ขุนเขา หมอกหนาว บนเส้นทางอิสรภาพแห่งบ้านแม่ลานคำ
บททาที่ขับกล่อมจากกลุ่มผู้หญิงปกาเกอญอ หมู่บ้านแม่ลานคำ บ่งบอกความไพเราะ กังวานทั่วลานบ้าน แต่เหนือกว่านั้นคือความหมายแห่งเนื้อหา ที่กล่าวถึงความสำคัญของผืนดิน ซึ่งให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ชีวิต ผืนดินที่ให้กำเนิดเมล็ดพันธุ์ อาหาร ช่วยประทังความหิวเวลาอดอยาก เช่นนี้แล้วจึงเป็นหน้าที่ของชาวปกาเกอญอทุกคนที่ต้องรักษาผืนดินดั่งชีวิต หนุ่มปกาเกอญอคนหนึ่งเคยบอกว่า
“ชีวิตของเรามีไร่มาตลอด ถ้าเราทิ้งไร่ไป ก็เหมือนเราทิ้งขวัญของตัวเอง”
ปกาเกอญอเชื่อกันว่า ข้าวมีขวัญ เขาจะนำพันธุ์ข้าวไปให้คนนอกชุมชนไม่ได้ หรือจะให้กับคนที่มีธาตุไม่ถูกกับขวัญข้าวก็ไม่ได้ พวกเขาจะแลกพันธุ์ข้าวเฉพาะคนในหมู่บ้านเท่านั้น และปีหนึ่งให้ไม่เกิน 3 ชนิด นอกจากนี้เมล็ดพันธุ์บางอย่างยังต้องปลูกคู่กัน ความเชื่อเหล่านี้เองทำให้พวกเขายังคงรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมไว้ได้
ไร่หมุนเวียน คือ ระบบการผลิตอาหารอีกแบบหนึ่ง ที่ชาวบ้านยังคงยึดถือทำมาตลอด แม้ภายหลังจะถูกรุกรานทั้งจากกลุ่มทุนและทางรัฐ ที่เข้ามาจัดการต้นน้ำ และปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส ปลูกกาแฟ หญ้าแฝกถั่วดิน รวมถึงการสนับสนุนให้ชาวบ้านเริ่มมีกองทุนปุ๋ยเคมี และธนาคารข้าว
ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับปัญหาดินเสื่อมสภาพ การลงทุนสูง มีปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการใช้สารเคมี แต่ชาวบ้านก็พยายามปรับเปลี่ยน ลดรอบการทำไร่ให้ขนาดเล็กลง เพื่อจะดูแลได้เต็มที่
หนุ่มปกาเกอญอคนเดิมเล่าให้เราฟังว่า
“ไร่หมุนเวียนมันจะเกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุ์พืช พื้นที่ในไร่แต่ละรอบปี จะมีอาหารออกมาให้เราได้กินตลอด การพูดถึงไร่หมุนเวียน ไม่ได้หมายถึงการเป็นของตัวเอง แต่หมายถึงการเป็นของหน้าหมู่ เป็นของชุมชนทั้งหมู่บ้าน เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะเหมือนกับภายนอก ที่มีที่ดิน มีกรรมสิทธิ์เป็นของตัวเอง แล้วผลสุดท้ายคือมีการแย่งชิงกัน”
ประโยคแหลมคมในวรรคสุดท้ายนี้บ่งบอกอะไรให้กับเราหลายอย่างทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ระบบการทำไร่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพที่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ชาวบ้านยังคงยึดมั่นเสมอมาคือความเชื่อในเรื่อง “ต่ะส่าเบล” หรือ “สันติภาพ-อิสรภาพ” อันหมายถึงการดำรงอยู่ของชุมชนที่ไม่ถูกรุกรานกดขี่บีบบังคับ การเป็นตัวของตัวเองและหลุดพ้นจากการครอบงำ อีกแนวความคิด ความเชื่อที่สำคัญคือ “ต่าลอโจ๊ะลอทอ” หรือ “ความยั่งยืนยาวนานชั่วลูกชั่วหลาน” หมายถึง การดำรงอยู่ของทรัพยากรที่ยั่งยืน ดำรงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน
“การทำไร่ เราไม่ได้ทำไว้ขาย เราทำไว้กิน และเราก็ไม่ได้ทำแบบธรรมดา แต่มันมีความเชื่อ มีประเพณี พิธีกรรม ที่จะสร้างจิตสำนึกหรือความคิดที่จะเอื้ออาทรต่อกันในการอนุรักษ์ จึงอยากให้คนข้างนอกเข้าใจ และยอมรับความเชื่อ การดำรงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ของชุมชน”
เรามักได้ยินกันว่า ชาวเขาคือผู้ทำลายป่า แต่สิ่งที่พบจากปกาเกอญอ บ้านแม่ลานคำ ดูจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันเหลือเกิน เรื่องเล่าเรื่องนี้ไม่ใช่เล่าขึ้นมาด้วยความโรแมนติกจากธรรมชาติ ขุนเขา ความเขียวขจีบนยอดดอย แต่เป็นเรื่องจริงจากชุมชนเล็กๆบนภูสูงที่ผ่านการต่อสู้
การปรับเปลี่ยนของชุมชนเพื่อให้ชีวิตของตนดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง แต่ถึงจะต้องปรับตัวเองมานับครั้งไม่ถ้วน ความเป็นเอกลักษณ์และความเชื่อของชุมชนยังคงดำรงอยู่เสมอ
โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า “สันติภาพ-อิสรภาพ จะคงอยู่กับเราตลอดไป”
Be the first to comment on "ขุนเขา หมอกหนาว บนเส้นทางอิสรภาพแห่งบ้านแม่ลานคำ"