรไปก่อให้เกิดการลงทุน  จึงทำให้ละเลยที่จะคิดลงทุนเรื่องคน  เวลานี้เลยเถิดถึงขนาดเอาวัฒนธรรมไปขาย  ดังนั้น  เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำคือการสร้างจิตสำนึกซึ่งต้องยอมรับว่าองค์กรดั้งเดิม  เช่น  วัด หรือพระภิกษุสงฆ์  ที่ทำหน้าที่บ่มเพาะจิตสำนึกดั้งเดิมก็อ่อนแอลง  ในขณะที่องค์กรสร้างจิตสำนึกแบบใหม่ เช่น  โรงเรียน  สื่อ  ตลาด  หรือสถาบันการเมืองก็กลับทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร  แถมมีแนวโน้มไปในการสร้างจิตสำนึกที่ผิด  จึงเห็นว่าต้องการสร้างอนาคตของประเทศบนรากฐานที่ดีต้องสร้างสถาบันที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีจิตสำนึก  มีสติปัญญา  จริยธรรม จิตวิญญาณที่ดี  เพราะที่มีอยู่เป็นตัวคนมันไม่ยั่งยืน

 

ครูสน  รูปสูง  จาก อ.วังน้อย จ.ขอนแก่น  นโยบายสาธารณะที่รุนแรงก็สร้างความรุนแรงให้สังคม นโยบายสาธารณะที่ผ่านมาเกือบ 50 ปีเป็นนโยบายที่รุนแรง ทำให้ภาคชนบทล้มละลายเต็มไปด้วยกองหนี้ ผมคิดว่าตอนนี้ทิศทางการพัฒนาบ้านเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง การแก้ปัญหาความยากจนต้องแก้ที่ต้นตอของความยากจน คือแก้นโยบายที่ผิดพลาด การเติบโตของภาคทุนนิยมเกิดจากเนื้อหนังของภาคชนบท เรื่องความยากจนไม่ใช่เรื่องพูดเล่น จนคือไม่มีข้าวจะกิน ต้องกินน้ำปลาแทนข้าว ถ้าทำกันจริงๆต้องทบทวนถึงทิศทาง กฎหมาย กลไกอันเป็นตัวกำกับในการบริหารทั้งหมดว่ามันเป็นอุปสรรค เป็นต้นตอแห่งความยากจนหรือไม่  ความยากจนมีหลายจน มีทั้งจนใจ จนปัญญา จนทรัพย์  ถ้าถ้าเราเข้าใจว่าคนจน จนเฉพาะทรัพย์แล้วอัดเม็ดเงินลงไป ก็เหมือน

กับคนจนถูกหวย การแก้จนต้องแก้ที่ใจ จากใจไปสู่ปัญญา จากปัญญาไปสู่เรื่องอื่นๆ   การสร้างรากฐานที่ดีในสังคมไทย    ต้องเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา  โดยเน้นกระบวนการทางปัญญาและต้องถูกกำกับด้วยจิตสำนึกที่ดี   จึงจะเป็นฐานรากในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่เราคาดหวัง

 

 

ศ.นพ.ประเวศ  กล่าวสรุปในช่วงท้ายของเวทีนโยบายสาธารณะว่า    ความเป็นธรรมทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าสังคมขาดความเป็นธรรมก็จะขาดความเป็นชาติ คนจะไม่รักชาติ ขาดศีลธรรมพื้นฐาน คือการเคารพศักดิ์ศรี คุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจมาแต่โบราณ และจะไม่เคารพศักดิ์ของคนที่ไม่มีอำนาจ และขาดศีลธรรมตรงนี้จะพัฒนาไม่ได้  ประชาธิปไตย จึงมีการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคน สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก  เรื่องเศรษฐกิจเราพูดกันเยอะ เรื่องนี้ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้งจะนำไปสู่วิกฤติ และนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน   ถ้าสังคมมีความเป็นธรรมมีความเท่าเทียม สังคมจะเติบโตอย่างสมดุล อีกอย่างคือ ทำอย่างไรให้ความรู้มีอำนาจ   เรามีงานวิจัยเยอะ ทำอย่างไรที่จะนำการวิจัยนั้นมาสังเคราะห์ และไปจับอารมณ์ของสังคม  ทำให้สังคมสนใจและมีส่วนร่วมที่จะเคลื่อนไป นี่คือการทำงานเชิงยุทธศาสตร์

Be the first to comment on "การสร้างรากฐานที่ดีเพื่ออนาคตประเทศไทย"

Leave a comment

Your email address will not be published.