ขอปันงบอุ้มไอทีวี ต่อความหวังริบหรี่สัตว์ทะเลไทย

เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า ของดีอีกอย่างของประเทศไทยคือแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาดทรายสวยๆ และน้ำทะเลใสๆ รวมไปถึงกิจกรรมทางทะเล อาทิ การดำน้ำดูสัตว์ทะเลใต้โลกสีคราม แต่ในวันนี้เป็นที่น่าเสียดาย…

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 16 มีนาคม 2550

        เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า ของดีอีกอย่างของประเทศไทยคือแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาดทรายสวยๆ และน้ำทะเลใสๆ รวมไปถึงกิจกรรมทางทะเล อาทิ การดำน้ำดูสัตว์ทะเลใต้โลกสีคราม แต่ในวันนี้เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า การศึกษาความเป็นไปของความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเลไทย ยังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง

หรือดังที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จากภาควิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ภาพสถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า….อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำเงินเข้าประเทศได้ปีละพันล้านหมื่นล้าน ในขณะที่ท้องทะเลทำรายได้ในเรื่องของการท่องเที่ยวปีละมากมายมหาศาล แต่งบประมาณที่ภาครัฐให้มาเพื่อศึกษาวิจัยเชิงวิชาการ เพื่อพัฒนาแหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อหาข้อมูล และเพื่อทำคุณประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ทรัพยากรใต้ทะเลเหล่านี้กลับมีปีละไม่กี่ล้านบาท หากรัฐบาลเอางบที่ไปอุ้มไอทีวี กลับมาอุ้มสัตว์น้ำไทยบ้าง วงการศึกษาและการวิจัยสัตว์น้ำบ้านเราจะไปไกลอีกเยอะเชียวครับ

**“แพลงตอนก์กับปลายทางที่มืดมน
เรื่องที่น่าเศร้าเรื่องแรกที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่รุนแรงมากก็คือ แพลงก์ตอน

ศ.ลัดดา วงศ์รัตน์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแพลงก์ตอน ให้ข้อมูลว่า แพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิตหลายขนาด มีตั้งแต่ขนาดเล็กตั้งแต่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นไปจนขนาดใหญ่อย่างแมงกะพรุน เป็นต้น ซึ่งแพลงก์ตอนสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์

ทั้งนี้ แพลงก์ตอนอาศัยอยู่ในท้องทะเล โดยเคลื่อนไหวและเดินทางด้วยการอาศัยกระแสน้ำพัดพาไป แต่ไม่สามารถควบคุมทิศทางด้วยตนเองได้

สำหรับอุปสรรคของการศึกษาแพลงก์ตอนที่ผ่านมาเป็นปัญหาในเรื่องของการเก็บตัวอย่าง เพราะในตอนแรกมีการเก็บตัวอย่างไว้เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังการศึกษาแพลงก์ตอนอาจถูกมองข้าม เมื่อกรมประมงย้ายตึกจึงมีการเทตัวอย่างทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

จำได้ว่าเมื่อ พ.ศ.2513 แพลงก์ตอนที่นำมาสอนส่วนใหญ่เป็นของที่เขาทิ้งแล้ว เราก็ไปขอมา เอามาสอนนักศึกษา ซึ่งจนวันนี้ผ่านมาหลายสิบปีแล้วตัวอย่างของเราก็ยังน้อยอยู่ จึงขอฝากไปถึงทุกท่านที่มีตัวอ่อนสัตว์น้ำเหล่านี้ หากมีแล้วไม่ใช้ กรุณาติดต่อมายังภาควิชา เพราะตัวอ่อนที่ท่านไม่ใช้เหล่านั้น จะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาของเรา

ศ.ลัดดายังกล่าวถึงอนาคตที่ค่อนข้างจะมืดมนของการศึกษาแพลงก์ตอนว่า แพลงก์ตอนถือเป็นห่วงโซ่สำคัญของสัตว์ทะเลแทบทุกชนิด เพราะเป็นอาหารของสัตว์ทะเลเหล่านั้น และมีผลต่อคุณภาพน้ำด้วย จึงสามารถพูดได้ว่าหากขาดซึ่งแพลงก์ตอนเหล่านี้ ท้องทะเลไทยก็จะเข้าขั้นวิกฤติ และอาจถึงขั้นไม่มีสัตว์น้ำเลย แต่แม้แพลงก์ตอนจะมีคุณประโยชน์ต่อสัตว์น้ำมากมายขนาดนี้แล้ว จนกระทั่งทุกวันนี้ การส่งเสริมการศึกษาแพลงก์ตอนก็ยังคงน้อยถึงน้อยมาก และมากจนสามารถเรียกได้ว่าเกิดภาวะวิกฤติของนักอนุกรมวิธานแพลงตอน รวมทั้งภาวะขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

**“หอย-กุ้งชีวิตสุดรันทด
ปริญญา ลิมป์วิริยะกุล ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดี่ยวมือหนึ่งด้านกุ้งและนักดำน้ำที่มีชั่วโมงดำดูกุ้งมากที่สุดคนหนึ่ง เกริ่นนำเรื่องของการดำดูกุ้งว่า จำเป็นจะต้องดำกันตอนกลางคืน เนื่องจากเป็นเวลาที่กุ้งออกมากที่สุด ซึ่งนับเป็นความท้าทายของเหล่านักดำน้ำทุกคน เพราะการดำกลางคืนนั้นจะมีลักษณะการดำต่างจากการดำทั่วๆ ไปในยามกลางวัน และจะดำกันตั้งแต่ประมาณ2-3ทุ่ม ไปจนกระทั่งตี 3-4 ของวันใหม่

ปัจจุบันนี้กุ้งหลายสายพันธุ์ หลายชนิด ใต้โลกสีครามของท้องทะเลไทยกำลังถูกคุกคาม หลายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์หายากที่ถูกบันทึกไว้ แต่ขนาดผู้เชี่ยวชาญด้านการดำดูกุ้งอย่างเขาที่มีโอกาสดำลงไปดูบ่อยๆ บางครั้งบางตัวแทบไม่เคยพบ

แต่ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ คำพูดทิ้งท้ายของผู้เชี่ยวชาญด้านกุ้งคนนี้ที่บอกว่า ดำดูอะไรแล้วไม่เจอ ไปดูที่จตุจักรครับ ยืนยันว่ามีทุกอย่างจริงๆ ผมเองดำไม่เจอตัวไหนแล้วอยากเห็นตัวเป็นๆ ก็ต้องไปหาดูแถวจตุจักร เพราะมันโดนจับไปอยู่ที่โน่นหมดแล้ว

กุ้งตัวตลก

ดอกไม้ทะเล

ทากทะเลหลังเส้น

ปูปะการังอ่อน

แมงกะพรุน

หมึกกระดองลายเสือ

       ด้านผศ.ธีรพงศ์ ด้วงดี ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหอย ให้ข้อมูลว่า การศึกษาในเรื่องหอยครั้งแรกในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อราวปีพ.ศ.2403 มีรายงานเรื่องหอยเป็นครั้งแรกว่ามีทั้งหมด 7 ชนิด นับแต่นั้นก็มีการศึกษาเรื่องหอยมาอย่างต่อเนื่อง และในรายงานปีพ.ศ.2452 ซึ่งสำรวจหอยในอ่าวไทย ตั้งแต่เกาะช้างถึงเกาะสีชัง พบหอยทั้งสิ้น 379 ชนิด

จากนั้น ศ.โชติ สุวัตถิ ปรมาจารย์ด้านหอยของเมืองไทยได้จัดอนุกรมหอยเอาไว้มากที่สุด คือ 533 ชนิด ซึ่งเป็นคัมภีร์พื้นฐานของผู้ที่สนใจด้านหอยทุกคน ได้ศึกษาค้นคว้า และนำมาใช้ต่อยอดอย่างต่อเนื่อง

แต่ขณะนี้ ด้วยเพราะเปลือกสีสวยเตะตาของพวกมัน ทำให้กิจการการขายเปลือกหอยสวยงามเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ทำกำไรได้ดี ชะตากรรมของหอยจึงตกที่นั่งเดียวกับกุ้ง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหอยเองก็ถึงกับออกปากว่า การอ้างอิงในข้อมูลเชิงวิชาการของนักวิชาการ ที่อุทิศเกือบทั้งชีวิตในการศึกษาสัตว์น้ำประเภทหอย ยังดีและครบถ้วนสมบูรณ์ไม่เท่ากับความหลากหลายภายในร้านขายเปลือกหอยด้วยซ้ำ!

**อนาถ คนไทยขาดความรู้เรื่องปู
ผ.ศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงพันธ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่าปูเป็นสัตว์น้ำที่จัดอยู่ในประเภท Crustacia และได้รับการขนานนามว่าเป็น Insect of the sea เนื่องเพราะมีความหลากหลายทั้งขนาดและรูปร่าง ที่สำคัญคือเป็นสัตว์ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ ปูมีวิวัฒนาการสูงกว่ากุ้ง จึงมีพัฒนาการและความหลากหลายที่มากกว่า

สำหรับข้อมูลปูปัจจุบันจากกรมประมง ประเทศไทยมีปูกว่า 800 ชนิด และนอกจากนี้ในการศึกษาเรื่องปูในระยะ 2-3 ปีมานี้ พบ New Record ปูอีกไม่ต่ำกว่า 58 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่มากพอสมควร และโดยส่วนใหญ่เป็นปูที่พบในแนวปะการังทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องที่น่ากังวลที่สุดก็คือ ในทุกวันนี้การส่งเสริมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลสาขาต่างๆ โดยเฉพาะในสาขาปู ที่ยังมีไม่เพียงพอ หลายคนไม่ทราบว่าปูบางชนิดมีพิษ และยังไม่แน่ว่าที่ยังไม่มี Record เอาไว้ชนิดไหนบ้างที่ไม่สามารถบริโภคได้ และโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีชาวประมงบางกลุ่มที่จับปูแล้วแกะเป็นเนื้อสำเร็จรูปส่งขาย โดยจะแกะเนื้อปนกันทั้งหมด ทำให้มีโอกาสเสี่ยงกินเนื้อปูพิษที่มีอันตรายต่อร่างกาย โดยบางชนิดมีพิษแบบปักเป้าที่กินแล้วตายก็มี

**มึน! ไทยเจอหมึกราหูเป็นข่าวใหญ่
ปิดท้ายด้วยผู้เชี่ยวชาญหมึกอย่างดร.จารุวัฒน์ นภีตะภัฎ จากกรมประมง ได้แก้ไขข้อมูลความเข้าใจผิดของคนไทย ที่มักจะเรียกว่าปลาหมึกทำให้เกิดความเข้าใจว่า หมึกคือปลาประเภทหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หมึกคือหอยที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุดในบรรดาหอยทั้งมวล

พูดได้ว่าหมึก เป็นสิ่งมีชีวิตที่โดยสารรถไฟวิวัฒนาการมาจนเกือบสุดทาง ซึ่งมาได้ไกลกว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ ทำให้มันกลายเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดในโลก ประสาทตามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับตามนุษย์ ไม่น่าเชื่อว่าเฉพาะในหัวของมันมีสมองบรรจุอยู่สามแห่ง และยังมีสมองย่อยๆ อีกหลายแห่งตามตัวของมัน หมึกจึงมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อนมาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านหมึกกล่าวต่อไปอีกว่า เป็นที่น่าเสียดายที่เรายังขาดการสนับสนุนในแง่ของการศึกษาวิจัย ทำให้สัตว์น้ำไทยอีกเป็นจำนวนมากยังคงเป็นความลับอยู่ บางชนิดเราไม่เคยรู้เลยว่ามี อย่างกรณีหมึกราหูเข้ามาเกยตื้น ก็เป็นที่ฮือฮาว่าเป็นสัตว์แปลก มีการไปดูซากขอหวย รายการเช้าบางรายการก็นำไปออกเป็นประเด็นใหญ่ ทั้งที่จริงๆ แล้วหลายประเทศเขาแล่นเรือเข้ามาจับในเมืองไทยเอาไปกินมานานแล้ว แต่คนไทยกลับไม่รู้จัก

Be the first to comment on "ขอปันงบอุ้มไอทีวี ต่อความหวังริบหรี่สัตว์ทะเลไทย"

Leave a comment

Your email address will not be published.