1.หลักคิดสำคัญ
· 1) ผิดกฎหมาย กับ ผิดคุณธรรมจริยธรรม
- ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยวิกฤติมากทุกระดับ ทั้งองคาพยพ ชนชั้นนำและผู้นำไม่สามารถเป็นแบบอย่างในทางดี ทำให้การปลูกฝังอบรมบ่มสอนเด็กและเยาวชนบิดเบี้ยวไปหมด การรณรงค์ทางสังคมก็หมดความหมาย
- เรามีหน่วยงานและกฎหมายมากมายหลายระดับ ส่วนใหญ่มุ่งภารกิจด้านการใช้อำนาจบังคับลงโทษอันเป็นอำนาจแบบแข็งซึ่งก็ยังไม่เฉียบขาดพอ บางส่วนทำภารกิจส่งเสริมป้องกันแต่มีจำนวนน้อย คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ งบประมาณจำกัด ยังไม่สามารถสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงหรือหยุดยั้งปัญหาได้
- การกระทำความผิดทางกฎหมายนั้นมีข้อบังคับและบทลงโทษที่ชัดเจนแล้ว และมีกลไกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสินลงโทษจำนวนมากมาย แต่การกระทำผิดคุณธรรมจริยธรรมนั้นยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานและกลไกรับผิดชอบโดยตรง
2) พลังอำนาจแบบแข็ง กับ พลังอำนาจแบบอ่อน
- ในยุคโลกาภิวัฒน์ การกระทำผิดกฎหมายมีลักษณะที่ซับซ้อนและแยบยล ไม่ทิ้งหลักฐานให้ผูกมัดตัวง่ายๆ การลงโทษทางกฎหมายจึงยากแม้ว่าจะเพิ่มโทษให้รุนแรงเท่าใดก็ไม่มีความหมาย เพราะการตัดสินล่าช้า หาหลักฐานมัดตัวยาก ไม่เฉียบขาดและเที่ยงธรรมเพียงพอ จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบอำนาจแบบอ่อนเข้ามาเสริมหนุนแบบคู่ขนานกันไป
- อำนาจแบบแข็ง หมายถึง อำนาจบังคับ สั่งการ ลงโทษ ตัดสิน ทั้งโดยอำนาจกฎหมายและอำนาจความรุนแรง. อำนาจแบบแข็งสามารถหยุดยั้งปัญหาด้วยการปราบปราม และป้องปราม
- อำนาจแบบอ่อน หมายถึง อำนาจอันเกิดจากฐานความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ความถูกต้องดีงามและพลังความตื่นตัว ความรู้เท่าทันของสังคม อำนาจแบบอ่อนสามารถหยุดยั้งปัญหาที่ซับซ้อนได้ด้วยมโนธรรมสำนึกและกระแสคุณธรรมสังคม
- สิ่งที่เราต้องการในการปฏิรูป คือ การมีอำนาจแบบแข็งที่แม่นยำ เฉียบขาด เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการมีอำนาจแบบอ่อนที่ทรงคุณธรรมและทรงปัญญาแบบสุดสุด เข้ามาเติมเต็ม ปิดช่องว่างจุดอ่อน หนุนเสริมและทำงานคู่ขนานกันไป
3) ความกล้าหาญทางจริยธรรม
· ทั้งพลังอำนาจแบบแข็งและแบบอ่อน ล้วนต้องเป็นพลังที่มีคุณธรรมจริยธรรม คือนอกจากผู้มีอำนาจหน้าที่จะต้องมีปัญญาบารมีและคุณธรรมความดีแล้ว ยังต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการตัดสินวินิจฉัยชี้ขาดความผิดความถูกด้วย ไม่ใช่ปล่อยคาราคาซังให้มีความคลุมเครือไว้อย่างนั้น ด้วยเกรงใจหรือเกรงกลัวอำนาจหรือมีผลประโยชน์ความสัมพันธ์ส่วนตัว
2.ตัวอย่างปัญหาและการแก้ปัญหาที่เป็นบทเรียนรู้สำคัญ
1) กรณีคดีซุกหุ้นครั้งแรกของทักษิณในปี 2544 คราวนั้นตุลาการศาลคดีอาญานักการเมือง8:7ตัดสินให้หลุด ทั้งๆที่จะตัดสินแบบ”หักดิบกฎหมาย”ตามสำนวนของคณิต ณ นคร เป็นผลทำให้ระบบเผด็จการเสียงข้างมากในรัฐสภาสามารถสถาปนาตัวขึ้นมาได้ และส่งผลร้ายตามมามากมายจนบ้านเมืองวิกฤติ
2) กรณีม็อบเสื้อแดงก่อความรุนแรงในปี 2553 เมื่อมีเรื่องร้องเรียนถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริง ต่อมาคณะอนุกรรมการได้สรุปรายงานเสนอต่อคณะกรรมการ กสม. แทนที่ กสม.จะมีการวินิจฉัยลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่ อย่างไร ด้วยเกรงในพลังมวลชนของเสื้อแดงที่กำลังข่มขู่คุกคามสถาบันต่างๆ ทั่วไปหมด กสม.จึงปล่อยให้ผลรายงานชิ้นนั้นคาราคาซังอยู่แบบนั้น สร้างความคลุมเครือ ถูกคู่ขัดแย้งนำเอาไปตีความเข้าข้างตัวเองและทำลายคู่ต่อสู้ โดยสังคมไม่รู้ข้อเท็จจริง จนบ้านเมืองเข้าสู่จุดตีบตัน
3) กรณีคุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ถูกการเมืองโยกย้ายไม่เป็นธรรมปี 2554 เจ้าตัวร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม แต่คณะกรรมการไม่กล้าชี้ถูกชี้ผิด ด้วยเกรงใจรัฐบาลผู้ทรงอำนาจ ทำให้ข้าราชการดีๆเสียขวัญกำลังใจ ถูกกลั่นแกล้งได้ตามอำเภอใจ สังคมก็ไม่รู้ข้อเท็จจริง
4) กรณีทุจริตจำนำข้าว รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มทำตั้งแต่ปี2556 มีผู้ร้องเรียนไปยัง ปปช.ตั้งแต่ปีแรก แทนที่กรรมการ ปปช.จะชี้มูลให้ชัดเจนและยับยั้ง กลับปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการเรื่อยมาจนถึงฤดูกาลการผลิตที่5 จนเรื่องรุนแรงสุดเยียวยา ต้องรอให้ประชาชนชุมนุมขับไล่และยุบสภา ต่อมาก็มีการยึดอำนาจโดย คสช.เพราะไร้ทางออก อำนาจอิสระที่มีอยู่ทุกชนิดไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้
3.แนวทางการปฏิรูปของ สปช.
- แนวทางของ สปช. คือ การส่งเสริมและพัฒนาพลังอำนาจแบบอ่อนหรือพลังทางสังคมในประเทศไทย. ให้ขึ้นมาหนุนเสริม ปิดจุดโหว่ เติมเต็ม โดยทำงานคู่ขนานกันไปกับอำนาจแบบแข็งที่มีอยู่เดิม และต้องทำให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพขึ้นมาทั้งคู่ ซึ่งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติคือกลไกที่จะมาทำหน้าที่นี้ เพื่อพัฒนาและใช้พลังอำนาจแบบอ่อนร่วมแก้วิกฤติคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศ
4.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
- เป็นองค์กรอิสระตามกฎหมาย หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
- มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่
1) กมธ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีจำนวน 5 คน สรรหาด้วยระบบแมวมองโดยกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยประมุขฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติและบริหาร จากบุคคลผู้ทรงคุณธรรม มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์และไม่ทำเพื่อตัวเอง เสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ทำหน้าที่เป็น Role Model และเป็นผู้กำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลสำหรับบุคคลสาธารณะ องค์กรสาธารณะและองค์กรเอกชนที่ทำธุรกรรมกับรัฐ ไม่มีเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทน ไม่มีวาระการทำงานที่ตายตัว
2) ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 55 คน ทำหน้าที่เป็น Role Model และประชุมวินิจฉัยกรณีผิดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม มีวาระการทำงาน…ปี ไม่มีเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทน
3) สำนักงานคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ มีคณะกรรมการบริหารและผู้อำนวยการรับผิดชอบ ทำหน้าที่บริหารจัดการ งานธุรการ วิชาการ วิจัยและนวัตกรรม
4) เวทีสมัชชาคุณธรรมประเทศไทย/จังหวัดหรือพื้นที่/ประเด็น สร้างเครือข่ายทางสังคมทุกระดับทั่วประเทศ สร้างพลังคุณธรรมและเครือข่าย Role Model
Be the first to comment on "ก้าวต่อไปของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ"