ก้าวแรกของคนกะแดะ กับการจัดการลุ่มน้ำ

ปัญหาวิกฤติน้ำคลองกะแดะเป็นเรื่องใหญ่ หลายคนมองแล้วเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข แต่หากเริ่มจากสิ่งเล็กๆที่ไกล้ตัว เริ่มต้นจากวิถีชุมชนเองด้วยคนในชุมชน จากคนที่ไม่เคยเข้าร่วมก็จะเข้ามาร่วม..จากชุมชนจะเชื่อมโยงไปสู่สายน้ำ จากสายน้ำจะเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนต่างชุมชน

ทวีศักดิ์ สุขรัตน์ : บันทึก/เล่าขาน

3 สิงหาม 2548

เมื่อกลางปีที่แล้ว ก่อนเดือนสิงหาคม 2547 ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมจุดประกายเรื่องคลองกะแดะ ณ วัดพ่วง หมู่ที่ 5 ตำบลพลายวาส อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นครั้งแรกของคนที่รู้จักคลองกะแดะ อาบน้ำคลองกะแดะ และกินยอดกะแดะ อันเป็นบ้านเกิดของตัวเอง คิดในใจ ใครกันที่เชิญเรามา คงคิดเหมือนเราที่เห็นลำคลองสายนี้วิกฤติ และอยากจะทำอะไรบางอย่างเพื่อลำคลองกะแดะ สิ่งที่ผมพูดเป็นเรื่องความภูมิใจของตัวเอง ที่ผูกพันกับสายน้ำแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นความจริงของวิถีคนกับลำน้ำกะแดะ และตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา


เพื่อตอกย้ำให้ทุกคนตระหนักในปัญหาวิกฤติน้ำ บางครั้งก็อธิบายด้วยการเขียนออกมาเป็นภาพให้เห็น ทำให้เวทีครั้งนั้นคึกคักมีชีวิตชีวา มีพลัง มีผู้คนอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งผู้เฒ่าผู้แก พระสงฆ์ และคนหนุ่มสาว ปัญหาลำน้ำแห่งนี้ มีทั้งขยะ น้ำแห้ง น้ำเน่าเสีย ช็อตปลาและใช้ยาเบื่อปลา ทำให้ปลาเป็นหมันและสูญพันธุ์ จนทุกคนฟังแล้วคิดว่าคงยากที่จะแก้ไข และโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว ไกลจากวิถีของชุมชน จึงไม่ง่ายที่จะรวมคนและให้คนในชุมชนมาร่วมกันทำกิจกรรม หลังจากนั้นไม่กี่วันแกนนำก็ไปตกลงร่วมกันที่จะให้มีการทำวังปลาเป็นเขตอภัยทาน ผสมผสานระหว่างธรรมะกับกับวิถีชุมชน และเป็นการเพิ่มปริมาณพันธุ์ปลาที่กำลังสูญหายให้กลับคืนมาดังเดิม ให้วังปลาเป็นตัวรวมคน เชื่อมคนและเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมต่างๆ

 


ต่อมา
วังปลาโชงโลง ก็เกิดขึ้นที่บ้านพ่วงเป็นเขตอภัยทานแห่งแรกที่ชุมชนร่วมกันสร้าง โดยวันปล่อยปลาจัดให้มีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์งานและให้มีเวทีเสวนา เรื่องคลองกะแดะเปลี่ยนไป เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการและเอกชนเข้าร่วม หลังจากนั้นต่อมาวังปลาโชงโลงกลายเป็นจุดรวมคนให้เข้ามาพบกัน เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน คนทั่วไปทั้งในและนอกชุมชน จากชุมชนที่ก่อนหน้านั้นต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจส่วนรวม ก็หันมาสนใจวังปลา ชีวิตปลาที่แหวกว่ายในน้ำ ตั้งคำถามกับตัวเขาเอง ทำอย่างไรจะให้มีน้ำไหลเป็นปกติ ปลาจะได้เติบโต เริ่มคิดถึงเพื่อนบ้านที่อยู่เหนือน้ำและปากน้ำ ถ้ามีการไปเชื่อมต่อและจุดประกายไปเรื่อยก็น่าจะเกิดวังปลาตลอดลำน้ำ ที่สุดแกนนำชุมชนบ้านพ่วงก็ไปเชื่อมกับแกนนำที่บ้านปากกะแดะ บ้านหนองสวน และบ้านดอนยา แต่ละชุมชนมีการประชุมกันหลายครั้งเพื่อสร้างความเข้าใจ จนนำไปสู่การเกิดวังปลาแห่งใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่วังปลากดที่ชุมชนปากกะแดะ วังปลาโสดที่ชุมชนบ้านหนองสวน วังปลาแก้มช้ำที่ชุมชนบ้านดอนยา ตามลำดับ


ไกลไปกว่านั้น คือการเกิดเครือข่ายวังปลาใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกตลอดลำน้ำ และเป็นไปได้ว่า น่าจะมีการรุกคืบไปถึงบริเวณป่าต้นน้ำ นั่นแสดงว่าชุมชนได้เชื่อมเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์คลองกะแดะลำน้ำแห่งนี้ไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

 

คลองกะแดะน้ำแห้งขอด

เศษไม้และขยะ

ฝายกั้นน้ำใหญ่ ช่วงต้นน้ำ

ฝายก้ั้นน้ำ ชำรุดใช้การไม่ได้
ช่วงกลางลำน้ำ

 

ส่วนชุมชนที่ลงลึกไปอีก ผสมผสานกระบวนท่าทางสังคมที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือชุมชนบ้านหนองสวน ที่ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนวังปลาโสด มีผู้คนเข้าไปเยี่ยมชมมากที่สุดและไม่ขาดสาย บางคนไปเพลิดเพลินวันละหลายครั้งก็มี เพราะสถานที่แห่งนี้ มีประวัติศาสตร์ความเป็นที่สาธารณะมาก่อน คือศาลาท่าโพธิ์ สถานที่พักพิง ค้างคืน สำหรับคนเดินทางไปมาในสมัยก่อน และท่าโพธิ์ คือแหล่งติดต่อไปมาของคนยุคก่อนที่ใช้เส้นทางน้ำเป็นทางคมนาคม โดนนายเสม รัตนสมาหาร ผู้มีจิตใจเพื่อส่วนรวมเป็นผู้สร้างศาลาแห่งนี้
นี่คือสำนึกสาธารณะของผู้นำชุมชนแห่งนี้ที่สืบทอดมานาน วันนี้จึงมีรูปปั้นตาหลวงเสม ที่คนในชุมชนเลื่อมใสให้ความเคารพสักการะบูชา เป็นสัญญลักษญ์ของผู้ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือส่วนรวม ชุมชนบ้านหนองสวนมีกระบวนการทำงาน ที่น่าสนใจ แม้ว่าจะมีการรวมตัวค่อนข้างยากในระยะแรกๆ แต่เป็นเพราะความมุ่งมั่นของแกนนำที่พยายามหมั่นประชุมกันบ่อยครั้ง จนเกิดเป็นคณะกรรมการวังปลา ได้เริ่มเขตอภัยทานภายใต้เงื่อนไข จังหวะ เวลา และโอกาสที่ทำให้เป็นไป สู่การเรียนรู้ของคนในชุมชน กล่าวคือวันปล่อยปลาตรงกับ 10 เมษายน อันเป็นวันรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ในวันสงกรานต์มีการปล่อยนกปล่อยปลา หรือที่เรียกกันว่าเทศกาลวันจบปีจบเดือน คนส่วนใหญ่จะรักษาศีลและแผ่เมตตาให้แก่สรรพชีวิตและสัตว์ ผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย และจังหวะเวลาที่เป็นฤดูแล้งปีนี้ น้ำแห้งขอด เกิดวิกฤติน้ำขาดแคลน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนและไม่มีใครคาดคิดว่าน้ำคลองกะแดะ ซึ่งชื่อเดิมคือคลองหวาด ซึ่งหมายถึงน้ำเชี่ยว น้ำลึก เป็นที่น่ากลัวของคนในสมัยก่อน และไม่มีวันที่จะเหือดแห้งแน่นอน ตามความเชื่อของคนก่อนๆ เพราะมีเรื่องเล่าว่า ในการยืมเงินของคนแต่ก่อน ได้สัญญากันไว้ว่า รอให้น้ำคลองหวาดแห้งก่อนจึงจะมาชดใช้ให้ แต่วันนี้ไม่เป็นดังแต่ก่อน ดังนั้นการทำงานส่วนรวมเรื่องวังปลาของชุมชนหนองสวนไม่ง่ายอย่างที่คิด น้ำแห้ง นำไปสู่การค้นหาปัญหาน้ำและการแก้ปัญหาน้ำของแกนนำชุมชน นำไปสู่การเจรจาต่อรองการเปิดปิดประตูน้ำที่เขื่อนกั้นน้ำบ้านไสขาม

หมู่บ้านริมคลองช่วงปากคลองกะแดะ

วิถีชีวิตชาวบ้าน

เด็กๆ เล่นน้ำ บริเวณใต้ฝ่ายกั้นน้ำใหญ่ ช่วงต้นน้ำ

แรกๆสำเร็จแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้า แต่ต่อมาไม่ได้ดังที่เจรจาต่อรอง ต้องมีการเจรจาหลายครั้งจนเกิดการปะทะ ขัดแย้งเรื่องน้ำของชุมชนเครือข่ายวังปลา กับนายกอบต.กรูด จนนำไปสูการก่อเกิด คณะกรรมการประชาคมลุ่มน้ำคลองกะแดะ ที่มีหลายภาคส่วนเข้าร่วม การก่อเกิดปัญหาเด็ก เยาวชนกับผู้ใหญ่ที่ดูแลเขตอภัยทาน เด็กๆต้องการเล่นน้ำที่ท่าน้ำ แต่ผู้ใหญ่นำไปทำเป็นเขตอภัยทาน ฉะนั้นการปล่อยปลาในสัปดาห์แรกต้องการอนุบาลลูกปลาไว้ให้รอดปลอดภัยก่อน เกิดการประชุมเพื่อคลี่คลายปัญหาเด็กโดยใช้กระบวนการร่วมทั้งเด็กและผู้ปกครอง มาสร้างและทำความเข้าใจร่วมกัน ต่อมาเกิดกฎ กติกา ข้อห้ามในเขตอภัยทานวังปลาโสด เมื่อทุกคนต่างเข้าใจวัตถุประสงค์และประโยชน์วังปลา สำนึกรักปลา รักธรรมชาติและสายน้ำก็เกิดขึ้น เด็กและเยาวชนรู้สึกเป็นเจ้าของวังปลา ชุมชนต่างรู้ตัวว่าเป็นเจ้าของวังปลา สำนึกรักและหวงแหนก็เกิดขึ้น วันดีคืนดีเด็กๆก็เฝ้าระวังมิให้ผู้ใดทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงคลอง บางวันก็มีพี่ๆจากกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์มาชวนไปสำรวจพันธุ์ไม้และศึกษาสภาพน้ำในลำคลอง ทำให้พ่อแม่รู้สึกชื่นชมกับกิจกรรมวังปลา ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชน และวันที่ 13 สิงหานี้ ก็จะมีการลงแรงทำความสะอาดคลองและแผ้วทางเล็กๆริมคลองตลอดแนวเขตอภัยทาน เพื่อเดินชมภูมิทัศน์และเป็นทางจักรยาน และจากเครือข่ายวังปลา ได้นำไปสู่การจัดงาน ชีวิตกับสายน้ำ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ของเครือข่ายลุ่มน้ำกะแดะ คลองยันและคลองคราม ก่อผลสะเทือนในวงกว้าง ทำให้เกิดการตื่นตัวของคนในกาญจนดิษฐ์เองและคนที่สนใจสิ่งแวดล้อมเรื่องน้ำและทรัพยากรธรรมชาติในสุราษฎร์ธานี


บทสรุปเรื่องนี้ พบว่า ปัญหาวิกฤติน้ำคลองกะแดะเป็นเรื่องใหญ่ หลายคนมองแล้วเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข แต่หากเริ่มจากสิ่งเล็กๆที่ไกล้ตัว เริ่มต้นจากวิถีชุมชนเองด้วยคนในชุมชน จากคนที่ไม่เคยเข้าร่วมก็จะเข้ามาร่วม วังปลาและเขตอภัยทานเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ที่จะทำให้คนมาร่วมกัน จากคนจะเชื่อมโยงไปสู่ชุมชน จากชุมชนจะเชื่อมโยงไปสู่สายน้ำ จากสายน้ำจะเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนต่างชุมชน จากเพื่อนต่างชุมชนก็จะนำไปสู่การผนึกกำลังร่วมกันเป็นประชาคมลุ่มน้ำ จากประชาคมลุ่มน้ำคลองกะแดะก็จะนำไปสู่การจัดการน้ำที่เป็นระบบ ยั่งยืน การจัดสมดุลของคนในลุ่มน้ำ ขยายเครือข่ายไปสู่ลุ่มน้ำคลองคราม ลุ่มน้ำคลองยัน และลุ่มน้ำอื่นๆในจังหวัดสุราษฎร์ธานี การเกิดสำนึกส่วนรวมหรือสาธารณะ วันนี้น้ำในคลองกะแดะได้เริ่มไหลแล้วพร้อมๆไปกับการร้อยใจคนกะแดะเข้าด้วยกัน คลองกะแดะได้ปลุกคนกะแดะและคนใกล้เคียงให้ตื่นขึ้นแล้ว และตื่นอย่างรู้เท่าทัน มีการเรียนรู้ร่วมกัน มีความมุ่งมั่นไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย คือทิศทางการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสม ทุกคนมีส่วนร่วม นี่คือการลุกขึ้นมาเอาธุระของส่วนรวม ธุระที่เป็นสาธารณะ ชีวิตสาธารณะ
ท้องถิ่นน่าอยู่ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับชุมชนเล็กๆ บ้านพ่วง ปากกะแดะ บ้านหนองสวน และบ้านดอนยา แถบลุ่มน้ำคลองกะแดะ

 


ยอดกะแดะ คือ ผักท้องถิ่นชนิดหนึ่ง ขึ้นเฉพาะริมคลอง ชาวบ้านมักเด็ดยอดอ่อนๆ มาจิ้มน้ำพริกแบบดิบๆ มีขึ้นที่เดียวคือ คลองกะแดะ (ข้อมูลจากชาวบ้าน) จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก คลองกะแดะ

ที่มา : วารสารรายเดือน เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกันในมวลหมู่คนทำงานทางสังคม ภาคใต้

ปีที่ 1 ฉบับปฐมฤกษ์ ประจำเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2548

Be the first to comment on "ก้าวแรกของคนกะแดะ กับการจัดการลุ่มน้ำ"

Leave a comment

Your email address will not be published.