MENU

กู้วิกฤติแม่น้ำปราจีนบุรี พลังสาธารณะที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องร้องขอ

คนปราจีนบุรีมีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในท้องถิ่นมาแต่ดั้งเดิม ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในแนวเทือกเขาพนมดงรัก โดยเฉพาะกับแม่น้ำปราจีนบุรีซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งภาคเมืองและชนบท….

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ปราจีนบุรี

คนปราจีนบุรีมีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในท้องถิ่นมาแต่ดั้งเดิม ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในแนวเทือกเขาพนมดงรัก โดยเฉพาะกับแม่น้ำปราจีนบุรีซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งภาคเมืองและชนบทไปทั่วทั้งจังหวัด แต่สภาวะที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำปราจีนบุรีในวันนี้ไม่แตกต่างอะไรไปจากแม่น้ำสายหลักอื่นๆ ทั่วประเทศ เมื่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำที่ดีและเคยอุดมสมบูรณ์เช่นในอดีตได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง ในขณะที่น้ำจำนวนมหาศาลจากที่นี่ยังจำเป็นต่อการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายของผู้คนทั้งในภาคการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม ปศุสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ท่องเที่ยว และด้วยภูมิประเทศที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลตะวันออกน้ำจากที่นี่ยังถูกใช้เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มด้วยเช่นกัน

ความผูกพันของคนปราจีนกับแม่น้ำสายหลักเส้นนี้จึงมีไม่น้อยไปกว่า
ประโยชน์และความวิกฤติที่กำลังมาเยือนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนปราจีนต้องลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นตนเองก่อนที่ความขัดแย้งในสังคมจะบานปลายออกไปมากกว่าที่เป็นอยู่

แม่น้ำปราจีน จ.ปราจีนบุรี


N อะไร คือ วิกฤติของแม่น้ำปราจีนบุรี

สภาพที่เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติของแม่น้ำปราจีนบุรีในวันนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาความแห้งแล้ง จากภาวะฝนแล้งและการทำลายป่าต้นน้ำ จนเป็นปัญหาต่อการทำน้ำประปาและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของชุมชน ปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงมากกว่าอดีตที่เคยเป็นมาและอยู่ในระยะเวลายาวนานกว่าปกติ ทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนเรื่องการทำมาหากิน ปูปลาที่มีอยู่ในลำคลองไม่ออกไข่และสูญพันธุ์ไปแล้วหลายชนิด ส่วนประชาชนที่ต้องใช้น้ำประปาซึ่งผลิตมาจากแม่น้ำปราจีนบุรีก็อาจต้องประสบกับปัญหาเรื่องสุขภาพในอนาคตอันใกล้  ปัญหาสำคัญที่สุด คือ น้ำเน่าเสีย สาเหตุจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีมากถึง 650 แห่ง น้ำเสียจากชุมชน 2,323 กิโลกรัมต่อวัน ยังไม่รวมน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารเคมีจากภาคการเกษตรที่เกิดขึ้นเป็นระยะบนตลอดลุ่มน้ำแห่งนี้
สิ่งที่เข้าขั้นวิกฤติอีกประการหนึ่ง คือ ระบบการจัดการน้ำที่รัฐมักเป็นฝ่ายเข้ามาจัดการแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเลย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่เคยนำไปสู่ทางออกที่ดีขึ้น  สิ่งที่คนปราจีนกังวลมากไปกว่านั้นยังหมายถึงความเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศลุ่มน้ำตั้งแต่ลุ่มน้ำบางปะกง ปราจีนบุรี และโตนเลสาบ ซึ่งคาบเกี่ยวกันทั้ง 4 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว  ดังนั้น ปัญหาที่เกิดแก่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีจึงไม่ใช่ปัญหาของคนปราจีนบุรีเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบถึงชีวิตผู้คน ระบบนิเวศ และความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นในลุ่มน้ำอื่นๆ บนอนุภูมิภาคแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ภาวะวิกฤติของแม่น้ำปราจีน

N เมื่อคนปราจีน…ลุกขึ้นกู้สายน้ำแห่งชีวิต
ด้วยสำนึกและความรู้สึกของการเป็นผู้พึ่งพาแม่น้ำปราจีนบุรี ทำให้ประเด็นเรื่องน้ำกลายเป็นชนวนให้คนหลากหลายกลุ่มมองเห็นเป็นประเด็นร่วมที่จะต้องลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง รวมทั้งการขับเคลื่อนงานโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ปราจีนบุรี ด้วย  ซึ่งอันที่จริงยังมีอีก 2 ประเด็นที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน นั่นก็คือ ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ และตลาดแห่งความสุข แต่การจะบรรลุมิติทั้ง 3 นี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ การช่วยชีวิตสายน้ำปราจีนบุรี ผู้เป็นแม่ของสรรพสิ่งนี้ไว้ให้ได้ก่อน

การรวมกลุ่มกันของภาคประชาชนเพื่อกอบกู้วิกฤติแห่งลุ่มน้ำปราจีนบุรีได้พัฒนาขึ้นในนามกลุ่มประชาคมจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น ศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี ( DOF) ขยายเครือข่ายการทำงานโดยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และเข้าร่วมกิจกรรม โดยนำกรอบคิดทางสังคม การเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยหวังว่าจะสามารถปฏิรูประบบสังคมท้องถิ่นเดิมเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติลุ่มน้ำปราจีนบุรีให้คลี่คลายลง และร่วมสร้างสังคมหรือชุมชนที่พึงปรารถนาของตัวเองให้ได้  โดยวางเป้าหมายในการทำงานไว้ว่าจะสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อให้คนท้องถิ่นมีชีวิตที่ดีขึ้น

แต่หัวใจของการลงมือแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้เห็นผลได้ในทันทีย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย  โดยเฉพาะในภาวะที่วิถีการใช้น้ำได้เปลี่ยนไปจากที่เคยใช้อย่างพอเพียงกลายเป็นการใช้เพื่อการค้าและบริการไปจนถึงการใช้น้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก คณะทำงานจึงต้องสร้างความเข้าใจเบื้องต้นให้ตรงกัน นั่นก็คือ การเข้าใจในธรรมชาติของน้ำที่ไม่สามารถแยกออกจากเรื่องดินและป่าได้ ดังนั้น หากคาดหวังว่าจะมีน้ำไว้ใช้อย่างยั่งยืนแล้ว ย่อมหมายถึงการสร้างดุลยภาพของทั้งดิน น้ำ และป่า ให้เกิดขึ้นไปพร้อมกันบนฐานคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างพอเพียงและยั่งยืนเพื่ออนาคตของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน  ด้วยเหตุนี้ การจะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเพียงลำพัง เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ใช้น้ำกับผู้กำหนดนโยบายเป็นคนละคนกัน กลายเป็นภาวะของ “คนนอก” ที่เข้ามาตักตวงเอาประโยชน์จากทรัพยากรที่ “คนใน” พึงจะได้รับมาโดยตลอด
สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนให้คลี่คลายไปสู่ทางเลือกที่เหมาะสมได้ จึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงการทำงานกันอย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับบนที่เป็นผู้กุมนโยบาย ระดับท้องถิ่นผู้ปฏิบัติ และระดับล่างหรือคนในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับน้ำมากกว่าระดับใดๆ  กลไกระดับบนจะต้องพร้อมรับฟังข้อมูล ความต้องการ และความคิดเห็นจากพื้นที่ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  จึงต้องไวต่อปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์เบื้องหน้าเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาโดยตลอด  ขณะเดียวกัน ต้องผสมผสานความรู้จากคนที่มีความผูกพันกับธรรมชาติเช่นชาวบ้านเข้ากับความรู้ทางวิศวกรรมชลประทานเพื่อวางแผนและกำหนดนโยบายร่วมกัน เพราะในบางเรื่อง ความรู้ที่ฝังลึกของชาวบ้านสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติได้ดีและแน่นอนกว่า เช่น หากน้ำหลากมากๆ ต้องมีสีอย่างไรถึงจะบอกได้ว่าน้ำจะท่วม อย่างไรจึงจะหมายถึงการกำลังเผชิญหน้าสู่ภาวะน้ำแล้ง เป็นต้น

โรงงานอุตสาหกรรม

ภาวะน้ำเน่าเสีย 

ปลาในกระชังตายลอยหัว

น้ำแล้ง

 

N เครื่องมือ…กู้วิกฤติ

ในกระบวนการทำงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม โดยเชื่อมโยงทั้งมิติทางวัฒนธรรม สังคม จารีตประเพณีและความสัมพันธ์ทางสังคม การเปิดใจรับฟังกันและกัน การใช้ข้อมูลความรู้เป็นเข็มทิศในการทำงานหรือสร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง การสร้างการรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน การทำงานแบบเครือข่าย ยึดหลักการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และการร่วมแก้ไขปัญหาโดยยึดมั่นในสันติวิธี  โดยมี DOF ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชาวบ้าน แกนนำพื้นที่ นักวิชาการ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานได้ใช้เครื่องมือง่ายๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน คือ การใช้แผนที่ เพื่อชี้ให้เห็นตำแหน่งที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและเห็นความสำคัญของการลุกขึ้นมาจัดการกับทรัพยากรรอบตัวที่เขาพึ่งพาอาศัยอยู่ การทำผังชุมชนด้วยฝีมือของชาวบ้านเองยังเท่ากับเป็นการสำรวจตัวเองและเป็นหนทางสู่การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งเรื่องปัญหาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีเวทีกลางสำหรับการพูดคุยเพื่อสร้างข้อตกลงในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำในระดับจังหวัด ซึ่งหมายถึงการรู้จ้กตัวตนและปัญหาของตนเองตั้งแต่ระดับย่อยๆ ของกลุ่มชาวนา ชาวประมง ประชาชนคนใช้น้ำ ไปจนถึงระดับที่ใหญ่ขึ้นในทุกภาคส่วนทั้งราชการ ธุรกิจเอกชน ตลอดจนนักวิชาการ สถาบันการศึกษาซึ่งจะเข้ามาช่วยเชื่อมร้อยและใช้ความรู้ทางวิชาการและกระบวนการวิจัยเข้ามาหนุนเสริม

เครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การสื่อสาร เพื่อสร้างการตื่นตัวของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้อุปโภคบริโภค ชาวประมง หรือกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมก็ล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้น้ำทั้งสิ้น  การหาหนทางสู่การใช้น้ำที่เหมาะสมร่วมกันจึงต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพูดและรับฟังซึ่งกันและกันในเวทีสาธารณะ เพื่อพูดคุยปรึกษาหารือกันถึงสิ่งที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นนำมาบอกเล่าและขยายผลต่อโดยผ่านสื่อมวลชนในท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รวมทั้งการบันทึกเรื่องราวเพื่อเล่าต่อในวารสารหรือจดหมายข่าวของหน่วยงานองค์กรในท้องถิ่นเองโดยตรง

 

  คณะทำงานยังมุ่งสร้าง สำนึกรักท้องถิ่น ให้เกิดขึ้นเพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้ย้อนคิดถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในเรื่องการจัดการน้ำ โดยให้กลุ่มเด็กนักเรียนแต่ละโรงเรียนช่วยกันค้นหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองและนำมาสู่การเล่าให้กันฟัง ทำให้เกิดความซาบซึ้งในเรื่องดีๆ ของท้องถิ่นตนเอง เพิ่มความสามัคคี ลดข้อขัดแย้งในพื้นที่ และสร้างญาณทัศนะในการแก้ปัญหาที่เป็นอยู่

ถึงแม้วันนี้ ความตื่นตัวที่จะกู้วิกฤติแม่น้ำปราจีนบุรีไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะในกลุ่มของภาคประชาชน เพราะมีแรงกระเพื่อมที่ส่งไปถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงทั้งในท้องถิ่นและระดับภูมิภาค

แต่การจะช่วยให้แม่น้ำปราจีนบุรีมีชีวิตที่ยั่งยืนต่อไปได้ย่อมหมายถึงการช่วยกันกู้วิกฤติให้กับลุ่มน้ำอื่นๆ ในอนุภูมิภาคนี้โดยผู้คนแต่ละท้องถิ่นด้วยเช่นกัน  สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากการใช้เครื่องมือที่กล่าวมาทั้งหมด ก็คือ การต้องเชื่อมร้อยผ่านกลไกที่สามารถส่งต่อข้อมูลความคิดเห็นจากคนในสู่คนนอก จากข้างล่างสู่ข้างบน เพื่อให้เสียงของคนพื้นที่ได้มีที่ยืนและบอกความต้องการที่แท้จริงของตนเองได้ รวมทั้งการผลักดันสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องบนความหลากหลายของคนจากทุกภาคส่วนทั้งราชการ วิชาการ ธุรกิจ และภาคประชาชน

 

N ขั้นตอนการทำงานโดยสรุป…เพื่อแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำปราจีนบุรี

E ร่วมกันระบุสภาพปัญหาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำโดยตรง (direct user) ด้วยวิธีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน

E หากลุ่มแกนในพื้นที่ที่จะทำงานข้อมูลความรู้บนประเด็นปัญหาของพื้นที่ที่ร่วมกันระบุไว้

E ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ  / การวิจัยท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการทำงานข้อมูล ความรู้ และ สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มผู้ใช้น้ำรวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการวิเคราะห์หาทางเลือกในการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องได้

E ใช้ความรู้ท้องถิ่นในมิติทางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์เป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อทำความเข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคมซึ่งจะทำให้เข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งรอบด้าน

E มีเวทีวิเคราะห์และประเมินทางเลือกเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

N ปัญหาและอุปสรรค

ปัญหาที่เข้าขั้นวิกฤติของลุ่มน้ำปราจีนบุรีทำให้งานที่มีอยู่ในมือมีจำนวนมากมายนักเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานที่มีน้อยกว่ามาก  อีกทั้งภาระงานอื่นๆ ที่ต้องทำคู่ขนานให้เกิดขึ้น  การจะรักษาความต่อเนื่องด้วยการติดตามงานให้มีจังหวะก้าวที่ทันการใช้งานจึงจำเป็นต้องใช้ทั้งทักษะและความสามารถในการจัดการงานต่างๆ อย่างมาก  โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่ชาวบ้านว่างเว้นจากการทำเกษตร จังหวะงานที่อาจก้าวไปได้เร็วกว่าปกติทำให้คณะทำงานต้องปรับความเร็วให้ทันเท่า  ขณะที่การรักษาสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงานของคณะทำงานก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ก้าวพลาดสู่ภาวะที่อ่อนล้าจนต้องหมดแรง

ข้อจำกัดเรื่องบุคลากรในโครงการยังมีผลต่อความสามารถในการดูแลสภาพงานทั้งหมดที่รับผิดชอบอยู่ด้วย เช่น เมื่อเกิดวิกฤติ พลังที่พยายามแก้ไขปัญหาของชาวบ้านบางกลุ่มได้ทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อทำลายสิ่งที่ละเมิดกฎชุมชน หรือ ต่อรอง ต่อต้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะมีคนจากภายนอก โดยเฉพาะนักวิชาการเข้ามาช่วยก็ยังติดเงื่อนไขที่ไม่มีใครสามารถมาทำงานร่วมด้วยได้เต็มเวลา  ในขณะที่องค์กรเอกชน หรือนักวิชาการ ที่ให้ความสนใจเข้ามาทำงานและเรียนรู้ร่วมด้วยได้นำปัญหาความขัดแย้งหรือการกีดกันกันเข้ามาสู่พื้นที่ ส่งผลต่อเรื่องระบบความสัมพันธ์ในการทำงาน  ซึ่งอาจเนื่องด้วยบุคคลหรือกลุ่มภายนอกดังกล่าวยังไม่มีความเข้าใจในบริบทและและธรรมชาติในการทำงานขององค์กรและชาวบ้านในท้องถิ่นดีพอ

สิ่งที่เป็นทั้งอุปสรรคและความท้าทายของการทำงาน คือ การจะเชื่อมร้อยให้แนวคิดและรูปธรรมทางออกที่นำไปสู่การปฏิบัติของกลุ่มคนที่หลากหลายสามารถก้าวไปสู่ทิศทางที่ต้องการร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์  เพราะการจัดการลุ่มน้ำมีความสลับซับซ้อน เชื่อมโยงกับทุกมิติ สัมผัสกับกลุ่มคนที่หลากหลาย จึงจำเป็นต้องสร้างสำนึกแห่งการมีส่วนร่วมและการมีชะตากรรมร่วมเดียวกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤติที่จะเกิดขึ้นไปให้ได้  โดยเฉพาะภาคราชการที่ควรต้องมีความจริงจัง จริงใจ และให้ความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

N ข้อค้นพบและบทเรียน

1. การทำงานจัดการลุ่มน้ำในพื้นที่ควรให้มีความครอบคลุมทั้งในแง่ของพื้นที่ แง่ของประเด็นปัญหา และในแง่ของผู้เกี่ยวข้อง เพราะการผลักดันให้งานจัดการน้ำเป็นที่รับรู้และยอมรับของคนในพื้นที่และสาธารณะชนวงกว้างแล้ว ยังต้องการการสร้างเงื่อนไขในการคลี่คลายปัญหาในหลายระดับด้วย

2. ความเข้าใจในความสัมพันธ์ของคนที่สลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการใช้และจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญ การใช้ความรู้ทางสังคมวิทยามาช่วยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งจำเป็นมาก

3. การทำงานเรื่องลุ่มน้ำต้องอาศัยการทำงานในลักษณะเครือข่าย โดยต้องมีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ และบทบาทของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดวางความสัมพันธ์และบทบาทการทำงานของแต่ละส่วนได้

4. การใช้ข้อมูลความรู้ในการทำงานเป็นการยกระดับการทำงานให้เกิดการยอมรับ เกิดความ เชื่อถือ และเกิดความเป็นกลางในการที่ทุกภาคส่วนจะหาแนวทางหรือสร้างข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน

5. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเริ่มจากผู้คนที่อยู่อาศัยและใช้น้ำเป็นกลุ่มแรกที่ควรมีบทบาทและส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากน้ำมากที่สุด

6. ในการแก้ปัญหาไม่ว่าเรื่องใด การมองผ่านแว่นขยายเพียงอันเดียวย่อมไม่นำไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะทุกเรื่องล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันหมด และทุกเรื่องต่างมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่เฉพาะด้านต่างกันไป เช่น กรณีการผสมผสานความรู้แบบชาวบ้านกับศาสตร์ทางวิชาการเพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของคนทุกกลุ่ม

7. การใช้เทคนิควิธีค้นหาสิ่งดีๆ ที่อยู่ในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นผ่านการเล่าด้วยคนในท้องถิ่นเอง ช่วยสร้างความซาบซึ้งและภาคภูมิใจในความรักถิ่น เพิ่มพลังสามัคคี ลดปัญหาความขัดแย้ง และหากเป็นการพูดคุยกันอย่างมีวิจารณญาณและลุ่มลึกจะเท่ากับเป็นการเพิ่มญาณทัศนะในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ของท้องถิ่นได้

FACT SHEET
เอกสารข้อมูล
เอกสารข้อมูลประกอบ : ห้องย่อยที่ 3  การจัดการทรัพยากรเพื่อท้องถิ่นน่าอยู่
 เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม  “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย”  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2549  ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ  กทม
สนับสนุนข้อมูลโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ปราจีนบุรี

ศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี (DOF)

เลขที่ 416 ถ.หน้าเมือง ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี 25000  โทรศัพท์ 0-3721-3087

จัดทำโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3  www.ldinet.org

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Be the first to comment on "กู้วิกฤติแม่น้ำปราจีนบุรี พลังสาธารณะที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องร้องขอ"

Leave a comment

Your email address will not be published.