การะเกด ๒๕๔๙ แถลงการณ์ “อารยะแข็งขืน 2 เมษายน”

ในโอกาสการเลือกตั้งที่หลีกลี่ยงไม่ได้นี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมทุกจังหวัดควรทำอะไรบ้าง?
1. รณรงค์เลือกตั้ง เชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันให้ล้นหลาม เพื่อแสดงเจตนารมณ์
2. “เข้าคูหา กาไม่เลือกใคร” รณรงค์ไม่เลือกทั้งคน ไม่เลือกทั้งพรรค (Vote No Vote)เพื่อลดทอนความอหังการของผู้นำทรราช และแสดงจุดยืนต้านระบอบทักษิณ

แถลงการณ์ กลุ่ม “การะเกด ๒๕๔๙”

เรื่อง “อารยะแข็งขืน ในสถานการณ์ 2 เมษา”

1.สถานการณ์ขับไล่ทักษิณ

ถ้าเริ่มนับวันของการชุมชนุมขับไล่นายกทักษิณ ตั้งแต่ 5 มีนาคม จนถึงวันนี้นับเป็นวันที่ 22 ของการเคลื่อนไหวใหญ่ของขบวนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ขณะที่เวลาของการเลือกตั้งเพื่อฟอกตัวนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2 เมษายน ก็คืบคลานมาอยู่ แค่เอื้อม โดยที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนยังไม่มีหมัดเด็ดของตนเองที่จะสยบคู่ต่อสู้ลงได้

มาตรการถวายฎีกาของรัฐบาลพระราชทาน เมื่อค่ำวันที่ 25 มีนาคม โดยกลุ่มผู้ชุมนุม สามแสนคนเปล่งเสียงพร้อมกัน ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดผลประโยชน์ในระยะอันใกล้ ในขณะที่ นายกทักษิณกับลูกชาย พากันเดินเที่ยวชมงานแสดงมอเตอร์โชว์อย่างสบายอกสบายใจ

ผู้ร่วมชุมนุมชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ประเภท  “มาตอนค่ำ กลับตอนดึก”  เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กำลังหลักของเครือข่ายพันธมิตร หลายส่วนเริ่มอ่อนล้าและหมดความอดทน กลุ่มแกนนำจึง มีความพยายามโหมเผด็จศึกด้วยวิธีการที่ล่อแหลมต่อการเกิดความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านแบบฉับพลัน ก่อนวันเลือกตั้ง อาจหนีไม่พ้นการสูญเสียเลือดเนื้อทรัพย์สิน และถ้าเกิดอย่างนั้นจริง ก็ยังไม่มีใครที่จะฟันธงได้ว่า ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นไปในทิศทางใด

แต่ถ้ารัฐบาลสามารถดึงเกมส์การต่อสู้ ไปถึงการเลือกตั้งได้  ภาคประชาชนต้องรับสภาพ ความ พ่ายแพ้ทางยุทธวิธีในขั้นนี้ และต้องปรับกระบวนท่าครั้งใหญ่เพื่อการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ มากกว่า การเร่งเผด็จศึกด้วยกำลัง โดยที่ยังคงหลักการ “การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ”  เอาไว้ให้มั่นคง

2. กวาดล้างระบอบทักษิณ มิใช่แต่การขับไล่ผู้นำ

            การกำจัดทักษิณให้พ้นวงการเมืองการปกครองในฐานะบุคคลอันตรายนั้น เป็นความจำเป็น เร่งด่วน แต่การผูกติดอยู่กับการขับไล่ทักษิณ โดยมีเส้นตายกำกับอยู่ตลอดเวลานั้น น่าจะเป็นวิธีการ ที่บีบคั้นตนเองและสังคมจนเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อความเพลี่ยงพล้ำ

แม้ว่าทักษิณจะดันทุรังจนเลือกตั้งได้กลับมาเป็นนายกอีกครั้ง ด้วยกระแสประชานิยม เชื่อว่า กระบวนการรู้ทันและขับไล่ทักษิณก็จะดำเนินอยู่ต่อไป และจะยิ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าเดิม เพราะประเมินได้ว่า  ความเสื่อมศรัทธา ได้ผ่านเลยจุดของการหวนคืนไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นแทนที่เราจะมุ่งเอาเป็นเอาตายกับการลาออกของตัวทักษิณ หรือเอากำลังที่อ่อนแอกว่า เข้าขวางลำการเลือกตั้งที่กำลังทะยานเข้าสู่ท้องฟ้า สู้เราเตรียมตัวเพื่อให้ได้เปรียบการต่อสู้ กวาดล้าง ระบอบทักษิณในยกต่อไป จะไม่ดีกว่าหรือ?

3. หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลจะอ่อนแอจนวิกฤติ

            ขณะนี้ คนในพรรคไทยรักไทย ที่ไมใช่ประเภทลูกหม้อ ต่างรู้ดีว่า การเลือกตั้ง 2 เมษายน จะนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองที่หนักยิ่งกว่าเก่า แต่ไม่มีใครกล้าทัดทานหัวหน้าผู้ดื้อรั้นดันทุรังได้ แม้แต่จาตุรนต์  ฉายแสง

ส่วนใหญ่รู้อยู่แก่ใจว่า หากสิ้นทักษิณเสียแล้ว พรรคเฉพาะกิจคงไม่อยู่รอด ในเวลาที่ไม่มี ทางเลือกมากนัก พวกนี้ขอเกาะอยู่ไปก่อน และพร้อมจะโบยบินกันเป็นมุ้งๆเมื่อถึงเวลาคับขัน

ปมการเลือกตั้งที่ทักษิณผูกเอาไว้ จะมัดตนเองและสภาให้หมดความชอบธรรมและความ สมบูรณ์ครบถ้วน รัฐบาลและรัฐสภาจะอ่อนแอจนถูกสังคมบีบให้ทำภารกิจเฉพาะหน้า ในการปฏิรูป การเมือง แล้วต้องยุบตัวลง เพื่อการเกิดใหม่ในกติกาใหม่ ซึ่งนั่นคือการเริ่มต้นของยุคหลังทักษิณ ที่แท้จริง

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ การเมืองระบบตัวแทนจะอ่อนแอมาก จึงเป็นโอกาสที่การเมืองของ พลเมืองจะเข้มแข็งและมีบทบาท ควรถือเป็นจังหวะที่ต้องช่วงชิงปฏิรูปการเมืองถาคปฏิบัติอย่าง จริงจัง

4. อารยะแข็งขืน ในภารกิจ 2 เมษายน

ในโอกาสการเลือกตั้งที่หลีกลี่ยงไม่ได้นี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมทุกจังหวัดควรทำอะไรบ้าง?

1. รณรงค์เลือกตั้ง เชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันให้ล้นหลาม เพื่อแสดงเจตนารมณ์

2. “เข้าคูหา กาไม่เลือกใคร” รณรงค์ไม่เลือกทั้งคน ไม่เลือกทั้งพรรค (Vote No Vote)เพื่อลดทอนความอหังการของผู้นำทรราช และแสดงจุดยืนต้านระบอบทักษิณ

ทักษิณและพลพรรคจะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้เสียงประชาชน 25 ล้านเสียง ให้เหนือกว่าการเลือกตั้งคราวที่แล้วซึ่งได้ 19 ล้านเสียง ทั้งนี้เพื่อจะข่มขวัญฝ่ายต่อต้านท่านนายก และอาจใช้เป็นเงื่อนไขในการปราบปรามแกนนำที่ไม่ยอมจำนน

แต่ถ้าผลออกมาได้รับเสียงสนับสนุนแค่ 15 ล้านเสียงหรือต่ำกว่านี้ ในขณะที่ 10 – 15 ล้านเสียงไม่ลงคะแนนให้ สถานการณ์และขวัญกำลังใจจะพลิกไปอีกทาง

3. ปฏิบัติการจับผิดการเลือกตั้ง  ควรมีการวางแผนกันให้ดี จัดทีมปฏิบัติการที่มีศักยภาพสูง อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ทีม เพื่อเฝ้าสังเกต รวบรวมหลักฐาน ทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล รูปถ่าย ลายเซ็น ภาพบันทึก ฯลฯ เพื่อบั่นทอนความชอบธรรมของการเลือกตั้งให้มากที่สุด เพื่อเป็นเงื่อนไขต่อรองบทบาทภาคประชาชน ในการมีส่วนร่วมปฏิรูปการเมืองกับรัฐบาล และรัฐสภาที่อ่อนแอ

5. เตรียมขับเลื่อนปฏิรูปการเมืองหลังเลือกตั้ง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำเฉพาะบางมาตราที่จำเป็นเท่านั้น รวมทั้งกติกาการเลือกตั้งที่เป็นปัญหา ซึ่งควรฟันธงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ภายใน 6 เดือน แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่

กลุ่มผู้สนใจทางวิชาการ ควรระดมความคิด ประมวลประเด็น และมาตราต่างๆของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นปัญหา พร้อมแนวคิด แนวทางที่จะแก้ไข

แกนนำเครือข่ายภาคประชาชน ควรเตรียมบัญชีรายชื่อและคณะบุคคล ที่พร้อมจะผลักดันเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญและการรณรงค์การมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง

เมื่อกติกาได้ถูกแก้ไขในจุดที่สำคัญแล้ว เชื่อได้ว่า จะเกิดการปรับตัวในพรรคการเมืองและเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนอย่างมโหฬาร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเชิงจริยธรรมต่อไป

ศูนย์ประสานงาน “กลุ่มการะเกด ๒๕๔๙”

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๙

สำนักงานปฏิบัติการ เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100

โทรศัพท์ 0-2222-4693 , 0-2222-4694 , 0-2222-4699 โทรสาร 0-2222-4694

Be the first to comment on "การะเกด ๒๕๔๙ แถลงการณ์ “อารยะแข็งขืน 2 เมษายน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.