“การเจรจา” กับ “การสร้างสันติภาพ”
ที่แคว้นไอร์แลนด์เหนือของประเทศอังกฤษ แม้การหยุดยิงได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปีค.ศ.๑๙๙๘ เมื่อกลุ่มผู้ถืออาวุธทุกฝ่ายยอมรับข้อตกลงที่เรียกว่ากู๊ดฟรายเดย์อะกรีเม้นท์ ทั้งฝ่ายไออาร์เอที่ต้องการแยกดินแดน ฝ่ายยูเนียนนิสต์ที่ต้องการอยู่กับอังกฤษ และฝ่ายรัฐบาลและกองทัพอังกฤษ
เอง ทุกวันนี้ผ่านมาได้ ๑๔ ปีแล้ว บรรยากาศโดยทั่วไปบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย แต่ภายในจิตใจส่วนลึกของหลายฝ่ายยังคงมีรอยคับแค้นขมขื่นแฝงฝังอยู่หนาแน่น รวมทั้งความศรัทธามุ่งมั่นที่จะแยกดินแดนออกไปด้วยยุทธวิธีใหม่
เมื่อได้พบกับประธานและผู้นำที่บอกว่ายังคงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอดีตไออาร์เอและนักโทษการเมืองอยู่อีก๑๔เครือข่าย พวกเขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่ายังดำรงจุดมุ่งหมายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เขาพาเราไปดูห้องแคบๆที่เคยใช้ขังนักโทษการเมืองหญิงในตัวตึกซึ่งถูกดัดแปลงมาเป็นพิพิธภัณฑ์และสำนักงานประสานเครือข่ายของพวกเขา ในชุมชนเองก็ยังมีร่องรอยความรุนแรงจารึกและตอกย้ำความเจ็บปวดไว้มากมายในรูปของอนุสรณ์สถานเล็กๆ แต่ก็มีสัญญาณของความพยายามประสานรอยร้าวเพื่อการอยู่ร่วมและก้าวเดินไปด้วยกันอยู่ทั่วไปด้วย
หมายความว่าภายหลังการหยุดยิงนั้น ยังมีภารกิจในการสร้างสันติภาพรออยู่ในขนาดที่มหึมามาก กระบวนการสร้างสันติภาพ (Peace Building) เป็นงานระยะยาวที่ต้องการการทำงานอย่างต่อเนื่อง ต้องใช้ความอดทน และใช้องค์ความรู้ ตลอดจนต้องการผู้ทำงานที่มีทักษะประสบการณ์ที่เหมาะสมอีกด้วย เพราะสันติภาพที่ยั่งยืนต้องเกิดจากภายในจิตใจของผู้คนและชุมชนที่รากหญ้าหรือฐานล่างของสังคมทั้งระบบ จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและน่าชื่นชมมากที่สังคมชาวไอร์แลนด์เหนือและคนอังกฤษกำลังพยายามเปลี่ยนผ่านตนเองจากภาวะสงครามกลางเมืองในอดีตสู่การมีสันติภาพที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆโดยงานเหล่านี้มีภาคประชาสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าจะต้องรอให้เกิดการหยุดยิงเสียก่อนกระบวนการสร้างสันติภาพจึงจะเริ่มได้ การสร้างสันติภาพเป็นงานที่สามารถดำเนินการได้ในทุกสถานการณ์ เพียงแต่ว่ามีความยาก-ง่ายแตกต่างกันไป จึงเป็นธรรมดาที่บทบาทขององค์กรประชาสังคมและเอ็นจีโอช่วงก่อนการหยุดยิงจะมีอย่างจำกัด แต่หลังหยุดยิงแล้วกลับโด่ดเด่นมากเป็นพิเศษ
ส่วนการเจรจาสันติภาพ (Peace Negotiation) เป็นเรื่องโดยตรงของผู้มีอำนาจรัฐและผู้ถืออาวุธเขาจะพูดคุยต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างกัน เป็นเรื่องของผู้นำระดับสูงหรือโครงสร้างส่วนบนต้องคุยกัน ภาคประชาชนคงช่วยอะไรไม่ได้มาก อย่างเก่งก็แค่คอยลุ้นว่าเมื่อไรจะตกลงกันได้ ชีวิตจะได้อยู่อย่างสงบเสียที หรือบางโอกาสอาจช่วยเป็นสะพานเชื่อมให้บ้าง ก็แค่นั้น
ในระหว่างที่ผู้มีอำนาจส่วนบนกำลังเจรจากันอยู่ มักมีการแผลงฤทธิ์เข้าใส่กันเสมอเพื่อสร้างสถานการณ์ที่เป็นต่อ ประชาชนรากหญ้าทั้งหลายก็ต้องรับผลกระทบและดูแลตัวเองกันไปก่อน บางทีไม่ใช่แค่การสร้างความเป็นต่อของฝ่ายตนแต่เป็นไปเพื่อคัดค้านหรือขัดขวางกระบวนการเจรจาก็มี อย่างคราวหนึ่งเมื่อโทนี่แบลร์สั่งถอนกำลังทหารจากพื้นที่ ฝ่ายทหารที่ไม่พอใจก็แอบไปวางระเบิดสร้างสถานการณ์เสียเอง การเจรจาก็ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นที่สูงมากเช่นกัน ที่สำคัญต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่แรงกล้าในอันที่จะแก้หรือยุติปัญหาให้สำเร็จ
บทบาทของภาคประชาสังคมในช่วงก่อนการหยุดยิงอีกส่วนหนึ่งที่อาจมีส่วนเกื้อหนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพอยู่ไม่น้อยคือการพูดคุยเพื่อสันติภาพ(Peace Talk) หมายถึงการตั้งวงพูดคุยกันไปเรื่อยๆเพื่อปรับทุกข์กันไป แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สร้างความหวังและแรงบันดาลใจกันไปโดยมิได้ให้ร้ายฝ่ายใดหรือตั้งเป้าหมายเจรจาความกับใครเป็นการเฉพาะ การขยายตัวของวงพูดคุยแบบนี้จะสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจรจาทั้งในระดับโครงสร้างส่วนบนและการสร้างสันติภาพในระยะยาว รวมทั้งการแก้ปัญหารูปธรรมเฉพาะหน้าของระดับรากหญ้าไปด้วย
กล่าวได้ว่า การเจรจาสันติภาพในแคว้นไอร์แลนด์เหนือสำเร็จลงได้ด้วยแรงเกื้อหนุนภายนอกจากชาวไอริชโพ้นทะเลที่มี ความร่วมมือของรัฐบาลสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาเป็นตัวเชื่อม ประกอบเข้ากับเจตจำนงทางการเมืองภายในอันแน่วแน่ของผู้นำรัฐบาลอังกฤษที่เสนอการถ่ายโอนอำนาจเป็นพิเศษจากส่วนกลางและการให้ที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีสำหรับทุกฝ่าย จนเป็นที่ยอมรับและเกิดความไว้วางใจ ตลอดจนความเคลื่อนไหวสร้างสันติภาพในระดับฐานล่างอย่างทรหดอดทนของภาคประชาสังคม และการแสดงบทบาทสื่อสาธารณะที่เข้มแข็งของบีบีซีก็มีส่วนช่วยอย่างมาก
ทันทีที่มีการหยุดยิง สหภาพยุโรปหรืออียูได้เข้าไปช่วยหนุนงานสร้างสันติภาพที่ฐานล่างอย่างเต็มที่โดยผ่านการทำงานของมูลนิธิกองทุนชุมชนเพื่อไอร์แลนด์เหนือ (CFNI) ปัจจุบันต่อเนื่องเป็นเฟสที่ ๓ แล้ว นั่นหมายความว่าความไม่สงบในประเทศอังกฤษหรือประเทศสมาชิกอื่นใด เขาถือเป็นปัญหาความมั่นคงของอียูด้วย ลองนึกภาพดูว่าหากวันนี้ซึ่งอียูกำลังมีวิกฤตเศรษฐกิจและลุกลามไปสู่การจราจลเป็นระลอก โดยที่ขบวนการไออาร์เอยังคงเที่ยววางระเบิดไปทั่ว แผ่นดินยุโรปจะเป็นอย่างไร
เช่นเดียวกัน วันนี้บ้านเรากำลังพูดถึงการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในขณะที่ไฟใต้และไฟกรุงยังโหมกระหน่ำอยู่ทุกวัน เห็นทีถึงเวลาที่คนไทยและสังคมไทยจะต้องหันมามองตัวเองและละวางทิฐิบางอย่างที่คับแคบและไม่สร้างสรรค์ กันอย่างจริงจังแล้วกระมัง
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "การเจรจากับการสร้างสันติภาพ"